Lifestyle

มายาคติ : องค์กรท้องถิ่น นิสิตนักศึกษา และชาวบ้าน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

มายาคติ : องค์กรท้องถิ่น นิสิตนักศึกษา และชาวบ้าน : คอลัมน์... มายาประเทศโดย... นิตี้ fb/nitylive


 

          สัปดาห์ก่อนมีโอกาสลงพื้นที่เข้าค่ายเป็นวิทยากรให้นิสิตนิเทศศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส.) เพื่อผลิตสื่อสารคดีโทรทัศน์ ร่วมกับชาวบ้านเมืองหลวง อ.ห้วยทับทัน จ.ศรีสะเกษ ซึ่งมีความคิดความเชื่อว่าจะเห็นการร่วมไม้ร่วมมือสนับสนุนกันขององค์กรท้องถิ่น เพื่อให้นิสิตนักศึกษากับชาวบ้านได้ทำงานร่วมกัน ก่อเกิดประโยชน์ส่วนร่วมให้มากที่สุด

 

 

          แต่ความจริงนั้นอาจต้องคิดใหม่ว่าสิ่งที่เราคิดกับสิ่งที่เราเห็นมันเป็นเพียง “มายาคติ” ที่ถูกสร้างขึ้นให้เชื่อว่าองค์กรท้องถิ่นจะหนุนนำให้เกิดการเรียนรู้และสร้างประโยชน์และคุณค่าให้ชุมชน


          ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับค่ายดังกล่าว ดังนี้ 1.มองความร่วมมือจากโรงเรียนได้รับการตอบรับอย่างดีเยี่ยม 2.ประเมินจากนิสิตชั้นปี 2 ที่ออกค่ายกลุ่มใหญ่ครั้งแรก แม้จะติดขัดหลายอย่าง ทั้งเรื่องช่วงเวลาที่ชาวบ้านกำลังตากข้าว แต่การลงพื้นที่ของเด็กๆ นิสิตได้ฟังเสียงสะท้อน ต่างขอบคุณผู้นำลงพื้นที่ ชาวบ้านให้ความร่วมมือดี ส่วนชิ้นงานของนิสิตทั้ง 15-16 เรื่อง ถือว่าดีในการถ่ายทำและนำเสนอ จับประเด็นได้ เล่าภาษาภาพได้สวยงาม


          และข้อสุดท้ายมองความร่วมมือองค์กรระดับชุมชน อาจยังไม่เล็งเห็นถึงการพัฒนาในเชิงประชาสัมพันธ์กิจกรรมชุมชนเพื่อสร้างภาพลักษณ์และอัตลักษณ์ให้เกิดขึ้นในชุมชน เพื่อประโยชน์แก่ชาวบ้านในชุมชน เหมือนไม่สอดรับต่อเข็มมุ่งระดับจังหวัดและนโยบายรัฐบาล

 

          แปลกอยู่เหมือนกัน ประสานขอความอนุเคราะห์ความกรุณาองค์กรในชุมชนแล้วเหมือนไม่เห็นใจเด็กๆ นิสิตนักศึกษาในการทำกิจกรรมเพื่อชุมชนหรือ? เรื่องง่ายๆ ช่วงเด็กๆ นิสิตเข้าค่าย 3 วัน 3 คืนได้อนุเคราะห์อะไรหรือไม่ ยังไม่พูดถึงการอำนวยความสะดวกในด้านอื่นๆ ที่นิสิตที่มาจากทั่วภาคอีสาน มาลงพื้นที่ใน จ.ศรีสะเกษ จะได้เห็นความร่วมมือในท้องถิ่นแบบไหนกัน




          ไม่แน่ใจว่าพ่อเมืองคนใหม่ วีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ มีแนวคิดแนวนโยบายอะไรบ้างในการพัฒนาและประชาสัมพันธ์จังหวัดให้เป็นที่รู้จักในระดับประเทศและนานาชาติ โดยเฉพาะการที่ชุมชนบ้านเมืองหลวง มีภูมิปัญญาการผลิตผ้าไหมย้อมมะเกลือ


          สงสัยแนวคิดดีๆ จากท่าน ธวัช สุระบาล ผู้ว่าฯ ศรีสะเกษ คนก่อนหน้านี้ ถูกพัฒนาต่อหรือทิ้งขว้างหรืออย่างไร


          แม้กระทั่งแนวนโยบายท่านอธิบดี สุทธิพงษ์ จุลเจริญ กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ท่านฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย และภายใต้การนำของ “บิ๊กป๊อก” พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จะขับเคลื่อนอย่างไร หากหน่วยงานรัฐยังมองไม่เห็นการร่วมไม้ร่วมมือระหว่างนิสิตนักศึกษากับชาวบ้านในชุมชนที่จะเข้าไปสนับสนุนแบบไหนอย่างไร


          ถ้าคนทำงานเป็น! ไม่ต้องมีใครไปบอก ไม่มีใครไปแนะนำ เพราะเขารู้ว่าชาวบ้านนั้นได้ประโยชน์แน่ๆ ที่กลุ่มนิสิตนักศึกษา 160 คน มาจากต่างบ้านต่างเมือง มาทำภาพยนตร์สารคดี 15-16 เรื่องเพื่อเผยแพร่ความเป็น “ชาวบ้านเมืองหลวง” ชุมชนโบราณให้ปรากฏสู่สายตาชาวโลก


          ขณะที่คนรุ่นใหม่ “ปอม” อานนท์ อินทร์สงเคราะห์ นิสิตสาขานิเทศศาสตร์ ชั้นปีที่ 2 คณะวิทยาการสารสนเทศ มมส. มองว่าในการออกค่ายครั้งนี้เป็นการเรียนรู้นอกห้องเรียนที่ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ได้ลองทำในสิ่งที่ยังไม่เคยได้ทำซึ่งมันคือประสบการณ์ที่ดีมากๆ ชาวบ้านเมืองหลวงน่ารักและต้อนรับกันเป็นอย่างดี ถึงแม้การทำงานของเราจะติดขัดหรือมีปัญหาเข้ามาแทรกเล็กน้อย แต่ชาวบ้านก็มีน้ำใจช่วยเหลือเกือบทุกอย่าง ทำให้ตัวเราเองรู้สึกประทับใจ นับเป็นเรื่องราวดีๆ ที่น่าจดจำสำหรับการออกค่ายในครั้งนี้ และการทำงานเป็นกลุ่ม ได้สัมผัสประสบการณ์ใหม่ๆ เพราะซัพพอร์ตกันและกัน เลยทำให้การทำงานกับเพื่อนร่วมกลุ่มที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อนเป็นไปอย่างราบรื่นและสนิทกันเร็วขึ้น ซึ่งไม่คิดเลยว่าเพื่อนในกลุ่มแต่ละคนจะให้ความสำคัญต่องานที่ทำได้อย่างเต็มที่


          เหตุนี้เอง เห็นด้วยไหมว่าเมื่อ “นิสิตนักศึกษา” กับ “ชาวบ้าน” ร่วมไม้ร่วมมือกันผลิตสื่อเพื่อชุมชนขนาดนี้ ถ้า “องค์กรท้องถิ่น” สนับสนุนดีๆ คงได้ทั้งคำชมและผลงาน คงไม่ถูกตั้งคำถามถึงบทบาทหน้าที่ช่วยสนับสนุนให้เกิดอะไรดีๆ ในชุมชนบ้างหรือไม่?

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ