ข่าว

ทำไมหนัง“ปัทมาวตี”จึงเป็นปมประท้วงดุเดือดในอินเดีย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย..บุญรัตน์ อภิชาติไตรสรณ์


                    ดิฉันเคยเป็นแฟนหนังแขกหรือภาพยนตร์อินเดียมาหลายยุค ตั้งแต่ยุคมีนากุมารี, มหิปาล หรือยุคธรณีกรรแสงที่โด่งดังมากเมื่อหลายสิบปีมาแล้ว จนมาถึงยุคอมิตาป บาจัน ตอนหนุ่มุ ยุคเฮมา มาลินี ยังเป็นนางเอกแสนน่ารัก แล้วหวนมาดูอีกครั้งเมื่อมีการฉายซีรีส์ฟอร์มยักษ์ขนาดยาวเรื่องพระพุทธเจ้า, รามเกียรติ์ หรือ สีดา-ราม, หนุมาน และอโศกมหาราช นอกเหนือจากหนังฟอร์มเล็กที่ชอบใช้เทคนิคพิเศษมาช่วยให้ภาพยนตร์มีความสนุกสนานมากขึ้น จึงไม่แปลกใจที่ทุกเรื่องล้วนได้รับการต้อนรับอย่างท่วมท้นจากชาวภารตและชาวต่างชาติทุกรุ่นทุกวัย

 

ทำไมหนัง“ปัทมาวตี”จึงเป็นปมประท้วงดุเดือดในอินเดีย

( ประท้วงภาพยนตร์และผู้กำกับในเมืองไฮเดอราบาด /ภาพ AFP ) 


                    แต่แล้ว อุตสาหกรรมภาพยนตร์บอลลีวู้ดพลันสั่นสะเทือนรุนแรงอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน เมื่อลูกหลานพระรามทั่วทั้งชมพูทวีปต่างรวมตัวต่อต้านภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์อิงประวัติศาสตร์เรื่องหนึ่ง หลังจากมีข่าวลือที่แพร่สะพัดอย่างรวดเร็วยิ่งกว่าไฟลามทุ่งว่าภาพยนตร์เรื่อง "ปัทมาวตี” ได้ทำลายคุณค่าของชาวฮินดู ทำลายวัฒนธรรมของอินเดียและบิดเบือนประวัติศาสตร์


                    รานีปัทมินี หรือปัทมาวตี ดัดแปลงมาจากบทกวีของ มาลิค มูฮัมหมัด ชยาสี ที่แต่งขึ้นสมัยศตวรรษที่ 16 เป็นเรื่องของสงคราม ความรัก ความปราถนา ความกล้าหาญ และการยอมพลีชีพเพื่อรักษาพระเกียรติของรานีฮินดูกับสุลต่านมุสลิม สองศาสนาที่เป็นศัตรูมานานนับพันปีและไม่มีทางประสานเป็นหนึ่งเดียวกันหรืออยู่ร่วมกันอย่างสันติได้


                    โดยพระนางปัทมินีทรงเป็นมหารานีแห่งราตัน เซน หรือราวัล ราตัน ซิงห์ ราชาแห่งเมวาร์หรือราชปุต พระสิริโฉมอันงดงามของรานี ซึ่งตั้งชื่อตามพระแม่ปัทมาวตี ที่เชื่อกันว่าเป็นปางหนึ่งของพระแม่ลักษมี ชายาของพระวิษณุ เป็นที่ร่ำลือไปทั่ว กระทั่ง อาลาอุดดิน คาลจี สุลต่านแห่งเดลี ผู้มีเชื้อสายตุรกี-อัฟกัน ได้ยกทัพมายึดป้อมจิตตอร์ ที่ราชปุต หวังจะจับกุมและเกลี้ยกล่อมองค์รานีให้ยอมอภิเษกด้วย แต่พระนางทรงเลือกจะฆ่าตัวตายด้วยพิธี “ยอฮาร์” คือการที่ผู้หญิงที่เป็นเชื้อพระวงศ์จะยอมพลีชีพด้วยการเดินเข้าสู่กองไฟ ดีกว่าจะถูกจับให้เสื่อมเสียพระเกียรติ

 

ทำไมหนัง“ปัทมาวตี”จึงเป็นปมประท้วงดุเดือดในอินเดีย

( ทีปิกา ปาทุโกณ  ดารานำ / ภาพ AFP ) 


                    จริงๆ แล้ว นักประวัติศาสตร์ยุคใหม่หลายคนยืนยันว่าปัทมาวตีเป็นเพียงตัวละครในตำนานที่แต่งขึ้น ไม่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์แม้แต่ชิ้นเดียวที่จะยืนยันการมีอยู่จริง


                    นักประวัติศาสตร์บางคนชี้ว่าชยาสีได้ประพันธ์บทกวีเรื่องนี้เมื่อปี 1540 หรือห่างจากวันที่สุลต่านอาลาอุดดินยึดเมืองจิตตอร์ถึง 237 ปี เหนืออื่นใด ในบันทึกของอามีร์ คุสเรา ที่ตามเสด็จสุลต่านอาลาอุดดินในศึกยึดเมืองจิตตอร์ไม่ได้เอ่ยถึงรานีปัทมาวตีหรือการประกอบพีธียอฮาร์แม้แต่น้อย แต่พิธีนี้มีขึ้นขณะยึดเมืองรันธัมโพ ก่อนหน้ายึดเมืองจิตตอร์ไม่นาน


                    น่าแปลกตรงที่ว่าบทกวีของมาลิค มูฮัมหมัด ชยาสี ชิ้นนี้กลับคล้ายคลึงชีวิตจริงของพระเจ้าอักบาร์มหาราชแห่งราชวงศ์โมกุล ซึ่งครองราชย์หลังจากนั้นหลายปี พระองค์ทรงถูกการเมืองบังคับให้จำต้องอภิเษกกับเจ้าหญิงโยดาแห่งราชวงศ์ราชปุต ตอนแรกเป็นการแต่งในนาม โดยไม่มีการร่วมหอกัน อย่างไรก็ดี นับวันพระเจ้าอักบาร์ยิ่งหลงใหลในพระสิริโฉมของเจ้าหญิงฮินดู จนท้ายสุดได้ทรงครองคู่กัน และแม้จะเป็นมหาราชามุสลิมแต่ไม่เคยทรงบังคับให้พระนางเปลี่ยนศาสนาแต่อย่างใด หนำซ้ำหนึ่งในพระราโชบายที่ทรงได้รับการยกย่องก็คือทรงให้ความเสมอภาคทางศาสนา


                    นักประวัติศาสตร์ยุคใหม่หลายคนเชื่อว่าอาจเป็นไปได้ที่ชยาสีจะสอดใส่จินตนาการ เสริมจากตำนานที่เล่าขานกัน เหมือนกับผู้ชนะสิบทิศ ที่ยาขอบยอมรับว่าอิงพงศาวดารแค่ 5 บรรทัด แล้วใส่จินตนาการเองจนเป็นนิยายอิงพงศาวดารขนาดยาวและเขียนไม่จบเพราะยาขอบเสียชีวิตก่อน แต่คนส่วนใหญ่เชื่อว่าเป็นเรื่องจริง

 

ทำไมหนัง“ปัทมาวตี”จึงเป็นปมประท้วงดุเดือดในอินเดีย

( ภาพ AFP ) 


                    ไม่ว่าความจริงจะเป็นเช่นใด บรรดาลูกหลานพระราม นำโดยกลุ่มศรีราชปุต คาร์นี เสนา ซึ่งเป็นองค์กรที่มุ่งปกป้องวรรณะกษัตริย์ในราชปุต ที่สืบเชื้อสายจากชนเผ่านักรบฮินดูในประวัติศาสตร์ ปกครองอาณาจักรโบราณทางภาคตะวันตกของแดนภารต ต่างเชื่อว่าเรื่องราวของรานีปัทมาวตีเป็นเรื่องจริง จึงได้กล่าวหาบริษัทไวอะคอม 18 โมชั่น พิคเจอร์ส ผู้สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ว่าบิดเบือนประวัติศาสตร์ เนื่องจากมีฉากพิศวาสระหว่างรานีปัทมาวตีกับสุลต่านมุสลิม เหตุนี้จึงมีการปลุกระดมชาวฮินดูให้ร่วมกันต่อต้านภาพยนตร์เรื่องนี้ ทำให้สถานการณ์นับวันยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นตามลำดับ เริ่มจากการประท้วงที่รัฐราชสถาน สู่รัฐมหาราษฏระ อุตรประเทศ เวสต์เบงกอล กรณาฏกะ หรยาณา โกลกาตาหรือกัลกัตตา กระทั่งลามไปทั่วประเทศ


                    ตั้งแต่ช่วงต้นปีเป็นต้นมา กลุ่มชาตินิยมฮินดูขู่จะเผาโรงภาพยนตร์ที่ฉายหนังเรื่องนี้ ทั้งยังเคยบุกทำร้าย สัญชัย ลีลา ภัณฑ์สาลี ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์หลายครั้ง กระทั่งเมื่อเดือนมีนาคม กลุ่มต่อต้านได้ยกกำลังบุกถล่มกองถ่ายภาพยนตร์ที่เมืองชัยปุระ ในรัฐราชสถาน เผาเสื้อผ้านักแสดงและอุปกรณ์ต่างๆ จนวอด


                    ยิ่งใกล้วันที่ 1 ธันวาคม ที่เดิมกำหนดจะเป็นวันฉายรอบปฐมทัศน์ กลุ่มต่อต้านก็ยิ่งรวมตัวประท้วงมากขึ้นตามลำดับ นักการเมืองคนหนึ่งสังกัดพรรคภารติยะ ชนตะ พรรครัฐบาลชาตินิยมฮินดูประกาศในเฟซบุ๊กว่าจะให้รางวัลใครก็ตามที่สามารถใช้รองเท้าปาถูกสัญชัย ลีลา ภัณฑ์สาลี ต่อมา สุรัจ พัล อามู แกนนำคนหนึ่งของพรรคเดียวกันจากรัฐหรยาณา ได้เสนอเงินรางวัล 100 ล้านรูปี (ราว 52 ล้านบาท) ให้แก่ใครก็ตามที่สามารถตัดคอ ทิพิกา ปาฑุโกณ นักแสดงนำหญิง และสัญชัย ลีลา ภัณฑ์สาลี พร้อมกับย้ำว่าจะไม่ยอมให้ฉายภาพยนตร์เรื่องนี้เด็ดขาด


                    กลุ่มต่อต้านยังได้ยื่นเรื่องต่อศาลฎีกาขอให้สั่งแบนภาพยนตร์เรื่องนี้ แต่ศาลฎีกาได้ตัดสินเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน ไม่รับคำร้อง โดยให้เหตุผลว่าไม่สามารถแทรกแซงการตัดสินใจของคณะกรรมการเซ็นเซอร์ที่ออกใบอนุญาตให้ฉายหนังเรื่องนี้ แต่หนึ่งสัปดาห์ให้หลังก็มีคนยื่นคำคัดค้านอีก


                    บริษัทผู้สร้างภาพยนตร์ ไวอะคอม 18 โมชั่น พิคเจอร์ส ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากเหล่าดาราและผู้กำกับการแสดงในแวดวงบอลลีวู้ดรวมทั้งคนดังในสังคม ยืนกรานมาตลอดว่าในภาพยนตร์ไม่มีฉากพิศวาสระหว่างมหารานีกับสุลต่านที่มาบุกยึดเมืองตามที่มีข่าวลือแต่อย่างใด ไม่เช่นนั้นแล้วคงไม่ผ่านการเซ็นเซอร์จากคณะกรรมการเซ็นเซอร์ และบริษัทยินดีให้พิสูจน์ความจริงในเรื่องนี้ เพื่อจะดับกระแสข่าวลือข้างต้น
                  “โปรดให้โอกาสปัทมาวตีที่จะพิสูจน์ตัวเองสักครั้ง” ผู้บริหารคนหนึ่งในบอลลีวู้ดโพสต์ข้อความในโซเชียลมีเดีย ด้านผู้บริหารอีกคนหนึ่งเสริมว่า “ตำนานนี้จะมีความจริงสักกี่เปอร์เซ็นต์”

 

ทำไมหนัง“ปัทมาวตี”จึงเป็นปมประท้วงดุเดือดในอินเดีย

( ภาพ AFP ) 


                     น่าเศร้า ที่ไม่มีใครสนใจคำวิงวอนนี้ เหมือนๆ กับที่ไม่มีใครยอมเชื่อถ้อยแถลงของบริษัท หรือหยุดฟังรายงานข่าวจากโทรทัศน์หลายช่องของอินเดียที่แฉว่าเบื้องหลังแท้จริงก็คือ การพยายามตบทรัพย์จากบริษัทไวอะคอม 18 โมชั่น พิคเจอร์ส


                     เมื่อตระหนักว่าความจริงทั้งหลายทั้งปวงไม่สามารถสยบข่าวลือได้ ท้ายสุดบริษัทผู้สร้างภาพยนตร์ ไวอะคอม 18 โมชั่น พิคเจอร์ส จึงตัดสินใจเลื่อนวันกำหนดฉายออกไปโดยสมัครใจ โดยจะประกาศกำหนดวันเริ่มฉายใหม่ ในเวลาที่เหมาะสม 


                    อันที่จริง ไม่แปลกที่แดนภารตอินเดียซึ่งมีความหลากหลายทางศาสนาและการแบ่งแยกชนชั้นวรรณะ มักจะก่อเรื่องประท้วงหนังสือและภาพยนตร์อยู่เนื่องนิตย์ ด้วยข้ออ้างเดิมๆ ว่ามีเนื้อหาที่ดูหมิ่นศาสนา บิดเบือนวัฒนธรรมอินเดีย และสร้างความเข้าใจผิดในเรื่องชนชั้นวรรณะ


                    แต่เหตุการณ์ประท้วงภาพยนตร์เรื่องปัทมาวตี พิสูจน์ให้เห็นถึงสัจธรรมที่ว่า ความเชื่อย่อมอยู่เหนือความจริง โดยเฉพาะความเชื่อผิดๆ ที่ได้รับการปลุกประแสจากนักการเมือง
 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ