บันเทิง

หายไปร่วม 4 รัชกาล ‘หุ่นหลวง’ แสดงครั้งแรกรอบ 150 ปี (คลิป)

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

การแสดงละคร “หุ่นหลวง หุ่นกระบอก”  ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

 

        ในการจัดแสดงมหรสพสมโภชเนื่องในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีความพิเศษอีกหนึ่งสิ่ง คือการที่กรมศิลปากรได้นำการแสดงหุ่นหลวงที่สูญหายไปนาน กลับมาจัดแสดงควบคู่กับหุ่นกระบอก โดยการแสดงละคร “หุ่นหลวง หุ่นกระบอก” จะแสดง ณ เวทีที่ 2 ด้านทิศเหนือของท้องสนามหลวง ซึ่งการแสดงละครหุ่นหลวง จะแสดงในตอนหนุมานเข้าห้องนางวานรินทร์ ส่วนการแสดงหุ่นกระบอก จะแสดงเรื่องพระอภัยมณี ตอนสุดสาครจับม้ามังกร รวมการแสดง 2 ชุดใช้ระยะเวลา 1 ชั่วโมง ซึ่งหุ่นหลวงใช้เวลา 20 นาที หุ่นกระบอก ใช้เวลา 40 นาที
        การแสดงหุ่นหลวง เป็นมหรสพหลวงที่มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ก่อนจะสูญไปเมื่อสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เนื่องจากติดขัดเรื่ององค์ประกอบต่างๆ โดยเมื่อปี 2559 กรมศิลปากรมีการจัดสร้างหุ่นหลวง 3 ตัว คือ ตัวหนุมาน ตัวมานพ และตัวนาง ออกมาเสร็จสมบูรณ์ เลยนำมาจัดเป็นชุดการแสดงในพระราชพิธีครั้งนี้ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ไม่ได้มีความตั้งใจว่าการกลับมาแสดงของหุ่นหลวงจะมาใช้ในโอกาสนี้โดย ไพโรจน์ ทองคำสุข นาฏศิลปินอาวุโส ผู้ชำนาญการหุ่นหลวงและเป็นผู้เชิดหุ่นหลวงตัวพระ ได้เล่าว่า "หุ่นหลวงถือว่าเป็นศิลปวัฒนธรรมของชาติไทย ที่มีมาตั้งแต่กรุงศรีอยุธยา จนถึงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นศิลปะด้านการแสดงที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของประเทศไทยเลย เพราะเป็นหนึ่งเดียวในโลกที่เราทำ มีการประดิษฐ์โดยครูบาอาจารย์ให้มีสายใยถึง 20 เส้น แต่ละเส้นจะควบคุมอวัยวะส่วนต่างๆ ของร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นนิ้วมือหรือข้อต่อต่างๆ ของร่างกายทั้งหมดให้เคลื่อนไหวได้ตามกิริยาท่าทางของมนุษย์ โดยเป็นไปตามจารีตของนาฏศิลป์ที่จะเป็นไปตามกระบวนท่ารำ ตัวหุ่นตัวนี้เลยเป็นสิ่งที่อัศจรรย์ที่สุดที่ครูบาอาจารย์แต่โบราณท่านรังสรรค์ขึ้นมา ซึ่งเป็นสมบัติที่ประเทศไทยควรร่วมกันอนุรักษ์

 

หายไปร่วม 4 รัชกาล ‘หุ่นหลวง’ แสดงครั้งแรกรอบ 150 ปี (คลิป)

หายไปร่วม 4 รัชกาล ‘หุ่นหลวง’ แสดงครั้งแรกรอบ 150 ปี (คลิป)

"หุ่นหลวง"


        การแสดงในครั้งนี้ถือว่าเป็นครั้งประวัติศาสตร์ เพราะว่าตัวหุ่นหลวงไม่ได้จัดการแสดงมา 150 กว่าปีแล้ว ตั้งแต่สมัยปลายรัชกาลที่ 5 ที่ไม่มีการจัดการแสดงเลย เรารู้เรื่องของหุ่นหลวงมาจากที่ตัวหุ่นถูกเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร โดยกรมศิลปากรได้มีการจัดสร้างหุ่นไว้ 4 ตัวด้วยกันตามต้นแบบที่มีอยู่เดิมในพิพิธภัณฑ์ คือ หุ่นพระ, นาง, ยักษ์ และลิง แต่ตอนนี้หุ่นยักษ์ยังไม่เสร็จ เพราะหุ่นแต่ละตัวใช้คนสร้าง 20-30 คน" ไพโรจน์เผย
        ถามถึงความรู้สึกที่เป็นคนหนึ่งที่ได้ถวายงานครั้งสำคัญ รู้สึกอย่างไร ไพโรจน์กล่าวว่า “ในตอนที่จัดสร้างหุ่นหลวงเพื่อการอนุรักษ์ เมื่อต้นปี 2559 นั้น ไม่ได้คิดเลยว่าจะได้มีโอกาสมาแสดงในงานพระราชพิธีที่ไม่อยากให้เกิดขึ้นสำหรับคนไทยทุกคน แต่เราก็รู้สึกว่าเราได้สนองพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่มีพระราชประสงค์ให้สืบสานศิลปวัฒนธรรมไทย เพราะพระองค์ท่านทรงสนับสนุนศิลปวัฒนธรรมไทยกับกรมศิลปากรมาโดยตลอด ทำให้กรมศิลปากรน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ เรื่องที่เราทำจึงเป็นเพียงเล็กน้อย แต่ความประทับใจที่ศิลปินแต่ละท่านเต็มเปี่ยมและเต็มใจ ทุกคนมุ่งมั่นที่จะแสดงหุ่นหลวงให้เป็นที่ประจักษ์ต่อชาวโลก ให้รู้ว่าเรามีศิลปวัฒนธรรมที่อยู่ภายใต้พระบรมโพธิสมภารของพระองค์ท่าน จึงอยากเชิญชวนประชาชน โดยเฉพาะเยาวชน น้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระองค์ท่านทรงพระบรมราชูปถัมภ์เรื่องของศิลปวัฒนธรรมของชาติ เพราะหุ่นหลวงถือเป็นศิลปวัฒนธรรมของชาติที่ประชาชนชาวไทย รวมถึงเยาวชนควรร่วมกันอนุรักษ์ เพราะเป็นหนึ่งเดียวในโลก และเป็นหุ่นที่มีจิตวิญญาณคนไทยที่คนไทยควรที่จะระลึกถึง อยากให้คนได้มาดูหุ่นหลวงไปพร้อมๆ กับพวกเรา” ไพโรจน์กล่าวปิดท้าย 

 

หายไปร่วม 4 รัชกาล ‘หุ่นหลวง’ แสดงครั้งแรกรอบ 150 ปี (คลิป)

หายไปร่วม 4 รัชกาล ‘หุ่นหลวง’ แสดงครั้งแรกรอบ 150 ปี (คลิป)

หุ่นกระบอก

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ