ไลฟ์สไตล์

แกะสลักผัก-ผลไม้อนุรักษ์ความเป็นไทย-ใจเย็น

แกะสลักผัก-ผลไม้อนุรักษ์ความเป็นไทย-ใจเย็น

04 ก.ค. 2553

"ครั้งหนึ่งมีโอกาสร่วมออกแสดงด้านศิลปวัฒนธรรม กำลังนั่งแกะสลักผลไม้ที่สวนอัมพร สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ มาทอดพระเนตรและรับสั่งกับครูว่า ให้ทำเรื่อยๆ ไป รักษาไว้ให้ดี รู้สึกภาคภูมิใจที่สุดในชีวิต

และเป็นแรงบันดาลใจให้สอนแกะสลักมาจนถึงทุกวันนี้รวมเวลากว่า 60 ปี เพราะอยากให้คนรุ่นใหม่ช่วยอนุรักษ์วัฒนธรรมไทยไว้ การแกะสลักยังสร้างสมาธิ ทำให้เป็นคนใจเย็นและละเอียดอ่อน" ครูถนอมศรี อภัยพลชาญ วัย 87 ปี ครูภูมิปัญญาไทยรุ่นที่ 6 ด้านศิลปกรรม (การแกะสลักผัก ผลไม้และสบู่) ประจำปี 2552 สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) บอกด้วยน้ำเสียงปลื้มปีติ ขณะเล่าย้อนอดีตสลับกับการแกะสลักก้อนสบู่สีชมพูให้เป็นรูปหอยสังข์

 "ครูถนอมศรี" เป็นบุตรีคนเดียวของ พ.ต.ขุนอภัยพลชาญ (พันตรีจาบ ตมัสปาน) และนางช้อย อภัยพลชาญ ช่วงอายุ 14 ปี เข้าเรียนที่โรงเรียนสตรีการช่างภาณุทัต เป็นเวลา 4 ปี โดยสนใจและชื่นชอบงานแกะสลักผักผลไม้และสบู่ กระทั่งเป็นศิษย์เอกด้านการแกะสลักของ "ครูเยื้อน ภาณุทัต" ได้รับสมญานามว่า "เถรสมุดเดียว" หมายถึง ผู้เรียนงานฝีมือทุกด้าน ทำเป็นทุกอย่าง แต่หลงใหลในงานเดียวคืองานแกะสลัก หลังจากเรียนจบได้เข้ารับราชการที่กรมแผนที่ทหารโดยอยู่ฝ่ายจัดเลี้ยงดูแลด้านอาหารและดอกไม้จนเกษียณอายุราชการ

 ระหว่างการทำงานได้ไปเป็นครูผู้ช่วยของ "ครูเยื้อน" สอนการแกะสลักที่โรงเรียนการเรือน โดยเป็นวิทยากรสอนงานแกะสลักให้หน่วยงาน องค์กรต่างๆ เช่น สมาคมสตรีไทยฯ สมาคมผู้บำเพ็ญประโยชน์แห่งประเทศไทย สโมสรวัฒนธรรมหญิงฯ และได้รับเชิญให้สาธิตการแกะสลักในต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย อีกทั้งผลงานได้รับการเผยแพร่ในสื่อประเภทต่างๆ ช่วงปี 2527-2539 ผลงานศิลปะการแกะสลักผักและผลไม้ได้รับการพิมพ์เผยแพร่ในนิตยสารรายสัปดาห์และสตรีสาร

 นอกจากนี้ยังได้รับรางวัลต่างๆ เช่น รางวัลราชมงคลสรรเสริญ ผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรมสาขาการช่างฝีมือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลปทุมธานี พ.ศ.2541 รางวัลผู้ทำคุณประโยชน์ต่อเยาวชน สาขาอาชีพ สำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็กเยาวชน ผู้ด้อยโอกาสและผู้สูงอายุ

 ปัจจุบัน "ครูถนอมศรี" ยังรับสอนงานแกะสลักให้แก่ชาวไทยและชาวต่างประเทศ มีลูกศิษย์ชาวต่างประเทศหลายคนที่มีชื่อเสียงระดับนานาชาติ ในการสอนจะให้ผู้เรียนใช้วัสดุที่แกะสลักได้ง่ายไปหายากเริ่มจากผัก ผลไม้และสบู่ ซึ่งสบู่แกะสลักยากที่สุดเพราะเนื้อสบู่ลื่นและแข็งต้องใช้ความแม่นยำและสมาธิอย่างมาก

 ส่วนลายบังคับที่ให้ฝึกแกะสลักมี 5 ลาย ได้แก่ ลายดอกบานชื่น ลายรักเร่ ลายบั้ง ลายเกลียวและลายกลีบบัว หากเป็นลายประเภทดอกไม้เริ่มจากเยอบีร่า ดอกรักเร่ บานชื่น กุหลาบ และคาเนชั่น หลังจากฝึกฝนแกะสลักลายเหล่านี้ครบถ้วนแล้ว ก็สามารถที่จะคิดสร้างสรรค์ลายใหม่ๆ ขึ้นมาได้

 "คนที่มาเรียนแกะสลัก สิ่งสำคัญต้องมีใจรักด้านนี้ ถ้าไม่เคยเรียนมาก่อนก็จะยิ่งดี การสอนจะให้แกะสลักลายแบบดั้งเดิมเพราะอยากให้ลูกศิษย์ช่วยกันอนุรักษ์ของเก่าไว้ ใครจะมาแกะเหมือนเราไม่ได้เพราะเป็นเอกลักษณ์ของความเป็นไทย คนที่ตั้งใจเรียนให้เป็นจริงๆ ก็นำไปใช้ประโยชน์ได้ ทำให้มีวิชาชีพติดตัว" ครูถนอมศรีบอกถึงหลักการเรียนการแกะสลัก

 พินประภา วานิชทวีวัฒน์ หนึ่งในลูกศิษย์ของ "ครูถนอมศรี" บอกว่า ชอบงานแกะสลัก เคยเรียนมาก่อนและไปเห็นข้อมูลจากเว็บไซต์ จึงตามมาเรียนกับครู ครูใจดี ไม่ดุ จะค่อยๆ อธิบายและให้ฝึกแกะสลักจากลายง่ายๆ ไปหาลายที่ยาก เริ่มจากแกะสลักผัก ผลไม้และสบู่ คิดว่าการแกะสลักเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ ช่วยอนุรักษ์ความเป็นไทย ทำให้มีสมาธิ ใจเย็นและละเอียดอ่อน

  สนใจพูดคุยกับครูถนอมศรีติดต่อได้ที่บ้านเลขที่ 25/1 ซอยรามบุตรี บางลำพู (ข้างวัดชนะสงคราม) แขวงวัดชนะสงคราม เขตพระนคร กทม. สอบถามโทร.0-2281-2650, 0-2282-3648, 08-9668-0969 

     0 ธรรมรัช กิจฉลอง 0