บันเทิง

เพลงดังฝั่งซ้าย"เอิ้นอ้ายใส่หม้อนึ่ง""เวียง นฤมล"ร้องข้ามโขง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์...  คมเคียวปากกา  โดย...  บรรณวัชร 

 

 

 

          แฟนเพจเฟซบุ๊ก “เวียง นฤมล” นักร้องสาวสังกัดแกรมมี่โกลด์ อัพสเตตัสเพลงใหม่ “มาฟังเพลง #เอิ้นอ้ายใส่หม้อนึ่ง กับเวียงกันค่ะ อีกเพลงจากโปรเจกท์ คัฟเวอร์ข้ามโขงต้นฉบับของ มุกดาวัน สันติพอน” เมื่อค่ำวันที่ 21 กรกฎาคม 2562

 

 

          นี่เป็นเพลงที่ 2 ของ “เวียง นฤมล” สำหรับโครงการ “คัฟเวอร์ข้ามโขง” โดยเพลงแรกสาวเวียง นฤมล คัฟเวอร์เพลงลาว “แฟนบ่ชัดเจน” ซึ่งต้นฉบับเพลงแฟนบ่ชัดเจน ร้องโดย ฟ้า ทะวีพอน แต่งโดย คม ชะนะ สังกัดบริษัทจำปาสตูดิโอ


          จุดเริ่มต้นของคัฟเวอร์ข้ามโขง “สลา คุณวุฒิ” ต้องการสานต่อโครงการเดิมที่เคยนำเพลงลาวมาให้นักร้องไทยร้องจนโด่งดัง อย่างเพลง “เซิ้งหอยจี่แกล้มเหล้า” ร้องโดย “กิ” ดาวเพ็ด หนูห่วง แต่งโดย อุ่นแก้ว วอละบุด ก็มีการซื้อลิขสิทธิ์มาให้ “พี สะเดิด” ร้องในชื่อเพลง “จี่หอย”

 

 

เพลงดังฝั่งซ้าย"เอิ้นอ้ายใส่หม้อนึ่ง""เวียง นฤมล"ร้องข้ามโขง

 


          สมัยก่อน สลา อาศัย “ดาวเวียง บุดนาโค” ช่วยประสานงานเรื่องลิขสิทธิ์เพลง เมื่อสิ้นดาวเวียง ก็ได้นักร้องหนุ่มนิสัยดี “กิ" ดาวเพ็ด หนูห่วง ติดต่อกับ “คม ชะนะ” หรือคม คงชะนะ นักร้อง นักแต่งเพลงลาวรุ่นใหม่ขอนำเพลงแฟนบ่ชัดเจน มาให้เวียง นฤมล ร้องอีกเวอร์ชั่นหนึ่ง


          เมื่อ เวียง นฤมล นำเพลงเอิ้นอ้ายใส่หม้อนึ่ง มาร้องใหม่ ก็มีเสียงตอบรับเร็วมาก เพียงสัปดาห์แรกยอดวิวก็ทะลุ 2 แสน 8 หมื่นวิว


          เมื่อ 6 ปีที่แล้ว “เอิ้นอ้ายใส่หม้อนึ่ง” น่าจะเป็นเพลงลูกทุ่งลาวรุ่นแรกๆ ที่อาศัยช่องทางยูทูบเผยแพร่งานเพลง พร้อมกันนั้น “มุกดาวัน สันติพอน” เจ้าของเสียงเพลง ได้ใช้เฟซบุ๊กเป็นเครื่องมือสื่อสารถึงแฟนเพลง โดยมีการขายแผ่นซีดีและวีซีดีด้วย


          “มุกดาวัน สันติพอน” เติบโตมาในครอบครัวชาวนา บ้านทาดอิงฮัง นครไกสอนพมวิหาน แขวงสะหวันนะเขต โดยพ่อของเธอ เป็นเจ้าของวงดนตรีอิเล็กโทน “กล้วยสุกเขียว” และเป็นคนสอนร้องเพลงให้ตั้งแต่อายุ 5 ขวบ

 

 

เพลงดังฝั่งซ้าย"เอิ้นอ้ายใส่หม้อนึ่ง""เวียง นฤมล"ร้องข้ามโขง

 



          สาวน้อยมุกดาวัน มีอัลบั้มเพลงชุดแรกตั้งแต่เรียนชั้นประถม และช่วงเรียนมัธยมต้น ก็ออกอัลบั้มมาอีกสองสามชุด แต่ครอบครัวเธอรู้สึกได้ถึงความไม่เป็นธรรมในธุรกิจเพลงลาวจึงตัดสินใจทำเพลงเอง


          เนื่องจากมุกดาวัน เป็นนักแสดงประจำสโมสรศิลปวัฒนธรรม แขวงสะหวันนะเขต ซึ่งมี ดอกเพ็ด แดนจำพอน หัวหน้าแผนก เป็นที่ปรึกษาในการคัดสรรเพลงให้เธอขับร้องทั้ง 10 เพลง มีอาจารย์ดอกเพ็ด กับอาจารย์กุไล ลูกลาดอิงฮัง ร่วมกันแต่ง 9 เพลง และวาท วาทศิลป์ แต่งอยู่เพลงเดียวคือ “เอิ้นอ้ายใส่หม้อนึ่ง”


          จริงๆ แล้ว ผู้อยู่เบื้องหลังความโด่งดังของเพลง “เอิ้นอ้ายใส่หม้อนึ่ง” คือ “วาท วาทศิลป์” โดยวาทเป็นคนทำดนตรีทั้งอัลบั้ม โดยตัวเขาเองเป็นชาวเมืองจำพอน แขวงสะหวันนะเขต แต่อพยพมาอยู่ทางฝั่งไทย วาทมีห้องบันทึกเสียง “วีทีเอส สตูดิโอ” อยู่แถวขอบกรุงตะวันตก


          ผลงานการแต่งและทำดนตรีเพลงเอิ้นอ้ายใส่หม้อนึ่ง ทำให้วาท วาทศิลป์ มีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับในกลุ่มนักปั้นศิลปินลูกทุ่งหมอลำ แม้แต่ศิลปินในลาวยุคใหม่ก็เรียกใช้บริการงานทำดนตรีและห้องอัดเสียงของวาทมากขึ้น 

 

 

เพลงดังฝั่งซ้าย"เอิ้นอ้ายใส่หม้อนึ่ง""เวียง นฤมล"ร้องข้ามโขง

 


          กระบวนการผลิตเพลง “เอิ้นอ้ายใส่หม้อนึ่ง” สะท้อนความไม่มีขอบ ไม่มีพรมแดนของดนตรี ซึ่งจะว่าไปแล้วอาจรวมถึงการจำแนกว่า นี่เพลงไทย นั่นเพลงลาว


          วัฒนธรรมสองฝั่งโขงในสมัยดิจิทัลครองเมือง แทบจะหลอมเป็นเนื้อเดียวกัน สังเกตจากนักร้องลาวรุ่นใหม่ที่ทำเพลงลงยูทูบ ก็จะเขียนชื่อเพลงภาษาไทยคู่ภาษาลาว


          โครงการคัฟเวอร์ข้ามโขงของสลา คุณวุฒิ ตอบโจทย์วัฒนธรรมสองฝั่งโขงที่ไม่ควรแบ่งแยกเพลงอีสานหรือเพลงลาว เพราะต้นธารแท้จริงมาจากรากเหง้าเดียวกัน

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ