Lifestyle

'ปิดสถานบริการ' ลดแพร่เชื้อโควิด-19

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

รัฐบาลมีมติเห็นชอบให้ปิดสถานบริการ อาทิ โรงหนัง สถานบันเทิง ผับ บาร์ ร้านนวดไทย นวดโบราณ ร้านค้าทุกประเภทที่เข้ากฎหมายว่าด้วยสถานบริการ ทั้งเขต กทม.และปริมณฑล หวังลดการแพร่ระบาดของโควิด-19

          หลังจากรัฐบาลมีมติเห็นชอบ มาตรการลดการแพร่ระบาดของโควิด-19 จากกรุงเทพฯ ไปสู่จังหวัดอื่นๆ โดยคลอดมาตรการต่างๆ และให้ สถานบริการ อาทิ โรงหนัง สถานบันเทิง ผับ บาร์ ร้านนวดไทย นวดโบราณ ร้านค้าทุกประเภทที่เข้ากฎหมายว่าด้วยสถานบริการ หยุดบริการเป็นเวลา 14 วัน ปิดทั้งหมดในเขต กทม.และปริมณฑล

          ในระยะเวลา 14 วัน ภาครัฐได้ออกมาตรฐานช่วยเหลือเยียวยา อย่างการผ่อนชำระหนี้หรือการช่วยลดค่าน้ำ ค่าไฟ แต่ทางปฏิบัติกลับพบว่าไม่ได้ช่วยสถานประกอบการอย่างแท้จริง ส่งผลกระทบต่อหลายธุรกิจ สถานประกอบ สถานบริการอย่างถ้วนหน้า

          'ปิดสถานบริการ' ลดแพร่เชื้อโควิด-19

          ชนม์พนา ฤกษ์พึ่งดี เจ้าของร้านบริเวณเจเจพลาซ่า กล่าวว่า ตั้งแต่เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ในส่วนของเจเจพลาซ่ามีประชาชน นักท่องเที่ยวมาเที่ยวจับจ่ายซื้อของน้อยลง และเมื่อมีการประกาศปิดสถานบริการและพื้นที่ ร้านค้าต่างๆ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา เจเจพลาซ่าเรียกได้ว่าไม่มีคนเดิน เงียบมาก และแม่ค้าเองตอนนี้ที่อยู่กันได้ เพราะอาศัยเงินทุนเดิม 

 

           อีกทั้งต้องดูแลลูกน้อง พนักงานในร้าน ถ้าเราปิดร้านเด็กในร้านก็จะอยู่ไม่ได้ ไม่มีงานทำ และไม่มีรายได้ ดังนั้นในส่วนของร้านเองตอนนี้ไม่มีนักท่องเที่ยว ไม่มีใครมาเดินเจเจพลาซ่า ทำให้รายได้หายไป 80% ของรายได้ที่ได้รับ แต่ถึงอย่างไรก็คงต้องเปิดร้านต่อไป โดยจะดูแลทั้งเรื่องความสะอาดและดูแลพนักงานในร้านให้สามารถมีงานทำและอยู่ได้ในยุคที่ทุกอย่างซบเซาลง

 

          “ไม่แน่ใจว่าหลังจากนี้จะมีความเดือดร้อนมากขึ้นหรือไม่ เพราะแต่ละพื้นที่ แต่ละสถานบริการย่อมมีปัญหาและได้รับความเดือดร้อนแตกต่างกัน ซึ่งในส่วนของเจเจพลาซ่านั้น ผู้ประกอบการส่วนใหญ่เป็นเอกชน และเจ้าของที่ก็เป็นบริษัทเอกชน ตอนนี้ยังไม่มีมาตรการใดมาช่วยเหลือผู้ประกอบการในพื้นที่ มีเพียงการทำความสะอาดฆ่าเชื้อในพื้นที่ จึงอยากขอความร่วมมือจากเจ้าของที่ให้ลดค่าเช่า หรือค่าส่วนกลางต่างๆ รวมถึงภาครัฐควรจะมีหน่วยงานเข้ามาเก็บข้อมูลว่ามีสถานประกอบการใดเดือดร้อนบ้าง และจะมีแนวทาง มาตรฐานในการช่วยเหลืออย่างไร เพราะจนถึงตอนนี้ผู้ประกอบการต้องพึ่งพาตัวเอง แบกรับต้นทุนหลายอย่างโดยไม่ว่าจะเป็นเอกชนเจ้าของที่ หรือหน่วยงานของรัฐก็ไม่ได้เข้ามาดูแล” ชนม์พนา กล่าว

 

          ในส่วนของผู้ประกอบการเจเจพลาซ่านั้น ขณะนี้แม้จะยังไม่มีการรวมกลุ่มกันอย่างชัดเจนแต่มีการพูดคุยว่าจะขอเข้าพบผู้ประกอบการเจ้าของพื้นที่เพื่อขอลดค่าเช่าที่ ค่าส่วนกลาง และควรมีวิธีการเข้ามาช่วยเหลือ เข้าใจว่ากระตุ้นเศรษฐกิจ การท่องเที่ยวคงไม่ได้เนื่องจากไม่มีใครออกจากบ้านแต่ควรมีมาตรการรองรับให้แก่ผู้ประกอบการรวมด้วย

          ชนม์พนา กล่าวต่อว่า ตอนนี้ไม่ใช่เพียงสถานบริการที่ไม่สามารถทำเงินได้ การขายออนไลน์ก็แย่ลงมาก ยอดตกมา ทุกคนระมัดระวังการใช้เงิน บรรยากาศท่องเที่ยวไม่มี ทุกสิ่งทุกอย่างดาวน์ไปหมด ดังนั้นภาครัฐ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรกำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการก่อนจะขาดสภาพคล่องไปมากกว่านี้

          ขณะที่ จักรกริช แสงวิสุทธิ์สิง ผู้จัดการฟิตเนสแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ กล่าวว่าบริษัทได้มีการช่วยเหลือพนักงานทั้ง 340 คน ตั้งแต่ระดับผู้บริหารไปจนถึงพนักงาน โดยใช้การเฉลี่ยเงินเดือนและจ่ายเงินเดือนประมาณ 70% ของเงินเดือน เพื่อพนักงานจะได้มีเงินเดือนในระยะเวลา 2-3 เดือนหลังจากนี้ เพราะต่อให้รัฐบาลประกาศให้ปิดสถานบริการเพียง 14 วันจนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2563 แต่ก็ไม่แน่ชัดว่าจะต้องปิดเพิ่มหรือไม่ ซึ่งหากไม่มีการปิดเพิ่มพนักงานก็จะได้เงินเดือนครบตามที่หักเอาไว้อีก 30% และเงินเดือนเต็มเดือนตามปกติ นอกจากนั้นทางบริษัทได้มีมาตรการควบคุม ดูแลฟิตเนสตามมาตรการที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด

           “ฟิตเนสได้ยืดอายุสมาชิกให้แก่ผู้ใช้บริการทุกท่าน มีการจัดทำวิดีโอออกกำลังกายให้แก่สมาชิก และในวันที่ 23 มีนาคมนี้ จะจัดทำเฟซบุ๊กไลฟ์สอนออกกำลังกายออนไลน์ด้วย ดังนั้นเอกชนมีการดูแลผู้ให้บริการและมีมาตรการต่างๆ อย่างดี แต่ทั้งนี้สิ่งที่เรายังไม่ได้รับการดูแลคือรัฐบาลยังไม่ได้เยียวยาพนักงาน ผู้ประกอบการในสถานบริการ โดยเฉพาะธุรกิจเอกชน ทำเพียงสั่งให้ปิดแต่ไม่มีมาตรการใดๆ ออกมาช่วยเหลือ หนี้ชำระของพนักงานก็ไม่มีองค์กรใดเข้ามาดูแล ทุกคนต้องดิ้นรนด้วยตนเอง ตอนนี้รายได้ลดแต่รายจ่ายทุกอย่างเท่าเดิม อยากให้รัฐออกแนวทางช่วยเหลืออย่างชัดเจน และแต่ละสถานบริการแตกต่างกัน ความเดือดร้อนต่างกันก็ควรมีข้อมูลว่าจะช่วยเหลืออย่างไร ไม่ใช่บอกว่าปิดสถานบริการแล้วปิดเลย สุดท้ายคนจะไม่เป็นโรคตาย แต่จะอดตาย” จักรกริช กล่าว

'ปิดสถานบริการ' ลดแพร่เชื้อโควิด-19

          ด้าน เปรมบุณย์ วรสรรพการ เจ้าของกิจการร้านนวด จ.เพชรบุรี กล่าวว่า ตั้งแต่มีการประกาศจากรัฐบาลให้มีการปิดสถานบริการเป็นเวลา 14 วัน ทั้งในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งในส่วนของ จ.เพชรบุรี ก็มีการสั่งปิดสถานบริการเช่นเดียวกัน ทำให้ร้านนวดต้องหยุดบริการชั่วคราว และตอนนี้ก็ได้รับผลกระทบจากการหยุดบริการอย่างมาก เพราะเมื่อหยุดบริการทางร้านต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายเองทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นค่าเช่าร้าน ค่าจ่ายหมอนวด ซึ่งปกติจะจ่ายเขาเป็นรายวันอยู่แล้วหากปิดร้านและไม่ได้จ่ายค่าแรงเขาก็ทำให้เขาได้รับความเดือดร้อนเช่นเดียวกัน ทางร้านจึงจ่ายค่าแรงให้แก่หมอนวดทุกคน รวมถึงต้องเสียค่าน้ำ ค่าไฟ และค่าอื่นๆ ที่จำเป็น

 

          “ร้านนวดของเราเป็นธุรกิจขนาดเล็กที่อาจจะมีหมอนวดไม่มาก แต่ผ่านมา 2 วัน เราก็เสียรายได้หลักหมื่นบาทไปแล้ว ถ้าครบ 14 วัน เราคงเสียรายได้ไปมาก และไม่แน่ใจว่าลูกค้าประจำที่ร้านหากเราเปิดเขาจะกลับมาหรือไม่ ด้วยมาตรการที่รัฐบาลป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 ถือเป็นมาตรการที่ดี และทุกสถานประกอบการพร้อมให้ความช่วยเหลือ แต่ก็อยากให้รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเยียวยาช่วยเหลือสถานประกอบการ ธุรกิจ เพิ่มสภาพคล่องทางการเงิน เพราะหลังจากประกาศ ผู้ประกอบการก็ต้องแบกรับทุกอย่างเองโดยที่ยังไม่มีหน่วยงานหรือประกาศจากรัฐบาลว่าจะช่วยเหลือเยียวยาอย่างไร” เปรมบุณย์ กล่าว

'ปิดสถานบริการ' ลดแพร่เชื้อโควิด-19

          ด้านเจ้าของร้านค้าแห่งหนึ่งในมหาวิทยาลัย กล่าวว่า ตั้งแต่มหาวิทยาลัยออกมาตรการให้นักศึกษาเรียนออนไลน์และบุคลากรทำงานที่บ้านตั้งแต่วันที่ 16 มีนาคมเป็นต้นไป รวมถึงมาตรการอื่นๆ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดี และผู้ประกอบการร้านค้าในมหาวิทยาลัยพร้อมและยินดีให้ความร่วมมือ 

           แต่ด้วยการที่มหาวิทยาลัยยังไม่ปิดการเรียนการสอน ร้านค้าต่างๆ ยังคงเปิดขาย แต่นักศึกษา บุคลากรกลับน้อยลง ส่งผลให้ร้านค้าไม่สามารถขายของได้เพราะไม่มีลูกค้าและตอนนี้ได้รับผลกระทบอย่างมาก รายได้จากการขายของไม่ถึง 5% ต่อวัน เช่น ปกติขายได้ 10,000 กว่าบาท ตอนนี้ยอดขายทั้งวันไม่ถึง 1,000 บาท แล้วต้องเสียค่าเช่าที่ ค่าแรง ค่าน้ำ ค่าไฟ และหลายร้านก็มีการสต็อกสินค้าเพราะไม่ทราบล่วงหน้าจนทำให้ทุนจมหายไปกับของที่สต็อกไว้ และค่าใช้จ่ายต่างๆ จึงอยากขอความช่วยเหลือจากทางมหาวิทยาลัยให้งดเว้นการจ่ายค่าเช่าที่เนื่องจากตอนนี้มีมหาวิทยาลัยลดค่าเช่าที่ และค่าบริการต่างๆ เพียง 50% ซึ่งก็ยังไม่สามารถช่วยเหลือร้านค้าให้อยู่รอดได้

          ขณะที่  ปาริชาติ บุญเอก ผู้ใช้บริการฟิตเนส กล่าวว่า ผลกระทบจากการที่ฟิตเนสปิดให้บริการทำให้ต้องหยุดการออกกำลังกายไป 2 อาทิตย์ โดยฟิตเนสระบุว่าจะชดเชยโดยขยายเวลาการเป็นสมาชิกออกไปอีก 2 สัปดาห์ ซึ่งส่วนตัวไม่แน่ว่าหลังจากนี้จะต้องยืดเวลาการหยุดให้บริการออกไปอีกหรือไม่คงต้องดูสถานการณ์โควิด-19 ต่อไป

          อย่างไรก็ตามการปิดฟิตเนสแล้วไม่ได้ออกกำลังกาย อาจจะไม่ใช่ปัญหา เพราะเราสามารถออกกำลังกายที่ห้องได้ หรือออกกำลังกายโดยวิธีอื่นได้ สิ่งสำคัญตอนนี้คือ งดการรวมกลุ่มอย่างที่มีมาตรการ Social distancing ออกมา ทางที่ดีทุกคนควรดูแลตัวเองและส่วนรวมเพื่อลดการระบาดของโรค

เรื่องโดย ชุลีพร อร่ามเนตร [email protected]

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ