บันเทิง

"ตลาดล่าง" แล้วไงจากเพลงตลาดถึงรถแห่เอาไม่อยู่กระแส "ไทบ้าน"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์...  คมเคียวคมปากกา   โดย...  บรรณวัชร

 


          อันเนื่องจากงานบวชนาคที่วัดสิงห์ แล้วบานปลายกลายเป็น “อันธพาลพังสนามสอบ” ก่อให้เกิดความอลหม่านในสื่อโซเชียล มีการแสดงความคิดเห็นประณามพฤติกรรมของเหล่าคนพาลอย่างรุนแรง

 

 

          สิ่งที่ตามมาจากกรณีงานบวชนาควัดสิงห์คือ ศัพท์สแลง “บวชตลาดล่าง” ที่ถูกนำไปขยายโดยการพาดหัวข่าวออนไลน์ของสำนักข่าวต่างๆ  


          อย่างไรก็ตาม สังคมควรแยกกรณีงานบวชที่มีดนตรีแห่นำหน้านาค กับกรณีบุกพังสนามสอบออกจากกัน ตามสันดานอันธพาล หากดื่มเหล้าขาดสติ ก็ทำลายทุกอย่างที่ขวางหน้า 


          ที่มาของคำสแลงหรือคำศัพท์วัยรุ่นยุคดิจิทัล “ตลาดล่าง” นั้น ถูกตีความไปต่างๆนานา บ้างว่าใช้ในการเหยียดชนชั้น และลามลึกไปถึงเรื่องความเหลื่อมล้ำทางสังคม และการถ่างช่องว่างระหว่างเมืองกับชนบท แต่ในมุมของวัยรุ่นก็ไม่ได้คิดอะไรมาก คงอยากปักป้ายบอกว่า แบบนี้ตลาดล่าง แบบนั้นตลาดบนเท่านั้นเอง

 

 

"ตลาดล่าง" แล้วไงจากเพลงตลาดถึงรถแห่เอาไม่อยู่กระแส "ไทบ้าน"

 


          จริงๆ แล้ว “ตลาดล่าง” เป็นคำที่ถูกใช้ในบริบทต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นการใช้คำนี้ในศัพท์เชิงการตลาด หรือเป็นชื่อของตลาดในสมัยโบราณก็ตาม

 

          60 กว่าปีที่แล้ว เพลงลูกทุ่งและลูกกรุงยังเป็นเพลงกลุ่มเดียวกัน ไม่มีการแยกประเภท มีนักร้องที่ร้องบรรยายถึงชีวิตชาวชนบท หนุ่มสาวบ้านนา และความยากจน เรียกกันว่า “เพลงตลาด” หรือ “เพลงชีวิต"


 


          มงคล อมาตยกุล หัวหน้าวงดนตรีจุฬารัตน์ เคยเขียนบันทึกไว้ว่า ทูล ทองใจ มีชื่อเสียงโด่งดังอยู่ระหว่างปี 2500-2503 เสียงเพลงของเขาเป็นที่ซาบซึ้งของคนทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นคนกรุงหรือคนชนบท จึงทำให้ประโยชน์ขัดกันขึ้นระหว่างนักทำแผ่นเสียงของบริษัทต่างๆ


          “จึงมีการแบ่งแยกนักร้องออกมาเป็น 2 ประเภทคือ นักร้องเพลงผู้ดี นักร้องเพลงตลาด คือมีการเหยียดหยามว่า นักร้องเพลงตลาดต่ำช้า และมีการแอนตี้กันขึ้น”

 

 

"ตลาดล่าง" แล้วไงจากเพลงตลาดถึงรถแห่เอาไม่อยู่กระแส "ไทบ้าน"

 


          กระทั่งปี 2507 อาจารย์จำนง รังสิกุล ได้คิดประดิษฐ์คำว่า “เพลงลูกทุ่ง” ขึ้น ซึ่งเพลงลูกทุ่งมีความชัดเจนจากเพลงลูกกรุงโดยประกอบ ไชยพิพัฒน์ ได้นำมาเป็นชื่อรายการ “เพลงลูกทุ่ง” ทางสถานีไทยโทรทัศน์ ช่อง 4 บางขุนพรหม


          คำว่าเพลงตลาด จึงเลือนหายไป สังคมไทยยอมรับสถานะของ “เพลงลูกทุ่ง” พร้อมการเติบใหญ่ขยายตัวของธุรกิจอันเกี่ยวเนื่องกับเพลงลูกทุ่ง


          3 ทศวรรษที่ผ่านมา แกรมมี่หรืออาร์เอส ในฐานะบริษัทมหาชนได้แตกไลน์ทำธุรกิจเพลงลูกทุ่ง จึงมีการจำแนกแบรนด์สินค้าในทางการตลาด ฉะนั้นคำว่า “ตลาดบน-ตลาดล่าง” ได้ถูกนำมาใช้ในการอธิบายแผนงานธุรกิจเพลงลูกทุ่ง


          เพลงลูกทุ่งหมอลำ ถูกจัดให้อยู่ในหมวดหมู่ตลาดล่าง ซึ่งเป็นตลาดกว้างใหญ่ไพศาล มีผู้คนทุกชั้นชนในขอบเขตทั่วประเทศให้ความนิยมชมชอบ


          เฉพาะลูกทุ่งหมอลำ ยังแยกย่อยออกไปเป็นตลาดล่างเกรดเอ กับตลาดล่างเกรดบี เกรดซี หรือที่เรียกว่า “ตลาดเหล้าขาว” 

 

 

"ตลาดล่าง" แล้วไงจากเพลงตลาดถึงรถแห่เอาไม่อยู่กระแส "ไทบ้าน"

 


          เปรียบเช่นทุกวันนี้ เพลงอินดี้อีสาน หรือลูกทุ่งอีสานในสีสันใหม่ คำร้องและดนตรียุคดิจิทัล ก็จัดอยู่ในหมวดหมู่ตลาดล่าง


          สองสามปีมานี้ ค่ายเพลงเล็กๆ เกิดขึ้นมามากมายในตลาดล่าง และ “รถแห่ดนตรีสด” ก็คือมโหรีเคลื่อนที่ได้รับความนิยมอย่างสูงในตลาดล่างเช่นกัน


          กรณีงานบวชตลาดล่าง ขอภาวนาอย่าให้เลยเถิดถึงขั้นขอให้ “ลุงตู่” ใช้ ม.44 “ห้ามจัดมหรสพ และงานรื่นเริง” ในงานบวช  มิเช่นนั้น จะต้องมีคนตกงานมากมาย


          สงสารพวกนักร้อง นักดนตรีจะต้องทิ้งรถแห่ไปขึ้นเวทีลำซิ่งอย่างเดียว รายได้หดหายไปเยอะ

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ