บันเทิง

รถชนดับ 9 ศพ...ปรากฏการณ์พลังโซเชียล

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์...  มายาประเทศ  โดย...   นิตี้ fb/nitylive

 

 

          เรื่องราวน่าเห็นใจเกี่ยวข้องกับความไม่เป็นธรรม แม้จะผ่านกระบวนการยุติธรรมที่สุดแล้ว แต่การชดใช้ชดเชยเยียวยายัง “ล่าช้า” จนเกิดการตั้งคำถามถึงหน่วยงานรัฐในการบังคับใช้กฎหมาย จะเป็นที่พึ่งของผู้ตกเป็นเหยื่อและผู้เสียหายได้แค่ไหน จนบางครั้ง “พลังทางสังคม” ต้องออกมากดดัน เพื่อทวงถามความเป็นธรรม

 

 

          กรณีล่าสุด เหยื่อและผู้เสียหายจากเหตุรถเฉี่ยวชนรถตู้โดยสารบนทางด่วน (27 ธ.ค.53) ทำให้มีผู้เสียชีวิต 9 ราย และบาดเจ็บอีก 6 ราย เมื่อปี 2558 ศาลฎีกามีคำสั่งไม่รับฎีกา ให้ยึดตามคำพิพากษาเดิมของศาลอุทธรณ์ ผลคดีอาญาจึงถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2557 ซึ่งศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นว่า จำเลยมีความผิดฐานขับรถประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย และทำให้ทรัพย์สินเสียหาย


          คำให้การในชั้นพิจารณาเป็นประโยชน์ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุกเป็นเวลา 2 ปี โดยโทษจำคุกนั้นให้รอลงอาญา ซึ่งศาลอุทธรณ์กำหนดให้รอลงอาญาเป็นเวลา 4 ปี และให้คุมประพฤติจำเลยเป็นเวลา 3 ปี โดยให้บำเพ็ญประโยชน์ 48 ชั่วโมงต่อปี เป็นเวลา 3 ปี รวมทั้งห้ามจำเลยขับรถยนต์จนกว่าจะมีอายุครบ 25 ปีบริบูรณ์


          ส่วนของคดีแพ่ง ผลเพิ่งถึงที่สุดเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม ที่ผ่านมา คำพิพากษาศาลฎีกาในคดีที่กลุ่มญาติผู้เสียชีวิตและผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ จากอุบัติเหตุดังกล่าวรวม 28 ราย ได้ยื่นฟ้องเยาวชนหญิงที่ขับรถยนต์เกิดเหตุ ปัจจุบันอายุ 25 ปีเศษ และจำเลยอีก 6 ราย เรื่องกระทำละเมิด ขับรถยนต์ฮอนด้าซีวิคประมาท เฉี่ยวชนรถตู้โดยสารมีผู้เสียชีวิต 9 ราย และบาดเจ็บ 4 ราย เรียกค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 113,077,510.22 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี แต่ “ตัวเลขจริง” ที่ศาลพิพากษาอยู่ที่ 24,756,925 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีนับจากวันเกิดเหตุ




          ประเด็นก็คือ ทั้งคดีอาญาและแพ่งจบไปแล้ว แต่เกือบ 2 เดือน ญาติผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับบาดเจ็บยังไม่ได้รับการเยียวยาจากคู่กรณี จนกลายเป็นเรื่องทวงถามผ่านสื่อมวลชนและสื่อโซเชียลออนไลน์ ทำให้ “กระแสสังคม” ออกมากดดันและติดตามเรื่องราวที่เกิดขึ้น


          รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม คนใหม่หมาด อย่าง “สมศักดิ์ เทพสุทิน” ต้องรีบสั่งการให้กระทรวงยุติธรรมเข้าช่วยเหลือและอำนายความสะดวกในการเข้าถึงความยุติธรรมแก่ผู้เสียหายกรณีนี้ ซึ่ง “ธวัชชัย ไทยเขียว” รองปลัดกระทรวงยุติธรรม และโฆษกกระทรวงยุติธรรม เปิดเผยว่าหากญาติผู้เสียชีวิต 9 ศพ และมีผู้บาดเจ็บอีกจำนวนหนึ่ง ในส่วนของผู้เสียหายที่มีฐานะยากจน กระทรวงยุติธรรมจะให้กองทุนยุติธรรมเข้าไปช่วยเหลือค่าใช้จ่ายเป็นค่าทนายความและการสืบทรัพย์ ขณะที่กรมบังคับคดีพร้อมอำนวยความสะดวกในขั้นตอนการบังคับคดีเช่นกัน โดยผู้เสียหายหรือฝ่ายโจทก์ต้องไปยื่นคำร้องขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีแล้วนำหมายบังคับคดีไปตั้งเรื่องที่กรมบังคับคดี เพื่อให้มีอำนาจเข้าไปสืบทรัพย์


          “เมื่อเริ่มต้นขั้นตอนการบังคับคดีแล้ว เจ้าพนักงานบังคับคดีจะสั่งอายัดทรัพย์ที่สืบพบแล้วนำออกขายทอดตลาด เพื่อนำเงินมาเฉลี่ยคืนตามความเสียหาย หากทรัพย์ที่นำออกขายทอดตลาดไม่เพียงพอต่อการชดใช้ค่าเสียหาย หรือมีมูลหนี้มากกว่า 1 ล้านบาท จะยื่นฟ้องขอให้ศาลสั่งให้จำเลยตกเป็นบุคคลล้มละลาย ไม่สามารถเดินทางออกนอกประเทศหรือทำธุรกรรมทางการเงินได้เป็นเวลา 3 ปี แม้พ้นจากการเป็นบุคคลล้มละลายไปแล้ว ก็ไม่ได้หมายความว่าจำเลยจะสบายหรือลั้นลา เพราะภาระความรับผิดก็ยังไม่หมดลง มูลหนี้ยังคงมีอยู่ จำเลยยังต้องทำงานชดใช้ค่าเสียหายจนกว่าจะครบตามคำพิพากษา หรือจนกว่าคดีจะขาดอายุความในการสืบทรัพย์เป็นระยะเวลา 10 ปี”


          แต่อย่างไรก็ตาม รองปลัดกระทรวงยุติธรรม แนะนำให้จำเลยควรเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยจะดีที่สุด ส่วนผู้เสียหายหรือฝ่ายโจทก์ และ “โกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง” รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยว่า ผู้เสียหายขอคำปรึกษาทางกฎหมายกับอัยการ “สคช.” โดยเขียนคำร้องได้เองยื่นกรมบังคับคดี ตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่เสียค่าทนาย


          แน่นอนว่า การที่เจ้าหน้าที่รัฐออกมาช่วยเหลือเสนอแนะ ย่อมเห็นแล้วเป็นเรื่องที่ “สังคมกำลังจับตา” ว่าจะแก้ไขสางปัญหาอย่างไร เพราะหากนิ่งนอนใจแล้วไซร้ “งานเข้า” รัฐบาลใหม่แน่นอน เพราะกลายเป็นปรากฏการณ์ที่ผู้คนในสังคมต้องการ “ความเป็นธรรม” เกิดขึ้นโดยเร็วเพื่อเยียวยา หากชักช้าย่อมถูกครหาว่าจงใจช่วยใคร?

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ