Lifestyle

บำรุงราษฎร์รับมือโควิด-19 ทดสอบ คัดกรอง ป้องกันแพร่ระบาด

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

บำรุงราษฎร์รับมือโควิด-19 ทดสอบ คัดกรอง ป้องกันแพร่ระบาด โดย... ปาริชาติ บุญเอก[email protected] -

 

 

          เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ถือเป็นโรงพยาบาลเอกชนแห่งแรกที่ได้รับการรับรองจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ให้สามารถตรวจเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ ซึ่งในการรับรองครั้งนี้นอกจากเครื่องมือและบุคลากรที่ต้องพร้อมแล้วยังจำเป็นต้องมีสถานที่ที่ไม่ทำให้บุคลากรเสี่ยงต่อการติดเชื้อและสามารถรองรับผู้ป่วยได้เพียงพอ

อ่านข่าว-ร่วมต้านโควิด-19 ซีพีเอฟจัดเมนูฟรีหนุนรพ.-กลุ่มเสี่ยง

 


          ซึ่งขณะนี้มีทั้งหมด 7 แห่ง สามารถตรวจเชื้อโควิด-19 ได้แก่ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โรงพยาบาลราชวิถี สถาบันบำราศนราดูร และโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์

 

 

บำรุงราษฎร์รับมือโควิด-19 ทดสอบ คัดกรอง ป้องกันแพร่ระบาด

นพ.วิชัย เตชะสาธิต

 


          นพ.วิชัย เตชะสาธิต แพทย์ผู้ชำนาญการด้านอายุรศาสตร์โรคติดเชื้อโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ อธิบายว่า เนื่องจากโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์เป็นอินเตอร์เนชั่นแนล ฮอสปิทอล  ส่งผลให้มีผู้ป่วยจากหลายประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งในแถบเอเชีย เช่น จีน เข้ามาใช้บริการ ดังนั้นมาตรการของเราจึงต้องเฝ้าระวังตั้งแต่การติดตามข่าวสารโรคอุบัติใหม่และอุบัติซ้ำจากทั่วโลกทั้งจากองค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ) และกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข


          สำหรับสถานการณ์โควิด-19 เริ่มส่งสัญญาณแปลกๆ จากประเทศจีนตั้งแต่ช่วงปีใหม่ ซึ่งได้เฝ้าติดตาม มีคณะกรรมการ เจ้าหน้าที่ พยาบาล นักระบาดวิทยา ร่วมกันประชุมถึงปัญหาดังกล่าว และออกมาตรการว่า หากใครที่กลับมาจากอู่ฮั่น (ตอนนั้นเฝ้าระวังอู่ฮั่นที่เดียว) หากมีไข้ มีอาการทางเดินหายใจ ขอเชิญไปที่ห้องความดันลบซึ่งอยู่ภายในห้องฉุกเฉิน 

 

 

บำรุงราษฎร์รับมือโควิด-19 ทดสอบ คัดกรอง ป้องกันแพร่ระบาด

 


          รวมถึงให้เจ้าหน้าที่ใส่หน้ากากอนามัย ใส่ชุดป้องกันในการตรวจรักษา และเนื่องจากในขณะนั้นห้องแล็บที่สามารถตรวจได้มีเพียงที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ หากเราสงสัยในอาการของผู้ป่วย คือ เป็นไข้ มีอาการทางเดินหายใจ มาจากที่ที่มีการระบาดของโรค 3 ประเด็นนี้ ต้องส่งตัวอย่างให้ห้องแล็บทั้ง 2 แห่ง เพื่อตรวจเชื้อโควิด-19

 

 

          นพ.วิชัย อธิบายเพิ่มเติมว่า การตรวจหาเชื้อโควิด-19 ไม่สามารถตรวจในเลือดได้ ต้องใช้อุปกรณ์คล้ายๆ คอตตอนบัตยาวๆ แหย่เข้าไปในโพรงจมูกเพื่อเขี่ยเอาเซลล์ที่อยู่ข้างหลัง หรือแหย่ผ่านทางปากโดยตรง เอาตัวอย่างใส่ลงไปในน้ำยาที่เลี้ยงไวรัสเอาไว้ และส่งให้ทางแล็บที่สามารถตรวจได้

 

 

บำรุงราษฎร์รับมือโควิด-19 ทดสอบ คัดกรอง ป้องกันแพร่ระบาด

 


          ภายหลังจากที่ประเทศจีนสามารถถอดรหัสพันธุกรรมของไวรัสโคโรน่า 2019 ออกมาได้สำเร็จ นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกจึงเดินหน้าผลิตน้ำยาชุดตรวจเพื่อทำการทดสอบซึ่งต้องเป็นแล็บที่มีเทคโนโลยีสูง เช่น กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลศิริราช เป็นต้น


          รพ.1ใน7แห่งตรวจโควิด-19
          ล่าสุดเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ออกประกาศรับรองให้โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ เป็นโรงพยาบาลเอกชนแห่งแรกที่มีห้องปฏิบัติการที่ผ่านการรับรองให้เป็นเครือข่ายของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ในการตรวจเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งขณะนี้มีทั้งหมด 7 แห่ง ได้แก่ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โรงพยาบาลราชวิถี สถาบันบำราศนราดูร และโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์

 

 

บำรุงราษฎร์รับมือโควิด-19 ทดสอบ คัดกรอง ป้องกันแพร่ระบาด

 


          นพ.วิชัย กล่าวต่อไปว่า เนื่องจากโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์เป็นอินเตอร์เนชั่นแนล จึงมีห้องแล็บที่ทันสมัย มีเครื่องมือและมีบุคลากรที่มีความสามารถ ขาดเพียงชุดทดสอบเชื้อโรคอุบัติใหม่เพราะผลิตเองไม่ได้ ต้องเป็นโรงพยาบาลระดับมหาวิทยาลัย ดังนั้นโรงพยาบาลจึงต้องนำเข้าจากประเทศจีนเพื่อดูแลเคสภายใน และยังมีบางส่วนที่ต้องส่งไปทดสอบที่โรงพยาบาลรัฐเพื่อยืนยัน


          “เราพยายายามพัฒนาในการดูแลคนไข้ให้อย่างทันท่วงที ซึ่งก่อนที่จะได้รับการรับรองต้องมีเจ้าหน้าที่จากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เข้ามาตรวจสอบ ทดลองมาตรฐาน ส่งตัวอย่างผลบวก ตัวอย่างผลลบ เพื่อทดลองว่าตรวจตรงหรือไม่ ต้องตรวจได้ตามมาตรฐานที่ถูกกำหนดโดยสากล ใช้เวลาดำเนินการรับรองราว 2 อาทิตย์”


          ทั้งนี้ สิ่งสำคัญของห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรอง นอกจากความพร้อมเรื่องเครื่องมือและบุคลากรแล้วยังรวมไปถึงความพร้อมเรื่องสถานที่ทั้งด้าน Facilities คือมีห้อง Negative Pressure (ห้องความดันลบ) และห้องปฏิบัติการระดับความปลอดภัยทางชีวภาพ Bio-Safety Level 2 Plus (BSL2-Plus) พื้นที่ต้องไม่ทำให้เจ้าหน้าที่ติดเชื้อ ซึ่งกรมควบคุมโรคได้กำหนดไว้ว่าหากจะทดสอบเชื้อโรคอุบัติใหม่หรือโรคติดต่ออันตรายจะต้องมีอุปกรณ์เครื่องมืออะไรบ้าง ครบพร้อมหรือไม่ สามารถแยกออกจากพื้นที่อื่นๆ ได้โดยที่ไม่มีใครเข้ามาปะปน เพราะการตรวจเชื้อไวรัสถือว่าเป็นเชื้ออันตราย ต้องมีข้อกำหนดในด้านมาตรฐานชัดเจน

 

 

บำรุงราษฎร์รับมือโควิด-19 ทดสอบ คัดกรอง ป้องกันแพร่ระบาด

 


          แนะควรตรวจเคสที่จำเป็น
          นพ.วิชัย กล่าวว่า พอได้รับรองมาตรฐานคนทั่วไปอาจจะเข้าใจว่ารับตรวจหมด แต่ความจริงชุดตรวจมีจำกัด ต้องเข้าใจสถานการณ์ ชุดตรวจมีอยู่ 2 ลักษณะ คือ ถูกส่งมาจากบริษัทใหญ่ในจีน สหรัฐอเมริกา หรือโรงเรียนแพทย์ แต่โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ไม่สามารถผลิตชุดตรวจเองได้จึงต้องนำเข้า ซึ่งมีเงินซื้อไม่ได้ เพราะมีความต้องการทั่วโลก


          ประเด็นต่อมาคือความเข้าใจของคนทั่วไปไม่ว่าจะเป็นหรือไม่เป็นก็มาตรวจ ความจริงแล้ว ถ้ายังไม่มีอาการ ถึงแม้ติดมาโอกาสตรวจก็ใช่ว่าจะเจอ 100% จึงต้องใช้วิธีที่ว่าหากผู้ป่วยยังไม่มีอาการขอให้อยู่บ้านและอีก 2 อาทิตย์มาตรวจใหม่ ควรจะสงวนทรัพยากรเพื่อให้แพทย์เป็นผู้ตัดสินใจว่าควรจะตรวจหรือไม่ สิ่งที่บำรุงราษฎร์ต้องการจะบอกคือมีความสามารถที่จะตรวจได้ มีเครื่อง มีบุคลากร ได้รับการรับรอง แต่ตอนนี้ชุดตรวจมีจำกัด เพราะฉะนั้นพยายามจะตรวจสำหรับคนไข้ที่มีความจำเป็นจริงๆ


          หลังจากมีการประกาศเพิ่มประเทศกลุ่มเสี่ยงทำให้มีคนมาคัดกรองเพิ่มขึ้น ดังนั้นโรงพยาบาลจึงต้องมีกฎเกณฑ์ในการปฏิบัติ สงวนไว้ให้คนที่สงสัยและจำเป็น เพราะชุดตรวจที่นำเข้ามาต้องผ่านการอนุญาตจากองค์การอาหารและยา (อย.) ใช้ระยะเวลาในการรอผลตรวจราว 4-6 ชั่วโมง ซึ่งโรงพยาบาลได้จัดพื้นที่ให้ผู้ที่รอผลการคัดกรองแยกต่างหาก


          อย่างไรก็ตามในการตรวจหนึ่งครั้งไม่ได้มีเฉพาะค่าตรวจเชื้อโควิด-19 เท่านั้น แต่มีค่าใช้จ่ายอื่นๆ เพิ่มเข้ามา เนื่องจากบุคลากรที่ตรวจต้องใส่ชุดป้องกัน ซึ่งต้องเปลี่ยนชุดทุกครั้งเมื่อตรวจคนหนึ่งเสร็จ หรือตรวจเจอเชื้อไข้หวัดใหญ่ก็มีค่าใช้จ่ายในการรักษาตามโรค


          “ผู้ป่วยคัดกรองหากเข้าข่ายมากเราจะขอให้เขาอยู่โรงพยาบาล อาจจะต้องรักษาหรือมีโรคอื่น แต่สำหรับคนที่อาการไม่มาก หรือไม่เข้าข่าย จะตรวจและให้กลับไปรอผลที่บ้าน รักษาตามอาการ และโทรไปรายงานผล หากเจอผลเป็นบวกก็จะมีวิธีการปฏิบัติว่าให้ไปตรงจุดไหน ขณะนี้มีห้องความดันลบ 3 ห้อง และพยายามแบ่งวอร์ดหนึ่งเอาไว้ให้อยู่ในพื้นที่เดียวกัน โดยไม่ให้ผู้ป่วยอื่นมาปะปน”


          “เราเตรียมพร้อมและจะทำให้ดีที่สุด เราพยายามจะสงวนที่ เตียง ห้องต่างๆ ที่มีอยู่ให้แก่เคสที่จำเป็น หากตรวจเจอถ้าทำได้เราจะส่งต่อไปที่สถาบันบำราศนราดูร หรือ รพ.ราชวิถี เพราะมีความพร้อม เป็นกิจจะลักษณะ และภาครัฐมีหลักประกันสุขภาพในกรณีผู้ป่วยโควิด-19 แต่หากส่งไปไม่ได้เราจะพยายามดูแลอย่างเต็มที่”


          “อย่างไรก็ตามการตรวจไม่ใช่คำตอบสุดท้าย โดยเฉพาะคนที่ไม่มีอาการ การทำแล็บยังมีจำกัด ค่าใช้จ่ายไม่ใช่แค่ชุดตรวจ แต่มีขั้นตอนต่างๆ รวมถึงการแปรผล ดังนั้นอยากจะให้สังคมเข้าใจ แม้ขณะนี้ชุดป้องกันสำหรับบุคลากรและหน้ากากจะยังเพียงพอ แต่หากใช้โดยเกินความจำเป็นก็จะเสียของโดยเปล่าประโยชน์ และหากวันหนึ่งระยะ 3 มาถึง ของที่จำเป็นต้องใช้อาจจะไม่เพียงพอ”
  

          นพ.วิชัย อธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับในเคสที่จำเป็นต้องตรวจเชื้อโควิด-19 อาทิ กลับจากญี่ปุ่น เป็นไข้ 3 วัน เหนื่อยหอบ มีการคัดกรอง ปอดอักเสบ กรณีนี้ต้องรีบตรวจ ชุดตรวจเหล่านี้ควรสงวนไว้สำหรับการควบคุมโรค ดังนั้น มาตรการให้เฝ้าระวังตัวเอง 14 วัน ตรงนั้นเป็นประโยชน์มากกว่าจะมานั่งตรวจ เพราะหากไม่มีอาการแล้วมาตรวจผลออกมาเป็นลบก็ไม่ได้บอกว่าไม่เป็น เพราะถ้าไปทำงานในระยะฟักตัว เกิดเป็นขึ้นมาจะกลายเป็นว่าไม่ระวังตัวไปกันใหญ่


          “คนที่เพิ่งเดินทางกลับจากประเทศเสี่ยงต้องดูแลตัวเอง 14 วัน ไม่ต้องถึงกับไปขังตัวเองมากมาย แต่พยายามออกนอกบ้านให้น้อยที่สุด สัมผัสผู้อื่นให้น้อยที่สุด หากจำเป็นต้องออกไปให้ใส่หน้ากากอนามัย หากอยู่ในบ้านหรือคอนโดคนเดียวก็ไม่ต้องใส่ หมั่นล้างมือให้สะอาด และหากมีอาการค่อยมาโรงพยาบาล” นพ.วิชัย กล่าว


          8 มาตรการรับมือโควิด-19
          สำหรับ 8 มาตรการหลักในโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ เพื่อความปลอดภัยทั้งพนักงานและผู้ป่วย ได้แก่ 1.ลดโอกาสในการรับเชื้อให้น้อยที่สุดโดยการสวมใส่เครื่องป้องกันการรับเชื้อ ทั้งหน้ากากอนามัยและชุดอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (PPE) 2.ป้องกันการติดเชื้อจากการสัมผัสและจากฝอยละอองที่มีเชื้อ โดยการทำความสะอาดสถานที่ต่างๆ ในโรงพยาบาลสม่ำเสมอ รวมถึงภายในรถตู้รับส่ง


          3.บริหารจัดการการเข้าออก และการใช้พื้นที่ในโรงพยาบาลของผู้มาติดต่อ ทั้งเครื่องจับอุณหภูมิ ซักประวัติ บริการแอลกอฮอลล์และหน้ากากอนามัย  4.การเตรียมความพร้อมกรณีพบผู้ป่วยต้องสงสัย ได้แก่ การเตรียมบุคลากรทั้งทางการแพทย์และพยาบาลประจำห้องฉุกเฉินในกรณีพบผู้ต้องสงสัยติดเชื้อโควิด-19 นำผู้ต้องสงสัยไปยังห้องแยกโรคภายในห้องความดันลบเพื่อป้องกันการแพร่กระจาย และเจ้าหน้าที่ต้องสวมใส่ชุดป้องกันตนเองจากการติดเชื้อและเตรียมแคปซูลที่ทันสมัยในการขนย้ายผู้ป่วยต้องสงสัย


          5.การบริหารจัดการบุคลากรทางการแพทย์ที่มีอาการเจ็บป่วยหรือสัมผัสกับโรค โดยมีมาตรการเพื่อป้องกันการติดเชื้อของพนักงานและในการดูแลพนักงานเมื่อเกิดการเจ็บป่วย 6.ฝึกอบรมและให้ความรู้แก่บุคลากรทางการแพทย์ เกี่ยวกับโควิด-19 และขั้นตอนการคัดกรองผู้ที่เข้าเกณฑ์เฝ้าระวังก่อนที่อาสาสมัครจากแผนกต่างๆ จะเริ่มปฏิบัติหน้าที่ตามจุดคัดกรองแต่ละจุด พร้อมอัพเดทข้อมูลสถานการณ์ของโรค ให้แก่บุคลากรทางการแพทย์เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง


          7.การทำความสะอาด การกำจัดของเสียอย่างเหมาะสม มีการแยกประเภทขยะเป็นขยะติดเชื้อ ขยะทั่วไปจากทุกวอร์ดในโรงพยาบาล เพื่อนำไปกำจัดด้วยกระบวนการตามมาตรฐานและมีการทำความสะอาดลิฟต์ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อทุกครั้งหลังขนเสร็จ และ 8.จัดระบบรายงานภายในโรงพยาบาลและระบบรายงานกับหน่วยงานสาธารณสุข จัดตั้งศูนย์บัญชาการสถานการณ์เพื่อประเมิน ปรับตัวตามสถานการณ์


          นพ.วิชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันได้จัดให้มีจุดคัดกรอง 5 จุด เน้นให้ความสำคัญในตึกผู้ป่วยนอก คือทำเส้นทางเดินเข้าภายในตึกโดยแยกลิฟต์โดยสารระหว่างทางลงและขึ้นไปลานจอดรถชัดเจนเพื่อให้ผู้ป่วยหรือผู้มาใช้บริการลงมาเจอกับจุดคัดกรองแรกที่หน้าลิฟต์เพื่อสอบถามเบื้องต้น จากนั้นผู้ใช้บริการต้องเดินผ่านเครื่องเทอร์โมสแกนเพื่อวัดอุณภูมิ หากพบว่ามีไข้จะต้องมาที่จุดคัดกรองอีกจุดที่ตั้งอยู่บริเวณหน้าประตูทางเข้า หากพบว่ามีอาการระบบทางเดินหายใจทางโรงพยาบาลจะแจกหน้ากากอนามัยให้ใส่ ซักถามอาการ และส่งต่ออย่างเป็นระบบ


          “ผู้ป่วยต่างชาติที่มาใช้บริการซึ่งแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ 1.มีใบนัด จะมีข้อมูล รายละเอียดเบื้องต้นก่อนมาถึงอยู่แล้ว และ 2.กลุ่มที่วอล์กอินเข้ามาจะมีการกรอกรายละเอียด ซักประวัติ ทั้งชื่อ สถานที่พำนัก และอื่นๆ อย่างละเอียด 100% นอกจากนี้กลุ่มต่างชาติที่เดินทางมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยง หรือมีการเดินทางท่องเที่ยวไปในประเทศกลุ่มเสี่ยง จะยิ่งมีการซักประวัติอย่างละเอียดมากขึ้น” นพ.วิชัย กล่าว


          นอกจากนี้ทางโรงพยาบาล ยังออกข้อปฏิบัติในการเยี่ยมผู้ป่วยช่วงโควิด-19 เพื่อความปลอดภัยสูงสุดสำหรับทั้งผู้ป่วย ผู้มาเยี่ยม และบุคลากร ตามมาตรฐานของกรมควบคุมโรค ได้แก่  ผู้เข้าเยี่ยมต้องติดต่อเคาน์เตอร์พยาบาลทุกครั้งก่อนเข้าเยี่ยม โดยจำกัดจำนวนผู้เข้าเยี่ยมในแต่ละครั้งให้น้อยที่สุด หากผู้เยี่ยมหรือบุคลใกล้ชิดมีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ น้ำมูก และเดินทางมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยงไม่เกิน 14 วัน ขอให้งดเยี่ยม และโรงพยาบาลมีสิทธิ์ปฏิเสธการเยี่ยมหากพิจารณาว่าอาจก่อให้เกิดความไม่ปลอดภัยต่อผู้ป่วย

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ