บันเทิง

เป็นคุ้งเป็นแคว อาทิตย์ 30 ก.ค. 60

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เรื่องเศร้างานศพคนบันเทิง


โดย เคน สองแคว

    คิดอยู่นานว่า ควรจะเขียนเรื่องนี้หรือไม่ เพราะที่ผ่านมามีงานการสูญเสียของคนในวงการบันเทิงมากมายต่อเนื่องกัน เกรงว่าจะไปกระทบความรู้สึกของใครเข้าบ้าง แต่ล่าสุด ได้เจอกับตัวเองแบบเผชิญหน้า จึงต้องขอนำมาเขียนเตือนสติกันบ้าง
    ก่อนหน้านี้ เอ็ม บุษราคัม วงษ์คําเหลา  บุตรสาวของ หม่ำ จ๊กมก ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมา ระหว่างงานศพของ เทียมใจ วงษ์คำเหลา ผู้เป็นอาว่า
    “ไม่เข้าใจว่า การมาไลฟ์ในงานศพนี่ เพื่ออะไร?? (นักข่าวนี่เข้าใจว่าทำงาน แต่คนธรรมดานี่ทำเพื่ออะไร??) ไหนจะแชร์ภาพศพ .... มันได้ประโยชน์อะไร? ญาติพี่น้องเค้ายืนร้องไห้ตาแดง ก็มาขอถ่ายรูปด้วย คืออะไร? มันใช่เวลาไหม? จริยธรรม ศีลธรรมและจิตสำนึกอยู่ตรงไหน?” ซึ่งคงจะทำให้บางคนในวงการบันเทิงได้รู้สึกกันบ้าง แต่หลังจากงานนั้นก็ยังมีคนจำนวนหนึ่งที่ยังประพฤติตัวเช่นนี้อยู่ในงานต่อๆ มา
    การระบาดของสังคมโซเชียลก่อให้เกิดพฤติกรรมแย่ๆ ในสังคมมากมาย ไม่เว้นงานศพ งานโศกเศร้าที่คนไปร่วมงานควรเรียนรู้เรื่องมารยาทในการเข้าร่วมงาน สมัยก่อนที่ยังไม่มีเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม คนที่ไม่เกี่ยวข้องกับงานศพ ไปมุงดูดารา บางทีมีแอบกรี๊ด ฮือฮาก็ยังถูกตำหนิด้วยสายตา แต่เดี๋ยวนี้ยิ่งหนักข้อไปกันใหญ่ทั้งคนในและนอกวงการ
    หลายคนที่ตั้งใจไปงานศพคนดังหรือญาติคนดัง เพื่อไปถ่ายรูปคู่กับเจ้าภาพ หรือแขกที่มาร่วมงาน รบกวนเจ้าภาพและญาติ เพื่อโชว์ว่า ได้มางานคนดังแล้วนะ บางกลุ่มก็เฮฮาถ่ายภาพหมู่กันจนเกินงาม ไม่เกรงใจเจ้าภาพ ไม่คิดว่า ภาพที่ออกมาว่า มันมีความเหมาะสมแค่ไหน
    ก่อนหน้านี้ ผมได้เคยตำหนิในเฟซบุ๊กของบางคนในวงการลูกทุ่งไปว่า ภาพจากงานศพที่จะมาลงเผยแพร่ ควรเลือกหรือใช้สติกลั่นกรองภาพที่จะมาเผยแพร่สักหน่อยก็คงจะดี เพราะหลายเฟซ มีภาพคนที่ไปนั่งยิ้มหน้าแท่นเคารพศพ หรือถ่ายเซลฟี่หน้าตายิ้มแย้มในงาน ราวกับไปงานปาร์ตี้ แต่ก็เข้าใจดีว่า เป็นสิทธิ์ส่วนตัว จึงเลือกเตือนเฉพาะผู้ที่พอจะเตือนได้เท่านั้น
    ล่าสุดหมาดๆ ผมได้ไปร่วมงานศพ พ่อของนักร้องผู้มีชื่อเสียงคนหนึ่ง ซึ่งนักร้องเจ้าภาพอยู่ในอาการโศกเศร้ามาก ไม่สามารถข่มตานอนหลับและหน้าตาก็ดูอิดโรยอย่างเห็นได้ชัด หลังจากแขกกลับไปหมดแล้ว เวลาค่อนข้างดึก จึงมานั่งรับประทานอาหารกัน เพราะเจ้าภาพยุ่งกับงานแทบไม่มีอะไรตกถึงท้อง
    สักพักมีแฟนเพลงหนุ่มคนหนึ่งดิ่งเข้ามาที่งาน เราและเจ้าภาพจึงเชิญให้เข้ามาร่วมวงกันบนโต๊ะเดียวกัน ตักข้าว เตรียมน้ำไปเสิร์ฟ แต่แขกคนดังกล่าวก็ไม่แตะต้องน้ำและอาหารเลย กลับเปิดการสนทนาจีบปากจีบคอด้วยการถามถึง ญาติหนุ่มๆ ของนักร้องที่ไม่ได้อยู่ในงาน ตามด้วยการถามคาดคั้นว่า จำได้หรือเปล่า? ที่เคยเจอกันหลายปีดีดัก ตามด้วยการสัมภาษณ์ย้อนอดีตว่า เปิดวงดนตรีตอนปีไหน? ฯลฯ ซึ่งไม่ใช่เวลาที่จะมาย้อนรำลึกกัน นักร้องน้อยคนจะจำได้แม่นยำและอยู่ในระหว่างรับประทานอาหารจะต้องมาหยุดคิดหาคำตอบเพื่ออะไร
    จากนั้นแขกคนดังกล่าวขอตัวไปไหว้หน้ารูป ซึ่งก็ทำให้เจ้าภาพรู้สึกดีที่เขามีความตั้งใจที่จะมาเคารพผู้วายชนม์ ก็ไม่ว่ากัน แต่แล้ว ฝันร้ายก็โหมเข้ามา เมื่อแขกคนนั้นย้อนกลับมาขอถ่ายรูปคู่ด้วย ซึ่งนักร้องเจ้าภาพก็เต็มใจให้ถ่ายแต่โดยดี แถมยังใช้ให้คนร่วมโต๊ะช่วยเป็นตากล้องให้ซึ่งก็ยอมทำให้ทุกอย่าง เป็นคนของประชาชน เรื่องแบบนี้ ไม่ใช่เรื่องลำบากใจอะไร
    แต่มากกว่านั้นคือ แขกดังกล่าวพูดในเชิงตำหนิว่า นักร้องเจ้าภาพน่าจะแต่งตัวดีๆ นะ ถ่ายรูปจะได้ออกมาสวยๆ ทั้งๆ ที่เวลานั้น เขาเสร็จจากงานแล้ว เจ้าภาพได้เปลี่ยนเป็นชุดธรรมดาๆ อยู่บ้านกับครอบครัว ญาติมิตร แต่คณะเจ้าภาพก็อดทนและส่งคนเดินไปส่งแขกกลับบ้านอย่างเต็มใจ (และโล่งใจ) ไม่ได้ปล่อยทิ้งโดยไม่สนใจ
    มารยาทของการไปงานศพง่ายๆ คือ แต่งตัวให้เหมาะสม กล่าวแสดงความเสียใจกับเจ้าภาพสั้นๆ ไม่ต้องถามหรือรื้อฟื้นอาการเจ็บป่วยให้วุ่นวาย ยกเว้นเจ้าภาพอยากเล่าระบายเอง ในกรณีที่ไม่ใช่สื่อมวลชนไม่ควรเดินเพ่นพ่านถ่ายรูปแขกหรือถ่ายคู่พวงหรีดคนดังในงาน และไม่ควรถ่ายทอดสดบรรยากาศของงาน และอย่ารีบขอถ่ายเซลฟี่กับเจ้าภาพหรือแขกในงาน เพราะในท้ายที่สุดจะมีการถ่ายรูปหมู่ร่วมกับเจ้าภาพอยู่แล้ว และเมื่อมีโอกาสถ่ายภาพ อย่าวุ่นวายฝากถ่ายกล้องเดี่ยวจนเกินไปนัก เพราะสมัยนี้รูปเดียวก็สามารถแชร์กันได้ทั้งโลก
    บางคนอาจจะมองว่า เรื่องที่เขียน มันดูจุกจิก ไร้สาระ คิดมากกันไปเอง แต่เหตุการณ์แบบนี้ ถ้าเกิดขึ้นกับครอบครัวของคุณเอง เชื่อว่า ก็คงจะมีความรู้สึกแบบนี้เช่นเดียวกัน

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ