ข่าว

น้ำทะเลสูงกระทบคนมากกว่าที่คิด-กรุงเทพฯจมหมดใน 30 ปี 

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ผลศึกษาใหม่ ชี้น้ำทะเลเพิ่มสูงทำประชากรโลกเสี่ยงจมน้ำมากกว่าที่คิด 3 เท่า หรือราว 300 ล้าน หลายเมืองใหญ่ส่อหายจากแผนที่ รวมถึงเมืองหลวงของไทย 



ผลวิจัยใหม่ล่าสุดโดย ไคลเมท เซ็นทรัล ( Climate Central ) องค์กรไม่แสวงผลกำไร มีสำนักงานในนิวเจอร์ซีย์ ปรับขึ้นคาดการณ์จำนวนประชากรโลกในพื้นที่ชายฝั่งเสี่ยงน้ำท่วม มากกว่าในผลวิจัยก่อนหน้าถึง 3 เท่า 


ระดับน้ำทะเลที่คาดจะเพิ่มสูงขึ้นระหว่าง 0.6 เมตรถึง 2.1 เมตร หรือมากกว่านั้นในศตวรรษที่ 21 จะทำให้ที่ดินที่เป็นบ้านของคนกว่า 300 ล้านชีวิตในปัจจุบัน  กลายเป็นพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมอย่างน้อยปีละครั้ง ภายในกลางศตวรรษ หากยังไม่สามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และเสริมมาตรการปกป้องชายฝั่ง 

 


เหตุที่ตัวเลขใหม่สูงขึ้นมากจากเคยคาดไว้ที่ 80 ล้านคน ดร. สก็อตต์ คูลป์ นักวิทยาศาสตร์อาวุโสไคลเมท เซ็นทรัลและหัวหน้าทีมวิจัย อธิบายว่า เดิม การประเมินผลกระทบของระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นต่อพื้นที่กว้างใหญ่ ใช้ความสูงของที่ดินจากภาพถ่ายดาวเทียมในการคิดคำนวณ แต่วิธีนี้มีปัญหาในการแยกแยะระดับของพื้นดิน กับความสูงของต้นไม้หรืออาคาร นักวิจัยจึงใช้ปัญญาประดิษฐ์กำหนดค่าความผิดพลาดและแก้ไขใหม่ พบว่าตัวเลขประเมินไว้ก่อนหน้ายังออกมาในแง่ดีเกินไป 

 


นักวิจัยกล่าวว่า ความแตกต่างอย่างมากเมื่อเทียบกับผลศึกษาอิงจากข้อมูลดาวเทียมนาซา เป็นเรื่องช็อก สะท้อนถึงผลกระทบจากไคลเมทเชนจ์ ที่จะเปลี่ยนรูปโฉมใหม่ของเมือง เศรษฐกิจ พื้นที่แนวชายฝั่ง ในหลายภูมิภาคทั่วโลกในช่วงชีวิตของพวกเรา 

 

 

ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงมากที่สุดจะอยู่ในเอเชีย โดยมากกว่าสองในสามของประชากรที่มีความเสี่ยงได้รับผลกระทบ อยู่ในจีน บังกลาเทศ อินเดีย เวียดนาม อินโดนีเซียและประเทศไทย 

 

น้ำทะเลสูงกระทบคนมากกว่าที่คิด-กรุงเทพฯจมหมดใน 30 ปี 

 

 

ปัจจุบัน ประชากรในไทย 12 ล้าน อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีแนวโน้มจมน้ำภายในปี พ.ศ. 2593 เพิ่มขึ้นมากจาก 1 ล้านตามเทคนิคเดิมที่ใช้ประเมินไว้ก่อนหน้า โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร เมืองหลวงทางการเมืองและพาณิชย์ เสี่ยงเป็นพิเศษ 

 

 

น้ำทะเลสูงกระทบคนมากกว่าที่คิด-กรุงเทพฯจมหมดใน 30 ปี 

 

 

ซึ่งจากแผนที่ตามผลวิจัยใหม่ แสดงให้เห็นพื้นที่น้ำท่วมตามชายฝั่ง และลึกเข้าไปในชั้นใน มากกว่าการประเมินครั้งก่อนอย่างมาก 

 

 

ส่วนเวียดนาม ภาคใต้อาจหายไปจากแผนที่  ประชาชนในเวียดนามกว่า 20 ล้าน หรือประชากรเกือบ 1 ใน 4 อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่จะจมบาดาล  ส่วนใหญ่ของนครโฮจิมินห์ ศูนย์กลางเศรษฐกิจประเทศจะหายไปด้วย 

 


อินโดนีเซีย ที่เพิ่งประกาศแผนย้ายเมืองหลวงจาการ์ตาเมื่อไม่นานมานี้ ตัวเลขใหม่พบว่า จะมีประชาชนมากถึง 23 ล้านเสี่ยงจมน้ำ จากที่คาดไว้เดิม 5 ล้าน 

 

 

Loretta Hieber Girardet  เจ้าหน้าที่หน่วยงานด้านลดความเสี่ยงภัยพิบัติสหประชาชาติ พำนักในกรุงเทพ กล่าวว่า ไคลเมทเชนจ์ หรือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จะเพิ่มความกดดันแก่เมืองต่างๆในหลายมิติ เช่น น้ำท่วมจากภาวะโลกร้อน จะผลักดันเกษตรกรยากจนพากันละทิ้งที่ดิน เข้าไปหางานทำในเมือง


ผลวิจัยชิ้นนี้ ตีพิมพ์ในวารสาร เนเจอร์ คอมมูนิเคชันส์ เผยแพร่เมื่อ 29 ตุลาคม
 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ