ข่าว

คาโรลา ราเคเท วีรสตรีหรือมนุษยธรรม เรื่องชวนปวดหัวของอียู

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย...บุญรัตน์ อภิชาติไตรสรณ์

 

กลายเป็นประเด็นถกเถียงอีกครั้งเรื่องการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมต้องมาก่อนนโยบายของหลายประเทศในยุโรปที่อยู่ติดทะเลเมดิเตอร์เรเนียนหรือไม่ ที่ใช้กฎเหล็กไม่ยอมรับผู้อพยพทางเรือจากแอฟริกาเหนือและตะวันออกกลางให้ขึ้นฝั่ง เพราะไม่อยากแบกรับปัญหาคาราคาซังที่สหภาพยุโรปยังแก้ไม่ตกเสียที โดยเฉพาะเมื่อกลุ่มขวาจัดที่ต่อต้านการรับผู้อพยพทางเรือเริ่มมีอำนาจมากขึ้นในหลายประเทศ

 

 

 

ข้อถกเถียงนี้มีขึ้นหลังจาก น.ส. คาโรลา ราคาเท (Carola Rakete )  วัย 31 ปี กัปตันเรือชาวเยอรมัน ถูกตำรวจอิตาลีจับกุมหลังจากฝ่าฝืนคำสั่งนำเรือ "ซีวอทช์-3"  ขององค์กรเพื่อการกุศลซีวอทช์ของเยอรมนี ที่ติดธงเนเธอร์แลนด์ พุ่งชนเรือลาดตระเวนของตำรวจที่พยายามขัดขวางไม่ให้เธอนำเรือเข้าเทียบท่าบนเกาะลัมเปดูซา ท้ายที่สุด เธอสามารถเข้าเทียบท่าได้สำเร็จเมื่อช่วงปลายเดือนที่แล้ว หลังจากต้องนำเรือลอยละล่องกลางทะเลเมดิเตอร์เรเนียนนานกว่า 2 สัปดาห์ เนื่องจากทางการอิตาลียืนกรานไม่ยอมให้เธอนำเรือเทียบท่าพร้อมผู้อพยพจากลิเบีย 42 คนที่เธอช่วยเหลือจากแพที่ใกล้แตก นอกชายฝั่งของลิเบีย

 

คาโรลา ราเคเท วีรสตรีหรือมนุษยธรรม เรื่องชวนปวดหัวของอียู

 

 

ประโยคที่เธอพูดผ่านคลิปวิดีโอว่า "ฉันจะพาพวกเขาไปยังที่ปลอดภัย” กลายเป็นประโยคดังที่แพร่ไปทั่วโลกในฉับพลัน โดยเฉพาะเมื่อเธอถูกจับทันทีที่ลงจากเรือฐานขัดขืนคำสั่งของนายมัตเตโอ ซัลวินี รัฐมนตรีมหาดไทยอิตาลี ที่สั่งห้ามเรือลำนี้เทียบท่า เพราะอาจเป็นภัยต่อความมั่นคง หรือต่อความสงบเรียบร้อย หลังจากนั้น เธอถูกกักบริเวณระหว่างรอคำพิพากษาจากศาล โดยนายซัลวินีขู่ว่า กัปตันเรือซีวอทช์-3 จะต้องโทษจำคุก ซึ่งอาจจะสูงถึง 10 ปี หรืออาจจะถูกเนรเทศกลับเยอรมนี ขณะที่กลุ่มซีวอทช์ เจ้าของเรือจะต้องจ่ายค่าปรับในอัตราสูงสุดด้วย

 

ส่วนผู้อพยพจากเรือลำนี้ถูกส่งไปศูนย์พักพิงชั่วคราวก่อนจะแยกย้ายกันไปอยู่ที่ฝรั่งเศส เยอรมนี ฟินแลนด์ ลักเซมเบิร์ก หรือโปรตุเกส ซึ่งประกาศยินดีต้อนรับผู้อพยพกลุ่มนี้

 

คาโรลา ราเคเท วีรสตรีหรือมนุษยธรรม เรื่องชวนปวดหัวของอียู

 

 

ทันทีที่ข่าวกัปตันสาวราคาเท ถูกจับเผยแพร่ไปทั่ว เธอก็กลายเป็นวีรสตรีในชั่วพริบตา ได้รับยกย่องว่าเป็นสัญลักษณ์ของการต่อต้าน และท้าทายอำนาจรัฐ ดาราชื่อดังชาวเยอรมัน และกลุ่มต่อต้านฟาสซิสม์ในอิตาลีได้ช่วยกันรณรงค์ทางออนไลน์ระดมเงินได้มากกว่า 1 ล้านยูโรสำหรับจ่ายค่าปรับ หรือค่าดำเนินการทางกฎหมายถ้าเธอถูกดำเนินคดี หรือนำไปซื้อเรือช่วยเหลือผู้อพยพลำใหม่ ถ้าเรือซีวอทช์-3 ใช้การไม่ได้

 

โชคดีที่ผู้พิพากษาศาลได้ตัดสินให้ปล่อยตัวเธอทันที เนื่องจากไม่มีความผิดกรณีก่ออาชญากรรมเพื่อช่วยเหลือผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วน ถือเป็นคำตัดสินที่แสดงถึงชัยชนะอันยิ่งใหญ่ของผู้อพยพทุกคน แม้ว่าเธออาจจะถูกจับอีกรอบในข้อหาช่วยเหลือผู้เข้าเมืองผิดกฎหมายก็ตาม

 

หลังจากนั้น กัปตันเรือสาวราคาเท ก็ถูกเจ้าหน้าที่ของเอ็นจีโอนำตัวไปกบดานในที่ปลอดภัย หลังจากเธอถูกกลุ่มชาตินิยมและกลุ่มขวาจัดคุกคามหมายเอาชีวิต มีการโพสต์ในโซเชียลมีเดียโจมตีเธอว่าเป็นพวกไม่เคารพกฎหมาย เป็นคนอวดรวยชาวเยอรมัน ซ้ำร้ายมีการข่มขู่ว่าจะข่มขืนเธอแล้วฆ่าทิ้ง

 

 

 

คาโรลา ราเคเท วีรสตรีหรือมนุษยธรรม เรื่องชวนปวดหัวของอียู

 

 

“นี่ไม่ใช่การละเมิดกฎหมาย แต่เป็นแค่การต่อต้านขัดขืน”   คาโรลา ราคาเท ให้สัมภาษณ์สื่อ พร้อมกับยอมรับเรื่องการขับเรือชนเรือลาดตระเวนของตำรวจอิตาลี แต่อ้างว่าเพราะเป็นเรื่องเร่งด่วนเนื่องจากผู้อพยพบางคนต้องได้รับความช่วยเหลือทันที ขณะที่เธอเองก็ไม่สามารถรับประกันความปลอดภัยของผู้อพยพทั้ง 42 คนได้อีกต่อไป

“ตลอดช่วง 2 อาทิตย์ที่ต้องลอยเรือกลางทะเล เราได้แจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบตลอดเวลาถึงสภาพของคนในเรือว่ามีแต่แย่ลง มีคนล้มป่วยที่ไม่สามารถรักษาบนเรือได้ มีคนเจ็บที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ ไม่ต้องพูดถึงสภาพอารมณ์และจิตใจของทุกคน โดยเฉพาะคนที่เคยมีประวัติฆ่าตัวตายมาก่อน ซึ่งดูเหมือนอาการอาจจะกำเริบเมื่อตกอยู่ในสภาพสิ้นหวังอย่างนี้ แต่เราก็เหมือนกับพูดอยู่กับกำแพงหินยักษ์”

“ตอนที่ทางการยืนกรานไม่ยอมให้ผู้อพยพขึ้นฝั่ง ทำให้พวกเขายิ่งหดหู่สิ้นหวังมากขึ้น” จนเธอเห็นท่าไม่ดี ต้องรีบสั่งให้ลูกเรือขึ้นไปตรวจตราที่ดาดฟ้าเรือ เพราะเกรงว่าบางคนอาจจะเครียดจนคิดกระโดดลงทะเล แพทย์ประจำเรือคนหนึ่งถึงกับต้องนอนเฝ้าบนดาดฟ้าเรือเพื่อคอยดูสถานการณ์ “มีคนบอกพวกเราว่าตอนนี้กำลังช่วยกันหาทางออกทางการเมือง เพราะว่ามีหลายสิบเมืองยินดีต้อนรับผู้อพยพกลุ่มนี้ แต่เมื่อผ่านไปหลายวัน ก็ยังตกลงกันไม่ได้ เหตุการณ์ที่ท่าเรือเป็นผลจากความสิ้นหวังของความสับสนที่เกิดขึ้นตลอดช่วงเกือบ 20 วัน สุดท้ายฉันก็ต้องตัดสินใจเด็ดขาดว่าจะต้องนำเรือเทียบท่าให้ได้”

 

คาโรลา ราเคเท วีรสตรีหรือมนุษยธรรม เรื่องชวนปวดหัวของอียู

 

คาโรลา ราคาเท  ซึ่งพูดได้ 5 ภาษา จบการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาวิชาวิทยาการเดินเรือ และจบปริญญาโท สาขาอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เคยทำงานเป็นนักบุกเบิกและนักสำรวจทางทะเลที่ขั้วโลกเหนือกับขั้วโลกใต้ให้แก่สถาบันอัลเฟรด เวเกเนอร์ เพื่อการวิจัยขั้วโลกและทะเล เป็นเวลา 2 ปี จากนั้นลาออกไปทำงานเป็นอาสาสมัครที่ศูนย์อนุรักษ์ธรรมชาติโครนอกสกีที่คาบสมุทรแคมเชตกา แล้วไปเป็นเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยที่เรือสำราญลำหนึ่งของโมนาโก ก่อนจะไปทำงานที่เรือสำรวจขั้วโลกใต้ของกลุ่มกรีนพีซ และเนื่องจากมีใบอนุญาตการเดินเรือ เธอจึงย้ายไปทำงานเป็นกัปตันเรือซีวอทช์-3 เมื่อปี 2559 ซึ่งเป็นเรือช่วยเหลือและกู้ภัยของกลุ่มเอ็นจีโอซีวอืช์ของเยอรมนี

“ฉันไม่มีบ้าน ไม่มีรถยนต์ ฉันไม่สนใจเรื่องรายได้ประจำและก็ไม่มีครอบครัว ไม่มีอะไรสามารถรั้งฉันไม่ให้ทำงานที่ชอบนี้ได้”

กัปตันเรือสาวกล่าวด้วยว่าเธอต้องยื่นมือช่วยผู้อพยพ 42 คนที่ลอยเรือนอกชายฝั่งลิเบีย และยืนกรานไม่ยอมให้ขึ้นฝั่งที่ตริโปลีตามข้อเสนอ เนื่องจากเกรงว่าผู้อพยพจะไม่ปลอดภัยถูกจับเข้าคุก ถูกทรมานและถูกข่มขืนเหมือนกับหลายรายที่ถูกจับก่อนหน้า

 

คาโรลา ราเคเท วีรสตรีหรือมนุษยธรรม เรื่องชวนปวดหัวของอียู

ภาพ Sea-Watch International

 

“ชีวิตของคนสำคัญกว่าการเล่นเกมการเมือง" เธอย้ำ ก่อนจะโต้ว่า นายซัลวินีเป็นตัวแทนของปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ ปรากฏการณ์ที่พวกขวาจัดเข้ามามีอำนาจมากขึ้นทั่วยุโรป รวมไปถึงเยอรมนีและอังกฤษที่ต่อต้านผู้อพยพทุกรูปแบบโดยไม่ยอมรับฟังความเป็นจริงแม้แต่น้อย

 

ความเป็นจริงอันแสนโหดร้ายที่เกิดขึ้นอันเนื่องจากนโยบายของอียูที่ไม่ยอมช่วยเหลือผู้อพยพยกลางทะเลอีกต่อไป มีอยู่แค่ 6 ประเทศที่ยังยินดีรับผู้อพยพ ประกอบด้วย ฟินแลนด์ ลักเซมเบิร์ก เยอรมนี ฝรั่งเศส และโปร์ตุเกส ส่วนใหญ่จะทำตัววางเฉยปล่อยให้เกือบทุกประเทศที่อยู่ติดทะเลเมดิเตอร์เรเนียนใช้มาตรการเด็ดขาดขัดขวางไม่ให้ผู้อพยพขึ้นฝั่ง แถมยังร่วมมือกับยามฝั่งลิเบียให้ขยายพื้นที่ความรับผิดชอบตั้งแต่เมื่อปี 2560 เรือของลิเบียจะคอยติดตามเรือผู้อพยพที่พยายามแล่นออกนอกชายฝั่งแล้วลากเรือกลับฝั่ง คนที่อยู่บนเรือจะถูกจับขังท่ามกลางข่าวที่สะพัดไปทั่วว่าถูกทรมานและถูกข่มขืน

 

 

คาโรลา ราเคเท วีรสตรีหรือมนุษยธรรม เรื่องชวนปวดหัวของอียู

 

 

นสพ.เดร์ ชปีเกล ของเยอรมนี อ้างเอกสารลับของกระทรวงมหาดไทยเยอรมนีว่า ตั้งแต่มีนโยบายแข็งกร้าวนี้ จำนวนผู้อพยพทางเรือลดฮวบฮาบลงถึง 83% ภายในปีเดียวเท่านั้น เช่นเดียวกับขบวนการค้ามนุษย์ ค้าอาวุธและค้ายาที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัด ในจดหมายที่พลเรือตรีเอ็นริโอ เครเดนดิโน ผู้นำหน่วยปฏิบัติการโซเฟียของอิตาลีส่งถึงอียูเมื่อต้นปีนี้ กล่าวว่า "การที่เรือของเอ็นจีโอลดน้อยลง ทำให้ยามฝั่งของลิเบียสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธภาพมากขึ้น”

 

ที่น่าเศร้าก็คือกลุ่มเอ็นจีโอได้ลดปฏิบัติการด้านมนุษยธรรมลงจนเหลือเรือปฏิบัติการช่วยเหลือแค่ 2-3 ลำเท่านั้น ซึ่งดำเนินการโดยอลัน เตอร์ดี จากกลุ่มซี-อายของเยอรมนี จากเดิมที่มีอยู่กว่าสิบลำ หนำซ้ำเอ็นจีโอกลุ่มนี้กลับถูกทางการอิตาลีและมาเฟียจับกุมมากขึ้นในข้อหาลักลอบพาคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย

 

จากผลการสำรวจความเห็นที่จัดทำโดยสถานีวิทยุเออาร์ดีของเยอรมนี พบว่า เกือบ 3 ใน 4 ของชาวเยอรมันเห็นว่าควรช่วยเหลือผู้อพยพเมื่อประสบปัญหากลางทะเลและคนที่ช่วยเหลือไม่ควรถูกลงโทษ นอกจากนี้ 63% มองว่าอียูวางนโยบายไม่ถูกต้องที่ลดการช่วยเหลือลง ที่น่าสนใจคือ มีอยู่ไม่ใช่น้อยที่อยากให้ช่วยเหลือ แต่ก็ไม่ยินดีให้เปิดชายแดนต้อนรับอย่างที่นักเคลื่อนไหวเรียกร้อง

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ