ข่าว

5 เรื่องน่ารู้สหรัฐงัดมาตรการคว่ำบาตรสุดพลังกดดันอิหร่าน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

มาตรการคว่ำบาตรเต็มรูปแบบต่ออิหร่านที่สหรัฐเคยยกเลิกไปหลังตะวันตกบรรลุข้อตกลงนิวเคลียร์ ในปี 2558 ถูกรัฐบาลทรัมป์งัดมาใช้ใหม่


ทำความรู้จักกับมาตรการแซงชันที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ นำกลับมาใช้สกัดกั้นอิทธิพลและศักยภาพทางทหารของอิหร่านอีกครั้งหนึ่ง หลังตัดสินใจพาสหรัฐถอนตัวจากข้อตกลงนิวเคลียร์กับอิหร่าน เมื่อ 8 พฤษภาคมที่ผ่านมา มาตรการแซงชันรอบใหม่มีผลบังคับใช้ในวันที่ 5 พฤศจิกายนนี้  โดยไมค์ ปอมเปโอ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ โวว่า นี่คือชุดแซงชันต่ออิหร่านแบบหนักหน่วงที่สุดแล้วตั้งแต่เคยมีมา  
 

 

5 เรื่องน่ารู้สหรัฐงัดมาตรการคว่ำบาตรสุดพลังกดดันอิหร่าน

1 พลังงาน การเดินเรือและการเงิน 


เป้าหมายมาตรการกดดันอยู่ที่การส่งออกพลังงาน ท่าเรือ การขนส่งทางเรือและบริษัทต่อเรือ  ตลอดจนภาคการเงิน โดยเฉพาะการประกัน ธุรกรรมธนาคารกลางและธนาคารต่างๆในอิหร่าน


 ผู้ใดค้าขายน้ำมันอิหร่าน หรือทำธุรกรรมกับระบบธนาคารอิหร่าน จะถูกลงโทษ บริษัทต่างชาติที่ละเมิดมาตรการเหล่านี้ อาจถูกปรับหรือถูกอัปเปหิจากระบบการเงินสหรัฐ  ซึ่งเป็นการป้องปรามที่ส่งผลมาก เพราะบริษัทส่วนใหญ่ทั่วโลกยังต้องการค้าขายเป็นเงินดอลลาร์  

 

5 เรื่องน่ารู้สหรัฐงัดมาตรการคว่ำบาตรสุดพลังกดดันอิหร่าน

 

2.โจมตีหัวใจเศรษฐกิจอิหร่าน 


รายได้จากน้ำมัน คือรายรับของรัฐอิหร่านราว 80%  งบประมาณรายจ่ายของอิหร่านราว 60%  ที่กระจายให้สถาบันและธุรกิจของสหรัฐนั้น ต้องพึ่งพารายได้จากน้ำมันเป็นหลัก การไม่สามารถเข้าถึงระบบการเงินระหว่างประเทศ ทำให้การรับชำระเงินเป็นเรื่องยากมาก 

 

5 เรื่องน่ารู้สหรัฐงัดมาตรการคว่ำบาตรสุดพลังกดดันอิหร่าน

 


จริงๆแล้วในวันนี้ เป็นวันเริ่มใช้มาตรการแซงชั่นครั้งใหม่รอบสอง หลังจากรอบแรกมีผลเมื่อ 7 สิงหาคม สหรัฐห้ามการซื้อขายกับรัฐบาลอิหร่านเป็นสกุลดอลลาร์ หรือห้ามซื้อขายเงินสกุลเรียลกับอิหร่าน  ห้ามซื้อพันธบัตรอิหร่าน  ห้ามซื้อขายทองคำ โลหะมีค่า อลูมิเนียม เหล็กกล้า คาร์บอน หรือกราไฟต์  อะไหล่ยานยนต์ การบินพาณิชย์  ห้ามนำเข้าพรมหรืออาหาร 

 

แผนแซงชันอิหร่านมีผลกระทบแล้ว นับตั้งแต่ทรัมป์ประกาศถอนตัวจากแผนปฏิบัติการร่วมเบ็ดเสร็จ (เจซีพีโอเอ) ที่เรียกสั้นๆว่าข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน  เมื่อ 8 พฤษภาคม หลายประเทศเริ่มลดการซื้อน้ำมันมาตั้งแต่นั้น  อิหร่านลดการผลิตน้ำมันจาก 3.8 ล้านบาร์เรลในเดือนพฤษภาคม เหลือวันละ 3.3 ล้านบาร์เรลในเดือนตุลาคม รายได้หายไปราว 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน 

 

5 เรื่องน่ารู้สหรัฐงัดมาตรการคว่ำบาตรสุดพลังกดดันอิหร่าน

 

3.สหรัฐต้องการข้อตกลงที่ดีกว่า 


มาตรการกดดันสูงสุดต่ออิหร่าน คือเครื่องมือต้อนผู้นำอิหร่านจนมุม บังคับให้มานั่งเจรจาใหม่เพื่อทำข้อตกลงที่ดีกว่าสำหรับการควบคุมพัฒนานิวเคลียร์  ยุติโครงการขีปนาวุธ และยุติการสนับสนุนกลุ่มก่อการร้ายทุกกลุ่มในตะวันออกกลาง รวมถึง ฮิซบุลเลาะฮ์ ฮามาส และอิสลามิก ญีฮัด ปาเลสไตน์  ตลอดจนถอนทหารทั้งหมดจากสายบัญชาการในซีเรีย และสลายกองกำลังชีอะฮ์ในอิรัก  


เงื่อนไขที่สหรัฐต้องการเห็นก่อนยกเลิกมาตรการคว่ำบาตร ล้วนเป็นผลประโยชน์เกี่ยวพันกับอิสราอล ที่มองอิหร่านเป็นศัตรูอันตราย 

 

5 เรื่องน่ารู้สหรัฐงัดมาตรการคว่ำบาตรสุดพลังกดดันอิหร่าน

 

4.ผลกระทบต่อราคาน้ำมัน 


อิหร่านเป็นผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ในตลาดโลก ตัวเลขส่งออกในปี 2561 อยู่ที่ราว 2.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน  เพิ่มเกือบ 2 เท่านับจากปี 2558 ปีที่บรรลุข้อตกลงนิวเคลียร์และได้รับการผ่อนปรนมาตรการคว่ำบาตร  ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นหลังทรัมป์ประกาศท่าทีใหม่ แต่ซาอุดีอาระเบียออกมารับประกันว่าจะเติมเต็มปริมาณน้ำมันที่หายไป  กับมีหลายประเทศเพิ่มการผลิต 


การเพิ่มการผลิต ประกอบกับความต้องการจากตลาดเกิดใหม่ลดลง ฉุดราคาน้ำมันตกลงในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา กระนั้น ตลาดน้ำมันโลกอาจจะยังผันผวนได้ในอนาคตอันใกล้ จากการที่น้ำมันอิหร่านหายไปจากตลาด 6.-70% ซึ่งอาจไม่ดันราคาพุ่งทะยาน แต่มีผลต่อดุลยภาพอุปสงค์กับอุปทาน

 

5 เรื่องน่ารู้สหรัฐงัดมาตรการคว่ำบาตรสุดพลังกดดันอิหร่าน

 

5.ผลกระทบจากมาตรการแซงชันต่ออิหร่าน 


ค่าเงินเรียลอิหร่านเสื่อมค่าแล้ว 70% ในปีนี้ ขณะที่เงินเฟ้อพุ่งทะยาน  การส่งออกพลังงานอิหร่านลดลงเกือบ 1 ใน 3 นับจากเดือนมิถุนายน  การนำเข้าสินค้าก็เผชิญอุปสรรค ยาหลายชนิดที่จำเป็นสำหรับช่วยชีวิตคน หายากและแพงขึ้นมาก 


แต่มาตรการแซงชันอิหร่านจะได้ผลหรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่าจะสามารถบังคับใช้ได้เข้มข้นแค่ไหน และอิหร่านที่มีประสบการณ์กับการรับมือมาตรการคว่ำบาตรสหรัฐมาหลายปี จะปรับตัวและสามารถหลบหลีกอย่างไร  

บาร์บารา สลาวิน ผู้เชี่ยวอิหร่านสภาแอตแลนติกในสหรัฐ แสดงความเห็นว่า นี่ไม่ใช่โลกในปี 2555 ที่โลกผนึกกำลังแซงชันอิหร่าน  แต่เป็นรัฐบาลทรัมป์กำลังพยายามบังคับให้ทั้งโลก เดินไปตามนโยบายที่ส่วนใหญ่ไม่ยอมรับ 

 

5 เรื่องน่ารู้สหรัฐงัดมาตรการคว่ำบาตรสุดพลังกดดันอิหร่าน


นักวิชาการเชื่อว่า สหรัฐประสบความสำเร็จในแง่สกัดบริษัทใหญ่ แต่อิหร่านจะยังขายน้ำมันได้ต่อไป โดยเฉพาะขายให้กับจีน ยังไม่รวมกับการละเว้นให้กับพันธมิตร 8 ประเทศ อย่างอินเดีย เกาหลีใต้ และอาจจะญี่ปุ่น ที่ยังนำเข้าน้ำมันจากอิหร่านได้ 
ในมุมการเมือง  การประกาศมาตรการกดดัน มีแต่จะเข้าทางฝ่ายอนุรักษ์นิยมสุดขั้วในอิหร่าน ที่มักวิจารณ์นโยบายญาติดีกับตะวันตกเสมอมา  ยิ่งไปกว่านั้น การถอนตัวฝ่ายเดียวของสหรัฐ จุดความแตกแยกร้าวลึกข้ามแอตแลนติก และขณะนี้ ยุโรปอยู่ข้างเดียวกับจีนและมอสโกแล้ว  

 

5 เรื่องน่ารู้สหรัฐงัดมาตรการคว่ำบาตรสุดพลังกดดันอิหร่าน

ส่วนก้าวต่อไปของอิหร่าน ดูจากอดีต  รัฐบาลเตหะรานอาจกระชับสัมพันธ์กับประเทศยุโรป ที่ร่วมลงนามข้อตกลงนิวเคลียร์กันมา และต้องการรักษาไว้ หรืออาจตอบโต้กลับด้วยการโจมตีผลประโยชน์อมริกันในตะวันออกกลาง เพิ่มการคุกคามเรือสหรัฐในช่องแคบฮอร์มุตซ์ หรือโจมตีไซเบอร์ แต่ไม่มีวี่แววว่าจะเลือกหนทางที่สาม นั่นคือการเจรจาใหม่ 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ