บันเทิง

เอกเขนกดูหนัง:'แผลเก่า'

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

'แผลเก่า' : คอลัมน์ เอกเขนกดูหนัง โดย... ณัฐพงษ์ โอฆะพนม

 
          ความน่าสนใจในงานยุคหลังของ "หม่อมน้อย" ม.ล.พันธุ์เทวนพ เทวกุล นับแต่ ชั่วฟ้าดินสลาย, จันดารา ปฐมบท-ปัจฉิมบท จนมาถึงแผลเก่า คือการตีความบทประพันธ์ใหม่ แทรกบริบททางการเมือง และวิพากษ์ชนชั้นปกครอง แต่ขณะเดียวกัน เนื้อหาที่มีการแต่งเติมเข้าไปใหม่ กลับดูประดักประเดิด เลื่อนลอย บางเบาในแง่ตรรกะของเหตุและผล ส่วนงานสร้างนั้น ช่างแสนวิจิตร งามตา หรูหรา มลังเมลือง และการแสดงที่ขับเน้นอย่างเกินจริง ละม้ายกับว่านักแสดงแต่ละคน พยายามสื่อสารบทบาทของตนจากบนเวทีไปสู่ผู้ชม ที่นั่งอยู่โรงละครก็ไม่ปาน
 
          การเมืองยุคหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ถูกนำมาใช้เป็นฉากหลังในหนังของหม่อมน้อยเรื่อยมานับแต่ชั่วฟ้าดินสลาย อาจมีความเกี่ยวข้อง หรือพาดพิงโดยนัยกับเนื้อหาเรื่องราวในหนังอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ได้แตะต้อง แก่นแกนหลักของนวนิยายต้นฉบับ เพื่อสนองมุมมองและการตีความของตนมากนัก หากแต่เป็นการขับเน้นสภาวะการกระทำของตัวละคร ที่มีความคิดและตัดสินใจกระทำการบางอย่างในช่วงเวลานั้นๆ มากกว่า (ซึ่งเห็นได้ชัดใน ชั่วฟ้าดินสลาย และ จันดารา ปฐมบท)
 
          แต่สำหรับ “แผลเก่า” แล้ว สายตาที่มีต่อชนชั้นปกครองของหม่อมน้อยในยุคหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ไม่เพียงถูกนำมาใช้เป็นจุดหักเหสำคัญในหนังที่กระทบแก่นแกนโดยตรงต่อนวนิยายต้นฉบับซึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อนเท่านั้น หากแต่ยังเป็นมุมมองแห่งการวิพากษ์ เสียดเย้ย กลุ่มอำนาจของยุคสมัย ที่ไม่เพียงลุกขึ้นมาปฏิวัติแบบแผนการปกครองแผ่นดิน หากแต่ยังพยายามเปลี่ยนความคิด วิถีชีวิตของผู้คน ที่สุดท้ายแล้วชนชั้นนำเหล่านั้นในสายตาหม่อมน้อยล้วนแพ้พ่าย และนำมาซึ่งโศกนาฏกรรมให้แก่ผู้คนชนชั้นใต้ปกครองในที่สุด
 
          จุดเปลี่ยนของแผลเก่าที่หม่อมน้อยเลือกที่จะตีความ ด้วยมุมมองที่เกี่ยวข้องกับการเมืองการปกครอง และการวิพากษ์ชนชั้นผู้นำ เกิดขึ้นในช่วงที่เรียม (รับบทโดย ดาวิกา โฮร์เน่) ถูกนำตัวไปบางกอก หลังกำนันเรือง (รับบทโดย ศักราช ฤกษ์ธำรงค์) ขายลูกสาวให้แก่ คุณนายทองคำเปลว (รับบทโดย สินจัย เปล่งพานิช) เรียมพบชีวิตใหม่ โดยการอุ้มชูดูแลประดุจลูกในไส้ของคุณนายทองคำเปลว (หม่อมน้อย เติมคำว่า ‘เปลว’ ต่อท้ายชื่อคุณนายทองคำจากวรรณกรรมต้นฉบับ และหนังเวอร์ชั่นคุณเชิด ทรงศรี พร้อมสร้างบุคลิกให้เป็นสาวสังคมไฮโซ ทันสมัย ทันโลก) การพาเรียมเข้าสังคมหลังจบการศึกษาจากต่างประเทศ คือการไปร่วมงานเลี้ยงคณะรัฐบาล ที่มีจอมพลแปลก พิบูลสงคราม เป็น นายกรัฐมนตรี (รับบทโดย อาร์ เดอะ สตาร์) แม้ตัวหนังจะไม่ได้บอกตรงๆ ว่า คนที่คุณนายทองคำเปลวเดินเข้าไปโอภาปราศรัยด้วยเปิดโอกาสให้เรียมอยู่กันสองต่อสองกับสมชาย นักการเมืองหนุ่มที่คุณนายหมั้นหมายนั้น คือจอมพล ป. แต่ยุคสมัยปีพุทธศักราชที่ระบุในหนัง รวมถึงนโยบายมาลานำไทย ที่ขับขานผ่านเพลงเต้นรำของนักร้องสาวในงานเลี้ยง ก็ถือเป็นการบ่งบอกอย่างชัดแจ้ง 
 
          เช่นเดียวกัน หม่อมน้อยมักแทรกเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ลงไปในหนัง โดยอาจจะมีความหมายสองนัยด้วยกัน ในจันดารา ในฉากที่ตัวละครจันและเคน ช่วยกันออกตามหาไฮซินธ์ ทั้งคู่พบเจอคณะทหารผู้ก่อการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองพ.ศ. 2475 ที่หน้าพระที่นั่งที่อนันตสมาคม ในชั่วฟ้าดินสลายเอง ฉากงานเลี้ยงที่ยุพดีพบกับพะโป้ครั้งแรก เธอบ่นในทำนองว่าคงจะดีหากออกไปใช้ชีวิตต่างจังหวัดเพราะเหตุการณ์ในพระนครไม่ค่อยสงบหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง จนมาถึงแผลเก่า ฉากที่ขวัญ เข้ามาตามหาเรียมในพระนครในกรุงเทพฯ แล้วเจอกับขบวนประท้วงเรียกร้องดินแดนฝั่งอินโดจีนคืนจากฝรั่งเศสของนักศึกษา เหตุการณ์ประวัติศาสตร์เหล่านี้ นัยแรก หม่อมน้อยใส่เข้ามาในฐานะบริบทของสังคมไทยในช่วงเวลาหนึ่ง ซึ่งอาจใช้เพื่อขยายความหรือเน้นย้ำให้เห็นถึงเหตุการณ์บ้านการเมืองอันเป็นฉากหลังของหนังในช่วงนั้นๆ นัยที่สอง เพื่อสื่อถึงความเปลี่ยนแปลงของชีวิตและสังคม ณ ช่วงเวลาหนึ่ง ซึ่งอาจเปรียบได้กับภาพสะท้อนซึ่งกันและกัน ตั้งแต่ระดับจุลภาค ที่ว่าด้วยคนตัวเล็กๆ เช่น ขวัญ กับเรียม, ยุพดี พะโป้, จันและเคนไปจนถึงมหภาค อันหมายถึงสังคมไทย ในระดับโครงสร้างการเมือง การปกครอง
 
          การใช้นัยทางการเมือง ด้วยการวิพากษ์ชนชั้นนำของหม่อมน้อยในแผลเก่า หม่อมใช้มุมมองดังกล่าวเข้ามาเป็นแรงจูงใจสำคัญให้ตัวละครเลยทีเดียว เมื่อเรียมพบเจอเหตุการณ์ที่แสดงให้เห็นถึงธาตุแท้ของคุณสมชาย นักการเมืองอนาคตไกลที่อาจก้าวไปเป็นถึงรัฐมนตรี จนเธอทนรับไม่ได้ ต้องตัดสินใจเดินทางกลับไปทุ่งบางกะปิ ที่สุดท้ายเธอรู้สึกว่า ท้องทุ่ง และพี่ขวัญชายคนรัก คือชีวิตที่แท้จริงของเธอ ในขณะที่ต้นฉบับนวนิยายและหนังในเวอร์ชั่นคุณเชิด ทรงศรี เหตุผลในการพาเรียมกลับบ้านคือการไปเยี่ยมแม่ที่ป่วยหนัก (ซึ่งแผลเก่าของหม่อมน้อยก็ยังคงเหตุการณ์นี้ไว้ตามบทประพันธ์ดั้งเดิม แต่ที่เพิ่มมาคือเรียมกลับบ้านสองครั้งสองครา)
 
          แต่ที่ทำให้แผลเก่าฉบับหม่อมน้อยจบลงอย่างงดงามและประทับใจก็คือ การกลับมาบ้านหนสองของเรียม ดูเหมือนเธอเรียกคืนจิตวิญญาณท้องทุ่ง และสถานะคนชายขอบที่เธอพอใจกลับคืนมาด้วย ในฉากที่เธอต่อปากต่อคำกับคุณนายทองคำเปลวที่ลงทุนเดินทางมาตามกลับกรุงเทพฯ หลังถูกทวงบุญคุณ เธอก็โต้กลับอย่างสะใจว่าสิ่งที่คุณนายทำกับเธอ ก็แค่เพราะเธอหน้าเหมือนลูกสาวที่ตายจากไป หาได้เกิดจากรักใคร่เสน่หา และที่สำคัญเธอก็ไม่ได้ร้องขอ และคุณนายก็ไม่เคยเอ่ยถามเธอด้วยซ้ำว่าต้องการมันหรือเปล่า
 
          โดยภาพรวม แผลเก่า ฉบับหม่อมน้อย ไม่อาจเทียบเคียงกับเวอร์ชั่นคุณเชิด บทหนังของหม่อมในช่วงแรกยังขาดๆ เกินๆ งานภาพที่ประดิดประดอย วิจิตรบรรจงเกินจริตวิถีชีวิตคนบ้านทุ่ง ที่พยายามขับเน้นจนหลายครั้งที่โทนสี เกรนภาพ โดดไปมา แม้แต่ในฉากเดียวกันก็ตาม หรือฉากงานเลี้ยงในพระนครที่ดูโอ่อ่าอลังการจนดูเหมือนหนังอีพิคซะมากกว่า แต่ดูเหมือนการตีความและใส่เหตุผลการตัดสินใจของตัวละครโดยเฉพาะเรียม และมุมมองทางประวัติศาสตร์นั้น ถือว่าน่าสนใจไม่น้อย ทำให้แผลเก่า ปี 2557 ยังคงความเป็นตำนานและรักษาอมตะนิยายแห่งโศกนาฏกรรมอันยิ่งใหญ่นี้ไว้ได้ไม่น้อยหน้าครั้งไหนๆ เลยทีเดียว
 
.......................................
(หมายเหตุ 'แผลเก่า' : คอลัมน์ เอกเขนกดูหนัง โดย... ณัฐพงษ์ โอฆะพนม)


 
logoline

ข่าวที่น่าสนใจ