Lifestyle

"รำวงเร็กเก้" Creative Thinking "มงคล อุทก" (ตอนที่ 3)

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"รำวงเร็กเก้" Creative Thinking "มงคล อุทก" (ตอนที่ 3) : คอลัมน์...  เซาะร่องเสียง  โดย... นกป่า อุษาคเณย์


 

          “รำวง” มีรากฐานมาจาก “รำโทน” ราวปลายทศวรรษที่ 2480 (ช่วง ค.ศ.1940)


          “รำโทน” มีหลายสาย ที่โด่งดังมากมี “สายโคราช” และ “สายลพบุรี”


          ถ้าหากเราจับจังหวะ “รำโทน” ให้ดี จะพบว่า ลักษณะการตีรำมะนาของ “รำโทน” มีสัดส่วนเดียวกัน “เบส” และ “กลอง” ของ “เร็กเก้” คือการตีจังหวะ 1 และ 3

 

 

          “เร็กเก้” คือดนตรีของชาวจาเมกา เกิดขึ้นในช่วงทศวรรษ 1960 (ราว พ.ศ.2500)


          ถ้าดูจากห้วงเวลา จะเห็นว่า “รำวง” เกิดขึ้นก่อน “เร็กเก้” เกือบ 20 ปี


          แม้ “เร็กเก้” จะมีความเป็นสากลมากกว่า “รำวง” ทว่า สำหรับบ้านเรา “รำวง” มีระดับชั้นถึงขั้นวัฒนธรรมเช่นเดียวกับ “เร็กเก้”


          "ราชาเร็กเก้” หรือ “เร็กเก้ตัวพ่อ” แน่นอนว่า ทั่วทั้งโลกล้วนยกย่อง “บ๊อบ มาร์เลย์”


          "เร็กเก้” ทั้งของ “บ๊อบ มาร์เลย์” และของศิลปินจาเมกา เป็น “เร็กเก้” ที่สร้างสรรค์ขึ้นสำหรับเป็นเสียงเพลงแห่งการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม


          “เร็กเก้” ของ “มงคล อุทก” ก็เช่นกัน


          ความเป็น “ฅาราวาน” ของ “มงคล อุทก” คือสัญลักษณ์ของศิลปินในขบวนการต่อสู้ของนักศึกษาประชาชนยุค “14 ตุลา 2516” เช่นเดียวกับ “เร็กเก้” ของ “บ๊อบ มาร์เลย์”


          ด้วยประสบการณ์ที่ “มงคล อุทก” ได้ศึกษาดนตรีเร็กเก้อย่างลงลึกด้วยความชอบส่วนตัวมาตั้งแต่ก่อนจะเข้ารวมวงกับ “บังคลาเทศ แบนด์” และเป็น “ฅาราวาน” ผนวกด้วยการเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย เป็นศิลปินเพลงในเขตป่าเขา

 

          ตลอดเส้นทางเกือบ 6 ปี “มงคล อุทก” ได้เห็นฉากและชีวิตชาวบ้าน-ทหารป่า


          โดยเขาได้นำความรู้และประสบการณ์ทางดนตรีในห้วงเวลานั้นมาสร้างสรรค์เป็นบทเพลงใหม่ๆ มากมาย ทั้งในนาม “ฅาราวาน” และอัลบั้มเดี่ยว


          โดยเฉพาะผลงานเพลง “7 สิงหาจงเจริญ” ถือเป็นผลงานระดับมาสเตอร์พีซเพลงหนึ่งของ “มงคล อุทก”



          “มงคล อุทก” ที่ได้สร้างสรรค์บทเพลงรำวงขึ้นมาชุดหนึ่งซึ่งต่อมาภายหลังเขาได้นำมาเรียบเรียงดนตรีใหม่ให้เป็น “รำวงเร็กเก้”


          นั่นคือ ผลงานเพลงชุด “รำวงเพลงป่า กินตั๊บกินตั๊บ กินพุง กินตับ” ของ “มงคล อุทก” เป็นผลงานที่น่าศึกษา ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของประวัติศาสตร์เพลงป่า ทฤษฎีดนตรี โดยเฉพาะกลวิธีการประยุกต์ “เร็กเก้” เข้ากับ “รำวง”


          แน่นอนว่า ชื่ออัลบั้ม “รำวงเพลงป่า กินตั๊บกินตั๊บ กินพุง กินตับ” สื่อถึงการบรรจุเพลง “รำวง” เอาไว้ทั้งชุด ดังนั้น เมื่อเป็น “รำวง” จังหวะ “เร็กเก้” ของอัลบั้มนี้ จึงเป็น “เร็กเก้” ในความเร็วระดับกลาง


          ซึ่งหากไม่มีการแบ่ง Track ตามข้อจำกัดของกระบวนการบันทึกเสียง และการผลิต CD แล้ว สามารถนำทุกเพลงมาเรียงร้อยต่อกันเป็นเมดเลย์ได้ด้วยความต่อเนื่องของจังหวะทั้งไลน์กีตาร์และเพอร์คัสชั่น


          ในตอนหน้า เราจะกลับมาว่ากันแบบ “เพลงต่อเพลง” ครับ

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ