ข่าว

นรกเงินเฟ้อเวเนซุเอลา

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย ..บุญรัตน์ อภิชาติไตรสรณ์

 

                                        โอ...แทบไม่น่าเชื่อแค่ 2 ปีเท่านั้น ชาวเวเนซุเอลาต้องเผชิญวิกฤติเศรษฐกิจ-การเงินซ้ำซ้อนถึง 2 ครั้ง แถมครั้งล่าสุดนี้มีแต่ทวีความรุนแรงจนแทบจะอดตายทั้งประเทศ หลังจากอัตราเงินเฟ้อพุ่งแตะระดับ 82,700 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่าน แล้วทะลุเป็นกว่า 100,000 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเร็วๆ นี้ ขณะที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) คาดการณ์ว่าภาวะเงินเฟ้อจะพุ่งแตะระดับ 1,000,000 เปอร์เซ็นต์ ภายในปีนี้ทำให้นักวิชาการบางคนถึงกับให้สมญาประเทศนี้ใหม่ว่า “นรกเงินเฟ้อเวเนซุเอลา"

 

 

นรกเงินเฟ้อเวเนซุเอลา

 

                                       คนส่วนใหญ่อาจจะนึกภาพไม่ออกว่าอภิมหาเงินเฟ้อสูงทะยานฟ้าขนาดนี้จะส่งผลกระทบต่อประชาชนมากน้อยขนาดไหน คาร์ลอส การ์เซีย รอว์ลินส์ ช่างภาพของสำนักข่าวรอยเตอร์ จึงจัดทำภาพชุดเพื่อสะท้อนให้เห็นว่าชาวเวเนฯ จะต้องใช้เงินเท่าใดจึงจะสามารถหาซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในชีวิตประจำวันได้

 

1.ไก่สดน้ำหนัก 2.4 กก. ซื้อหาตามท้องตลาดในกรุงการากัสด้วยราคา 14,600,000 โบลิวาร์ หรือราว 1,948บาท

2.เนื้อ 1 กก. ราคา 9,500,000 โบลิวาร์ หรือราว 1,267 บาท....

3.ข้าว 1 กก. ราคา 500,000 โบลิวาร์ หรือราว 333 บาท....

4.พาสต้า 1 กก. 2,500,000 โบลิวาร์ หรือราว 333 บาท....

5.เนยแข็ง ราคา 7,500,000 โบลิวาร์ หรือราว 1,000 บาท

6.เนยเทียม 500 กก. ราคา 3,000,000 โบลิวาร์ หรือราว 400 บาท

7.แครอท 8 หัว ราคา 3,000,000 โบลิวาร์ หรือราว 400 บาท

8.มะเขือเทศ 1 กก. ราคา 5,000,000 โบลิวาร์ หรือเท่ากับ 667 บาท

9.สบู่ 1 ก้อน ราคา 3,500,000 โบลิวาร์ หรือเท่ากับ 467 บาท

10.ผ้าอนามัย ราคา 3,500,000 โบลิวาร์ หรือเท่ากับ 467 บาท

11.กระดาษชำระ 1 ม้วน ราคา 2,600,000 โบลิวาร์ หรือ 347 บาท

 

                                       ถึงแม้ว่าราคาสินค้าอุปโภคบริโภคจะถีบตัวสูงขึ้นแทบจะนาทีต่อนาที กระนั้นชาวเวเนฯ ก็ยังต่อแถวยาวเหยียดเพื่อรอซื้อสินค้าไปตุนไว้ที่บ้าน ด้วยความกลัวว่าพลาดแล้วจะไม่มีโอกาสได้ซื้ออีก

 

นรกเงินเฟ้อเวเนซุเอลา

 

                                        ตอนนี้ชาวเวเนฯ จึงมีอยู่แค่ 2 ทางเลือกคือ ทางเลือกแรก รีบกักตุนอาหารและสินค้าจำเป็นก่อนที่มาตรการใช้ธนบัตรโบลิวาร์แบบใหม่จะมีผลบังคับใช้โดยธนบัตรใหม่นี้จะตัดจำนวนเลขศูนย์ลง 5 หลักเพื่อบรรเทาวิกฤติอภิมหาเงินเฟ้อ 1 ล้านเปอร์เซ็นต์ลงให้ได้

 

นรกเงินเฟ้อเวเนซุเอลา

 

                                        ราวหนึ่งสัปดาห์ก่อนหน้านั้น ประธานาธิบดี นิโกลัส มาดูโร ได้ประกาศลดค่าเงินโบลิวาร์ลงอีกถึง 96% นอกเหนือจากเพิ่มภาษีอีกหลายรายการจนส่งผลกระทบต่อการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน ตามด้วยการประกาศจะใช้เหรียญคริปโต หรือชื่อทางการว่าเงินเปโตร หรือเงินบิทคอยล์ที่ใช้กันในโลกออนไลน์ถือเป็นครั้งแรกของเวเนซุเอลาที่อ้างอิงค่าเงินด้วยเหรียญคริปโต และถือเป็นประเทศแรกที่ทำเช่นนั้น ร้อนถึงนักเศรษฐศาสตร์ต่างออกปากเตือนว่ายิ่งลดค่าเงินจะยิ่งทำให้เงินเฟ้อพุ่งทะลุฟ้า จากขณะนี้อัตราเงินเฟ้อพุ่งไปถึง 108,000 เปอร์เซ็นต์แล้ว

 

 

 

                                       โชคดีที่แผนการใช้เงินเปโตรมีอันแท้งตั้งแต่ยังไม่เกิด เมื่อรัฐสภาลงมติไม่ยอมรับเงินเปโตรว่าเป็นเงินที่สามารถใช้ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ต้องพูดไกลไปถึงการที่นานาประเทศที่ต่อต้านไม่ยอมรับเงินคริปโต แม้ประธานาธิบดีมาดูโรจะประกาศว่าสั่งผลิตเหรียญนี้จำนวน 100 ล้านเหรียญแล้วก็ตาม

 

นรกเงินเฟ้อเวเนซุเอลา

 

                                        อีกทางเลือกหนึ่งของชาวเวเนฯ ก็คือหนีไปตายดาบหน้าด้วยการข้ามแดนไปที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างบราซิลและโคลอมเบีย ว่ากันว่าเฉพาะที่โคลอมเบียประเทศเดียวตอนนี้ต้องแบกรับผู้อพยพเวเนซุเอลาแล้วกว่า 1 ล้านคน แต่ชาวเวเนฯ ก็เหมือนหนีเสือปะจระเข้ เมื่อเจ้าของประเทศเริ่มหมดความอดทนอดกลั้นกับการต้องรับผู้ลี้ภัยทางเศรษฐกิจมากขึ้นทุกที ถึงขั้นบุกไปรื้อเต็นท์ในค่ายอพยพชั่วคราวและปะทะกับผู้อพยพส่วนหนึ่ง ร้อนถึงรัฐบาลโคลอมเบียต้องรีบร้องขอให้สหประชาชาติเข้ามาช่วยคลี่คลายวิกฤติการณ์ด้านมนุษยธรรมโดยเร็ว

 

นรกเงินเฟ้อเวเนซุเอลา

 

                                        ส่วนที่บราซิลก็มีการทำร้ายผู้อพยพยจากเวเนซุเอลลาเช่นกัน ด้านเอกวาดอร์กับเปรูรีบสั่งปิดพรมแดนไม่ยอมให้ชาวเวเนฯ ทะลักเข้าประเทศ เอกวาดอร์ยังวิ่งเต้นให้ 13 ประเทศแถบละตินอเมริกาเปิดประชุมฉุกเฉินเพื่อคลี่คลายวิกฤติการณ์เฉพาะหน้านี้

 

 แต่ที่กระอักเลือดมากกว่าใครก็คือภาคธุรกิจเวเนฯ ที่กำลังตายทั้งเป็นจากมาตรการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำรวดเดียว 3,000 เปอร์เซ็นต์เป็นเดือนละ 3,000,000-180,000,000 ล้านโบลิวาร์ หรือราว 16-960 บาท

 

                                        จะว่าไปแล้ววิกฤติการเงินของชาวเวเนซุเอลาครั้งนี้กำลังเดินซ้ำรอยวิกฤติการเงินในซิมบับเวเมื่อปี 2551 ยุคที่โรเบิร์ต มูกาเบ ยังรวบอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดไว้ในมือ ต้นเหตุทั้งมวลมาจากผู้ว่าธนาคารกลางเกิดเพี้ยนขึ้นมาคิดจะแก้ไขปัญหาการเป็นหนี้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) รวมทั้งแก้ปัญหาเงินเฟ้อในขณะนั้นที่พุ่งทะลุ 11,250,000 เปอร์เซ็นต์ ด้วยวิธีง่ายๆ นั่นก็คือพิมพ์เงินดอลลาร์ซิมบับเวขึ้นมาใช้เองและอัดฉีดเข้าระบบเริ่มจากออกธนบัตรใหม่ชนิดราคา 200,000 ดอลลาร์ซิมบับเวใช้เป็นครั้งแรกเมื่อต้นปี แต่ยังไม่ทันจะพ้นเดือนก็พิมพ์ธนบัตรราคา 10,000,000 (อ่านว่า 10 ล้านดอลลาร์ซิมบับเว) มาใช้ถือเป็นธนบัตรที่มูลค่าแพงที่สุดในขณะนั้น แต่หากคิดเทียบเป็นเงินบาทไทยก็ราว 120 บาท ซึ่งสามารถซื้อข้าวผัดได้ 4 จาน

 

นรกเงินเฟ้อเวเนซุเอลา

 

                                       มาถึงเดือนเมษายนปีเดียวกัน รัฐบาลออกธนบัตรชนิดราคา 50,000,000 (อ่านว่า 50 ล้านล้าน)ดอลลาร์ซิมบับเว อีก 1 เดือนให้หลังคือเดือนมิถุนายน ธนบัตรชนิดราคา 100,000,000 (อ่านว่า 10 ล้านล้าน)ดอลลาร์ซิมบับเว และ 200,000,000 (อ่านว่า 20 ล้านล้าน)ดอลลาร์ซิมบับเว ก็กระจายตามท้องตลอด แต่เพียงแค่ 10 วันให้หลัง ธนบัตรราคา 500,000,000 (อ่านว่า 50 ล้านล้าน)ดอลลาร์ซิมบับเว ก็ทยอยตามหลังมาติดๆ

 

                                       โชคดีที่ปลายเดือนนั้นประธานธนาคารกลางเริ่มคิดได้จึงเลือกวิธีการใหม่ด้วยการปรับค่าเงินกันใหม่ แทนที่จะเพิ่มศูนย์จำนวนมากๆ ก็ใช้วิธีตัดเลข 0 ข้างหลังออก 10 ตัวแบบเดียวกับที่ประธานาธิบดีมาดูโรเพิ่งจะคิดได้ และท้ายสุดของการแก้ไขวิกฤติการเงินในซิมบับเวก็คือเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ด้วยการหันไปอิงกับเงินสกุลหลักอย่างดอลลาร์สหรัฐเหมือนเดิมปัญหาจึงค่อยสงบลง

 

                                        ที่โชคดีกว่านั้นก็คือช่วงที่เกิดปัญหาคราวนั้น โรเบิร์ต มูกาเบ ปกครองประเทศแบบเบ็ดเสร็จนิยมจึงอยู่ต่อได้จนถึงปลายปีที่แล้ว จึงค่อยถูกกองทัพผนึกกำลังกับประชาชนยึดอำนาจ เนื่องจากดันทุรังจะดันศรีภริยาสุดรักเกรซ มูกาเบ มาเป็นทายาทการเมืองให้ได้โดยไม่ยอมฟังเสียงทักท้วงใดๆ ทั้งสิ้น

 

นรกเงินเฟ้อเวเนซุเอลา

 

                                       แต่ประธานาธิบดีมาดูโรจะมีฐานอำนาจแข็งแกร่งขนาดนั้นหรือ หลายคนมองว่าวิกฤติการเงินครั้งนี้บ่งบอกว่าเวลาของมาดูโรกำลังลดน้อยลงทุกทีทั้งๆ ที่เพิ่งจะชนะเลือกตั้งได้บริหารประเทศอีก 6 ปีเพราะวิกฤติศรัทธาในระบบธนบัตรของประชาชน หนำซ้ำครั้งนี้มาดูโร ยากจะหาใครอาสามาช่วยแก้ไขปัญหานี้เพราะมีแต่เอาคอขึ้นเขียงอย่างเดียว

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ