ข่าว

"ปฏิวัติแสงเทียน" ถอดบทเรียนพลังมวลชนเกาหลีใต้

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"ปฏิวัติแสงเทียน"ถอดบทเรียนพลังมวลชนเกาหลีใต้ ปรากฏการณ์การเมืองที่นำไปสูการเปลี่ยนแปลงทางอำนาจแบบไร้เหตุรุนแรง

 

                        การประชุมสุดยอดผู้นำเกาหลีเหนือ-เกาหลีใต้ เมื่อ 27 เมษายน 2561 ถือเป็นเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองโลกที่น่าตื่นตะลึงในรอบปี สร้างความหวังว่าคาบสมุทรเกาหลีจะมีสันติภาพแบบถาวรเสียที หากสองฝ่ายยึดมั่นในปฏิญญาปันมุนจอม ซึ่งมีสาระสำคัญคือการร่วมมือปิดฉากสงครามเกาหลีอย่างเป็นทางการ

 

                        หากย้อนหลังกลับไปหลายเดือนก่อนหน้านั้น คงยากจินตนาการถึงภาพคิม จองอึน ผู้นำเกาหลีเหนือ จับมือกับประธานาธิบดีมุน แจอิน ก้าวข้ามเส้นแบ่งเขตปลอดทหารในหมู่บ้านปันมุนจอม ด้วยบรรยากาศมิตรไมตรี หลังจากคาบสมุทรเกาหลีตกอยู่ในวังวนตึงเครียดจากการเดินหน้าทดลองขีปนาวุธของเปียงยาง ตามด้วยการยกระดับมาตรการคว่ำบาตรของสหประชาชาติ และวิวาทะดุเดือดระหว่างคิม จองอึน ผู้นำเกาหลีเหนือ กับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์แห่งสหรัฐ เป็นเวลาหลายเดือน

                        และการประชุมสุดยอดสองเกาหลี ยากเป็นไปได้ หากปี ค.ศ.นี้ ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ไม่ได้ชื่อ มุน แจอิน ผู้นำจากค่ายการเมืองฝ่ายเสรีนิยมที่มีนโยบายญาติดีกับเกาหลีเหนือ และได้รับอาณัติแข็งแกร่งผ่านชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนนถล่มทลาย

                        อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งประธานาธิบดีก่อนกำหนด ที่ส่ง มุน แจอิน เข้ามาบริหารประเทศ เมื่อ 10 พฤษภาคม 2560 ก็คงไม่เกิดขึ้น หากไม่เกิดเหตุพลิกผันทางการเมือง พัค คึนฮเย ประธานาธิบดีหญิงคนแรก ถูกถอดถอนจากตำแหน่งราว 1 ปีก่อนครบวาระ จากข้อหาใช้อำนาจมิชอบกรณีปล่อยให้เพื่อนสนิทเข้ามาก้าวก่ายกิจการบ้านเมืองและเรียกรับสินบน

                        การถอดถอนประธานาธิบดีคนแรกในประวัติศาสตร์เกาหลีใต้ ก็คงจะเป็นไปไม่ได้ หากประชาชนชาวเกาหลีใต้ไม่ได้พร้อมใจกันออกมาชุมนุมประท้วงเป็นประจำทุกสุดสัปดาห์อย่างเหนียวแน่น

                        ไม่ว่าอากาศหนาวเย็นขนาดไหน แต่แสงเทียนยังคงสว่างไสวสุดลูกหูลูกตา จากมวลชนทั่วทุกสารทิศทุกเพศทุกวัย หลั่งไหลไปรวมตัวกันที่จัตุรัสควังฮามุน กลางกรุงโซล ช่วงปลายปี 2559-2560 เพื่อเป้าหมายเดียวคือการเปลี่ยนแปลง

                        ศาสตราจารย์เกียรติคุณคณะสังคมมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยคาทอลิก ประเทศเกาหลีใต้ ซีแจ ลี กล่าวว่า ทั้งหมดนี้จึงนำไปสู่ข้อสรุปได้ว่า การประชุมสุดยอดสองเกาหลีที่ถือเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่บนคาบสมุทรเกาหลีที่เกิดขึ้นในปีนี้ คือผลสำเร็จบั้นปลายของการชุมนุมแสงเทียนยืดเยื้อ 5 เดือนของประชาชนชาวเกาหลีใต้ 17 ล้านคน และประธานาธิบดีมุน แจอิน ก็ตระหนักด้วยตนเองว่า รัฐบาลของเขาคือรัฐบาลจากปฏิวัติแสงเทียน และจะยึดมั่นจิตวิญญาณแห่งการปฏิวัตินี้ต่อไป

จุดเริ่มต้น

                        การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งใหญ่หลังสงครามโลกครั้งที่สองในเกาหลีใต้ มาจากการขัดขืนต่อสู้ของภาคประชาชนทั้งสิ้น การปฏิวัติแสงเทียน ปลายปี 2559-2560 ก็อยู่ในครรลองเดียวกัน

                        ปี 2503 นักศึกษาเกาหลีเป็นแกนนำประท้วงโค่นเผด็จการ รี ซึงมาน ประธานาธิบดีคนแรก
    
                        2523 ประชาชนในควังจู ลุกฮือประท้วงรัฐบาลทหารที่ใช้กำลังปราบผู้ชุมนุมนองเลือด ทำให้มีผู้บาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก

                        2530 ประท้วงครั้งใหญ่กดดันรัฐบาลเผด็จการทหารจนยอมจำนน จัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีโดยตรงครั้งแรก

                        หลังประชาธิปไตยเบ่งบานในปี 2530 ขบวนการขับเคลื่อนทางสังคมเกาหลีใต้ ที่แยกได้เป็น 3 กลุ่ม คือแรงงาน ประชาสังคม และประชาชน มีพัฒนาการตามลำดับ และพุ่งถึงขีดสุดในปี 2543 มีการจัดตั้งแนวร่วมประชาชนเพื่อการเลือกตั้งทั่วไป จัดทำและเปิดบัญชีรายชื่อนักการเมืองประวัติด่างพร้อย ผลปรากฏว่านักการเมืองเหล่านี้ส่วนใหญ่พ่ายแพ้

                        จุดเปลี่ยน มาพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในยุคอินเทอร์เน็ต และสื่อสังคมออนไลน์ ที่ทำให้ความสัมพันธ์ของผู้คนเป็นความสัมพันธ์แบบเสมือนจริง ประชาชนสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมได้โดยตรงและหลากหลายช่องทาง ไม่ต้องใช้องค์กรใดเป็นสื่อกลางในการเคลื่อนไหว การเข้าไปเป็นสมาชิกขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมจึงลดลงต่อเนื่อง หรือหยุดนิ่ง

                        ในคริสต์ทศวรรษที่ 2000 การชุมนุมจุดเทียน ได้กลายเป็นส่วนประกอบสำคัญของการแสดงพลังมวลชน โดยครั้งแรก เป็นการรวมตัวในช่วงฟุตบอลโลกฟีเวอร์ ในปี 2545

                        ตามด้วยการชุมนุมประท้วงฐานทัพสหรัฐในกรุงโซล จากกรณีทหารอเมริกันขับรถชนนักเรียนมัธยมต้น 2 คนเสียชีวิต ในเวลาไล่เลี่ยกัน มีการชุมนุมจุดเทียนเพื่อสนับสนุนให้เสนอชื่อ โน มูฮยอน เป็นผู้สมัครประธานาธิบดี

                        ปี 2547 ชาวเกาหลีออกมาบนถนนพร้อมเทียนในมืออีกครั้ง เพื่อต่อต้านการพิจารณาถอดถอนประธานาธิบดีโน มูฮยอน อย่างไม่ยุติธรรม และอีก 4 ปีต่อมา เป็นการชุมนุมต่อต้านการอนุญาตนำเข้าเนื้อวัวอเมริกัน เพราะหวาดกลัวโรควัวบ้า

                        การชุมนุมจุดเทียนครั้งใหญ่สุดช่วงปี 2559-2560 ชนวนเหตุจากสื่อเปิดโปงว่าประธานาธิบดีพัค คึนฮเย ปล่อยให้เพื่อนสนิทเข้ามาแก้ไขเนื้อหาสุนทรพจน์และแต่งตั้งข้าราชการ ก้าวก่ายการบริหารบ้านเมือง ทั้งที่ไม่ได้มีตำแหน่งทางการ อดีตผู้นำหญิงขอโทษในวันถัดไป แต่ประชาชนไม่ยอมรับ ประกอบความไม่พอใจอยู่เดิมกรณีที่ผู้นำหญิงหายตัวไปอย่างอธิบายไม่ได้ 7 ชั่วโมงหลังเรือโดยสารเซวอลล่ม เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 295 คน ส่วนใหญ่เป็นเด็กนักเรียนมัธยมปลาย

                        จัตุรัสควังฮามุน อาจมีทั้งผู้ที่เข้าร่วมเพื่อประท้วงการรับมือโศกนาฏกรรมเรือเซวอลล่มผิดพลาด อีกส่วนเป็นชาวเกาหลีที่มองไม่เห็นอนาคตกับรัฐบาลชุดนี้ อัตราว่างงานสูง อัตราฆ่าตัวตายสูง กระนั้น เป้าหมายหลักเดียวกันคือต้องการเห็นความรับผิดชอบของผู้นำประเทศ สโลแกนในที่ชุมนุม เริ่มจาก ลาออก เป็นถอดถอน และจับกุม

                        ในที่สุด สภาเกาหลีใต้ผ่านร่างกฎหมายถอดถอนประธานาธิบดีพัค เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2560

 

ใช่การปฏิวัติจริงหรือ

 

                        หากการปฏิวัติ หมายถึงการใช้กำลัง มีเรื่องชนชั้นมาเกี่ยวข้อง หรือการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ ศ.เกียรติคุณ ซีแจ ลี กล่าวว่า ปฏิวัติแสงเทียน ก็คงไม่ใช่การปฏิวัติหากยึดตามนิยามนี้ เพราะนี่คือการชุมนุมสงบสันติ ไม่มีสถานะชนชั้นมาเกี่ยวข้อง ไม่มีการระดมมวลชนผ่านองค์กรสถาบันใด แต่เป็นกระบวนการเรียนรู้ด้วยการลงมือทำของพลเมืองด้วยอาวุธง่ายๆ คือ แสงเทียน ซึ่งทรงพลังยิ่งกว่าระเบิดขวดที่ผู้ประท้วงนำมาใช้ครั้งประท้วงเผด็จการทหารในปี 2521

            

            แต่เป้าหมายการแสดงพลัง คือการเปลี่ยนแปลงเชิงอำนาจ ฟื้นฟูประชาธิปไตย ขจัดความไม่ปกติหยั่งรากลึก เยียวยาจิตใจผู้ถูกกดขี่ กอบกู้สิทธิพื้นฐาน ตลอดจนปฏิรูปความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับกลุ่มธุรกิจใหญ่

 

ปฏิวัติแสงเทียน นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง

 

การเมืองกระแสหลักเปลี่ยนขั้ว

                        ประวัติศาสตร์ 70 ปีของเกาหลีใต้ อยู่ใต้การปกครองของพรรคอนุรักษนิยมเป็นส่วนใหญ่ แต่หลังการปฏิวัติแสงเทียน พรรคแนวอนุรักษนิยมหดเล็กลง หรือเข้าสู่กระบวนการเลือนหาย  การเลือกตั้งท้องถิ่นเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2560  พรรคสายอนุรักษนิยมพ่ายแพ้หมดรูป พรรครัฐบาลกวาดแทบทุกที่นั่ง ยิ่งตอกย้ำว่า ประชาชนส่วนใหญ่สนับสนุนรัฐบาลประธานาธิบดีมุน แจอิน ที่หมายรวมไปถึงการดำเนินนโยบายสร้างสันติภาพกับเพื่อนบ้านเกาหลีเหนือด้วย 

 

                        การเปลี่ยนแปลงอื่นที่ตามมาหลังการเมืองเปลี่ยนขั้ว ยังรวมถึงการสะสางปัญหาคาราคาซัง ที่นักวิชาการเกาหลีใต้ท่านนี้ ใช้คำว่า “แก้ความไม่ปกติเป็นปกติ” อาทิ ตำราประวัติศาสตร์ เลิกห้ามร้องเพลงประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยกวางจูในพิธีรำลึก 18 พฤษภาคม สถานภาพของพนักงานไม่ประจำซึ่งเป็นประเด็นใหญ่ในภาคแรงงานเกาหลี เปิดสอบสวนสำนักงานข่าวกรองแห่งชาติกรณีก้าวก่ายการเลือกตั้งปี 2555 ปฏิรูปกรมข่าวกองทัพ หลังมีรายงานรั่วออกมาว่าเคยเสนอให้ออกกฎอัยการศึกในช่วงชุมนุมประท้วงประธานาธิบดีพัค คึนฮเย และตั้งคณะกรรมการปฏิรูปในสถาบันหลัก เช่น ตุลาการ ปฏิรูปความสัมพันธ์เชิงเอื้อเฟื้อระหว่างกลุ่มธุรกิจใหญ่กับรัฐบาล

 

                        นอกจากนี้ ยังมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายพลังงาน ที่ประธานาธิบดีมุน แจอิน ประกาศว่า จะไม่ต่ออายุโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ที่มีอยู่เดิม ยุบแผนก่อสร้างในอนาคต ส่วนที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง ก็ให้ระงับไว้จนกว่าจะได้ข้อสรุปจากคณะกรรมการอิสระ

 

                        ศ.เกียรติคุณ ซีแจ ลี ทิ้งท้ายว่า เวลานี้โครงสร้างการเมืองและสังคมที่เคยค้ำจุนเกาหลีใต้มานาน กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว แต่การขจัดความไม่ชอบมาพากลที่หยั่งรากลึกในรัฐบาล สภานิติบัญญัติ ระบบตุลาการและสังคมโดยรวม เป็นการต่อสู้ยาวนาน ชาวเกาหลีอาจจะต้องออกไปบนถนนเพื่อจุดเทียนกันอีกครั้งก็เป็นได้ หากการปฏิวัติที่ดำเนินมามีอันสะดุดหยุดลง

 

 

ปฏิวัติแสงเทียนแบบเกาหลีใต้

 

- ไม่มีคนใดคนหนึ่ง หรือองค์ใดระดมมวลชน ส่วนใหญ่ไปกันเป็นกลุ่มเล็กๆ 2 หรือ 3 คน ผู้ชุมนุมมีทั้งคนหนุ่มสาว มนุษย์เงินเดือน ครอบครัวพ่อแม่ลูก แม่บ้านเข็นลูกเล็ก ผู้สูงอายุ นักศึกษา ตลอดจนชาวเกาหลีวัยกลางคนที่เคยมีประสบการณ์ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยที่หอบลูกจูงหลานไปจัตุรัสควังฮามุน

 

- ไร้ธงชาติโบกสะบัด (ตรงข้ามกับกลุ่มผู้ประท้วงสนับสนุนอดีตประธานาธิบดีพัค ที่ใช้ธงชาติเกาหลี และธงชาติสหรัฐ ทำให้ภาพการประท้วงของฝ่ายตรงข้าม เป็นการประท้วงต่อต้านประเทศตัวเอง และต่อต้านสหรัฐ)

- องค์กรประชาสังคม เป็นกองหนุน ไม่ใช่แกนนำ พวกเขาระดมและจัดการทรัพยากรอยู่เงียบๆ อยู่หลังฉาก เช่น ตั้งเวทีให้คนขึ้นปราศรัย จัดกิจกรรมสันทนาการ ประสานกับตำรวจ หรือเจรจากับเจ้าหน้าที่ คณะทำงานที่ประกอบด้วยองค์กรประชาสังคมรวมตัวกันหลวมๆ แต่ยุบทันทีหลังประธานาธิบดีพัค คึนฮเย ถูกถอนถอน

- ปราศจากฮีโร่ ไม่มีอำนาจทางการ ไม่มีเซเลบ ไม่มีใครเหนือกว่าใคร ทุกคนเสมอภาคกัน เนื่องจากผู้ชุมนุมต้องการเข้าไปมีส่วนร่วมโดยตรงในนามของตนเอง ไม่ผ่านตัวแทน แกนนำ หรือพรรคการเมือง

- สังคมออนไลน์ ตัวกลางจุดชุมนุมกับสื่อหลัก โซเชียลเน็ตเวิร์ก เป็นช่องทางสื่อสารหลักระหว่างผู้ชุมนุม แต่นอกจากผู้เข้าร่วมโดยตรงผ่านการบอกต่อกันทางสื่อสังคมออนไลน์ ยังอาจมีอีกส่วนที่เข้าร่วม หลังเห็นภาพการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์หรือผ่านมือถือ

 

( เก็บความจากการบรรยายพิเศษ “Candlelight Revolution - A driver of peace process and political changes in Korea” โดย ซีแจ ลี ศาสตราจารย์เกียรติคุณคณะสังคมมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยคาทอลิก ประเทศเกาหลีใต้ จัดโดยสถาบันวิจัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และฝ่ายวิชาการ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2561 )

logoline