บันเทิง

โขกราคา "ลิขสิทธิ์เพลง"ค่าย "นายทุนน้อย" ปล่อยฟรี

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์...  คมเคียวคมปากกา  โดย... บรรณวัชร 


 


          นักแต่งเพลงที่เซ็นสัญญา “ขายขาด” ให้เจ้าของค่ายเพลงเมื่อ 20-30 ปีที่แล้ว หลายคนคงไม่คิดหรอกว่า “ลิขสิทธิ์เพลง” จะกลายเป็น “แหล่งรายได้” สำคัญของค่ายเพลงใหญ่ๆ  

 

 

          ยุคดิจิทัลออนไลน์ใน พ.ศ.นี้ รายการประกวดร้องเพลงทางหน้าจอทีวี มีมากมาย รวมถึงการระบาดของวัฒนธรรมคัฟเวอร์เพลงผ่านช่องทางยูทูบ จึงทำให้ “เจ้าของลิขสิทธิ์เพลง” มีรายได้มาจากการเช่าลิขสิทธิ์เพลงไปทำซ้ำในรูปแบบต่างๆ


          ว่ากันว่า อัตราค่าเช่าเพลง เฉลี่ยเพลงละ 2-3 หมื่นบาท แต่บางเพลงมีราคาสูงลิ่ว เพลงละแสนบาทก็เคยมีมาแล้ว

 

 

โขกราคา "ลิขสิทธิ์เพลง"ค่าย "นายทุนน้อย" ปล่อยฟรี

นายห้างจ้วดจ้าด และกระต่าย

 


          ทุกวันนี้ ค่ายเวิร์คพอยท์ ที่มีรายการประกวดร้องเพลงมากกว่าช่องอื่น ใช้วิธีจ่ายค่าลิขสิทธิ์เป็นรายปี อย่างจ่ายให้ค่ายแกรมมี่ปีละล้านกว่าบาท แล้วทางช่องเวิร์คพอยท์ สามารถเลือกช็อปเพลงได้ตามสบาย


          ฉะนั้น กรณีนักร้องที่มาออกรายการ ประสงค์จะร้องเพลงไหน ทางเวิร์คพอยท์ก็ต้องเช็กราคาลิขสิทธิ์ก่อน ถ้าเพลงนั้นแพงเกิินไป(กรณีไม่ได้จ่ายค่าลิขสิทธิ์แบบเหมารายปี) ก็ขอให้ผู้เข้าประกวดหรือนักร้องคนนั้น เลือกเพลงใหม่

 

 

 

โขกราคา "ลิขสิทธิ์เพลง"ค่าย "นายทุนน้อย" ปล่อยฟรี

นายห้างบ้านนอก กับบักจีเหลิน

 


          เพลงลูกทุ่ง จะมีปัญหามากที่สุด เพราะมีนายทุนบางราย เรียกค่าลิขสิทธิ์เพลงโหดมาก เฉพาะเพลงดังในอดีต เพลงละ 4-5 หมื่นบาท รวมถึงเพลงป็อป เพลงร็อกไทยๆ ของบางค่าย เรียกราคาสูงลิ่ว จึงมีข่าวว่า รายการเพลงดังๆ หันมาใช้เพลงสากลร้องประกวดมากขึ้น

 

          ตรงกันข้าม ค่ายเพลงเล็กๆ ที่เติบโตมาจากกระแสดิจิทัล สร้างงานเพลงรายวัน เหมือนแทงหวย ประกาศไม่จัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ อยากนำไปร้อง คัฟเวอร์ ก็เชิญทำตามสบาย เนื่องจากเจ้าของค่ายเพลงเหล่านี้ เป็นคนรุ่นใหม่ อายุ 20-30 ปี พวกเขาต้องการให้เพลงถูกนำไปเผยแพร่ทุกช่องทาง 


 


          ยิ่งมีคนร้องมากเท่าใด ก็ยิ่งทำให้เพลงดัง ยอดวิวในยูทูบสูงขึ้นเป็นร้อยสองร้อยล้านวิว ย่อมนำมาซึ่งรายได้ เดือนละหลายแสนบาท

 

 

 

โขกราคา "ลิขสิทธิ์เพลง"ค่าย "นายทุนน้อย" ปล่อยฟรี

ธน ธนันธร

 


          นักร้องและนักแต่งเพลงรุ่นเก่า อาจรู้สึกว่า คนงานสร้างเพลงรุ่นหลังๆ โชคดีกว่าพวกเขามากมาย สมัยก่อน “นายทุนค่ายเพลง” ถือไพ่เหนือกว่า เนื่องจากต้นทุนการผลิตเพลง และการเผยแพร่สูงมาก จึงทำให้นักแต่งเพลงยอมเซ็นสัญญา “ขายขาด” เพลงละพันบาท เพลงละห้าพันบาทให้นายทุน


          มีเรื่องเล่าในวงการลูกทุ่ง นักแต่งเพลงชื่อดังต้องจ่ายเงิน 2 ล้านกว่าบาท ไถ่ถอนลิขสิทธิ์เพลงจากห้างแผ่นเสียงแถวสะพานเหล็กกลับมาเป็นของตัวเอง สมัยโน้น นายห้างแผ่นเสียงซื้อเหมาเพลงของเขานับร้อยเพลง จ่ายไม่ถึงแสนบาท กรณีนี้ถือว่า โชคดี ตรงที่นายห้างเลิกราธุรกิจเพลง เลยอยากโละเพลงทิ้ง


          ขณะที่นายห้างแผ่นเสียงบางคน นอนกอดลิขสิทธิ์เพลงไว้แน่น ใครอยากเช่าลิขสิทธิ์เพลงดังไปเผยแพร่ในรูปแบบต่างๆ ก็เรียกราคาสูง แบบว่าไม่ง้อใคร พวกนักร้องรุ่นเก่า ก็สาปแช่งทุกคืนทุกวันให้ “นายทุนหน้าเลือด” ให้ตายวันตายพรุ่ง

 

 

โขกราคา "ลิขสิทธิ์เพลง"ค่าย "นายทุนน้อย" ปล่อยฟรี

ไพบูลย์ แสงเดือน

 


          คนรุ่นหลังโชคดีมหาศาล เมื่อยุคดิจิทัลออนไลน์เปิดทางให้พวกเขาสร้างงานเพลงได้อิสรเสรี และใช้ต้นทุนต่ำมาก 


          ยกตัวอย่าง “ธน ธนันธร” ฝันอยากเป็นนักร้อง แล้ววันหนึ่ง เขาลาออกจากงานประจำในกรุงเทพฯ กลับบ้านเกิด ราษีไศล ศรีสะเกษ ทำห้องบันทึกเสียง “คนอินลำ สตูดิโอ” สร้างเพลง สร้างนักร้อง ผ่านช่องยูทูบ Khon In Lam Official


          เมื่อวันหนึ่ง เพลง “บักจีเหลิน” โด่งดัง ยอดวิวหลายร้อยล้าน หนุ่มราษีไศลก็มีเงินทองใช้เดือนละหลายแสนบาทจากยูทูบ และรายได้ส่วนแบ่งจากขายโชว์


          รวมถึง “ไพบูลย์ แสงเดือน” ครูสอนหนังสืออยู่ที่โรงเรียนสันติวิทยาสรรพ์ อ.ผาขาว จ.เลย ตั้งค่ายเพลง “จ้วดจ้าด Studio” และสร้างนักร้อง “กระต่าย พรรณนิภา” ผ่านช่องยูทูบช่องกระต่าย พรรณนิภา และช่องจ้วดจ้าด ก็มีรายได้เป็นกอบเป็นกำ


          จะว่าไปแล้ว โชควาสนา ไม่ได้มาเพราะโชคช่วย หากแต่ต้องมีฝีมือด้วย 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ