ข่าว

 เมื่อแผ่นดินลุกเป็นไฟที่ชิลี

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย..บุญรัตน์ อภิชาติไตรสรณ์

 

 

ช่วงนี้ไม่ทราบเป็นเพราะอะไรเกิดเหตุประท้วงโดยมิได้นัดหมายกันขึ้นในหลายประเทศหลายภูมิภาค โดยเฉพาะที่ละตินอเมริกาซึ่งมีการประท้วงไล่เลี่ยกันใน 2 ประเทศ คือ ที่ชีลี และโบลิเวีย ซึ่งถ้านับรวมเวเนซุเอลาที่ประท้วงยืดเยื้อมาตั้งแต่ต้นปีแล้ว ที่ภูมิภาคนี้เกิดเหตุประท้วงถึง 3 ประเทศ สาเหตุส่วนใหญ่ก็คือ รัฐบาลไม่เคยสนใจปัญหาปากท้องของประชาชนและไม่เคยรับฟังเสียงของประชาชนอย่างจริงใจและจริงใจ  นึกอยากจะทำอะไรก็ทำทันที ส่วนใหญ่ล้วนมีผลประโยชน์เข้ากระเป๋าตัวเองเกือบทั้งสิ้น

 

 

แต่จุดการประท้วงที่น่าสนใจมากที่สุดก็คือที่ชิลี ประเทศที่องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (โออีซีดี) ยกย่องว่าเป็นหนึ่งในภาคีสมาชิกที่มีเศรษฐกิจดีที่สุดในละตินอเมริกา แต่จู่ๆ รัฐบาลกลับทำเหมือนสิ้นคิด ด้วยการจุดไม้ขีดโยนไปที่คลังน้ำมันใหญ่จนไฟลุกโชนทั่วทั้งประเทศ กลายเป็นอีกประเทศหนึ่งที่เลือดเริ่มนองไปทั่วแผ่นดิน  ท้ายสุดชื่อเสียงที่สั่งสมมานานหลายสิบปีพลันเสื่อมเสียลง เมื่อประกาศขอถอนตัวจากการเป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอดระดับโลกสำคัญ 2 รายการ  ทั้งการประชุมสุดยอดความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิก (เอเปก) ในวันที่ 16-17 พฤศจิกายนนี้ และการประชุมกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 25 ซึ่งกำหนดขึ้นระหว่างวันที่ 2-13 ธันวาคม 

 

 

 

( ชุมนุมใหญ่ล่าสุดเมื่อคืนวันที่ 1 พ.ย.ตามเวลาท้องถิ่น ) 

 

 

จุดเริ่มการประท้วง 

 

ต้นตอของการประท้วงครั้งใหญ่สุดในประวัติศาสตร์ประเทศนี้มีขึ้นเมื่อประธานาธิบดี เซบาสเตียน ปีเญรา จู่ๆ ประกาศเมื่อต้นเดือนตุลาคม ขึ้นค่าโดยสารรถไฟใต้ดินในช่วงเวลาเร่งด่วนสูงสุดอีก 4% จาก 800 เปโซชิลี (ราว 34 บาท) เป็น 830 เปโซ (ราว 35 บาท) อ้างว่าไม่สามารถแบกรับต้นทุนพลังงานที่สูงและค่าเงินเปโซที่อ่อนลงได้อีกต่อไปซึ่งสร้างความไม่พอใจให้ประชาชนส่วนใหญ่

 

นักเรียนนักศึกษาที่กรุงซันติอาโก ได้ใช้โซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือปลุกระดมผ่านแฮชแท็ก #EvasionMasiva ให้ประชาชนออกมาคัดค้านการขึ้นค่าโดยสารครั้งนั้น  เรื่องไม่น่าเชื่อพลันเกิดขึ้น เมื่อประชาชนกว่าล้านคนออกมาชุมนุมประท้วงร่วมเคาะกระทะและหม้อไห บีบแตรรถ ตามสไตล์การประท้วงแถบละตินอเมริกา จากนั้นก็ยกระดับความรุนแรงแทบกลายเป็นกลียุค มีการบุกปล้นร้านค้าและจุดไฟเผาสถานที่ต่างๆ รวมไปถึงซูเปอร์มาร์เก็ต รวมทั้งสถานีรถไฟใต้ดินกว่า 20 แห่ง

 

ระหว่างการประท้วง มีการเรียกร้องให้ปฏิรูปเศรษฐกิจในหลายประเด็น เพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม ทั้งเรื่องระบบสวัสดิการผู้สูงอายุ ระบบประกันสุขภาพและการเข้าถึงการศึกษาขั้นพื้นฐาน ท้ายสุดอันเป็นสูตรสำเร็จของการประท้วงก็คือการเรียกร้องให้ประธานาธิบดีปีเญราลาออก โทษฐานพยายามนำพาประเทศให้ย้อนกลับไปสู่ยุคเผด็จการครองเมืองในสมัยของนายพลออกุสโต ปิโนเชต์

 

ตอนแรกประธานาธิบดีปีเญรา วัย 69 ปีรายนี้ ซึ่งจากการจัดอันดับของนิตยสารฟอร์บส์พบว่ามีทรัพย์สินส่วนตัว 2,800 ล้านดอลลาร์ ได้ตอบโต้ทันควันด้วยการประกาศภาวะฉุกเฉินและเคอร์ฟิวในกรุงซันติอาโก และเมืองใหญ่อีกหลายแห่ง จนเกิดปะทะกับผู้ประท้วง  มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 20 คน บาดเจ็บเกือบ 1,000 คน ถูกจับกุมอีกกว่า 7,000 คน

 

 

 เมื่อแผ่นดินลุกเป็นไฟที่ชิลี

 

 

เมื่อสถานการณ์ทำท่าจะบานปลายมากกว่านี้ ประธานาธิบดีปิเญรา จึงจำใจต้องกลืนน้ำลายตัวเอง ออกแถลงการณ์ขอโทษประชาชนที่ขาดวิสัยทัศน์ในการบริหาร ต้องยอมยกเลิกการขึ้นราคาค่ารถไฟใต้ดิน  แต่สถานการณ์กลับยิ่งทวีความรุนแรง  ปิเญราจึงกู้หน้าตัวเองด้วยการให้ของขวัญปลอบใจประชาชนด้วยการเสนอ “ชุดนโยบายปฏิรูป” เพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม ทั้งในเรื่องการประกันสุขภาพ เร่งเครื่องระบบรักษาพยาบาล ลดราคายาสำหรับคนยากจน ประกันค่าจ้างขั้นต่ำเดือนละ 480 ดอลลาร์ รวมทั้งปฏิรูประบบบำนาญโดยให้สัญญาจะเพิ่มเงินบำนาญขั้นพื้นฐานเป็นอย่างต่ำ 20% จะลดค่าไฟฟ้าลงรวมถึงระงับขึ้นภาษีศุลกากรสำหรับเครื่องใช้ไฟฟ้า จะอัดฉีดเงินของรัฐให้ถึงมือคนยากจนมากขึ้นรวมไปถึงปรับปรุงระบบยุติธรรมในการช่วยเหลือเหยื่อจากคดีอาชญา

 

นอกจากนี้ประธานาธิบดีปีเญรายังเล่นละครการเมืองฉากใหญ่ด้วยการขอให้คณะรัฐมนตรีทุกคนลาออก เพื่อเปิดช่องให้มีการปรับครม.ครั้งที่ 3 ในรอบปี

 

 

ปรากฏว่านักการเมืองฝ่ายค้านส่วนใหญ่เห็นด้วยกับมาตรการของรัฐบาล ตรงข้ามกับผู้ประท้วงส่วนใหญ่ที่มองว่าเป็นแค่ผักชีโรยหน้า นอกจากไม่ช่วยแก้ไขปัญหาให้ลึกลงไปถึงต้นตอแท้จริงของปัญหาแล้วยังจะยิ่งทำให้กลุ่มธุรกิจได้ผลประโยชน์มากขึ้น ไม่ต้องพูดไกลไปถึงเรื่องที่ว่ารัฐบาลจะหาเงินมาจากไหนมาโปะในโครงการเหล่านี้

 

 

 

รากเหง้าคือความเหลื่อมล้ำ 

 

ชิลีได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่ประสบความสำเร็จและมั่งคั่งมากที่สุดในละตินอเมริกา อีกทั้งยังมีเสถียรภาพและความสงบสุขมากที่สุด นับตั้งแต่สิ้นยุคเผด็จการปิโนเชต์ ได้รับการยอมรับจากทั่วโลกในเรื่องของธรรมาภิบาลในระบบการบริหารจัดการ  มีความโปร่งใสและมีบรรยากาศที่เป็นมิตรต่อการลงทุน เศรษฐกิจมีแต่เติบโตอย่างมีนัยสำคัญอันเนื่องมาจากกรอบเศรษฐกิจมหภาคที่มั่นคงและจากความเฟื่องฟูของเหมืองทองแดง  จากข้อมูลของธนาคารโลกระบุว่าชิลีสามารถลดจำนวนคนยากจนที่มีรายได้แค่วันละ 5.5 ดอลลาร์ ลงเหลือแค่ 6.4% เมื่อปี 2560 เมื่อเทียบกับปี 2543 ที่พุ่งสูงถึง 30%

 

ตลอดช่วงที่ผ่านมามีเรื่องเล่ามากมายถึงความมั่งคั่งของชิลี แต่สิ่งที่ถูกปกปิดไว้อันเป็นผลตามมาก็คือความเหลื่อมล้ำของรายได้และสังคม จะว่าไปแล้วนับเป็นเรื่องแปลก เพราะแม้เศรษฐกิจของชิลีจะมีเสถียรภาพ แต่ชิลีกลับได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำทางสังคมมากที่สุดในบรรดาประเทศสมาชิกโออีซีดี โดยมีช่องว่างของรายได้สูงถึง 65% เมื่อเทียบกับอัตราเฉลี่ยของสมาชิกประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะวัยรุ่นและผู้หญิงที่ต้องต่อสู้อย่างหนัก เพื่อหางานที่มีคุณภาพและตรงตามทักษะของตนเอง

 

จากรายงานของโออีซีดีระบุว่า คุณภาพชีวิตของชาวชิลีดีขึ้นมากในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา ขณะนี้อัตราความยากจนลดลงต่ำกว่าสหรัฐเสียอีก แต่ช่องว่างระหว่างคนที่ร่ำรวยที่สุดและคนที่ยากจนที่สุดยังคงสูงมาก ซึ่งจากผลการศึกษาของรัฐบาลที่จัดทำขึ้นเมื่อปีที่แล้ว พบว่าช่องว่างของรายได้ของมหาเศรษฐีที่ร่ำรวยที่สุดสูงกว่ารายได้ของผู้ยากจนที่สุดพุ่งเป็น 13.6 เท่าตัว

 

ขณะที่รายงานของสหประชาชาติเผยว่า เศรษฐีชิลีที่มีอยู่แค่ 1% แต่กลับมีรายได้คิดเป็น 33% ของความมั่งคั่งของประเทศ ผกผันกับแรงงานชิลีราว 1 ใน 3 ที่เป็นแรงงานชั่วคราวที่ไม่มีความมั่นคง ขณะที่รายงานจากสำนักงานสถิติแห่งชาติของชิลีเสริมว่าแรงงานกว่าครึ่งของชาวชิลีมีรายได้มากที่สุดแค่เดือนละ 550 ดอลลาร์ โดยเกือบครึ่งหนึ่งของผู้ใช้แรงงาน 9 ล้านคนตอนนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว

 

 

 เมื่อแผ่นดินลุกเป็นไฟที่ชิลี

 

 

อีกสิ่งหนึ่งที่ถือเป็นเรื่องแปลกของการประท้วงครั้งนี้ นั่นก็คือไม่มีใครอ้างตัวว่าเป็นแกนนำการประท้วงเหมือนปล่อยให้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ เมื่อประชาชนถึงจุดที่สุดจะอดทนอดกลั้นได้อีกต่อไปจึงพร้อมใจกันออกมาประท้วง

 

ขณะที่บรรดาฝ่ายค้านที่อ่อนแอและแตกเป็นกลุ่มๆ ก็ไหลไปตามกระแสน้ำเชี่ยวกราก เมื่อประกาศจับมือกันเป็นพันธมิตรอย่างหลวมๆ เช่นเดียวกับการรวมตัวของสหภาพนักเรียนที่ประกาศสนับสนุนการเคลื่อนไหวของประชาชน และแม้จะมีกลุ่มใหม่ๆ หลายกลุ่มเผยโฉมออกมา แต่ก็ไม่สามารถอ้างตัวเองได้ว่าเป็นแกนนำการประท้วง รวมทั้งไม่สามารถหาตัวแทนที่จัดเจนที่จะเจรจากับรัฐบาลในเงื่อนไขต่างๆ ขณะที่รัฐบาลอ้างว่าทั้งหมดนี้เป็นฝีมือของพวกอนาธิปไตยที่มุ่งทำลายทรัพย์สินและห่วงโซ่อาหารในประเทศ นั่นหมายถึงมุ่งก่อกวนชีวิตประจำวันของประชาชน

 


กิลเยร์โม โฮลซ์แมนน์ นักวิเคราะห์การเมือง มหาวิทยาลัยวัลปาราริโซ ให้ความเห็นว่า ถ้าจะแบ่งกลุ่มผู้ประท้วงจริงๆ ก็สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มซ้ายสุดโต่ง ซึ่งมีพร้อมทั้งในเรื่องทุนและการจัดตั้ง ลุ่มนี้ต่อต้านระบบตลาดเสรีมานาน ส่วนในการต่อสู้ครั้งนี้ได้ชูนโยบายต่อต้านตลาดเสรีใหม่ อีกกลุ่มหนึ่งก็คือ กลุ่มมาเฟียหรือบรรดาอันธพาลครองเมืองที่ฉวยโอกาสปล้นสะดมร้านค้า กลุ่มสุดท้ายได้แก่ ชาวบ้านทั่วไป ที่เข้าร่วมการประท้วงเพื่อแสดงออกถึงความไม่พอใจที่ค่าครองชีพมีแต่สูงขึ้น

 

ผู้ประท้วงหลายคนเผยว่ากำลังต่อสู้เพื่อเอาตัวรอดจากค่าครองชีพที่ดีดตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะในด้านการศึกษาภาคเอกชนและระบบการรักษาพยาบาล ตลอดจนค่าเช่าบ้าน ค่าสาธารณูปโภคพื้นฐาน รวมทั้งการแปรรูประบบบำนาญที่ทำให้คนส่วนใหญ่หลุดจากระบบนี้เนื่องจากมีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์กำหนดไม่นับรวมถึงความล่าช้าในการจ่ายเงิน

 

 

 เมื่อแผ่นดินลุกเป็นไฟที่ชิลี

 

 

ผู้ประท้วงคนหนึ่งซึ่งเป็นครูสอนพลศึกษาแห่งหนึ่งเผยว่า "การประท้วงครั้งนี้ไม่ใช่เรื่อง 30 เปโซแต่เป็นเรื่องของ 30 ปี” 30 ปีที่ชิลีกลับมาเป็นประชาธิปไตย แต่รัฐธรรมนูญกลับอยู่ใต้อุ้งมือเผด็จการ

 

ความเหลื่อมล้ำทางสังคมข้อนี้ จึงทำให้กลุ่มซ้ายสุดโต่ง ยื่นข้อเรียกร้องให้รัฐบาลต้องกำหนดให้ลูกจ้างทำงานได้สัปดาห์ละไม่เกิน 40 ชั่วโมง และรัฐสภากำลังพิจารณาที่จะออกเป็นกฎหมายแม้ว่าภาคธุรกิจจะโวยว่าอาจจำเป็นต้องปลดคนงานออกเพื่อลดค่าใช้จ่ายลงก็ตาม

 

อันที่จริงปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมเกิดขึ้นทั่วทุกหนแห่ง คำถามก็คือ ทำไมถึงมาระเบิดที่ชิลีได้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะรัฐบาลไม่เคยสนใจปัญหาปากท้องของประชาชนจริงๆ ในคืนแรก ที่ประชาชนมารวมตัวชุมนุมประท้วงและก่อจลาจลนั้น ภาพที่เห็นกลับเป็นภาพประธานาธิบดีกำลังนั่งละเลียดพิซซ่าเหมือนไม่รู้ร้อนรู้หนาวแถมยังสั่งให้ทหารมาสลายการชุมนุมและประกาศเคอร์ฟิว

 

โรดริโก เปเรส ศาสตราจารย์ด้านการพัฒาเศรษฐกิจแห่งมหาวิทยาลัยซานเตียโก ยูนิเวอร์ซิแดด เมเยอร์ กล่าวว่า คนจนและชนชั้นกลางในชิลี มีแรงกดดันมากกว่าคนจนในประเทศอื่น ซึ่งมีปัญหาความเหลื่อมล้ำเช่นกัน แต่ประเทศอื่นไม่เกิดปัญหา เนื่องจากรัฐบาลของประเทศนั้นๆ ต่างพยายามหาทางแก้ไขปัญหานั้นอยู่ ผิดกับที่ชิลีที่รัฐบาลไม่ทำอะไรเลย  ทั้งในเรื่องของการจัดสรรหรือการบรรเทาปัญหาความแตกต่างของรายได้ให้ประชาชน ขณะที่ประชาชนเองมีการศึกษามากขึ้นและตระหนักถึงความจริงที่เกิดขึ้นมากขึ้นผ่านสื่อโซเชียลมีเดียจึงทำให้ยากจะแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ได้ ยกเว้นจะต้องลุกขึ้นสู้เพื่อโอกาสที่ดีกว่าในชีวิต

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ