ข่าว

ผ่าแผนรุก-เผาป่าแอมะซอนไล่ที่ชนพื้นเมือง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย...บุญรัตน์ อภิชาติไตรสรณ์

 

 

นานร่วมเดือนแล้วที่ไฟป่าบริเวณลุ่มแม่น้ำแอมะซอน  ยังลุกลามโดยรัฐบาลบราซิลยังไม่สามารถสกัดไฟไม่ให้ลุกลามออกไปได้ ถือเป็นไฟป่าครั้งวิกฤติที่สุดนับตั้งแต่รัฐบาลเริ่มบันทึกสถิติอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2556 จนประชาคมโลกที่ห่วงใยสิ่งแวดล้อมในป่าร้อนชื้นที่ได้ชื่อว่าเป็นปอดของโลก ตั้งคำถามว่าเหตุใดการดับไฟป่าจึงไม่สัมฤทธิ์ผล มีเบื้องหน้าเบื้องหลังอะไรหรือไม่

 

 

 

 

ผ่าแผนรุก-เผาป่าแอมะซอนไล่ที่ชนพื้นเมือง

 

 

คำถามนี้มีขึ้นหลังจากประธานาธิบดี ฌาอีร์ โบลโซนารู เจ้าของฉายา "ทรัมป์แห่งบราซิล” โกหกหน้าตายตอนแถลงครั้งแรกว่า  สถานการณ์กำลังกลับสู่ปกติแล้ว แต่เมื่อความจริงกลับตรงข้าม เขาก็ใช้ท่าทีเกรี้ยวกราดมากลบ 

 

 

“แอมะซอนนั้น มีพื้นที่ใหญ่กว่ายุโรปเสียอีก ถึงแม้ว่าผมจะมีคนสัก 10 ล้านคน ก็ยังไม่มากพอที่จะช่วยกันสกัดไฟป่าได้..เราได้ทำเท่าที่ทำได้” 

 

 

“ทรัมป์แห่งบราซิล” ยังคงโทษสภาพอากาศที่ร้อนและแห้งแล้งจัดว่าเป็นสาเหตุของไฟป่า แต่นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมย้อนกลับว่า นโยบายขยายพื้นที่การเกษตรและเหมืองของโบลโซนารูต่างหาก ที่มีส่วนช่วยกระตุ้นให้มีการบุกรุกพื้นที่ป่ามากขึ้น โบลโซนารูกลับโต้ว่ารัฐบาลจำเป็นต้องผลักดันโครงการพัฒนาเศรษฐกิจที่แอมะซอนเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน 20 ล้านคนที่มีรกรากในพื้นที่แถวนั้น

 

 

ท้ายสุด ผู้นำกลุ่มประเทศอุตสาหกรรม 7 ประเทศ หรือจี 7 ต้องยื่นมือเข้ามาช่วยด้วยการประกาศจะให้เงิน 22 ล้านดอลลาร์ (ราว 665 ล้านบาท) สนับสนุนการดับไฟป่าครั้งนี้ แต่น่าแปลกที่ โบลโซนารู ไม่ยอมรับเงินก้อนนี้ กระทั่งถูกกดดันว่ายุโรปจะฉีกข้อตกลงการค้าที่เพิ่งทำกับกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจของรัฐในอเมริกาใต้ (เมอร์โคซูร์) ที่บราซิลเป็นหัวเรือใหญ่เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา โบลโซนารูจึงลดความอหังการ์ลง

 

 

ผ่าแผนรุก-เผาป่าแอมะซอนไล่ที่ชนพื้นเมือง

 

 

กระนั้น ก็ไม่วายเปิดวิวาทะกับประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง แห่งฝรั่งเศส เริ่มจากกล่าวว่า “แอมะซอนเป็นของบราซิล ไม่ใช่ของพวกคุณและมาครง ควรนำเงินไปดูแลประชาชนตัวเองและอาณานิคมของฝรั่งเศส” มากกว่า จากนั้น โบลโซนารู เปลี่ยนกลยุทธ์ใหม่ด้วยการชูกระแสชาตินิยมกล่าวหามาครง ว่าปฏิบัติกับบราซิลราวกับเป็น “อาณานิคมหรือเป็นดินแดนที่ยังไม่มีใครจับจอง” นอกจากนี้ ยังกล่าวหาประเทศแถบยุโรปว่าสนใจเรื่องไฟป่าที่แอมะซอน เพราะหวังจะเข้ามาแทรกแซงอธิปไตยและเข้ามากอบโกยทรัพยากรธรรมชาติของบราซิล โดยย้ำว่า “บราซิลเป็นเหมือนสาวบริสุทธิ์ ที่คนบ้ากามทุกคนจากภายนอกต่างต้องการเข้ามาย่ำยี”

 

 

บรรดาสื่อมวลชนที่รู้นิสัยของผู้นำคนนี้ดี  ต่างบอกว่าไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะเป็นปกติวิสัยที่เจ้าตัวชอบเบนประเด็นเป็นเรื่องอื่นหากไม่สามารถตอบคำถามนั้นๆ ได้  โดยเฉพาะคำถามที่ว่าเจ้าตัวมีความจริงใจมากน้อยเพียงใดที่จะดับไฟป่าครั้งนี้ ในเมื่อเป็นที่รู้กันไปว่าโบลโซนารู มีนโยบายส่งเสริมการบุกรุกผืนป่าแห่งนี้มานานแล้ว

 

 

จริงอยู่แม้ว่าไฟป่าที่แอมะซอนมักจะเกิดขึ้นเป็นประจำในช่วงฤดูแล้ง แต่ข้อมูลทางดาวเทียมที่สำนักงานอวกาศของบราซิลนำมาเปิดเผยกลับให้ข้อมูลที่ผิดสังเกตว่านับตั้งแต่โบลโซนารูสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อต้นปีมานี้เป็นต้นมา ปรากฏว่าแดนแซมบาเกิดไฟป่าปะทุขึ้นมากถึง 82,285 จุด หรือเพิ่มขึ้นราว 83% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

 

 

ผ่าแผนรุก-เผาป่าแอมะซอนไล่ที่ชนพื้นเมือง

 

 

ศูนย์วิจัยอวกาศแห่งชาติของบราซิล เผยด้วยว่า ทุกๆ นาที มีป่าขนาดใหญ่เท่ากับเท่าครึ่งของสนามฟุตบอลถูกเผา หรือแค่เฉพาะช่วง 2 วันระหว่างวันที่ 25-26 สิงหาคม ปรากฏว่าเกิดไฟไหม้ป่าจุดใหม่เพิ่มขึ้นอีก 1,659 จุด หรือในช่วง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา ดาวเทียมสามารถตรวจจับไฟป่าในแอมะซอนได้มากกว่า 9,500 จุด กว่าครึ่งของไฟป่าครั้งนี้อยู่ที่ลุ่มน้ำแอมะซอน ความเสียหายนี้ไม่ใช่แค่ต้นไม้ แต่รวมไปถึงคนและสัตว์ในป่าที่ไม่สามารถหนีเอาตัวรอดได้

 

 

 

 

ผ่าแผนรุก-เผาป่าแอมะซอนไล่ที่ชนพื้นเมือง

 

ข่าวเกี่ยวข้อง 

เผยคลิปหายากพิสูจน์ชนเผ่าอเมซอนยังมีอยู่หวั่นคนตัดไม้คุกคาม

คลิปโดรนเผยความเป็นอยู่ชนเผ่าอเมซอนบราซิล

ผู้นำบราซิลจี้มาครงขอโทษถึงจะรับความช่วยเหลือดับไฟป่าแอมะซอน

 

นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเชื่อว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้วิกฤติไฟป่าแอมะซอนปีนี้รุนแรงเป็นพิเศษ มาจากนโยบายของโบลโซนารู ที่เปิดไฟเขียวให้เกษตรกรบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อแปลงเป็นทุ่งเกษตรและทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ อันเป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาเศรษฐกิจ แม้นโยบายนี้จะสร้างปัญหากับชนพื้นเมืองในเขตพื้นที่สงวนที่มีความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุดและเป็นที่อยู่อาศัยของชนพื้นเมืองกว่า 900,000 คน แบ่งเป็นเผ่าต่างๆ กว่า 300 เผ่า ในจำนวนนี้มีอย่างน้อย 100 เผ่าที่ไม่ได้ติดต่อกับโลกภายนอก

 

ความคุ้มครองดังกล่าวนี้ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญของบราซิลเพื่อรักษาวัฒนธรรมและสิทธิของกลุ่มชนพื้นเมืองที่ถูกกดขี่ข่มเหงมาหลายร้อยปี

 

นับตั้งแต่เข้ามาบริหารประเทศ โบลโซนารูได้เริ่มนโยบาย "ทำลายป่าและสิ่งแวดล้อม” เริ่มตั้งแต่ประกาศถอนตัวจากการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดประชุมสิ่งแวดล้อมโลกที่กำหนดมีขึ้นในปีนี้ การตั้งนายคาร์โด ซัลเลส ซึ่งไม่เคยมีประวัติการต่อสู้เพื่อสิ่งแวดล้อมขึ้นมารัฐมนตรีสิ่งแวดล้อม ทั้งๆ ที่ถูกฟ้องในข้อหาแก้ไขแผนที่สิ่งแวดล้อมเพื่อประโยชน์ของบริษัททำเหมืองช่วงที่เขารับผิดชอบเรื่องสิ่งแวดล้อมที่เซาเปาโลเมื่อปี 2559

 

 

ผ่าแผนรุก-เผาป่าแอมะซอนไล่ที่ชนพื้นเมือง

 

 

นอกจากนั้นยังสั่งคุมเข้มการทำงานของสำนักงานอนุรักษ์ป่า โดยเฉพาะการห้ามสั่งปรับบุคคลหรือบริษัทต่างๆ ที่เข้าไปตัดทำลายป่าและสร้างมลภาวะทางอากาศจนรายได้จากค่าปรับลดลงฮวบฮาบ  สั่งยุบหลายหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม อาทิ สำนักงานบริหารน้ำแห่งชาติ ซึ่งโอนย้ายจากกระทรวงสิ่งแวดล้อมไปขึ้นกับกระทรวงพัฒนาภูมิภาคและบริหารป่าไม้บราซิล การสั่งยุบแผนกที่ควบคุมและป้องกันการตัดไม้ทำลายป่าและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ขณะที่คณะกรรมการร่วมจากกระทรวงต่างๆ ที่มีหน้าที่กำหนดนโยบายแห่งชาติว่าด้วยสถาพอากาศเปลี่ยนแปลงก็ไม่เคยเปิดประชุมแม้แต่ครั้งเดียวตลอดช่วง 7-8 เดือนหลังได้รับแต่งตั้ง

 

 

ยิ่งกว่านั้น รัฐบาลยังได้ตัดงบประมาณของหน่วยงานต่างๆ ที่รับผิดชอบด้านสิ่งแวดล้อมลงรวมแล้ว 23 ล้านดอลลาร์ เมื่อต้นเดือนนี้ ยังสั่งปลดนายริคาร์โด กัลวาโอ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยอวกาศแห่งชาติ เพราะไม่พอใจที่แถลงยืนยันเชื่อมั่นในข้อมูลที่ได้จากภาพถ่ายดาวเทียมที่เผยให้เห็นพื้นที่ป่าที่ถูกทำลายมากขึ้นถึง 88% เมื่อเดือนมิถุนายน ที่ผ่านมา เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

 

 

ผ่าแผนรุก-เผาป่าแอมะซอนไล่ที่ชนพื้นเมือง

 

 

เหนืออื่นใด รัฐบาลมีแผนจะรื้อฟื้นโครงการสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำขึ้นเหนือแม่น้ำสายสำคัญในแอมะซอน นอกเหนือจากตัดถนนหลายสายเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่นายทุนที่บุกรุกพื้นที่สงวนของชนพื้นเมือง แม้ว่าโครงการสร้างเขื่อนจะทำให้หมู่บ้านของบางเผ่าจะจมน้ำ ทำลายทั้งชีวิตและวิถีชีวิตของชนพื้นเมือง ซึ่งได้รับการรับรองและการคุ้มครองจากรัฐธรรมนูญ จนคนพื้นเมืองบางเผ่าต้องอพยพหนีขณะที่บางเผ่าประกาศจะสู้ตายจนเลือดหยดสุดท้าย

 

 

อย่างกลุ่มคนพื้นเมืองมุนดูรูกู ซึ่งรอดจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์จากนักล่าอาณานิคมโปรตุเกสเมื่อ 500 ปีมาแล้ว ตอนนี้กำลังเสี่ยงที่จะสูญเสียบ้านและที่ดินทำกินจากโครงการสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนใหม่

 

“รัฐบาลอยากให้พวกเราไปใช้ชีวิตเยี่ยงคนขาว จะต้องออกไปทำงานเพื่อหารายได้ แต่เราไม่ต้องการให้พวกเขามาทำลายแผ่นดินของเรา ผืนแผ่นดินที่พวกเราอาศัยอยู่มาตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษ”

 

 

ผ่าแผนรุก-เผาป่าแอมะซอนไล่ที่ชนพื้นเมือง

 

รวมวิวาทะสะท้อนมุมมองของโบลซานารูต่อชนเผ่า 

 

ตั้งแต่อดีต สมัยยังเป็น ส.ส. 7 สมัย  โบลโซนารู เป็นผู้นำที่มีแนวทางต่อต้านคนพื้นเมืองอย่างสุดโต่ง ได้เคยพูดจาดูหมิ่นดูแคลนกลุ่มชนพื้นเมืองหลายครั้ง และยังคงยึดมั่นในจุดยืนนี้ เมื่อให้สัญญาว่าจะถอนสถานะการคุ้มครองเขตสงวนของชนพื้นเมืองภายในปี 2562 ด้วยมองว่า ไม่ยุติธรรมที่คนพื้นเมืองที่มีไม่ถึง 0.5% ของประชากรทั่วประเทศแต่กลับมีสิทธิในที่ดินคิดเป็น 13% ของที่ดินทั่วประเทศ

 

**** เมษายน 2531 "เป็นเรื่องน่าละอายที่กองทหารม้าของบราซิลไม่เก่งกาจเหมือนทหารม้าของอเมริกันที่สามารถสังหารหมู่พวกอินเดียนแดงได้”

 

****  22 เมษายน 2558  “พวกอินเดียนแดงไม่ได้พูดภาษาของเรา  พวกเขาไม่มีเงิน  พวกเขาไม่มีวัฒนธรรม พวกเขาเป็นแค่คนพื้นเมือง  ทำไมพวกเขาถึงมีสิทธิในผืนดินมากถึง 13% ของผืนดินทั่วประเทศนี้”

 

***** 22 เมษายน 2558  “ไม่มีดินแดนใดของพวกคนพื้นเมืองที่ไม่มีเหมืองแร่ ทั้งทองคำ ดีบุกและแมกนีเซียม ซึ่งล้วนแต่อยู่ในพื้นที่ของพวกคนพื้นเมืองโดยเฉพาะที่แอมะซอน พื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดในโลก ผมไม่ทำตัวงี่เง่าด้วยการจะปกป้องแผ่นดินให้กับพวกอินเดียนแดงหรอกนะ”

 

***** 22 เมษายน 2558  “เขตสงวนสำหรับคนพื้นเมืองเป็นอุปสรรคต่อธุรกิจด้านเกษตร ที่บราซิล คุณไม่สามารถลดทอนผืนดินของพวกคนพื้นเมืองได้แม้แต่ตารางนิ้วเดียว”

 

**** 10 มิถุนายน 2559  “นโยบายของฝ่ายบริหารที่ให้ผืนดินแก่คนพื้นเมืองจะต้องถูกยกเลิก ผมจะลดขนาดของที่ดินสงวนลง ผมจะทำแน่ คงจะเป็นการต่อสู้ครั้งใหญ่ที่เราจะต้องปะทะกับสหประชาชาติ”

 

***** 3 เมษายน 2560  “พวกคุณมั่นใจได้เลยว่าถ้าหากผมได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี จะไม่มีเงินไหลไปสู่มือของกลุ่มเอ็นจีโอ และถ้าทุกอย่างขึ้นอยู่กับผม ประชาชนทุกคนสามารถครอบครองอาวุธปืนภายในบ้าน และจะไม่มีแผ่นดินแม้แต่ตารางนิ้วเดียวให้กับพวกคนพื้นเมือง”

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ