Lifestyle

"ธนาคารหน่วยกิต"เปิดโอกาสเรียนรู้ ยกระดับการศึกษาคนทุกวัย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ธนาคารหน่วยกิต เพิ่มโอกาสทางการศึกษา มีทักษะอาชีพ ส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้ ยืดหยุ่นตามความต้องการของผู้เรียนของคนรุ่นใหม่ และวัยทำงาน

          ระบบสะสมหน่วยการเรียนรู้ หรือที่เรียกกันง่ายๆ ว่า ธนาคารหน่วยกิต เป็นการเพิ่มโอกาสการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยกําหนดรูปแบบการจัดการศึกษาที่ยืดหยุ่นตามความต้องการของผู้เรียน สามารถสะสมผลการเรียนรู้ในแต่ละวิชา แต่ละทักษะ องค์ความรู้ที่ต้องการและนำมาสะสมไว้เพื่อการศึกษาต่อในระดับต่างๆ

 

        “ธนาคารหน่วยกิต” ตอบโจทย์การเรียนรู้ของคนรุ่นใหม่ และคนวัยทำงาน หรือผู้ที่ต้องการ Re-Skill, Up-Skill ร่วมด้วย เพราะเป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิต สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) หนึ่งหน่วยงานของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้มีการศึกษาระบบสะสมหน่วยการเรียนรู้ของประเทศไทย รวมถึงได้มีการดำเนินโครงการในสถานศึกษานำร่องเพื่อพัฒนาคุณภาพและยกระดับการศึกษาของผู้เรียน โดยใช้ระบบการสะสมหน่วยการเรียนรู้ หรือธนาคารหน่วยกิต ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน

          ผศ.ดร.พิณสุดา สิริธรังศรี หัวหน้าคณะวิจัยในงานวิจัยและโครงการดังกล่าว อธิบายถึงผลการศึกษาว่า เดิมประเทศไทยยังไม่มีการจัดระบบการสะสมหน่วยการเรียนรู้ หรือธนาคารหน่วยกิต (Credit Bank System) ที่ชัดเจน แต่หลังการออกพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545 ได้มีการกำหนดเรื่องของการเทียบโอนผลการเรียนไว้อย่างชัดเจนขึ้น เมื่อมาตรา 15 ได้บัญญัติว่า การจัดการศึกษามี 3 รูปแบบ คือ การศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และ การศึกษาตามอัธยาศัย โดยให้มีการเทียบโอนผลการเรียนที่ผู้เรียนสะสมไว้ในระหว่างรูปแบบเดียวกันหรือต่างรูปแบบได้ ไม่ว่าจะเป็นผลการเรียนจากสถานศึกษาเดียวกันหรือไม่ก็ตาม รวมทั้งจากการเรียนรู้นอกระบบตามอัธยาศัย การฝึกอาชีพ หรือจากประสบการณ์การทำงาน

"ธนาคารหน่วยกิต"เปิดโอกาสเรียนรู้ ยกระดับการศึกษาคนทุกวัย

ผศ.ดร.พิณสุดา สิริธรังศรี

          “กระทรวงศึกษาธิการออกประกาศ เรื่อง การเทียบโอนผลการเรียน การศึกษาขั้นพื้นฐาน และการศึกษาระดับอุดมศึกษา ระดับต่ำกว่าปริญญา เพื่อเป็นแนวทางการเทียบโอนผลการเรียนของหน่วยงานสถานศึกษาต่างๆ รวมทั้งการกำหนดกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ เป็นกรอบแนวทางการเชื่อมโยงผลการเรียนรู้กับสมรรถนะในการปฏิบัติงาน แต่ยังคงมีปัญหาทางปฏิบัติที่ยังไม่สอดคล้องกันของแต่ละหน่วยงานที่จัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ยังมีความหลากหลายในทางปฏิบัติ" ผศ.ดร.พิณสุดา กล่าว

          ทั้งนี้ ผลจากวิจัยมีข้อเสนอแนะชัดเจนว่าแนวทางการพัฒนาระบบการสะสมหน่วยกิต ควรมีหน่วยงานกลางสะสมการเรียนรู้ เช่น สกศ. หรือมีสำนักทดสอบของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เข้ามาทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลาง เพื่อให้เด็กนอกระบบ ผู้ที่เรียนไม่จบ หรืออยากกลับมาเรียนต่อได้มีโอกาสทางการศึกษา โดยหน่วยงานกลางต้องทำหน้าที่รับรองความรู้ ทักษะและประสบการณ์ของคนกลุ่มนี้ที่อาจจะมีความเชี่ยวชาญ ทักษะด้านใดด้านหนึ่ง มาเทียบโอนต่อยอด ซึ่งหน่วยงานกลางต้องเป็นอิสระ ทำหน้าที่รับรอง เป็นคลังสะสมหน่วยกิตของผู้เรียนและผู้ขอเทียบโอนผลการเรียนทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงวิจัยและพัฒนาการสะสมหน่วยการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับสภาวการณ์ที่เปลี่ยนแปลง ส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินงานสะสมการเรียนรู้ การเทียบโอนผลการเรียน และผลการเรียนรู้ของสถานศึกษาทั้งในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัย

"ธนาคารหน่วยกิต"เปิดโอกาสเรียนรู้ ยกระดับการศึกษาคนทุกวัย

          ผศ.ดร.พิณสุดา กล่าวต่อว่า เมื่อได้ข้อสรุปจากผลการศึกษาดังกล่าว สกศ.ได้มีการต่อยอดดำเนินโครงการนำร่องในสถานศึกษา เพื่อทดลองรูปแบบบริหารจัดการการดำเนินงานของสถานศึกษาขั้นพื้นฐานตามระบบธนาคารหน่วยกิต ได้ตั้งคณะทำงานจากทุกภาคส่วนนำร่องสถานศึกษาในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ จ.ตาก อ.เมือง และ อ.แม่สอด จำนวน 11 แห่ง โดยมีโรงเรียนระดับเทศบาล มัธยมศึกษา วิทยาลัยอาชีวศึกษา ศูนย์การศึกษานอกระบบและตามอัธยาศัย โรงเรียนเอกชน วิทยาลัยชุมชน พบว่า ผลการทดลองระบบธนาคารหน่วยกิตในสถานศึกษา แต่ละวิชาสามารถรับเทียบโอนได้แตกต่างกัน เช่น วิชาวิทยาศาสตร์ ประถมศึกษาสามารถรับเทียบโอนได้ไม่เกิน 36 หน่วยกิต คณิตศาสตร์ มัธยมศึกษาตอนต้น ไม่เกิน 42 หน่วยกิต ส่วนภาษาไทย มัธยมศึกษาตอนปลายไม่เกิน 57 หน่วยกิต เป็นต้น

          “สิ่งที่เกิดขึ้นแก่ผู้เรียนอย่างชัดเจนคือ การใช้ระบบธนาคารหน่วยกิต ทำให้ผู้เรียนได้รับโอกาสทางการศึกษาเพิ่มขึ้น ศึกษาต่อและทำงานคู่กันเพิ่มขึ้น กลับเข้าสู่ระบบการศึกษามากขึ้น ที่สำคัญเป็นการส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้ได้เป็นอย่างดี และยังเป็นการเพิ่มทักษะให้แก่แรงงานอาชีพ เพราะแรงงานอาชีพหลายคนมีประสบการณ์มากแต่ด้วยยุคสมัยนี้ต้องมีการเพิ่มเติมทักษะอาชีพ การเรียนรู้ตลอดเวลา ถ้าสถานศึกษามีการเปิดเทียบโอน ก็จะทำให้คนวัยทำงานได้มาเพิ่มเติมศักยภาพ หรือช่วยให้ทุกคนสามารถวัดความรู้ เพิ่มในส่วนที่มีอยู่ หรือทักษะที่ขาดไปด้วย” ผศ.ดร.พิณสุดา กล่าว

"ธนาคารหน่วยกิต"เปิดโอกาสเรียนรู้ ยกระดับการศึกษาคนทุกวัย

          ผลการศึกษาสรุปได้ว่า “ธนาคารหน่วยกิต และการเทียบโอน” ช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต เปิดโอกาสให้ผู้เรียนและประชาชนได้นำผลการเรียนรู้และประสบการณ์การทำงานหรืออาชีพทั้งในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัย ที่สะสมไว้มาเทียบโอนกันได้ ขณะนี้การดำเนินการธนาคารหน่วยกิต ได้เกิดขึ้นในสถานศึกษาระดับอุดมศึกษา แต่ในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานยังไม่เกิดขึ้นอย่างชัดเจน 

          "ดังนั้น อยากให้มีการจัดหน่วยงานกลางในการจัดทำระบบธนาคารหน่วยกิต กำหนดรายวิชา หลักเกณฑ์การเทียบโอนรายวิชา จัดทำข้อสอบกลาง นำเทคโนโลยีมาใช้การบริหารจัดการดำเนินการสะสมหน่วยกิต สนับสนุนการพัฒนาระบบธนาคารหน่วยกิตที่เชื่อมโยงกับหลักสูตร ควรพัฒนาภาวะผู้นำให้มีวิสัยทัศน์ มีความรู้ความสามารถในการบริหารจัดการแบบเครือข่ายสถานศึกษา มีการวิจัย พัฒนากระบวนการสะสมหน่วยการเรียนรู้ เพื่อให้เกิดการพัฒนาคนและการศึกษาของไทย” ผศ.ดร.พิณสุดา กล่าวทิ้งท้าย

เรื่องโดย ชุลีพร อร่ามเนตร [email protected]

"ธนาคารหน่วยกิต"เปิดโอกาสเรียนรู้ ยกระดับการศึกษาคนทุกวัย  

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ