ข่าว

ผลวิจัยล่าสุดแนะกินข้าวมากขึ้นช่วยป้องกันโรคอ้วน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ทีมวิจัยนำเสนอผลศึกษาที่เชื่อมโยงอัตราโรคอ้วนกับปริมาณกินข้าวในประเทศต่างๆ 


 

ผลการศึกษาที่นำเสนอในที่ประชุมยุโรปว่าด้วยโรคอ้วน (อีซีโอ) 2019 ในเมืองกลาสโกว์ ประเทศอังกฤษ จัดขึ้นระหว่าง 28 เม.ย-1 พ.ค. ระบุว่า อัตราโรคอ้วนในประเทศที่บริโภคข้าวปริมาณมาก (เฉลี่ย 150 กรัมต่อวันต่อคน) อยู่ในระดับต่ำ ขณะประเทศที่กินข้าวน้อย ( เฉลี่ย 14 กรัมต่อวันต่อวัน) มีอัตราโรคอ้วนสูงกว่า 

 

 

แม้นำปัจจัยต่างๆมาประกอบแล้ว ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบการดำเนินชีวิตและปัจจัยเสี่ยงทางสังคมเศรษฐกิจ รวมถึงการบริโภคพลังงาน (แคลอรีต่อคนต่อวัน)  การศึกษา การสูบบุหรี่ ผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี)ต่อหัว และค่าใช้จ่ายสาธารณสุข พบว่าปริมาณข้าวที่บริโภคกับโรคอ้วนยังสัมพันธ์กันอยู่ดี 

นักวิจัยยังประเมินว่า หากกินข้าวเพิ่มขึ้นอีกพอประมาณ หรือเพิ่มเป็น 50 กรัมต่อวันต่อคน พอๆกับข้าว 1 ถ้วย ก็อาจช่วยลดอัตราโรคอ้วนทั่วโลกได้แล้วราว 1% หรือลดประชากรอ้วนวัย 18 ปีขึ้นไป จาก 650 ล้านคน อยู่ที่ 643.5 ล้านคน 

“ผลศึกษาบ่งว่าอัตราการโรคอ้วนในประเทศกินข้าวเป็นอาหารหลัก อยู่ในระดับต่ำ ดังนั้น อาหารญี่ปุ่นหรืออาหารแบบชาวเอเชียที่ข้าวเป็นอาหารหลัก จึงอาจช่วยป้องกันโรคอ้วนได้ และเนื่องจากโรคอ้วนเพิ่มสูงขึ้นทั่วโลก จึงควรแนะนำประเทศตะวันตกให้กินข้าวมากขึ้นเพื่อป้องกัน” ศาสตราจารย์ โทโมโก อิมาอิ จากโดชิชา วีเมนส์ คอลเลจ ประเทศญี่ปุ่น หัวหน้าทีมวิจัยกล่าว 

ทั้งนี้ เป็นที่รู้กันว่า คนที่กินอาหารอุดมไฟเบอร์และธัญพืชแบบโฮล เกรน มีน้ำหนักตัวและคลอเลสเตอรอลต่ำกว่า และอัตราโรคไม่ติดต่อ ก็ต่ำกว่าเมื่อเทียบกับคนที่กินอาหารชนิดเดียวกันน้อยกว่า แต่ผลกระทบจากการกินข้าวต่อโรคอ้วนยังไม่มีความชัดเจน 

เพื่อเข้าใจความเชื่อมโยงนี้ อิมาอิและคณะจึงสำรวจการบริโภคข้าว (ซึ่งหมายถึงข้าวทุกชนิด ทั้งข้าวขาว ข้าวกล้อง  ) กับการบริโภคพลังงาน ( แคลอรีต่อคนต่อวัน) ในอาหารที่คนใน 136ประเทศที่มีประชากรมากกว่า 1 ล้านคนรับประทาน โดยใช้ข้อมูลจากองค์การอาหารและเกษตรสหประชาชาติ นำมาวิเคราะห์ร่วมกับอัตราโรคอ้วน เวลาที่ใช้ไปกับการศึกษา สัดส่วนประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไป จีดีพี และงบประมาณสาธารณสุข 

ผลวิเคราะห์แสดงให้เห็นว่า การใช้พลังงานรวม อัตราการสูบบุหรี่ ระดับโรคอ้วน สัดส่วนประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไป การศึกษา และงบสาธารณสุขในประเทศที่กินข้าวปริมาณมาก ล้วนอยู่ในระดับต่ำกว่า ตามลำดับ 5 ประเทศแรกดังนี้

1. บังกลาเทศ  473 กรัมต่อวันต่อคน  2. ลาว 443 กรัม  3. กัมพูชา 438 กรัม 4. เวียดนาม 398 กรัม 5. อินโดนีเซีย 361 กรัม 

ไทย กินข้าวมากเป็นอันดับ 7 ที่ 312 กรัมต่อวันต่อคน

ส่วนญี่ปุ่น ที่ติดอันดับเป็นประเทศสุขภาพดีที่สุดในโลก กินข้าวเฉลี่ย 149 กรัมต่อวันต่อคน 

เมื่อเทียบกับประเทศกินข้าวน้อยและมีอัตราโรคอ้วนสูง อย่างฝรั่งเศส อยู่ในอันดับ 99 / 15กรัมต่อวันต่อคน 
อังกฤษ อันดับ 89 / 19 กรัม  สเปน อันดับ 81 / 22 กรัม น แคนาดา อันดับ 77 / 24 กรัม  และออสเตรเลีย อันดับ 67 / 32 กรัม

สาเหตุที่การกินข้าวช่วยป้องกันน้ำหนักตัวเพิ่ม อาจเป็นเพราะไฟเบอร์ สารอาหาร และองค์ประกอบของพืชในเมล็ดข้าว  เพิ่มความรู้สึกอิ่มท้องและป้องกันการกินมากเกินไป นอกจากนี้ ข้าวยังมีไขมันต่ำ และกลูโคลสในเลือดหลังรับประทานอาหารที่ควบคุมการหลั่งอินซูลิน ก็อยู่ในระดับต่ำ อย่างไรก็ดี ผลศึกษาพบว่า คนที่กินข้าวมากเกินไป มีแนวโน้มที่จะเป็นเบาหวาน และภาวะเมแทบอลิกซินโดรม หรือภาวะเผาผลาญอาหารในร่างกายผิดปกติ  ดังนั้น การป้องกันโรคอ้วน จึงควรเป็นการกินข้าวปริมาณเหมาะสม 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ