บันเทิง

หน้ามืดตามัว"สู่กันโล้ดสี"แกรมมี่คิดอะไรอยู่?

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์...   คมเคียวคมปากกา  โดย...  บรรณวัชร 

 

 

          แวดวงธุรกิจไปไหนมาไหน ได้ยินคำว่า “ดิจิทัล ดิสรัปชั่น” (Digital Disruption) บ่อยมาก ศัพท์คำนี้แปลว่า การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีดิจิทัล มีผลทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

 


          ค่ายเพลงใหญ่ๆ ต่างเผชิญหน้ากับสิ่งที่เรียกว่า ดิจิทัล ดิสรัปชั่น ทำให้รายได้หดหาย คำว่า แนวเพลง “อินดี้” หรือ “อีสานอินดี้” จึงอุบัติขึ้น พร้อมกับกลุ่มสร้างงานเพลงด้วยนวัตกรรมดิจิทัลใหม่ๆ ถาโถมเข้ายึดตลาดเพลงไปได้กว่า 90%


          จะเรียกอินดี้หรืออีสานอินดี้ คำร้องเพลงกลุ่มนี้ก็คือ “ลูกทุ่งอีสาน” ที่มีการทำดนตรีใหม่ ผสมผสานลีลาการร้องแบบนักร้องสตริง หรือเพลงร็อก

 

          คนรุ่นหลัง อาจไม่ทันได้ศึกษาประวัติศาสตร์เพลงลูกทุ่งอีสาน ย้อนไป 50 ปีที่แล้ว เพลงจากที่ราบสูงอีสาน ไม่มีที่อยู่ที่ยืนในตลาดเพลงลูกทุ่ง สถานีวิทยุกระจายเสียงที่ออกอากาศในระบบเอฟเอ็ม ห้ามเปิดเพลงลูกทุ่งอีสานหรือหมอลำ ยกเว้นในระบบเอเอ็ม


          ครูพงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา และ ครูสุรินทร์ ภาคศิริ ได้พยายามต่อสู้ทุกรูปแบบ เพื่อให้เพลงลูกทุ่งอีสาน ได้รับการยอมรับจากตลาดเพลงลูกทุ่งสมัยโน้น 

 

          คำร้องเพลงที่เป็นภาษาอีสานได้รับการยอมรับกันมากขึ้น และมาบูมสุดๆ ในช่วงที่สลา คุณวุฒิ และสัญญาลักษณ์ ดอนศรี เข้ามาคลุกวงในค่ายเพลงใหญ่

 

          มาถึงวันที่ “ยอดวิว” ในยูทูบคือเทพเจ้า คือเม็ดเงินรายได้ และ “ยอดไลค์” ในเฟซบุ๊กคือ คำตอบว่าใช่ “ยอดแชร์” คือเสียงสนับสนุนจากแฟนเพลง

 

          เราเลยได้เห็นภาษาอีสานที่หยาบโลน ถูกนำมาใช้เป็นชื่อเพลง และคำร้องบางวรรคบางท่อน เพื่อเรียกความสนใจจากคนฟังให้มากดไลค์ กดแชร์ 

 

          ปีที่แล้ว ค่ายอาร์สยาม ปล่อยเพลง “เคียว” ที่อ้างว่าเป็นศิลปินกลุ่มร็อกดาร์กไซด์ “เฟลม” และอ้างว่า เพลงนี้ ทำยอดวิววิ่งฉิว วันละ 1 ล้านวิว 

 

          คนแต่งเพลงก็รู้ คนฟังก็ทราบว่า “เคียว” ในภาษาอีสาน แปลว่า แรด, ร่าน, ดอกทอง ยกตัวอย่างคนคึกคะนองเรียก “คนเคียว”


          วันก่อน “ตั๊กแตน ชลดา” เจ้าแม่ไลฟ์เฟซบุ๊ก ยังพูดว่าคำว่า “-เคียว” ออกมา โดยอ้างว่า หลุด แต่จริงๆ แล้ว เธอตั้งใจให้มันแรง มันมีปฏิกิริยาจากคนฟัง เพื่อยอดไลค์ ยอดแชร์


          ล่าสุด ตั๊กแตน ชลดา ทำเพลงใหม่ออกมาชื่อ “อาสาเจ็บ (สู่กันโล้ดสี)” ก็มาแรงตามคาด เพราะลองเล่นคำแรงๆ “สู่กันโล้ดสี” ขนาดนี้ ไม่โดนก็ไม่รู้จะว่ายังไง? 

 

          สาวตั๊กแตน ภาคภูมิใจในซิงเกิลนี้มาก “ท่ามกลางช่วงเวลาของค่าการตลาด ของทุกแอพพลิเคชั่นมันสูงมาก การที่เราปีนขึ้นมาอันดับ 1 ใน 1 วันและยอดวิวมาแรงขนาดนี้ โดยไม่ใช้การซื้อ adwords เลย มันเป็นเรื่องที่ไม่ใช่ใครก็ทำได้ ถ้าไม่แรงจริง”


          สไตล์ตั๊กแตน เป็นคนพูดตรง จริงใจไม่ไก่กา เธอยอมรับของฟรีไม่มีในโลก ยอดวิวมีราคาที่ต้องจ่าย เมื่อไม่อยากจ่ายการตลาด ก็ต้องเล่นคำแรงๆ 

 

          หากจะอ้างว่า “สู่กันโล้ดสี” ไม่ต่างจากสรรพลี้หวนวรรณกรรมท้องถิ่นทางภาคใต้ หรือเป็นคำพูดที่คนอีสานมักใช้หยอกล้อกัน ก็ถูก ไม่ได้เสียหายอะไร แต่เธอนำมาใช้เป็นชื่อเพลง (แม้จะบอกว่าอยู่ในวงเล็บก็ตามที) เผยแพร่ในสื่อดิจิทัล 


          ถามตรงๆ ถ้าตั๊กแตนใช้ชื่อเพลงอาสาเจ็บ แบบไม่มีคำสร้อย..สู่กันโล้ดสี ในวงเล็บจะโดน ยอดวิวจะวิ่งมั้ย?


          แกรมมี่ไม่ได้เป็นผู้ผลิตงานเพลงนี้ แต่ตั๊กแตนก็คือนักร้องในสังกัดแกรมมี่โกลด์ จะอ้างว่า คุมนักร้องใหม่ เป็นเรื่องส่วนตัว


          ต้องยอมรับกันว่า อิทธิพลของ “ดิจิทัล ดิสรัปชั่น” แกรมมี่จึงมีนโยบายให้นักร้องในสังกัด “ไล่ล่ายอดวิว” ในยูทูบ


          กว่าคำว่า ลูกทุ่งอีสาน จะหยัดยืนอย่างทระนงในแผ่นดินเพลง ใช้เวลากว่าครึ่งชีวิตคน แต่อาการหน้ามืดตามัวชั่ววูบ ก็ทำให้ผู้ใหญ่ค่ายยักษ์ เห็นดอกอุตพิดเป็นดอกบัว

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ