ข่าว

ลูกสาว-ภรรยาคนที่สองหนุ่มใหญ่มาเลย์แต่งเด็กไทย 11 ขวบเปิดใจ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

นิวยอร์กไทมส์ เจาะประเด็นร้อนการแต่งงานของพ่อลูก 6 ชาวมาเลเซียกับเด็กไทย 11 ขวบ กับข้อถกเถียงในมาเลเซีย

 

                    หนังสือพิมพ์ นิวยอร์กไทมส์ นำเสนอรายงานเจาะลึกเกี่ยวกับการแต่งงานของ เจ๊ะ อับดุล การิม เจ๊ะ อับดุล ฮาหมิด พ่อลูก 6 ชาวมาเลเซียวัย 41 ปี แต่งงานกับเด็กหญิงชาวไทยวัย 11 ปีเป็นภรรยาคนที่ 3 ด้วยการข้ามมาทำพิธีทางศาสนาที่มัสยิดในจังหวัดนราธิวาสของไทย สร้างความไม่พอใจแก่คนในสังคมมาเลเซียและเป็นประเด็นถกเถียงไม่จบ ถึงขนบอิสลามอนุรักษ์นิยมในสังคมประชาธิปไตยสมัยใหม่หลากหลายเชื้อชาติ


                    ส่วนหนึ่งของรายงานคือการสัมภาษณ์ ด.ญ.นอราซีลา ลูกสาววัย 14 ปี และภรรยาคนที่สองของหนุ่มใหญ่รายนี้ 


                    เด็กหญิง นอราซีลา กล่าวว่า เธอกับ "อายู" (ชื่อเรียกสั้นๆของเจ้าสาววัย 11 ปีเพื่อปกปิดตัวตน ) เป็นเพื่อนเล่นและเพื่อนสนิทกันมานาน นอนด้วยกัน เซลฟี่ คุยกันเรื่องหนุ่มๆตามประสาวัยรุ่น ก่อนที่ความเป็นเพื่อนจะถูกทำลายเมื่อปลายเดือนที่แล้ว เมื่อจู่ๆ อายูกลายเป็นภรรยาคนที่ 3 ของพ่อแบบลับๆ

                   “เพื่อนสนิทของฉัน ตอนนี้กลายเป็นแม่เลี้ยงแล้ว” นอราซีลากล่าวพร้อมเปิดเผยว่าเธอไม่เคยระแคะระคายมาก่อน  


                    ด้าน นางสิติ นอร์ อาซิลา ภรรยาคนที่สอง ซึ่งเป็นคนที่โพสต์ภาพถ่ายของสามีแต่งงานกับภรรยาคนที่สาม เลยทำให้เรื่องนี้เป็นที่รับรู้กันทั่วโลก กล่าวว่า ก่อนหน้านั้น เธอกับภรรยาคนที่หนึ่งจับมือกัน บอกกับสามีให้เลือกระหว่างเราสองคนหรือเด็กหญิง ไม่อาจมีได้ทั้งสามคนได้  


                    เธอยืนยันว่า สามีไม่เคยให้เงินเธอมากพอเลี้ยงดูลูก 4 คน รวมถึงคนหนึ่งมีโรคประจำตัว เธอทำขนมปังหาเลี้ยงตัวเอง “เขาขี้เหนียวมากกับเรา แต่กลับมีเงินมากพอไปแต่งงานกับอายู และพาเธอไปเที่ยว” นอกจากนี้ อายูยังเป็นภรรยาคนเดียวที่ได้รับอนุญาตให้นั่งรถสปอร์ตมาสดาของสามี เขาไม่เคยสนใจใยดีลูกๆ ไม่ชอบเด็กด้วยซ้ำ ก่อนแก้ไขใหม่ว่า เว้นเด็กไว้คนหนึ่ง นั่นคืออายู 

 

ลูกสาว-ภรรยาคนที่สองหนุ่มใหญ่มาเลย์แต่งเด็กไทย 11 ขวบเปิดใจ


                    นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลใหม่จากบทความของนิวยอร์กไทมส์ ที่ได้จากคำบอกเล่าของสมาชิกในครอบครัวว่า “อายู” ถูกพาไปตรวจพรหมจรรย์ที่โรงพยาบาลในเดือนนี้ แต่หลังจากนั้นในวันเดียวกัน ก็ไปอยู่กับสามี และอยู่กับเขามานับแต่นั้น ( แต่มารดาของเด็กบอกสื่อมาเลเซียเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า ลูกสาวยังอยู่กับครอบครัว ) 


                    ด้าน สามี ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ว่า ผมรักเธอ และจะไม่แตะต้องภรรยาคนใหม่จนกว่าเธอจะอายุ 16 ปี  


                    ส่วน อายู ส่งข้อความตอบว่า เธอรักสามี และใช้อีโมติคอนรูปหัวใจในการเอ่ยถึงสามีที่มีอายุมากกว่าเธอ 30 ปี 
         

 

                   ระบบกฎหมายมาเลเซีย แบ่งออกเป็นสองส่วน ชาวมาเลเซียที่ไม่ใช่มุสลิม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชนเชื้อสายจีนกับอินเดีย ยึดกฎหมายแพ่ง หากอายุไม่ถึง 18 ปีแต่งงานไม่ได้ เว้นแต่ได้รับความเห็นชอบเป็นพิเศษจากผู้มีอำนาจ 


                    ส่วนชาวมาเลย์มุสลิมซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ ต้องทำตามกฎหมายอิสลาม  ศาลชารีอะฮ์ต้องอนุมัติผู้เยาว์อายุต่ำกว่า 16 ปีหากต้องการแต่งงาน และไม่มีอายุขั้นต่ำสำหรับแต่งงาน  


                    ไซอิด นอร์ดิน อิหม่ามที่มัสยิด กัวลา เบติส ที่เจ๊ะ อับดุล การิม เข้าร่วม กล่าวว่า ตามหลักอิสลาม เด็กแต่งงานได้ตราบใดที่เจ้าสาวยินยอม พ่อแม่ไม่ขัดข้องและเด็กหญิงมีประจำเดือน พร้อมเสริมว่า เจ๊ะ การิม สามีของเด็กหญิง เป็นมุสลิมที่ดี เขามาละหมาดเป็นประจำ เป็นผู้ชายที่รับผิดชอบ 

                    กระนั้น ในการแอบแต่งงานกับเจ้าสาวเด็กรุ่นลูก  พ่อลูก 6 ไม่ได้ทำตามขั้นตอน  ศาลชารีอะฮ์ในรัฐกลันตัน สั่งปรับคิดเป็นเงินไทย 8,800 บาท ฐานแต่งงานกับเด็กวัย 11 ในไทย โดยไม่ขออนุมัติก่อน 


                    รัฐบาลผสมมาเลเซียชุดปัจจุบัน สัญญาไว้ตอนหาเสียงว่า หากชนะเลือกตั้ง จะออกกฎหมายห้ามนำเด็กมาแต่งงาน  แต่ขณะนี้กำลังถูกวิจารณ์หนักว่ายังทำไม่มากพอเพื่อปกป้องผู้เยาว์ โดยอ้างความอ่อนไหวเรื่องเสรีภาพทางศาสนา และเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา 


                    ดร.วัน อาซีซะห์ วัน อิสมาอิล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงสตรี ครอบครัวและพัฒนาชุมชน ซึ่งค้านการนำเด็กมาแต่งงาน แต่ก็ไม่ยังพูดเรื่องนี้มากนัก โดยให้เหตุผลว่า หน่วยงานรัฐบาลที่เกี่ยวข้องยังสอบสวนอยู่ว่าเป็นคดีการเตรียมเด็กเพื่อทารุณกรรมทางเพศหรือไม่ 


                    ปีที่แล้ว มาเลเซียออกกฎหมายกำหนดความผิดฐานการเตรียมเด็กเพื่อทารุณกรรมทางเพศ ( child grooming ) ซึ่งในกรณีนี้ ลาติฟา โคยา ทนายความสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า เด็กเป็นเหยื่ออย่างไม่ต้องสงสัย พร้อมตั้งคำถามว่า เหตุใดเราจึงเฉไฉในการปกป้องเด็กคนหนึ่ง การไม่ขยับอย่างเร่งด่วนและจริงจังเกี่ยวกับเรื่องนี้น่าผิดหวัง ในฐานะมุสลิม เธอรู้สึกโกรธกับความคิดที่ว่าเราไม่ควรปกป้องเด็กเพราะทึกทักกันเองว่านี่คือเรื่องของศาสนา 

 

ลูกสาว-ภรรยาคนที่สองหนุ่มใหญ่มาเลย์แต่งเด็กไทย 11 ขวบเปิดใจ


                    แต่ความพยายามที่จะออกกฎหมายห้ามชาวมาเลเซียทุกศาสนา แต่งงานอายุต่ำกว่า 18 ปี ยังไม่สำเร็จ  ชาบูดิน ยาฮามยา ส.ส.ที่คัดค้าน เคยให้เหตุผลไว้สมัยเป็นรัฐบาลเมื่อปีที่แล้วว่า เด็กอายุ 9 ขวบก็แต่งงานได้แล้วหากมีประจำเดือน  ชาบูดิน ซึ่งเป็นอดีตผู้พิพากษาศาลชารีอะฮ์ กล่าวในสภาว่า ร่างกายของเด็ก 9 ขวบไม่ต่างจากวัย 18 ปี ดังนั้น ร่างกายและจิตใจ ไม่ใช่อุปสรรคที่เด็กหญิงจะแต่งงาน 


                    รายงานระบุว่า การแต่งงานกับเด็กจำนวนมากในมาเลเซีย เป็นการจับคู่อยู่กินที่ไม่ผ่านการรับรองทางกฎหมายจากศาลใด แต่ก็ไม่มีกระแสต่อต้านสามีภรรยาเหล่านั้น และบางครั้ง ศาลศาสนายอมรับการแต่งงานผู้เยาว์เพื่อตัดปัญหาการตั้งครรภ์นอกรสรส กับมีบางกรณีที่การแต่งงานของเด็กเกิดจากความยากจนของครอบครัวเจ้าสาว 


                   ในกรณีของอายู ประเด็นนี้ค่อนข้างชัดเจน เด็กหญิงเป็นพลเมืองไทย พ่อพาครอบครัวย้ายไปอยู่เมืองกัว มูซัง รัฐกลันตัน รับจ้างกรีดยาง เด็กเติบโตในบ้านซอมซ่อ ไม่มีน้ำประปาใช้ ตรงข้ามกับเจ๊ะ อับดุล การิม ที่อยู่ในบ้านหลังใหญ่โต มีรถมาสดา อาร์เอ็กซ์-8 จอดที่ด้านหน้า  


                    นางนูไรนี เช นาวี ภรรยาคนแรก เป็นเจ้าของร้านอาหารและร้านขายของชำที่อยู่ติดกัน  ลูกจ้างคนหนึ่งในร้านของเธอก็คือ นางอามินะห์ ฮิตัม แม่ของเด็กหญิง และเพราะลูกสาวไม่ได้เข้าโรงเรียน เธอจึงติดสอยห้อยตามแม่ไปทำงานด้วย 


                    กลันตัน เป็นหนึ่งในรัฐยากจนและอนุรักษ์นิยมมากที่สุดรัฐหนึ่งของมาเลเซีย พรรคแนวอิสลามนิยมที่ปกครองรัฐนี้มานานหลายสิบปี เรียกร้องให้ผู้หญิงมุสลิมสวมผ้าคลุมศีรษะในที่สาธารณะ และให้ใช้ภาษาอาหรับบนป้ายประกาศ 


                    โมฮัมหมัด อามาร์ นิก อับดุลเลาะฮ์ รองมุขมนตรีรัฐกลันตัน และรองประธานพรรคมาเลเซียน อิสลามิก หรือพรรคปาส ย้ำว่าการนำเด็กแต่งงานไม่ผิดตามหลักอิสลาม ประเทศยังมีเรื่องเร่งด่วนกว่านี้ที่ต้องแก้ อาทิ พวกรักเพศเดียวกัน หรือแม่เลี้ยงเดี่ยว สังคมและรัฐบาลมาเลเซียควรใส่ใจเรื่องเหล่านี้มากกว่า 


                    อีกด้าน ชาวมาเลเซียหัวเสรีนิยมตั้งคำถามว่า การให้เด็กแต่งงานได้ คือประเพณีอิสลามจริงหรือ หรือเป็นวัฒนธรรมเชิงพฤติกรรมคร่ำครึ ลาติฟา ทนายความสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า เราไม่ควรใช้ความคลาดเคลื่อนทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับศาสดามูฮัมหมัดมารองรับการแต่งงานเด็ก อย่างการอ้างว่า ภรรยาคนหนึ่งของท่าน เป็นเด็กอายุ 6 ขวบ ซึ่งที่จริงแล้ว อายุมากกว่านั้น 

อ่านฉบับเต็มและดูรูปประกอบที่ https://www.nytimes.com/2018/07/29/world/asia/malaysia-child-marriage.html

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ