ข่าว

เมื่อฟิลิปปินส์ทวงคืน 3 ระฆังสันติภาพจากสหรัฐ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย บุญรัตน์ อภิชาติไตรสรณ์

 

                    ประวัติศาสตร์หน้าที่หายไปกว่า 115 ปี ในส่วนความสัมพันธ์อันขมขื่นระหว่างฟิลิปปินส์-สหรัฐ ถูกปลุกผีกลับมาหลอกหลอนอีกครั้ง เมื่อประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตร์เต จี้แดนดินถิ่นอินทรีผยองให้คืนระฆังประวัติศาสตร์ 3 ใบ ที่ยึดไปจากโบสถ์คาทอลิก เมืองบาลังกีกา ทางตะวันออกของเกาะซามาร์ ในช่วงสงครามสหรัฐ-ฟิลิปปินส์ เมื่อ 115 ปีล่วงมาแล้ว พร้อมกับย้ำว่า ว่า ระฆังทั้ง 3 ใบ เป็นเครื่องเตือนใจถึงวีรกรรมของชาวบ้านธรรมดาๆ ที่พร้อมจะเสียสละทุกอย่างแม้กระทั่งชีวิตเพื่อต่อต้านเจ้าอาณานิคมอเมริกัน เพื่อเสรีภาพและอิสรภาพของลูกหลานในอนาคต เหมือนกับระฆังเสรีภาพของสหรัฐ

 

 เมื่อฟิลิปปินส์ทวงคืน 3 ระฆังสันติภาพจากสหรัฐ


                    ปัจจุบันระฆังที่ทหารอเมริกันถือว่าเป็นรางวัลแห่งชัยชนะ เป็นค่าชดเชยความสูญเสียในชีวิตของทหาร 48 คน ระหว่างการลุกฮือของชาวเมือง 2 ใบ ตั้งอยู่ที่ “โทรฟี พาร์ค” อนุสรณ์สถานผู้เสียชีวิตจากสงคราม ที่ฐานทัพอากาศ เอฟ.อี.วอร์เรน ในรัฐไวโอมิง ส่วนใบที่ 3 อยู่ที่พิพิธภัณฑ์ที่ค่ายเมฆาแดง ในกองพลทหารราบที่ 9 เกาหลีใต้
                    ประวัติศาสตร์หน้าที่หายไปกว่าร้อยปีนี้ เกิดขึ้นในเช้าตรู่วันที่ 28 กันยายน ค.ศ.1901 ชาวเมืองบาลังกีกาได้ทำพิธีแห่ศพเด็กๆ ที่เสียชีวิตจากโรคอหิวาต์ไปที่โบสถ์เพื่อประกอบพิธีทางศาสนา ระหว่างนั้นนายตำรวจของท้องถิ่นนั้นได้ตรงเข้าไปแย่งปืนจากทหารอเมริกันคนหนึ่งก่อนจะทำร้ายทหารจนหมดสติ ทันใดนั้น เสียงระฆังใบหนึ่งก็ดังขึ้น ชาวบ้านราว 500 คนซึ่งเต็มไปด้วยความเกลียดกลัวทหารอเมริกันที่กดขี่ชาวบ้าน ทำร้ายผู้หญิงและทำลายพืชสวนไร่นา ต่างคว้ามีดพร้าที่ซ่อนอยู่ในโลงศพมาเป็นอาวุธ บุกไปที่ศาลากลางช่วงที่กองร้อยซีของอเมริกากำลังกินอาหารเช้า แล้วฆ่าทหาร 48 คน จากทั้งหมด 78 คน บาดเจ็บสาหัสอีก 22 คน ถือเป็นความพ่ายแพ้ครั้งใหญ่หลวงของทหารอเมริกันนับตั้งแต่ยุทธการลิตเติลบิกฮอร์น ที่รัฐมอนตานา คราวที่นายพลคัสเตอร์สู้กับนักรบเผ่าซูส์เมื่อปี 1876

 

 เมื่อฟิลิปปินส์ทวงคืน 3 ระฆังสันติภาพจากสหรัฐ

   (  ทหารอเมริกันถ่ายรูปกับระฆังบาลังกีกา เมษายน ค.ศ1902 ภาพ wikipedia ) 

 

                    นายพลจาคอบ สมิธ ผู้บัญชาการทหารอเมริกันได้ตอบโต้ด้วยการประกาศจะให้เมืองนั้นกลายเป็นป่าช้าร้างผู้คน “เราไม่ต้องการนักโทษ เราอยากจะให้ทหารช่วยกันฆ่าและเผา ยิ่งฆ่าและเผามากเท่าไหร่ก็จะยิ่งทำให้ผมพอใจมากขึ้นเท่านั้น” พร้อมกับย้ำว่า ”ให้ฆ่าทุกคนที่มีอายุ 10 ปีขึ้นไป”
 
                    “ฆ่าทุกคนที่มีอายุ 10 ปีขึ้นไป” กลายเป็นพาดหัวใหญ่ของหนังสือพิมพ์นิวยอร์ก เจอร์นัล เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 1902 ด้วยคำสั่งนี้ทำให้ทหารฟิลิปปินส์และชาวบ้านถูกสังหารหลายพันคน นอกจากนี้ทหารอเมริกันยังได้ยึดระฆัง 3 ใบของโบสถ์คาทอลิก ซึ่งหนึ่งในนั้นเป็นระฆังที่ดังขึ้นเพื่อเป็นสัญญาณให้ชาวบ้านลุกฮือ นอกเหนือจากยึดปืนใหญ่ 1,557 กระบอก อ้างว่าเป็นค่าชดใช้ความเสียหาย


                    ต่อมาในปี 1902 ศาลทหารสหรัฐได้นำตัวนายพลสมิธขึ้นศาลในข้อหาทำผิดวินัยทหาร แต่ไม่มีการลงโทษอย่างเป็นทางการ นอกเหนือจากแค่บีบให้เกษียณราชการเท่านั้น ขณะทหารอเมริกันอีก 39 คน มีความผิดฐานทารุณกรรมและยิงนักโทษฟิลิปปินส์


                    นับแต่นั้นมา ชาวตากาล็อกจึงกำหนดให้วันที่ 28 กันยายนของทุกปีเป็นวันรำลึกถึงการต่อสู้ของชาวเมืองบาลังกีกา เพื่อต่อต้านการกดขี่ของทหารอเมริกัน

 

 เมื่อฟิลิปปินส์ทวงคืน 3 ระฆังสันติภาพจากสหรัฐ

         ( ระฆังบาลังกีกา 2 ใบ ครั้งนำมาจัดแสดงที่ฐานทัพ ดี.เอ.รัสเซลล์ ปัจจุบันเป็นฐานทัพอากาศ เอฟ.อี.วอร์เรรัฐไวโอมิง  ภาพ wikipedia )

 

                    เมื่อฟิลิปปินส์ได้รับเอกราชเมื่อปี 1946 ผู้นำคาทอลิกทั้งของฟิลิปปินส์และสหรัฐต่างร่วมมือกันเดินเรื่องขอระฆังคืนให้แก่โบสถ์บาลังกีกา แต่ล้มเหลวทุกครั้ง โดยครั้งที่มีความคืบหน้ามากที่สุดก็คือช่วงที่ประธานาธิบดีฟิเดล รามอส เดินทางเยือนอเมริกาเมื่อปี 1994 และได้พบปะพูดคุยกับประธานาธิบดีบิล คลิน ผลการพูดคุยในครั้งนั้น ประธานาธิบดีคลินตันประกาศว่าเตรียมจะคืนระฆังให้ แต่เนื่องจากเกิดเรื่องอื้อฉาวหลายเรื่องถึงขั้นมีความพยายามจะให้รัฐสภาลงมติถอดออกจากตำแหน่ง หรืออิมพีชเมนต์ บิล คลินตันจึงปล่อยให้การคืนระฆังเงียบหายกลายเป็นคลื่นกระทบฝั่งเรื่อยมาจนถึงขณะนี้


                    ต่อมาเมื่อปี 2005 ทหารผ่านศึกในรัฐไวโอมิงได้ลงมติให้ส่งระฆังคืนให้เมืองบาลังกีกา แต่ผู้ว่าการรัฐในสมัยนั้นไม่เห็นด้วย อ้างว่าระฆังนี้เป็นส่วนหนึ่งของมรดกทางทหารอันล้ำค่าของไวโอมิง แม้จะมีข้อโต้แย้งว่าไม่มีชาวเมืองไวโอมิงแม้แต่คนเดียวเป็นทหารอยู่ที่บาลังกีกาช่วงที่เกิดการนองเลือด ขณะที่หนังสือพิมพ์สตาร์ส แอนด์ สตริปส์ ของทหารอเมริกัน ให้ความเห็นว่า ระฆังนี้เป็นของขวัญที่ได้จากชัยชนะหลังการตอบโต้การลุกฮือของชาวเมือง พร้อมกับพยายามอ้างความดีความชอบว่าชาวไวโอมิงได้ช่วยกันรักษาและไม่ให้นำระฆังไปหลอมเป็นอาวุธ


                    อย่างไรก็ดี นักเคลื่อนไหวเพื่อสันติภาพทั้งชาวตากาล็อกและมะกันชนต่างร่วมมือกันรณรงค์ให้ส่งระฆังประวัติศาสตร์ทั้ง 3 ใบ คืนฟิลิปปินส์ โดยให้เหตุผลว่า เดิมระฆังนั้นเป็นสัญลักษณ์การต่อต้านลัทธิทหารในแปซิฟิก การคืนระฆังจะช่วยผ่อนคลายความตึงเครียด และจะกลายเป็นสัญลักษณ์ใหม่ของความปรองดอง เหมือนกับการคืนฐานทัพสหรัฐให้ฟิลิปปินส์

                    อันที่จริง เคยมีตัวอย่างมาแล้วว่า กองทัพพร้อมจะส่งสัญลักษณ์ทางประวัติศาสตร์กลับคืนให้เจ้าของดั้งเดิม ดังที่เกิดขึ้นเมื่อปีที่แล้ว คราวโรงเรียนทหารเวสต์พอยท์ได้ส่งคืนระฆังใบหนึ่งที่ยึดมาในปี 1901 ให้แก่โบสถ์เซสต์ปีเตอร์ แอนด์ พอล ที่เมืองบาอูอัง จังหวัดลาอูนิออน แม้ทหารหลายคนจะคัดค้านอ้างว่าเป็นส่วนหนึ่งของมรดกแห่งชาติของสหรัฐ

 

 เมื่อฟิลิปปินส์ทวงคืน 3 ระฆังสันติภาพจากสหรัฐ

( ระฆังใบที่อยู่ในเกาหลีใต้ ) 

                    แม้จะถูกขัดขวาง แต่นักเคลื่อนไหวของทั้ง 2 ประเทศยังคงเดินหน้าเรียกร้องขอระฆังคืนครั้งแล้วครั้งเล่า หนึ่งในแกนนำก็คือ ส.ส.ดานา โรห์ราบาเชอร์ ที่เคยเคลื่อนไหวเมื่อ 10 ปีที่แล้ว แต่ไม่ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนทั่วไป กระนั้นเธอก็ไม่ย่อท้อพยายามศึกษาบทเรียนความผิดพลาดต่างๆ แล้วนำมาแก้ไข ด้วยความที่เชื่อมั่นใน "ความรู้สามารถเปลี่ยนแปลงโลกได้” จึงวางแผนระดมทุน 7.5 หมื่นดอลลาร์ (ราว 2.6 ล้านบาท) ส่วนหนึ่งสำหรับใช้ผลิตสารคดีสั้นบอกเล่าเรื่องราวของบาลังกีกา โดยจะสะท้อนมุมมองของทั้ง 2 ฝ่าย และเพื่อจะเป็นสะพานสร้างความเข้าใจอันดี สร้างความปรองดองและมิตรภาพระหว่างกัน ผ่านการสัมภาษณ์ความเห็นของลูกหลานชาวเมืองบาลังกีกา ส.ส.อเมริกัน และความเห็นของผู้สนับสนุนและคัดค้านทั้ง 2 ฝ่าย  เธอยังวาดหวังว่า สารคดีสั้นชุดนี้จะเป็นส่วนสำคัญของการรณรงค์ทางสื่อและจะมีการฉายระหว่างที่เจ้าหน้าที่ของ 2 ฝ่ายพบกันที่วอชิงตัน, ไวโอมิง, มะนิลา และบาลังกีกา


                    เพื่อให้ทุกอย่างเดินหน้าไปด้วยดี จึงมีการตั้งทีมผู้เชี่ยวชาญพิเศษรับผิดชอบการทวงคืนระฆังทั้ง 3 ใบนี้ คณะกรรมการชุดนี้มี แมนนี ปาเกียว ส.ส.และอดีตแชมป์มวยโลกเป็นประธานกิตติมศักดิ์ ส่วนคณะกรรมการ ประกอบด้วย ชาวฟิลิปปินส์ และชาวอเมริกัน ทั้งที่เป็นนักวิชาการ นักการเมือง นักหนังสือพิมพ์ นักเขียน ดารานักแสดง นักเคลื่อนไหว นักดนตรี ฯลฯ


                    งานหลักของคณะกรรมการก็คือ การช่วยกันรณรงค์ในระยะยาว ช่วยกันประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรู้กันถ้วนหน้าถึงความจริงทั้งหลายทั้งมวล อันเป็นก้าวสำคัญในการสร้างขบวนการแนวร่วมสนับสนุนการเคลื่อนไหวนี้ อันจะทำให้ง่ายขึ้นในการระดมทุนเท่าที่จำเป็นสำหรับใช้ในการต่อสู้ในระยะยาว อาทิ ใช้จัดงานรณรงค์ “100 ปีการเดินทางกลับบ้าน” เพื่อให้ชาวอเมริกันเข้าใจถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้น ด้วยการเผยแพร่ข้อมูลผ่านสื่อทุกประเภท รวมทั้งเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดและสนับสนุนการเจรจาหารือระหว่างผู้มีอำนาจและประชาชนของ 2 ประเทศ เพื่อสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างกัน
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ