ข่าว

นับถอยหลัง"ยุคเฮเซ"ที่ญี่ปุ่น

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย ..บุญรัตน์ อภิชาติไตรสรณ์

 

                    (คมชัดลึกออนไลน์ 1 ก.ย.) จากนี้ไปอีกแค่ 7 เดือนเป็นช่วงการนับถอยหลังการสิ้นสุดของศักราชหรือยุคสมัย “เฮเซ” ซึ่งแปลว่า "ร่มเย็นเป็นสุขทั่วผืนแผ่นดิน” ทันทีที่สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ พระชนม์ 84 พรรษา ทรงสละราชบัลลังก์อย่างเป็นทางการ ในวันที่ 30 เมษายน 2562 และมกุฎราชกุมารนารุฮิโตะเสด็จขึ้นครองราชย์เป็นสมเด็จพระจักรพรรดิองค์ที่ 126 ในสายการสืบสันตติวงศ์ที่ต่อเนื่องมายาวนานกว่าสองพันปี แล้วเริ่มต้นศักราชหรือยุคสมัยใหม่ ซึ่งยังไม่มีการประกาศว่าจะมีชื่อว่าอะไร

 

นับถอยหลัง"ยุคเฮเซ"ที่ญี่ปุ่น

 

                   ขณะนี้ ญี่ปุ่นเป็นประเทศเดียวและเป็นประเทศสุดท้ายที่ยังคงสืบทอดวัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมโบราณของจีนที่ใช้ต่อเนื่องมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 7 นั่นก็คือการนับศักราชตามการขึ้นครองราชย์ของฮ่องเต้ ถ้ามีการผลัดแผ่นดินก็จะเปลี่ยนศักราชใหม่ อย่างเช่นศักราชเจินกวน ในสมัยพระเจ้าถังไท่จง เป็นต้น

                    นับตั้งแต่นั้นมา ญี่ปุ่นมีการเปลี่ยนชื่อศักราช หรือยุคสมัยมาแล้ว เกือบ 250 ศักราช เนื่องจากเป็นธรรมเนียมในยุคก่อนที่จะมีการเปลี่ยนชื่อศักราช ในช่วงกลางรัชสมัยด้วยความเชื่อว่า จะนำสิ่งใหม่ๆ สิ่งดีมาสู่ หรือเปลี่ยนศักราชเพื่อแก้เคล็ดหลังเกิดวิกฤติการณ์หรือภัยพิบัติทางธรรมชาติ แต่ความนิยมนี้เริ่มหายไปในยุคหลังๆ โดยสมเด็จพระจักรพรรดินิยมใช้ศักราชเดียวตลอดช่วงรัชสมัย

 

นับถอยหลัง"ยุคเฮเซ"ที่ญี่ปุ่น

 

                    ปีนี้อาจจะเป็นปี ค.ศ.2018 ตามปฏิทินสากล แต่ที่แดนอาทิตย์อุทัยญี่ปุ่นเป็นปีศักราชเฮเซที่ 30 หรืออีกนัยหนึ่ง หมายถึงสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะทรงครองราชย์มานาน 30 ปีแล้ว นับตั้งแต่ทรงขึ้นครองราชย์เมื่อปี 2531 เป็นต้นมา แต่พระองค์มีพระราชประสงค์จะสละราชย์ เนื่องจากพระชนมายุมากแล้วประกอบกับพระพลานามัยไม่สมบูรณ์นัก ผ่านการผ่าตัดมาแล้ว 2 ครั้ง จึงไม่เอื้อที่จะทรงประกอบพระราชกรณียกิจต่อไป

                    กระทั่ง รัฐสภาต้องยอมออกกฎหมายพิเศษยินยอมให้พระองค์ทรงสละราชย์ได้ แต่เป็นกฎหมายที่ระบุเฉพาะเจาะจงพระองค์เดียวเท่านั้น ทำให้พระองค์ทรงเป็นสมเด็จพระจักรพรรดิพระองค์แรกในรอบเกือบ 200 ปีที่ทรงสละราชสมบัติ

 

นับถอยหลัง"ยุคเฮเซ"ที่ญี่ปุ่น

 

                    ชาวญี่ปุ่นไม่ใช่น้อย คงจะใจหายกับการเปลี่ยนแปลงนี้ เพราะเคยชินกับศักราชเเซมานาน 30 ปี โดยเฉพาะคนที่เกิดในช่วงการครองราชย์ของพระองค์ซึ่งมีสิ่งควรค่าต่อความทรงจำอยู่มากมาย โดยเฉพาะเมื่อพระองค์ทรงปฏิวัติสถานภาพของสถาบันอันศักดิ์สิทธิ์นี้ให้เป็นกึ่งเทพกึ่งมนุษย์ ไม่ใช่เป็นเทพอันศักดิ์สิทธิ์ที่แตะต้องไม่ได้อีกต่อไป อีกทั้งยังทรงเปิดกว้างให้สามัญชนเข้ามาอยู่ร่วมในพระราชวงศ์ได้ พระสุณิสาหรือลูกสะใภ้ทั้ง 2 พระองค์ล้วนเป็นสามัญชนมาก่อน เหนืออื่นใด โปรดเสด็จประพาสเยี่ยมเยียนราษฎรในที่ต่างๆ โดยเฉพาะในยามที่ประสบภัยร้ายแรง

                    ในโซเชียลมีเดีย จึงมีการโพสต์ข้อความเชิญชวนให้ “คนยุคเฮเซ” มาร่วมแลกเปลี่ยนความทรงจำอันแสนสุขในช่วงศักราชเฮเซกัน ปรากฏว่ามีคนเข้ามาโพสต์จำนวนไม่ใช่น้อย

                    ช่วงนี้ ลูกหลานชาวอาทิตย์อุทัยไม่ใช่น้อยต่างใจจดใจจ่ออยากรู้ว่าศักราชใหม่จะชื่อว่าอะไร เพราะแม้ว่าชาวญี่ปุ่นยุคปัจจุบันจะใช้ปฏิทินสากลแบบที่ใช้กันทั่วโลก แต่เอกสารของทางราชการ หนังสือพิมพ์และปฏิทินทางธุรกิจยังคงใช้ปีศักราชแบบเดิมอยู่

                    คูอิโนะ โควะกูชิ ประธานบริษัทใหญ่โตดัน ผู้จัดทำปฏิทินรายใหญ่ถึงปีละ 10 ล้านชุด มีทั้งที่เป็นปฏิทินสากลและปฏิทินญี่ปุ่น ซึ่งปกติในแต่ละปีจะเริ่มพิมพ์ปฏิทินล่วงหน้า 1 ปี ดังนั้นตอนนี้จึงช้าเกินไปที่จะพิมพ์ปฏิทินให้ทันศักราชใหม่ของญี่ปุ่น

                    “เป็นเรื่องง่ายที่จะนึกถึงว่าช่วงที่ผ่านมาเป็นอย่างไรถ้าหากเราใช้ศักราชแบบนี้” โควะกูชิ ให้ความเห็น “อย่างเช่นเป็นการง่ายที่จะจำว่าเราเกิดปัญหาฟองสบู่แตกในช่วงต้นยุคเฮเซ”

 

นับถอยหลัง"ยุคเฮเซ"ที่ญี่ปุ่น

                    ว่ากันว่าการที่ญี่ปุ่นเตรียมเปลี่ยนศักราชใหม่ เป็นสาเหตุสำคัญสาเหตุหนึ่งที่ทำให้รัฐบาลตัดสินใจประหารชีวิตโชโก อะซาฮารา หรือชิซุโอะ มัตสึโมโตะ เจ้าลัทธิโอมชินริเกียว หรือปรมัตถ์สัจจะและสาวกรวม 7 คน ที่ถูกขังลืมมานานกว่า 20 ปี เพราะอยากให้คดีสะเทือนขวัญยุติลงพร้อมกับยุคเฮเซ

                    ศักราชของจักรพรรดิพระองค์ใหม่จะเริ่มต้นในยุคการปฏิวัติไอที เชื่อกันว่าภาคธุรกิจไฮเทคนั้นเหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลง แต่หลายคนก็หวั่นว่าอาจจะเกิดปัญหาขึ้นมาได้เหมือนกับคราวที่ทั่วโลกต่างวิตกกับปัญหาไวรัสคอมพิวเตอร์ "วายทูเค” ในช่วงเปลี่ยนศตวรรษใหม่ปี 2000 ช่วงนั้นเกิดกระแสหวาดกลัวไปทั่วว่าคอมพิวเตอร์จะล่มไปทั้งโลกเนื่องจากระบบคอมพิวเตอร์อาจจะทำงานผิดพลาด ถึงขั้นหยุดการทำงาน

                    “สิ่งที่แตกต่างกันระหว่างปัญหาวายทูเคกับการเปลี่ยนศักราชเฮเซ นั่นก็คือข้อมูลสารสนเทศหรือไอทีนั้นส่งผ่านอินเทอร์เน็ต” คาซูโนริ อิชิอิ โฆษกบริษัทไมโครซอฟต์ในญี่ปุ่นให้ความเห็น “เราทำนายไม่ได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น” แต่เชื่อว่าคงไม่เกิดภาวะหยุดชะงักครั้งใหญ่ เนื่องจากซอฟต์แวร์ที่ใช้ในญี่ปุ่นเพื่อช่วยแปลงศักราชสากลเป็นศักราชญี่ปุ่นจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขให้ทันสมัยรับกับศักราชใหม่ และจำเป็นต้องสร้างรหัสกับฟอนท์หรือขนาดตัวอักษรให้พอเหมาะกับชื่อศักราชใหม่ด้วย

                    การตั้งชื่อศักราชใหม่เป็นหน้าที่ของรัฐบาลมากกว่าสำนักพระราชวัง และเฉกเดียวกับงานของราชสำนักเบญจมาศ นั่นก็คือทุกอย่างเก็บเป็นความลับสุดยอด ก่อนหน้านี้มีรายงานว่ามีการเสนอแนะให้เปิดเผยชื่อศักราชใหม่ล่วงหน้าภายในปีนี้ แต่ก็ไม่เป็นผล

  

               ผู้เชี่ยวชาญที่มีหน้าที่ให้คำแนะนำการตั้งชื่อศักราชใหม่ชี้ว่างานนี้เป็นงานท้าทายสำคัญ ปกติแล้วศักราชใหม่ควรจะมีชื่อแค่ 2 ตัวอักษร ทั้งเขียนง่ายและออกเสียงง่ายๆ แต่ไม่ใช่ชื่อที่ใช้กันทั่วไปอย่าง “ยุคใหม่ ความคิดใหม่” นอกจากนี้ ชื่อศักราชใหม่จะต้องไม่เริ่มต้นด้วยตัวอักษรแรกของศักราชเก่า 4 ศักราช คือเฮเซ โชวะ ไทโซ และเมจิ

                    และเนื่องจากชื่อของแต่ละศักราชถือว่า มีความศักดิ์สิทธิ์ ชื่อศักราชจึงมีความหมายให้มุ่งไปข้างหน้าแต่ก็ไม่ปฏิเสธอดีต

นับถอยหลัง"ยุคเฮเซ"ที่ญี่ปุ่น

                    บัณฑิตคนหนึ่งที่เชี่ยวชาญในงานท้าทายนี้คือ จุนโซ มาโตบะ วัย 83 ปี อดีตข้าราชการผู้มีส่วนช่วยตั้งชื่อศักราชใหม่ในช่วงปลายรัชสมัยโชวะของอดีตจักรพรรดิฮิโรฮิโตะในปลายทศวรรษหลังปี 2523 เปิดเผยว่า “บางคนคิดว่าเป็นเรื่องไม่บังควรที่จะคิดชื่อศักราชหรือยุคสมัยใหม่ ขณะที่องค์จักรพรรดิยังทรงพระชนม์ชีพ เราต้องทำงานอย่างเงียบๆ และปิดลับ ระหว่างหารือกับผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ในเอเชียและผู้เชี่ยวชาญด้านวรรณกรรม พร้อมๆ กับเก็บตัวเงียบ ไม่กระโตกกระตากอะไร”


                    “ผมรู้สึกเหมือนกับมีดาบจ่อคอหอยตลอดเวลา" จนถึงปี 2531 ชื่อที่เตรียมไว้ก็ค่อยๆ หดลงเหลือ 3 ชื่อให้พิจารณา ครั้นเมื่อจักรพรรดิฮิโรฮิโตะสวรรคตเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2532 รัฐมนตรี นักการเมืองและผู้เชี่ยวชาญต่างเห็นด้วยอย่างรวดเร็วให้ใช้ชื่อศักราชใหม่ว่า “เฮเซ” หมายถึง ”ร่มเย็นเป็นสุขทั่วผืนแผ่นดิน”


                    เชื่อว่าตอนนี้รัฐบาลมีชื่อศักราชใหม่ให้เลือกอยู่ในใจแล้ว แต่ก็ปิดปากเงียบว่าจะเลือกชื่อไหนและจะประกาศในวันไหน แม้ว่าคนญี่ปุ่นจะกระหายใคร่รู้มากเพราะชอบรีเซตสิ่งต่างๆ อย่าง “ยุคใหม่ ความคิดใหม่"

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ