ข่าว

บาดแผลทาสกามารมณ์ญี่ปุ่นเงินแก้ไม่ได้

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

บาดแผลทาสกามารมณ์ญี่ปุ่น เงินแก้ไม่ได้ : เปิดโลกวันอาทิตย์ ...อุไรวรรณ นอร์มา

            เริ่มต้นสัปดาห์สุดท้ายของเดือนธันวาคม มีข่าวที่น่าตื่นเต้นว่า เกาหลีใต้และญี่ปุ่นโดยรัฐมนตรีต่างประเทศของสองฝ่าย สามารถทำความตกลงเรื่อง “คอมฟอร์ท วีเมน” หรือทาสกามารมณ์ทหารญี่ปุ่นสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ประเด็นขัดแย้งที่เป็นเสี้ยนหนามทิ่มตำความสัมพันธ์ของสองเพื่อนบ้านตลอดมา โดยสาระหลักคือญี่ปุ่นเห็นพ้องตั้งกองทุน 1 พันล้านเยน (ประมาณ 300 ล้านบาท) ให้แก่เหยื่อชาวเกาหลีที่ได้รับความทุกข์ทรมาน โดยเงินก้อนนี้ไม่ใช่เงินชดเชย แต่ตามข้อตกลงระบุว่าเป็นเงินที่จ่ายเพื่อกอบกู้เกียรติศักดิ์ศรีและเยียวยาจิตใจแก่ผู้หญิงที่ตกเป็นทาสกามารมณ์  นายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ได้แสดงความเสียใจอย่างจริงใจที่สุดต่อเหยื่อ และเกาหลีใต้ตกลงจะไม่หยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาพูดอีก

บาดแผลทาสกามารมณ์ญี่ปุ่นเงินแก้ไม่ได้

            สหประชาชาติและสหรัฐออกมาแสดงความยินดีที่สองพันธมิตรหลักในเอเชียตะวันออก ปรับความเข้าใจกันได้ในเรื่องที่ค้างคามานาน แต่เพียงสองวันเท่านั้น หลังรายละเอียดข้อตกลงทั้งเบื้องหน้าเบื้องหลังถูกเปิดเผยออกมา ไม่ว่าจะเป็นอดีตทาสกามารมณ์ซึ่งอยู่ในวัยชราแล้ว และสภาเกาหลีเพื่อสตรีที่ถูกญี่ปุ่นเกณฑ์เป็นทาสกามารมณ์ (จองแดฮยอพ) กลุ่มประชาสังคมผู้สนับสนุนหลัก ออกมาต่อต้านสุดตัว โดยมองว่ารัฐบาลญี่ปุ่นหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบทางกฎหมายและศีลธรรม แต่เสนอให้เงิน ที่มิใช่เงินชดเชยอย่างเป็นทางการเพื่อแก้ปัญหา

บาดแผลทาสกามารมณ์ญี่ปุ่นเงินแก้ไม่ได้

            ฝ่ายค้านก็ผสมโรงเรียกร้องให้รัฐบาลประกาศว่าข้อตกลงเป็นโมฆะ และเปิดเจรจาใหม่ รวมถึงเตรียมยื่นญัตติปลดรัฐมนตรีต่างประเทศ กับขอให้สอบข้อเท็จจริง เมินคำวิงวอนของประธานาธิบดีปัก กึนเฮ ที่ขอให้ทุกฝ่ายเข้าใจว่าข้อตกลงฉบับล่าสุดแบบมองในภาพรวม และในแง่การปรับปรุงความสัมพันธ์กับญี่ปุ่น

บาดแผลทาสกามารมณ์ญี่ปุ่นเงินแก้ไม่ได้

            แรงผลักดันสำคัญจนมาสู่ข้อตกลง เริ่มมาเมื่อครั้งที่ผู้นำหญิงเกาหลีใต้ ประชุมสุดยอดแบบตัวต่อตัวครั้งแรกกับนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน สองฝ่ายเห็นพ้องว่าจะเร่งเจรจาสะสางประเด็นนี้โดยเร็ว หวังเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญต้อนรับวาระครบรอบ 50 ปีแห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ระดับปกติระหว่างกัน แต่หลังทำความตกลงกันได้เมื่อวันจันทร์ที่ 28 ธันวาคม ประธานาธิบดีปัก กึนเฮ และกระทรวงต่างประเทศ กำลังเผชิญศึกใหญ่ว่าจะทำอย่างไรให้ทุกฝ่ายเห็นด้วยกับข้อตกลงที่มีถ้อยคำว่า “ไม่อาจย้อนกลับและเป็นบทสรุปสุดท้ายแล้ว”

บาดแผลทาสกามารมณ์ญี่ปุ่นเงินแก้ไม่ได้

            ประเด็นหนึ่งที่สื่อเกาหลีใต้โจมตีการเจรจาของรัฐบาลอย่างมากคือการปิดลับ ไม่ปรึกษาหารือกับเหยื่อหรือฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ระหว่างนั้นมีแต่สื่อของญี่ปุ่นที่ได้ข่าวและแย้มรายละเอียดออกมา กระทั่งเจรจาจนเสร็จสิ้นแล้ว จึงเพิ่งมาบอกกล่าวกับเหยื่อ โดยหลังจากแถลงข่าว 1 วัน กระทรวงต่างประเทศส่งรัฐมนตรีช่วยต่างประเทศคนที่ 1 และคนที่ 2 เดินทางไปอธิบายความยังสำนักงานของจองแดฮยอพ และศูนย์ที่พักของเหยื่อทาสกามารมณ์

            เว็บไซต์หนังสือพิมพ์คยอนฮยาง รายงานว่า เมื่อนายลิม ซองนัม รัฐมนตรีช่วยต่างประเทศคนที่ 1 เดินทางไปพบกับอดีตทาสกามารมณ์ในกรุงโซล ถูกคุณยายยี ยองซู ตั้งคำถามทันทีว่า “มาที่นี่เพื่อจะฆ่าเราอีกครั้งอย่างนั้นหรือ” และขึ้นเสียงว่า “ท่านน่าจะมาพบกับเหยื่ออย่างพวกเราก่อนไปเจรจา ท่านอยู่กระทรวงต่างประเทศของประเทศไหนกัน” ขณะที่ คิม บ็อกดง เหยื่อทาสกามารมณ์อีกคนกล่าวว่า “เราไม่ได้พยายามสู้เพื่อเงิน เราต้องการให้ประเทศนั้นขอโทษต่อการกระทำผิด”

            รัฐมนตรีช่วยต่างประเทศเกาหลีใต้กล่าวขอโทษต่อผู้สูงวัยเหล่านั้น พร้อมชี้แจงว่า ไม่ได้มาบอกล่วงหน้าเพราะเรื่องดำเนินไปเร็วมากในช่วงวันหยุด เราทำอย่างดีที่สุดตามแนวทางของประธานาธิบดีที่คิดว่าควรได้ข้อสรุปก่อนจะมีเหยื่อจากไปมากกว่านี้จะเป็นการดีที่สุด

            แต่ความโกรธแค้นยิ่งเพิ่มทวีคูณ หลังหนังสือพิมพ์ซันเค ซึ่งเป็นสื่อแนวขวาในญี่ปุ่น รายงานเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม อ้างคำพูดของนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ที่กล่าวกับคนสนิทหนึ่งวันหลังทำความตกลงว่า กรณีพิพาทยาวนานกับเกาหลีใต้เรื่องทาสกามารมณ์ก่อนและระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 จบแล้วแบบถาวร รัฐบาลโตเกียวจะไม่ขอโทษอีกต่อไป “ในอนาคต เราจะไม่พูดเรื่องนี้กันอีก เราจะไม่เอ่ยถึงในการประชุมสุดยอดญี่ปุ่น-เกาหลีครั้งหน้า หากละเมิดข้อตกลง เกาหลีใต้จะหมดสภาพสมาชิกของประชาคมโลก”

            ซันเคระบุด้วยว่า นายอาเบะรับฟังสรุปผลเจรจาจากนายฟูมิโอะ คิชิดะ รัฐมนตรีต่างประเทศ และชื่นชมนายคิชิดะที่สามารถทำให้นายยุน บยองเซ รัฐมนตรีต่างประเทศเกาหลีใต้ ยืนยันว่า ข้อตกลงนี้เป็นบทสรุปสุดท้ายและจะไม่พลิกไปพลิกมาอีก

            สัญญาณที่ว่า นายกรัฐมนตรีอาเบะไม่มีความตั้งใจที่จะแสดงความสำนึกผิดด้วยตนเองหรือกล่าวขอขมาอีก ทำให้ข้อตกลงนี้ส่อว่าจะถอยหลังไปจากเมื่อครั้งมีการตกลงตั้งกองทุนสตรีเอเชีย (Asian Women's Fund) เมื่อปี 2538 ซึ่งมาพร้อมกับจดหมายขอโทษแบบส่วนตัวจากนายกรัฐมนตรีจุนอิชิโร โคอิซูมิ ในขณะนั้น

            สื่อหลายเจ้าในญี่ปุ่นไม่ว่าจะเป็น อาซาฮี และโยมิอูริ รายงานด้วยว่า ญี่ปุ่นเรียกร้องให้เกาหลีใต้ย้ายรูปปั้นเด็กหญิงที่เป็นสัญลักษณ์ของทาสกามารมณ์ออกไปจากฝั่งตรงข้ามสถานทูตญี่ปุ่นในกรุงโซล เป็นเงื่อนไขหนึ่งของข้อตกลงจ่ายเงินช่วยเหลือ และเกาหลีใต้รับปาก ขณะที่กระทรวงต่างประเทศเกาหลีใต้ปฏิเสธ โดยระบุว่าเกาหลีใต้รับรู้ความไม่สบายใจของญี่ปุ่นในเรื่องนี้ และจะพยายามหาทางออกอย่างเหมาะสมด้วยการพูดคุยกับกลุ่มประชาสังคม

            ส่วนสำนักข่าวเกียวโดอ้างแหล่งข่าวว่า ญี่ปุ่นจะไม่จ่ายเงินตามสัญญาหากรูปปั้นที่หน้าสถานทูตไม่ถูกเคลื่อนย้าย แม้ว่าในเนื้อหาข้อตกลง ไม่ได้มีเงื่อนไขนี้รวมอยู่ด้วย แต่เพิ่มเข้ามาตามที่นายกรัฐมนตรีอาเบะเรียกร้อง เพราะมีกระแสต่อต้านภายในประเทศ เรื่องการใช้ภาษีจ่ายให้แก่สตรีเหล่านั้นขณะยังมีรูปปั้นที่ถือเป็นการดูหมิ่นญี่ปุ่นอยู่ นอกจากนี้ การย้ายรูปปั้น จะถือเป็นบททดสอบวัดว่ารัฐบาลเกาหลีใต้จริงใจที่จะแก้ปัญหานี้มากน้อยแค่ไหน

            กลุ่มจองแดฮยอพ ซึ่งเป็นกลุ่มที่นำรูปปั้นไปตั้ง ออกแถลงการณ์วันเดียวกัน เรียกร้องรัฐบาลเกาหลีใต้และญี่ปุ่น ยกเลิกข้อตกลงฉบับเร่งรีบ และรับฟังข้อเรียกร้องของเหยื่อเพื่อที่จะได้สะสางประเด็นนี้กันอย่างเหมาะสมและยอมรับได้ทุกฝ่าย

            กระแสความไม่พอใจสะท้อนออกมาทางการชุมนุมที่หน้าสถานทูตญี่ปุ่นประจำสัปดาห์ทุกวันพุธ โดยเมื่อวันพุธที่ 30 ธันวาคม ซึ่งเป็นการชุมนุมครั้งที่ 1,211 และครั้งสุดท้ายของปี มีผู้ออกมาร่วมให้กำลังใจอย่างคับคั่งกว่า 700 คน ส่วนใหญ่เป็นนักเรียนนักศึกษาและนักเคลื่อนไหว ปกติ การชุมนุมมีคนร่วมเพียง 100 คน

            นักประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่ประเมินว่า มีผู้หญิงในเอเชียราว 2 แสนคนซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวเกาหลีตกเป็นทาสกามารมณ์ในสงครามโลกครั้งที่สอง และในเกาหลีใต้ มีผู้หญิง 238 คนที่ลงทะเบียนกับทางการระบุว่าเป็นทาสกามารมณ์ในยุคนั้น และมีเพียง 46 คนที่ยังมีชีวิตอยู่จนถึงปัจจุบัน

            มุมนักประวัติศาสตร์ความต่างเยอรมนีกับญี่ปุ่น

            ความเป็นอาณานิคมของเกาหลีใต้ยุติลงตั้งแต่ปี 2488 และปรับสัมพันธ์ฉันท์ปกติกับญี่ปุ่นตั้งแต่ปี 2508 แต่บาดแผลทางใจไม่เคยได้รับการสมานจนสนิท ทั้งสองฝ่ายยังติดอยู่ในบ่วงคำถามว่า จะจดจำอดีตที่มีร่วมกันอย่างไร โดยเฉพาะประเด็นทาสกามารมณ์ ที่ในเกาหลีใต้ไม่เคยรู้สึกว่าได้รับความเป็นธรรมอย่างแท้จริง ไม่ต้องพูดถึงผู้ตกเป็นเหยื่อโดยตรง

            หากมองย้อนไปหลังญี่ปุ่นแพ้สงครามในปี 2488 และความล้มเหลวของสหรัฐในการจัดการความพ่ายแพ้ของญี่ปุ่น อาจช่วยให้เข้าใจว่าเหตุใดคนในเกาหลีจำนวนมากยังรู้สึกเช่นนั้น

            ฝ่ายสัมพันธมิตรเปิดศาลไต่สวนพิจารณาคดีอาชญากรรมสงครามทั้งญี่ปุ่นและเยอรมนี นอกจากเพื่อลงโทษผู้กระทำผิดแล้วยังบังคับให้ยอมรับการบันทึกประวัติศาสตร์ด้วย เพื่อให้เหยื่อรู้สึกว่าพวกเขาได้รับความยุติธรรมจริง

            แต่กรณีญี่ปุ่น ศาลอาชญากรรมสงครามถูกครอบงำโดยอำนาจตะวันตก ที่มุ่งเอาผิดญี่ปุ่นที่กระทำต่อประชาชนและผลประโยชน์ตะวันตก มีผู้พิพากษาศาลเพียง 3 คนจาก 11 คนเท่านั้นที่เป็นชาวเอเชีย ทั้งที่เหยื่อส่วนใหญ่ของญี่ปุ่นเป็นชาวเอเชีย และใน 3 คนนั้นไม่มีชาวเกาหลีใต้

            นักประวัติศาสตร์อเมริกัน จอห์น ดาวเออร์ ระบุว่า เป็นการพิจารณาคดีโดยศาลของคนขาว และน่าประหลาดที่ไม่มีชาวเกาหลีทำหน้าที่เป็นผู้พิพากษาหรืออัยการเลย เหยื่อชาวเอเชียของญี่ปุ่น ไม่ได้รับโอกาสในการพิพากษาอดีตผู้กระทำ หรือมีส่วนร่วมในการเตรียมคดีเอาผิดอีกฝ่าย ตรงกันข้าม เหยื่อของนาซีเยอรมนีในยุโรป ได้รับอนุญาตให้มีส่วนร่วมในการสอบสวนคดีอาชญากรรมสงคราม พวกเขาจึงรู้สึกว่าได้รับความยุติธรรมและความคับแค้นใจได้รับการสะสางแล้ว ทำให้การอยู่ร่วมกับชาวเยอรมันที่เคยกระทำสิ่งเลวร้ายในอดีตอย่างสงบสุข ไม่ใช่เรื่องยาก แต่กับชาวเกาหลีหรืออาจจะรวมถึงชาวจีนด้วย ไม่เคยสัมผัสประสบการณ์เช่นนี้ กลับสั่งสมความรู้สึกว่าไม่เคยได้รับความยุติธรรมมานับแต่นั้น

    

        ยังมีความแตกต่างอีกประการระหว่างญี่ปุ่นกับเยอรมนี หลังสงคราม ยุคนาซีเยอรมันถูกล้มล้างอย่างสมบูรณ์ นาซีถูกประกาศเป็นลัทธิผิดกฎหมาย ชาวเยอรมันจำต้องค่อยๆ ยอมรับอาชญากรรมสงครามที่ก่อขึ้น และยอมรับว่าเป็นการกระทำที่ผิด ส่วนอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ผู้นำนาซี กลายเป็นบุคคลที่ถูกก่นประณามแม้แต่ในเยอรมนีเอง

            แต่ในญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกาปฏิเสธทำเช่นนั้น กองทัพอเมริกันวางแผนยึดครองญี่ปุ่น แต่เกรงว่าการล้มล้างระบอบเดิมอย่างสิ้นเชิงอย่างที่ทำในเยอรมนี จะก่อปฏิกิริยาต่อต้านถึงขั้นลุกฮือก่อเหตุรุนแรง หรืออาจเปิดช่องให้ลัทธิคอมมิวนิสต์แทรกเข้ามา จึงเลือกไม่แตะต้องบัลลังก์ของผู้นำอาชญากรรมสงคราม ณ ขณะนั้นคือ สมเด็จพระจักรพรรดิฮิโรฮิโตะ แต่ให้มีอำนาจน้อยลง และใช้สถาบันเก่าแก่เป็นหุ่นเชิดให้การยึดครองญี่ปุ่นเป็นไปโดยราบรื่น

            นักประวติศาสตร์อเมริกันอีกคนหนึ่ง ฮัน บิกซ์ ระบุว่าความพยายามรักษาสถานะของจักรพรรดิฮิโรฮิโตะ และซุกอาชญากรรมของพระองค์ไว้ใต้พรม มีผลอย่างลึกซึ้งและยาวนานต่อการบิดเบือนความเข้าใจของญี่ปุ่นต่อความพ่ายแพ้สงคราม จึงเป็นเหตุผลว่าอีก 70 ปีล่วงมา ชาวเยอรมันทั่วไปเห็นตรงกันว่า ลัทธินาซีคือความผิดพลาดอย่างมหันต์ อาชญากรรมสงครามที่เยอรมนีก่อ เลวร้ายตามคำบอกเล่าของเหยื่อ แต่ในญี่ปุ่น เรื่องแบบนี้ไม่เคยเกิดขึ้น นักการเมืองอาวุโสยังคงไปเยือนศาลเจ้ายาสุคุนิ ที่เสมือนเป็นการยกย่องอาชญากรสงคราม แม้ว่าศาลเจ้าแห่งนี้เป็นที่สิงสถิตดวงวิญญาณของผู้เสียชีวิตในสงครามอื่นๆ ไว้ด้วยก็ตาม

            หลายครั้ง นักการเมืองยังถกเถียงกันอย่างเปิดเผยว่า การล่วงละเมิดของทหารตนเองในสมัยสงคราม เลวร้ายขนาดนั้นจริงหรือ บ้างก็อ้างว่า คอมฟอร์ท วีเมน ไม่ใช่ทาสหากเป็นอาสาสมัครที่เต็มใจ

            โดยเฉพาะเวลานี้ กระแสชาตินิยมกลับมาเบ่งบานอีกครั้ง พร้อมกับความพยายามแก้ไขการรับรู้ประวัติศาสตร์ใหม่ ภายใต้รัฐบาลอนุรักษนิยมของนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ผู้ที่ในอดีตเคยกล่าวทำนองว่า ข้อมูลเรื่องทาสกามารมณ์ อ้างกันไปเกินจริง และในสมัยนั่งเก้าอี้ช่วงสั้นๆ ในปี 2550 ยังเคยผ่านมติคณะรัฐมนตรีที่อ้างว่า ไม่เคยมีหลักฐานอย่างเป็นทางการเรื่องการบังคับขู่เข็ญผู้หญิงให้มาเป็นทาสกามารมณ์

            เมื่อนายอาเบะกลับมานั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีอีกครั้งอย่างมั่นใจกว่าเดิมในปี 2555 ได้มีถ้อยแถลงหลายครั้งที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นความพยายามล้างผิดอาชญากรรมสงครามในสมัยจักรวรรดินิยม หรือกระทั่งเชิดชู ประกอบกับนโยบายเพิ่มบทบาทกองทัพนอกประเทศผ่านการแก้ไขกฎหมายเมื่อปีที่แล้ว

            เหล่านี้ยิ่งตอกย้ำความรู้สึกของเหยื่อว่าไม่เคยได้รับความยุติธรรมจากการถูกกระทำเมื่อ 75 ปีที่แล้ว อดีตจึงเป็นปัจจุบันได้ทุกเวลา บาดแผลถูกเปิดได้เสมอเมื่อใดก็ตามที่นักการเมืองญี่ปุ่นคนใดคนหนึ่งแสดงความยกย่องชื่นชมผู้นำสมัยจักรวรรดินิยม หรือลดทอนการล่วงละเมิดในยุคนั้น

ที่มา : เว็บไซต์ vox

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ