ข่าว

จับตาปากีสถานหลังคำตัดสินประวัติศาสตร์ ประหารมูชาร์ราฟ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย...บุญรัตน์ อภิชาติไตรสรณ์

 

                           “อดีตผู้บัญชาการทหารบก อดีตประธานคณะเสนาธิการทหารร่วม และอดีตประธานาธิบดีปากีสถาน ที่รับใช้ประเทศชาติมายาวนานกว่า 40 ปี เคยร่วมรบในสงครามหลายครั้งเพื่อปกป้องประเทศ ไม่มีทางที่จะเป็นผู้ทรยศต่อประเทศชาติอย่างแน่นอน”

 

                           การเมืองในปากีสถานพลันร้อนฉ่าทันทีที่กองทัพได้ออกแถลงการณ์ฉบับหนึ่งแสดงจุดยืน ไม่ยอมรับคำตัดสินของศาลพิเศษที่ลงมติด้วยเสียง 2:1 ให้ประหารชีวิต พล.อ.เปอร์เวซ มูชาร์ราฟ วัย 76 ปี อดีตประธานาธิบดีคนที่ 12 ของประเทศ ในข้อหากบฏทรยศต่อประเทศชาติ จากการประกาศใช้ภาวะฉุกเฉิน และระงับการใช้รัฐธรรมนูญเมื่อปี 2550

 

 

                           นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ที่นายทหารใหญ่ระดับอดีตผู้บัญชาการทหารบกที่ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำประเทศถูกตัดสินประหารชีวิตเช่นนี้ และเป็นการตัดสินแบบลับหลัง เนื่องจากมูชาร์ราฟไม่ไปปรากฏตัวในศาลมาโดยตลอด นับตั้งแต่ได้ลี้ภัยตัวเองไปที่ลอนดอนและดูไบ หลังได้รับอนุญาตให้เดินทางออกนอกประเทศเพื่อรับการรักษาตัวเมื่อ 3 ปีที่แล้ว

 

                           ในแถลงการณ์ของกองทัพปากีสถานซึ่งมีขึ้นหลังการประชุมร่วมของผู้บัญชาการทหารที่กองบัญชาการใหญ่ เมืองราวัลปินดี ยังวิจารณ์ศาลพิเศษอย่างรุนแรงว่า “ดูเหมือนว่ากระบวนการที่ถูกที่ควรของกฎหมายจะถูกเพิกเฉย  ปฏิเสธสิทธิพื้นฐานการแก้ต่างให้ตัวเอง การดำเนินการแบบเฉพาะบุคคล และสรุปคดีแบบเร่งรีบ กองทัพคาดหวังว่า กระบวนการยุติธรรมจะกระทำสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐอิสลามปากีสถาน”

 

 

                           ผู้เชี่ยวชาญการเมืองในปากีสถานบางกลุ่มมองว่า การที่กองทัพซึ่งเคยตบเท้าเข้ามายึดอำนาจการปกครอง รวมแล้วนานกว่าครึ่งหนึ่งของประวัติศาสตร์ยุคใหม่ของประเทศ นับตั้งแต่แยกตัวจากอินเดียเมื่อเกือบ 70 ปีมาแล้ว และยังคงมีอิทธิพลอย่างมากในประเทศที่เต็มไปด้วยวิกฤติการเมือง กล้าแสดงจุดยืนที่แข็งกร้าวเช่นนี้เนื่องจากร้อนใจเกรงว่า คำตัดสินนี้จะเป็นบรรทัดฐานในการพิจารณาคดีนายทหารระดับสูงในอนาคตข้างหน้า ซึ่งแต่ไหนแต่ไรมาจะได้รับอภิสิทธิ์หรือได้รับการคุ้มกันไม่ให้ถูกนำตัวไปดำเนินคดี เพราะเกรงว่ากองทัพจะตอบโต้ด้วยการออกเอ็กเซอร์ไซส์ยึดอำนาจเหมือนที่เคยทำมาก่อนนับตั้งแต่สถาปนาสาธารณรัฐอิสลามปากีสถานเมื่อปี 2499 แล้วมีนายทหารนอกราชการก้าวขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีคนแรก จากนั้น มีนายทหารอีกอย่างน้อย 3 คน ได้ใช้วิธีลัดก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำประเทศผ่านการทำรัฐประหาร อย่างไรก็ดี แต่ละคนมักจะมีจุดจบที่ไม่สวยงามนัก

 

                           คนแรกได้แก่ จอมพลโมฮัมหมัด อัยยุบ ข่าน ที่ทำรัฐประหารเมื่อปี 2501 และอยู่ในตำแหน่งยาวนานที่สุดถึงกว่า 10 ปี ก่อนจะถูกกดดันให้ลาออกในปี 2512 หลังเกิดการประท้วงครั้งใหญ่

 

 

                           คนที่ 2 ได้แก่ พล.อ.มูฮัมหมัด เซีย อุล ฮัค ที่ตั้งตัวเองเป็นประธานาธิบดีคนที่ 6 จากการทำรัฐประหารเมื่อปี 2520 และอยู่ในตำแหน่งยาวนานร่วม 11 ปี ระหว่างนั้นมีชื่อเสียงฉาวโฉ่กรณีสั่งประหารชีวิตด้วยการแขวนคออดีตประธานาธิบดีและอดีตนายกรัฐมนตรีซุลฟิการ์ อาลี บุตโต พ่อของเบนาซีร์ บุตโต ท้ายสุด กรรมตามสนองเสียชีวิตจากเหตุก่อวินาศกรรมบนครื่องบินประจำตำแหน่งขณะทะยานขึ้นจากสนามบินแค่ 2 นาที เชื่อว่าเป็นฝีมือของสายลับอัฟกานิสถานภายใต้คำสั่งของหน่วยสืบราชการลับเคจีบีของสหภาพโซเวียตที่มีอิทธิพลในยุคสมัยนั้น

 

 

 

                           คนสุดท้ายก็คือ พล.อ.เปอร์เวฟ มูชาร์ราฟ ประธานาธิบดีคนที่ 12 จากการทำรัฐประหารเมื่อปี 2542 ก่อนจะถูกบีบให้จำใจต้องยอมถอดหัวโขนทิ้งเมื่อปี 2551 เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกถอดถอน

 

                           ผู้เชี่ยวชาญอีกกลุ่มหนึ่งมองว่ารัฐบาลของนายกรัฐมนตรีอิมรอน ข่าน ที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับกองทัพอาจจะไฟเขียวให้กองทัพเคลื่อนไหวได้ เพื่อปูทางให้ประธานาธิบดีได้โอกาสอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญอภัยโทษให้มูชาร์ราฟ แม้ว่าที่ผ่านมาประธานาธิบดีไม่ค่อยจะใช้อำนาจนี้มากนักก็ตาม

 

 

                           ก่อนหน้านี้อิมรอน ข่าน เคยพยายามทดแทนบุญคุณของกองทัพด้วยการพยายามจะยื่นมือมาแทรกแซงกระบวนการพิจารณาคดี หมายจะขัดขวางไม่ให้ศาลพิเศษส่งฟ้องมูชาร์ราฟ ถึงจะไม่สำเร็จ แต่รัฐบาลก็ยังไม่ละความพยายาม เห็นได้ชัดจากกรณีรัฐมนตรีหลายคนที่เคยดำรงตำแหน่งในช่วงรัฐบาลมูชาร์ราฟมาก่อนได้ทำงานอย่างใกล้ชิดกับทีมกฎหมายของมูชาร์ราฟ ช่วยกันหาทางช่วยอดีตนายทหารใหญ่ให้รอดพ้นเงื้อมมือของกฎหมายให้ได้

 

 

                           ความเคลื่อนไหวนี้ยังมีขึ้นเพียงไม่กี่สัปดาห์หลังจากศาลสูงสุดได้ตั้งข้อสงสัยกรณีรัฐบาลตัดสินใจจะยืดอายุราชการของนายพลกามาร์ ชาเวด บัจวา ผู้บัญชาการทหารบกออกไป 3 ปีโดยไม่ให้เหตุผลใดๆ และท้ายสุด ศาลก็ให้อำนาจรัฐสภาในการแก้ไขกฎหมายเพื่อคลี่คลายปัญหานี้ ทำให้ผู้บัญชาการทหารบกสามารถรับราชการต่อไปได้อีก 6 เดือนขณะที่รัฐสภากำลังเร่งไขรัฐธรรมนูญ

 

เส้นทางสู่อำนาจ 

 

                           อดีตประธานาธิบดีมูชาร์ราฟเกิดในครอบครัวนักการทูตที่นิวเดลีช่วงก่อนที่จะแยกประเทศเป็นอินเดีย-ปากีสถาน แต่เมื่อแยกเป็น 2 ประเทศแล้ว ครอบครัวได้อพยพไปอยู่ที่การาจีและมูชาร์ราฟได้เริ่มต้นชีวิตการเป็นทหารอาชีพจากการเข้าไปศึกษาที่โรงเรียนทหารที่คาบูล

 

 

                           เจ้าตัวมีประสบการณ์การรบในช่วงสงครามหลายครั้ง ตั้งแต่คราวสงครามอินเดีย-ปากีสถานครั้งแรกเมื่อปี 2509 จากนั้นก็ไปประจำการอยู่ในหน่วยปฏิบัติการพิเศษระหว่างปี 2509-2515 ช่วงที่เกิดสงครามอินเดีย-ปากีสถานครั้งที่ 2 เมื่อปี 2514 มูชาร์ราฟได้ย้ายไปประจำการที่หน่วยคอมมานโด ผลงานของเขาเกิดเข้าตานายกรัฐมนตรีนาวาซ ชารีฟ ซึ่งได้ผลักดันให้เขาได้เลื่อนยศเลื่อนตำแหน่งอย่างรวดเร็ว กระทั่งได้รับแต่งตั้งเป็นผู้บัญชาการทหารบก

 

                           อย่างไรก็ดี นาวาซเริ่มระแวงในความทะเยอทะยานทางการเมืองของมูชาร์ราฟหลังเกิดเหตุการณ์ความขัดแย้งที่หมู่บ้านคาร์กิลในแคชเมียร์ ทำให้อินเดียกับปากีสถานเกิดปะทะกัน ในช่วงเดือนพฤษภาคม 2542 โดยมีข่าวลือที่เชื่อถือได้ว่ามูชาร์ราฟอยู่เบื้องหลังความขัดแย้งนี้ ทำให้นาวาซ ชารีฟ วางแผนจะปลดเขาออกจากตำแหน่ง

 

 

 

 

                           แต่มูชาร์ราฟชิงตัดหน้าเป็นงูเห่าที่แว้งกัดชาวนาผู้มีบุญคุณก่อน ด้วยการยึดอำนาจสั่งปลดนาวาซกลางอากาศเมื่อเดือนตุลาคม 2542 หลังจากรู้ว่านาวาซเตรียมจะถอดตัวเองออกจากตำแหน่งช่วงที่ตัวเองเดินทางไปเยือนศรีลังกา โดยระหว่างบินกลับ รัฐบาลไม่ยอมให้เครื่องบินลงจอดที่สนามบินการาจี กระทั่งทหารต้องยกกำลังล้อมบ้านพักนายกรัฐมนตรี ระหว่างนั้น มูชาร์ราฟได้ฉวยโอกาสประกาศกฎอัยการศึก ยกเลิกรัฐธรรมนูญและเข้ามาบริหารประเทศในฐานะผู้นำฝ่ายบริหาร เมื่อจัดระเบียบสังคมเรียบร้อยแล้ว เจ้าตัวก็ตั้งตัวเองเป็นประธานาธิบดีในกลางปี 2544

 

 

                           ตลอดช่วงกว่า 10 ปีที่เรืองอำนาจ มูชาร์ราฟ ซึ่งรอดชีวิตจากความพยายามลอบสังหารหลายครั้งได้พยายามกระตุ้นเศรษฐกิจให้เฟื่องฟู อีกทั้งยังพยายามจะกระชับความสัมพันธ์กับมหาอำนาจอย่างสหรัฐ ผ่านการสนับสนุนการทำ “สงครามต่อต้านก่อการร้าย” ของประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ในช่วงหลังเกิดเหตุการณ์ 9/11 แม้ว่าจะมีการต่อต้านเรื่องนี้จากภายในประเทศ

 

 

                           อำนาจในมือของ พล.อ.มูชาร์ราฟ ยังคงแข็งแกร่งแม้จะเกิดเหตุใหญ่ถูกกล่าวหาว่าพัวพันกับการลอบสังหารนางเบนาซีร์ บุตโต อดีตนายกรัฐมนตรี 2 สมัย ระหว่างหาเสียงเลือกตั้งเมื่อปลายปี 2550 ก็ตาม แต่แล้วสถานการณ์พลันเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว เมื่อมูชาร์ราฟที่มัวเมาในอำนาจคิดจะท้าทายอำนาจตุลาการ พยายามจะถอดถอนผู้พิพากษาศาลสูงสุดและปลดรัฐมนตรียุติธรรม จนทำให้ทนายความและอัยการทั่วประเทศพากันผละงานประท้วงนานติดต่อกันหลายเดือน กระทั่งมูชาร์ราฟหมดความอดทนตัดสินใจประกาศภาวะฉุกเฉินเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน 2550 และล้มรัฐธรรมนูญเป็นครั้งที่ 2

 

 

                           แต่สถานการณ์มีแต่ทวีความรุนแรงมากขึ้น ท้ายสุดเจ้าตัวก็จำใจยอมถอดหัวโขนในเดือนสิงหาคม 2551 เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกถอดถอนจากตำแหน่ง แลัวลี้ภัยไปอยู่ที่ลอนดอน แต่เพราะยังไม่สามารถปล่อยวางในอำนาจได้ เจ้าตัวจึงหวนกลับประเทศอีกครั้งในปี 2556 หมายจะลงเลือกตั้ง แต่ศาลไม่อนุญาตอ้างว่าขาดคุณสมบัติ รวมทั้งห้ามเดินทางออกนอกประเทศ

 

                          ผลการเลือกตั้งครั้งนั้นปรากฏว่านาวาซ ชารีฟ คู่แค้นเจ้าเก่าชนะเลือกตั้งได้ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี แล้วการแก้แค้นก็เริ่มขึ้นในเดือนมีนาคม 2557 เมื่อมีการไต่สวนมูชาร์ราฟในหลายข้อหา รวมไปถึงข้อหาทรยศประเทศชาติและพัวพันกับการลอบสังหารนางเบนาซีร์ บุตโต

 

                           อย่างไรก็ดี กระบวนการไต่สวนและการฟ้องร้องกลับช้ายิ่งกว่าเต่าคลาน หนำซ้ำยังเปิดโอกาสให้มูชาร์ราฟหนีไปลี้ภัยที่ดูไบ โดยอ้างว่าเพื่อรักษาตัวแล้วไม่กลับประเทศอีกเลย ระหว่างนั้นเจ้าตัวยืนกรานเป็นกระต่ายขาเดียวว่าการจับกุมครั้งนี้ “มีแรงจูงใจทางการเมือง” พร้อมกับแสดงความเชื่อว่ากองทัพไม่มีวันทอดทิ้งตัวเองเด็ดขาดเพราะได้สร้างคุณูปการใหญ่หลวงให้แก่ประเทศมาโดยตลอด

 

 


 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ