บันเทิง

ทีวีดิจิทัลและกสทช. บนความอยู่รอด?

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ทีวีดิจิทัลและกสทช. บนความอยู่รอด? : คอลัมน์...  มายาประเทศ  โดย... นิตี้ fb/nitylive


 

          สถานการณ์ทีวีดิจิทัลที่รับรู้กันมาตลอดว่ามีแต่ “ทรงกับทรุด” ยิ่งเมื่อวันก่อนมีข่าวลือร้ายที่วิกพระรามสี่ จะปลดคนออกเกือบร้อยคน ทำให้ “ช่อง 3” ออกมาชี้แจงว่าช่วงที่ผ่านมาได้ปรับโครงสร้างองค์กร มีพนักงานจำนวนหนึ่งที่อายุเกินกว่า 60 ปี เปิดทางเลือกโครงการเกษียณอายุ ให้ผลตอบแทนสูงกว่าสิ่งที่กฎหมายแรงงานได้กำหนดไว้ พร้อมทั้งยังมีการมอบประกันสุขภาพดูแลตนเองแม้จะเกษียณอายุไปแล้ว ส่วนข่าวว่ามีการปลดพนักงานกว่า 80 คนไม่เป็นความจริง และปลดพนักงานอายุระหว่าง 40-55 ปีนั้นก็ไม่เป็นความจริง เพราะที่จริงแล้วพนักงานในวัยนี้ถือเป็นกำลังสำคัญ

 

 

          ถือเป็นเรื่องร้อนๆ ในวงการสื่อไทย ซึ่งวันเดียวกันนั้นเอง “กสทช.” ในฐานะหน่วยงานที่เปิดให้ประมูลทีวีดิจิทัลและกำกับดูแล โดย “ฐากร ตัณฑสิทธิ์” เลขาธิการ กสทช. ยอมรับสภาพปัญหาของอุตสาหกรรมทีวีดิจิทัลที่เกิดขึ้นอย่างหนักในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งการประมูลทีวีดิจิทัลเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ประเมินสภาพอุตสาหกรรมในขณะนั้น ไม่ตรงกับสภาพการแข่งขันที่เปลี่ยนแปลง ประกอบกับเกิดเทคโนโลยี ดิสรัปชั่นในอุตสาหกรรมโทรทัศน์ และการใช้งานบริการโซเชียลมีเดีย และการแพร่ภาพกระจายเสียงผ่านโครงข่ายอินเทอร์เน็ต หรือไม่ใช่เครือข่ายกระจายเสียงทำให้ผู้ประกอบการหลายช่องไม่สามารถประกอบธุรกิจอยู่ได้


          จึงมีการเสนอแผนงานปี 2562 หาวิถีแก้ไขปัญหาทีวีดิจิทัลในระยะยาว ประกอบด้วย 1.เร่งรัดปรับปรุงการใช้งานคลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ เพื่อนำไปใช้ประกอบกิจการโทรคมนาคมให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด รวมทั้งเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการปรับปรุงคลื่นความถี่ดังกล่าว ได้แก่ ผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์ในระบบดิจิทัล และผู้ให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัลอย่างเป็นธรรม 2.สนับสนุนการดำเนินการของผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลในส่วนของค่าภาระอันเกิดจากการปฏิบัติตามประกาศ Must Carry จนถึงปี 2565


          3.สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการออกอากาศผ่านโครงข่ายโทรทัศน์ภาคพื้นดินระบบดิจิทัล (MUX) เพื่อสนับสนุนผู้ให้บริการโทรทัศน์ดิจิทัล 50% ของค่าเช่าโครงข่ายจนถึงปี 2565 และ 4.สนับสนุนให้มีการสำรวจความนิยม (เรตติ้ง) ของผู้ให้บริการโทรทัศน์ดิจิทัลที่ออกอากาศผ่านโครงข่ายอินเทอร์เน็ต เพื่อสามารถนำเอาข้อมูลการสำรวจความนิยมรายการดังกล่าวไปใช้อ้างอิงเพื่อหารายได้ได้อย่างเป็นธรรม




          สรุปง่ายๆ คือ เยียวยาด้วยการดึงคลื่น 700 จากทีวีดิจิทัล ออกประมูล 5 จี ปีหน้า นำเงินที่ได้ช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีทุกรูปแบบ ทั้งล้างค่าใบอนุญาตที่เหลืออีกหมื่นล้านบาท และลดค่าเช่าโครงข่าย 50% หลังประกาศแผนดังกล่าว วันรุ่งขึ้นราคาหุ้นในกลุ่มทีวีดิจิทัลขยับขึ้นยกแผง นักวิเคราะห์คาดรับผลบวก “กสทช.” เตรียมออกมาตรการช่วยเหลือทีวีดิจิทัลเต็มรูปแบบ


          สำหรับแนวทางกสทช. นั้น ทางด้านสมาคมทีวีดิจิทัล โดย “สุภาพ คลี่ขจาย” นายกสมาคม ประเมินสาเหตุหลักที่ผู้ประกอบทีวีดิจิทัล ตัดสินใจปลดพนักงานออกเพราะว่าแบกรับต้นทุนทั้งค่าใบอนุญาตทีวีดิจิทัลและค่าโครงข่ายไว้สูงมาก ประกอบกับเกิดการก่อกวนของเทคโนโลยี หรือ ดิสรัปชั่น ทำให้คนดูทีวีน้อยลง จึงเห็นด้วยอย่างยิ่งที่ กสทช. มีมาตรการจะช่วยเหลือกลุ่มทีวีดิจิทัลด้วยการสลับคลื่น นำคลื่นโทรทัศน์ไปเปลี่ยนเป็นคลื่นโทรคมนาคม แล้วนำเงินประมูลมาช่วยเหลือ ไม่ได้เสียหายอะไร เพราะต้องยอมรับว่าเดิมที่ กสทช. วางคลื่นไว้สำหรับทีวีมากถึง 48 ช่อง มีคลื่นที่เว้นไว้สำหรับการทำทีวีชุมชน ทีวีสาธารณะ แต่ที่สุดแล้วผู้ที่เคยแจ้งความจำนงไว้ ไม่ว่าจะหน่วยงาน กรม หรือกระทรวงต่างๆ ว่าจะมาผลิตทีวีสาธารณะ ก็ขอยกเลิกแจ้งความจำนงไป


          “ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลมีอยู่ ก็ได้จ่ายค่าใบอนุญาตไป 70% แล้ว เหลืออีก 30% รวมทั้งค่าโครงข่ายที่จ่ายมาตลอด 5 ปี และยังคงต้องจ่ายต่อไป ทั้ง 2 อย่างนี้ที่ กสทช. นำเงินประมูลคลื่นโทรคมนาคมมาช่วย ก็จะเป็นทางรอดของทีวีดิจิทัล ผู้ประกอบการก็จะได้นำเงินต้นทุนส่วนนี้มาพัฒนาเนื้อหาข่าวและรายการให้ดีกว่าเดิมและไม่ต้องมีการปลดพนักงานอีกต่อไป”


          อย่างไรก็ตามดูเหมือนจะ “ข่าวดี” ปลายปีของ “คนทำทีวี” ต่อลมหายใจเพื่อสู้ “สื่อโซเชียล” ที่แย่งชิงเม็ดเงินโฆษณา อย่าลืมว่าภาระสื่อทีวีในรูปแบบเดิมๆ จะยังเป็นโจทย์ใหญ่ในการรับมือ “รบแบบกองโจร” จากกลุ่มนักผลิตคอนเทนต์ใหม่ๆ ที่ใช้คนน้อยกว่า หลบเลี่ยงหรือไม่สนใจข้อปฏิบัติจากสมาคมสื่อ แต่สามารถผลิตชิ้นงานกระจายไปในช่องทางสื่อออนไลน์จนกอบโกยกำไร อีกทั้งเจ้าของสินค้าแบรนด์ดังๆ ยังเทเม็ดเงินโฆษณาให้ เพราะเห็นว่าเข้าถึงกลุ่มคนตรงเป้าหมาย ซึ่งนี่เป็นโจทย์ที่ต้องฝาก “กสทช.” ให้ช่วยดูและกำกับให้มีบรรทัดฐานเดียวกัน!?
 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ