Lifestyle

ยุทธศาสตร์ 4 ระดับ 9 ด้าน พาจีนผ่านวิกฤติโควิด-19 

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ยุทธศาสตร์ 4 ระดับ 9 ด้าน พาจีนผ่านวิกฤติโควิด-19  โดย...  ปาริชาติ บุญเอก [email protected]  

 

 


          สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ซึ่งมีจุดศูนย์กลางในประเทศจีน อัตราผู้ติดเชื้อที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็วจากหลักสิบปลายปีที่แล้วทะยานสู่หลักหมื่นในเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ การรับมือของจีนที่เราเห็นไม่ว่าจะเป็นเกณฑ์แพทย์พยาบาลกว่า 4 หมื่นคน สร้างโรงพยาบาลภายในเวลาไม่กี่วัน และการใช้มาตรการที่เข้มข้น รวมถึงเทคโนโลยี ทำให้สถานการณ์โรคเริ่มชะลอในขณะนี้

 

 


          อ่านรหัสพันธุกรรมใน1สัปดาห์
          หลังจากที่พบผู้ป่วยคนแรกช่วงสิ้นเดือนธันวาคม 2562 นักวิทยาศาสตร์จีนและประเทศต่างๆ ได้แยกตัวเชื้ออย่างรวดเร็ว สามารถเพาะเชื้อและอ่านรหัสพันธุกรรมได้ภายใน 1 สัปดาห์ โดยเพาะเลี้ยงเชื้อ 104 สายพันธุ์ จากคนไข้ 104 คน พบว่า มีรหัสพันธุกรรมใกล้เคียงกับค้างคาว 96% แต่ที่ยังไม่ทราบคือมาจากค้างคาวโดยตรงหรือไม่


          เมื่อเปรียบเทียบรหัสพันธุกรรม 104 ตัวอย่าง พบว่าเกือบจะเหมือนกัน 99.9% แสดงว่าเชื้อในผู้ป่วยแต่ละคนเป็นชนิดเดียวกัน ทำให้มองเห็นแล้วว่าต้องจัดการอย่างไร สุดท้ายคือการวิเคราะห์การชันสูตรผู้เสียชีวิตว่าเชื้อเข้าไปอย่างไร อวัยวะมีปัญหาอย่างไร โดยรายงานผลพบว่าพยาธิสภาพเกิดขึ้นที่ปอดทำให้แพทย์สามารถเตรียมการได้ว่าเกิดอะไรขึ้น


          ทั้งนี้เมื่อวันที่ 16-24 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ทำงานร่วมกับรัฐบาลจีนและนานาชาติ รวมทั้งหมด 25 คน จาก 8 ประเทศ ลงพื้นที่ 4 มณฑล ได้แก่ ปักกิ่ง เสฉวน (เมืองเฉินตู) กวางตุ้ง (เมืองกวางเจา และเสิ่นเจิ้น) และหูเป่ย (เมืองอู่ฮั่น) ทั้งหมด 9 วัน เพื่อพบปะ สัมภาษณ์ ผู้ปฏิบัติงานและผู้บริหาร ศึกษาข้อมูลสถานที่เกิดเหตุจริง ศึกษาบทเรียนที่สามารถนำมาปรับใช้ได้ทั่วโลกเพื่อให้เกิดข้อแนะนำและป้องกันออกมาเป็นรายงานฉบับย่อมเพื่อเป็นกรณีศึกษาในการรับมือสถานการณ์ต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นอย่างคาดไม่ถึงในอนาคต

 

 

 

ยุทธศาสตร์ 4 ระดับ 9 ด้าน พาจีนผ่านวิกฤติโควิด-19 

ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล

 


          ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ผู้อำนวยการสำนักการวิจัยแห่งชาติ กล่าวในงานสัมมนาวิชาการ “องค์การอนามัยโลก เจออะไรที่ประเทศจีน” บทเรียนสำหรับบุคลากรทางการแพทย์และประชาชน ผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติว่า ข้อมูลที่ได้จากการศึกษาเห็นได้ชัดว่าโควิด-19 เป็นเหตุการณ์ใหญ่ มีผู้ติดเชื้อจำนวนมากและแพร่กระจายไปทั่วโลก มาตรการที่ถูกนำไปใช้จึงต้องใหญ่ ทั้งด้านกำลังคนในการส่งแพทย์พยาบาลมากกว่า 4 หมื่นคนเข้าไปในหูเป่ย เพื่อควบคุมโรคภายในเวลาไม่กี่สัปดาห์ เราเห็นข่าวสร้างโรงพยาบาลสนาม และมีการเปลี่ยนแปลงโรงพยาบาลที่มีอยู่ 45 แห่ง มาดูแลคนไข้กลุ่มนี้โดยเฉพาะ แบ่งเป็น 9 แห่งดูแลคนไข้หนัก ต้องอยู่ในไอซียู ใส่เครื่องช่วยหายใจ และอีก 36 แห่งที่จำเพาะสำหรับดูแลคนกลุ่มนี้ ในขณะเดียวกันก็มีข่าวดี คือในช่วงที่ผ่านมาจำนวนผู้ติดเชื้อในจีนลดลงเรื่อยๆ ในระดับที่ระบบพอจะจัดการได้



          ความน่าสนใจของรายงานพบว่ารายงานฉบับแรกบอกว่าจีนพบผู้ป่วยรายแรกประมาณ 30-31 ธันวาคม แต่จีนได้มองย้อนกลับไปเคสแรกที่อาจจะเจอคือวันที่ 8 ธันวาคม 2562 (ยืนยันผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ) หรือประมาณ 2 ธันวาคม 2562 (การวินิจฉัยทางคลินิกรายแรก)

 

 

ยุทธศาสตร์ 4 ระดับ 9 ด้าน พาจีนผ่านวิกฤติโควิด-19 

 


          ทั้งนี้อาการของผู้ป่วยที่พบ 87.9% มีไข้ และ 2 ใน 3 หรือ 67.7% ไอแห้ง 38.1% อ่อนเพลีย 33.4% ไอมีเสมหะ 18.6% หายใจลำบาก 14.8% ปวดกล้ามเนื้อหรือปวดข้อ 13.9% เจ็บคอ 13.6% ปวดศีรษะ 11.4% หนาวสั่น 5.0% คลื่นไส้ อาเจียน 4.8% คัดจมูก 0.9% ไอเป็นเลือด และ 0.8% ตาแดง


          หากดูอัตราการติดเชื้อและอัตราการตายในแต่ละกลุ่ม พบว่า อายุน้อย ป่วยน้อยไม่รุนแรง ส่วนคนที่อายุมาก จะป่วยมากกว่า และอาการรุนแรง ปัจจุบันอัตราตายโดยเฉลี่ย 0.7% เนื่องจากองค์ความรู้ดีขึ้นทำให้อัตราตายลดลง ความเป็นไปของโรค 80% เป็นคนไข้ที่มีอาการเบา 14% ป่วยหนักประมาณ 6% ต้องเข้าไอซียู ใช้เครื่องช่วยหายใจ และเสียชีวิต 1 ใน 3 ของคนที่ป่วยหนัก ส่วนพยาธิสภาพที่ทำให้เสียชีวิต คือ ปอดได้รับอันตราย มีมูก มีเลือดออกในถุงลม คล้ายปอดอักเสบจากไวรัสอื่นๆ บุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อ 2,055 ราย จาก 476 โรงพยาบาลทั่วประเทศจีน ส่วนใหญ่ติดเชื้อในช่วงต้นของการระบาด

 

 

ยุทธศาสตร์ 4 ระดับ 9 ด้าน พาจีนผ่านวิกฤติโควิด-19 

นพ.ศุภมิตร ชุณห์สุทธิวัฒน์

 


          มาตรการจีน 4 ระดับ 9 ด้าน
          นพ.ศุภมิตร ชุณห์สุทธิวัฒน์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในรายงานของ WHO ระบุว่าจีนมีการจัดโครงสร้างการรับมือตอบโต้การระบาด โดยใช้แผนที่มีอยู่คล้ายๆ กับไข้หวัดนก ไข้หวัดใหญ่ แต่เนื่องจากประเทศจีนใหญ่ จำนวนประชากรมากกว่าไทย ดังนั้นเขาต้องเตรียมแผนโดยแบ่งเป็น 4 ระดับ ได้แก่ ระดับชาติ ระดับจังหวัด ระดับอำเภอ และตำบลหมู่บ้าน


          ทั้งนี้ในการตอบโต้เชื้อไวรัสของจีนมีการจัดระบบกลไกทำงาน 9 ด้าน คือ 1.ด้านการประสานงาน 2.การระบาดวิทยาสอบสวนป้องกันโรค 3.ดูแลรักษาผู้ป่วย 4.ด้านการวิจัย 5.สื่อสารสาธารณะ 6.ประสานงานระหว่างประเทศ 7.การจัดหาเวชภันฑ์ที่จำเป็นมาใช้ 8.ช่วยเหลือดูแลประชาชนให้สามารถใช้ชีวิตโดยปกติ และ 9.รักษาความมั่นคงของสังคม


          “การเตรียมงานแต่ละด้านจะมีหัวหน้าผู้กำกับดูแลการทำงานในระดับกระทรวง แบ่งหน้าที่ให้แต่ละกระทรวงกันไปทำ โดยมีกฎหมาย ระเบียบต่างๆ รองรับอย่างเข้มแข็ง ยกระดับการควบคุมโรค เป็นระดับประเทศ ทุกจังหวัดต้องดูแลอย่างเข้มข้นภายใน 1 เดือนนับตั้งแต่การประกาศ แผนของจีนเรียกว่ายุทธศาสตร์ก็ว่าได้ เพราะรีบทำขึ้นมาและถ่ายทอดในระดับท้องถิ่น ปรับแผนให้ใช้ตามพื้นที่ โดยอาศัยองค์ความรู้และประเมินความเสี่ยงในแต่ละพื้นที่ที่มีบริบทแตกต่างกัน”

 

 

ยุทธศาสตร์ 4 ระดับ 9 ด้าน พาจีนผ่านวิกฤติโควิด-19 

 


          ทั้งนี้ ยุทธศาสตร์ของจีน แบ่งตามระดับความเสี่ยงและสภาพปัญหาในพื้นที่ 4 ประเภท คือ 1.พื้นที่ที่ยังไม่มีการระบาด ใช้การป้องกันอย่างเข้มงวด ดูแลเป็นพิเศษในศูนย์กลางคมนาคม รถไฟ สนามบิน เพื่อไม่ให้นำเชื้อเข้ามา 2.พื้นที่เริ่มมีผู้ป่วย ใช้มาตการ ค้นหา ควบคุมการระบาดในพื้นที่ ป้องกันไม่ให้แพร่ 3.พื้นที่มีการระบาดเป็นกลุ่ม ต้องควบคุมการแพร่โรคให้ได้มากที่สุด ป้องกันการแพร่ไปยังพื้นที่อื่น ให้การรักษาผู้ป่วยอย่างดีที่สุด และ 4.พื้นที่ระบาดอย่างมาก ใช้ยุทธศาสตร์การดูแลผู้ป่วยเป็นหลักและควบคุมการแพร่เชื้อ เพื่อให้ประชาชนดำรงชีวิตได้อย่างปกติ ขณะเดียวกันก็ควบคุมการเดินทางให้อยู่ที่บ้านเป็นหลักอีกด้วย


          งดฉลองตรุษจีนทั่วประเทศ
          สำหรับการจัดความพร้อมในการดูแลผู้ป่วยของประเทศจีนจุดที่โดดเด่น คือ ระดมผู้ป่วยมาอยู่ด้วยกัน ในสถานที่เดียวกัน และระดมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ทรัพยากร เวชภัณฑ์ต่างๆ ให้การรักษาแบบโรงพยาบาลพิเศษ มีการก่อสร้างโรงพยาบาลอย่างรวดเร็วรองรับผู้ป่วย ซึ่งเคยทำสำเร็จมาแล้วตอนซาร์ส ถัดมาคือให้ทุกเมืองทุกอำเภอปรับโรงพยาบาล รองรับผู้ป่วย ให้ทีมแพทย์ พยาบาล และทรัพยากรต่างๆ ดูแลในจุดที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ


          จุดเด่นของจีนคือลดการสัมผัสในพื้นที่อย่างเข้มข้น สั่งไม่ให้ฉลองตรุษจีนทั่วประเทศ เป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยมีมาก่อน เพราะตรุษจีนของจีนใหญ่ที่สุดในโลก รวมถึงอีเวนท์ งานมหรสพทุกอย่างงดหมด ทำให้การแพร่โรคป้องกันได้มาก มีการเหลื่อมเวลาการทำงาน ควบคุมการเดินทางเข้าออกจากพื้นที่ที่มีการระบาดอย่างเข้มข้น ในพื้นที่ที่มีการระบาดไม่มากก็ควบคุมอย่างเหมาะสม แม้ของไทยจะยังไม่ถึงขั้นนั้น แต่หากเตรียมระยะ 3 จะต้องเพิ่มมาตรการตรงส่วนนี้ เรียนรู้จากจีน จะเป็นไปได้หรือไม่หากเราจะงดเทศกาลสงกรานต์ เรื่องนี้ต้องอาศัยความเข้าใจ


          “นอกจากนี้ยังมีการดูแลจิตใจของประชาชน โดยระดมหน่วยงาน อาสาสมัครระดับประเทศ ชุมชน ดูแลในส่วนนี้เพื่อให้คนที่อยู่บ้านมีอาหาร จีนมีพลังทางด้านไอที ซึ่งเขาได้เอามาใช้ทำให้คนอยู่บ้านมีข้าวของ ทำให้การสื่อสารมีประสิทธิภาพ”


          นพ.ศุภมิตร กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการทำงานของไทย เริ่มต้นรับมือกับโควิด-19 มาตั้งแต่เดือนมกราคม หลังจากทราบว่ามีเหตุการณ์ผิดปกติในจีน เราเริ่มต้นคัดกรองผู้เดินทางโดยเฉพาะจากอู่ฮั่น และจากจีนทั้งหมดต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ทำได้ค่อนข้างรวดเร็ว เราไม่ได้เริ่มต้นจากศูนย์เพราะไทยมีประสบการณ์รับมือไข้หวัดนก ไข้หวัดใหญ่ ระหว่างนั้นเราก็มีประสบการณ์โรคเมอร์ส และความเสี่ยงอีโบล่า ดังนั้นศักยภาพเดิมเรามีพอสมควรทำให้เริ่มต้นได้เร็ว


          “เราผ่านระยะที่ 1 มาแล้ว ขณะนี้อยู่ในระยะที่ 2 คือ เริ่มมีการติดเชื้อในประเทศ ในวงจำกัด แต่ยังมีความกังวลว่าบางคนอาจจะติดเชื้อมา แต่อาการน้อย อยู่ในระยะฟักตัว เราต้องเผื่อว่าอาจจะมีระยะ 3 คือ มีการแพร่โรค ขยายตัวออกไป จนถึงระดับที่เราตามไม่ถูกว่ามาจากไหน จึงต้องเตรียมพร้อมเพื่อความไม่ประมาท ต้องป้องกัน เพื่อไม่ให้แพร่”

 

 

ยุทธศาสตร์ 4 ระดับ 9 ด้าน พาจีนผ่านวิกฤติโควิด-19 

ดร.แดเนียล แฮร์เทสซ์

 


          จำกัดเคส ปชช.ร่วมมือพาไทยผ่านวิกฤติ
          ด้าน ดร.แดเนียล แฮร์เทสซ์  WHO Representative to Thailand กล่าวว่า ในฐานะ WHO มีหน้าที่ดูแลโรคติดต่อและโรคทั่วไประดับโลก จุดประสงค์ที่มาช่วยในเรื่องโควิด-19 คือการดูแล เตรียมการ ควบคุมโรค โดยทำงานร่วมกับนักวิชาการทางด้านสาธารณสุขเพื่อต่อสู้กับโควิด-19 ตั้งแต่การทำความเข้าใจโรค การระบาด มาตรการการรักษา เรื่องสารพันธุกรรม และร่วมมือกับห้องปฏิบัติการเพื่อศึกษาโรค ทำงานร่วมกับแพทย์เพื่อดูว่ามีอาการทางคลินิกอย่างไร


          สำหรับจีนสามารถจัดการกับการระบาดของโรคได้ดี การใช้มาตรการต่างๆ ทำให้ลดการติดเชื้อเป็นมาตรการควบคุมโรคทำได้เร็ว และทำได้อย่างเต็มที่ เพราะมีภาคประชาชนสนับสนุน สิ่งที่เรียนรู้จากจีนสามารถไปประยุกต์ใช้ได้ทุกที่ อันดับ 1 คือ ต้องหาเคสจำกัดการแพร่เชื้อไม่ให้ระบาดเป็นวงกว้าง ตอนนี้ไทยเป็นระยะ 2 โอกาสที่แพร่ระบาดก็ยังมี ดังนั้นต้องเตรียมตัวควบคุมเพื่อให้อยู่ในระยะเดิม เพราะหากเราป้องกันได้จะทำให้เกิดการระบาดช้าลง เตรียมพร้อมด้านสาธาณสุข ให้ประชาชนมีความรู้ และความพร้อม ต้องทำการสำรวจทุกที่ที่เป็นไปได้ หากมีผู้ป่วยต้องตรวจและรีบแยก ไม่ให้มาระบาดเพิ่มเติม รวมถึงติดตามผู้ที่เสี่ยงได้อย่างครอบคลุม จะทำให้ระบบห่วงโซ่การติดเชื้อลดลง และไทยจะสามารถผ่านวิกฤติได้

 

 

 

ยุทธศาสตร์ 4 ระดับ 9 ด้าน พาจีนผ่านวิกฤติโควิด-19 

 


          “ถัดมาคือใช้มาตรการด้านสาธารรสุขให้ประชาชนทุกคนช่วยเหลือ ป้องกัน ล้างมือบ่อยๆ ให้สะอาด ด้วยสบู่และน้ำ หรือแอลกอฮอลล์เจล หากไอให้ไอใส่ทิชชู่ หรือแขนเสื้อ ไอแล้วให้ทิ้งทิชชู่และล้างมือ พยายามรักษาระยะห่างจากคนอื่น 1 เมตร หลีกเลี่ยงอย่าจับปาก ตา จมูก บางคนติดนิสัย ตอนนี้ต้องหยุดได้แล้ว ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่ทุกคนทำได้ ต้องพยายามทำ เพื่อลดการระบาดโควิดและโรคอื่นๆ ด้วย” Dr.Daniel กล่าวทิ้งท้าย

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ