Lifestyle

เปิดโทษปกปิดข้อมูล "โควิด-19"  โทษสูงสุดคุกไม่เกิน 2 ปีปรับไ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เปิดโทษปกปิดข้อมูล "โควิด-19"  โทษสูงสุดคุกไม่เกิน 2 ปีปรับไม่เกิน 5 แสน  

 

 

          คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ประกาศโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือโควิด-19 เป็นโรคติดต่ออันตราย ซึ่งจะเกิดประโยชน์อย่างมากในการช่วยให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น และการประกาศนี้ไม่ได้แปลว่าประเทศเข้าสู่การระบาดระยะที่ 3 แต่อย่างใด เป็นการประกาศเพื่อให้การทำงานเพื่อชะลอหรือยืดระยะเวลาการเข้าสู่ระยะที่ 3 ไว้ให้ได้นานที่สุด

 

อ่านข่าว...  โควิด-19 ระบาดทั่วโลกแล้ว

 

 

          14โรคติดต่ออันตราย
          ก่อนหน้านี้ประเทศไทยมีการประกาศ โรคติดต่ออันตรายแล้ว 13 โรค ได้แก่ 1.กาฬโรค 2.ไข้ทรพิษ 3.ไข้เลือดออกไครเมียนคองโก 4.ไข้เวสต์ไนล์ 5.ไข้เหลือง 6.โรคไข้ลาสซา 7.โรคติดเชื้อไวรัสนิปาห์ 8.โรคติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์ก 9. โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา 10.โรคติดเชื้อไวรัสเฮนดรา 11.โรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง หรือโรคซาร์ส 12.โรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง หรือโรคเมอร์ส และ 13.วัณโรคดื้อยาหลายขนานชนิดรุนแรงมาก หากโรคโควิด-19 ผ่านการเห็นชอบของคณะกรรมการก็จะเป็นลำดับที่ 14

 

 

 

เปิดโทษปกปิดข้อมูล "โควิด-19"  โทษสูงสุดคุกไม่เกิน 2 ปีปรับไ

 


          นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค(คร.) อธิบายว่า หากประกาศโรคโควิด-19 เป็นโรคติดต่ออันตรายมีผลบังคับใช้ จะดำเนินการตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ซึ่งจะมีการกำหนดว่าประชาชน ผู้รับผิดชอบในสถานพยาบาล หรือผู้ควบคุมสถานประกอบการหรือสถานที่อื่นใด เช่น โรงแรม จะต้องรายงานแจ้งต่อเจ้าหน้าที่เมื่อมีผู้ต้องสงสัยหรือผู้ป่วยที่เป็นโรคติดต่ออันตราย โดยจะต้องให้ข้อมูลเป็นจริง หากไม่แจ้งจะมีโทษปรับ 2 หมื่นบาท 


          โทษสูงสุดคุก2 ปีปรับ5แสน
          ขณะนี้ประกาศให้โรคโควิด-19 เป็นโรคติดต่ออันตราย นายอนุทิน ชาญวีรกูล  รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ลงนามแล้ว อยู่ระหว่างการรอประกาศในราชกิจจานุเบกษา และจะมีผลบังคับใช้หลังจากนั้น 1 วัน ทั้งนี้ เมื่อประกาศมีผลบังคับใช้แล้วจะดำเนินการตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 โดยจะมีโทษสูงสุด จำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 

 

 

เปิดโทษปกปิดข้อมูล "โควิด-19"  โทษสูงสุดคุกไม่เกิน 2 ปีปรับไ

 


          โดยเป็นฝ่าฝืนในส่วนของมาตรา 40 (2) ซึ่งกำหนดในกรณีที่มีการประกาศให้ท้องที่หรือเมืองท่ามดนอกราชอาณาจักรเป็นเขตติดโรค เจ้าพนักงานมีอำนาจดำเนินการให้เจ้าของพาหนะหรือผู้ควบคุมพาหนะที่เข้ามาในประเทศ โดยจัดให้พาหนะจอดอยู่ ณ สถานที่ที่กำหนดให้จนกว่าเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อประจำด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศจะอนุญาตให้ไปได้ 

 



          นอกจากนี้ มาตรา 34 (1) มีอำนาจนำผู้ที่เป็น/มีเหตุสงสัยว่าเป็นโควิด-19/ผู้สัมผัส มารับการตรวจ การชันสูตร แยกกัก กักกัน คุมไว้สังเกต โทษ ปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท


          มาตรา 35 กรณีมีเหตุจำเป็นเร่งด่วน สั่งปิดสถานที่ต่างๆ /สั่งห้ามไปในสถานที่ชุมชน สถานศึกษา สถานที่ใด / สั่งหยุดงานชั่วคราว โทษ จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


          มาตรา 39 (5) ห้ามเจ้าของ/ผู้ควบคุมพาหนะนำผู้เดินทางไม่ได้รับการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคเข้าประเทศ โทษปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท

 

 

เปิดโทษปกปิดข้อมูล "โควิด-19"  โทษสูงสุดคุกไม่เกิน 2 ปีปรับไ

 


          แยกกัก-กักกัน-คุมไว้สังเกตอาการ
          นพ.โสภณ อธิบายว่า มีคำสำคัญ 3 คำ ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 คือ 1.แยกกัก ซึ่งจะเป็นผู้ป่วยที่มีเชื้อแล้วจะต้องนำเข้าแยกกักในห้องแยกโรคความดันเป็นลบ 2.กักกัน เป็นคนที่ยังไม่ป่วยแต่มีโอกาสได้รับเชื้อ จึงจำเป็นต้องให้คนดังกล่าว กักกันอยู่ในพื้นที่เฉพาะ ซึ่งอาจจะเป็นที่บ้านของคนผู้นั้นเองก็ได้ เป็นเวลาครบ 14 วัน ซึ่งจากการดำเนินการเช่นนี้ในกลุ่มผู้สัมผัสผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงที่ผ่านมา มีเพียง 2% ที่เป็นเสี่ยงสูงแพร่เชื้อ และอีก 98% เป็นคนปกติ แต่ที่ต้องมีความดำเนินการเพื่อความปลอดภัย


          และ 3.คุมไว้สังเกตอาการ ซึ่งเป็นผู้สัมผัสที่ไม่ใกล้ชิดผู้ป่วย แต่จะต้องคุมไว้สังเกตอาการจนครบ 14 วัน โดยให้อยู่ที่บ้าน แต่จะต้องมีการติดตามอาการทุกวัน วัดไข้ และเมื่อป่วยให้ไปพบแพทย์ เช่น กรณีปู่ย่าหลาน คนในไฟลท์บิน คนที่จัดเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูงคือคนที่นั่ง 2 แถวหน้า-หลังของผู้ป่วย ส่วนคนร่วมไฟลท์คนอื่น ถือเป็นเสี่ยงต่ำ แต่ต้องคุมไว้สังเกตอาการ


          วอนกลุ่มเสี่ยงรับผิดชอบสังคม
          นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา อุปนายกแพทยสภา คนที่ 1 และคณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นประธานการแถลงข่าว “เรียกร้องประชาชนกลุ่มเสี่ยงไวรัส COVID-19 ร่วมรับผิดชอบต่อสังคม ป้องกันการแพร่ระบาด ด้วยการให้ข้อมูลที่เป็นจริง” ว่าวันนี้โรคโควิด-19 กระจายไปกว่า 40 ประเทศทั่วโลก มีผู้ป่วยกว่า 8 หมื่นคนทั่วโลก รวมถึงผู้ป่วยที่รุนแรงและเสียชีวิตเพิ่มขึ้นตลอดเวลา

 

 

เปิดโทษปกปิดข้อมูล "โควิด-19"  โทษสูงสุดคุกไม่เกิน 2 ปีปรับไ

 


          ทั้งนี้ กลุ่มเสี่ยง ประกอบไปด้วย คนที่เดินทางมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ จีน มาเก๊า ญี่ปุ่น ไต้หวัน ฮ่องกง สิงคโปร์ เกาหลีใต้ อิหร่าน อิตาลี ถือว่าอยู่ในกลุ่มเสี่ยง ขณะเดียวกันกลุ่มเสี่ยงอีกกลุ่ม คือ ผู้ที่มีโอกาสสัมผัสกับกลุ่มเสี่ยงโดยตรง เช่น คนที่อยู่ในบ้านเดียวกันกับกลุ่มข้างต้น ผู้ที่ให้บริการชาวต่างชาติ ซึ่งสัมผัสกับไวรัสต่างๆ ไม่ว่าจะแท็กซี่ คนขับรถ สิ่งที่ควรจะกระทำคือทำให้ตัวท่านเองไม่แพร่เชื้อไปให้คนอื่น ต้องหยุดที่ตัวของท่านเอง ต้องรู้จักควบคุม ทำอย่างไรไม่ให้กระจาย


          อย่าปิดบังข้อมูล เล่าความจริง
          กลุ่มเสี่ยงเมื่อมีอาการระบบทางเดินหายใจ ไอ เจ็บคอ มีไข้ ขอให้รีบตรงไปที่โรงพยาบาล และขอให้ใส่หน้ากากอนามัย งดการเดินทางด้วยระบบขนส่วนมวลชนเพื่อไม่ให้แพร่ไปยังผู้อื่น เมื่อไปถึงโรงพยาบาลให้แสดงตน แต่ละโรงพยาบาลจะมีกระบวนการคัดกรอง ดูแล สำหรับผู้ที่ไม่เป็นกลุ่มเสี่ยง แต่มีไข้ เป็นหวัด มีโอกาสจะเป็นหวัดธรรมดาได้ แนะนำให้ไปพบแพทย์ เล่าอาการให้เขาฟัง ขอให้แจ้งตามความเป็นจริง


          ย้ำแนวปฏิบัติป้องกันโควิด-19
          พญ.ยุพิน ศุพุทธมงคล หัวหน้าสาขาวิชาโรคติดเชื้อและอายุรศาสตร์เขตร้อน ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า สำหรับกลุ่มเสี่ยงแบ่งเป็น 3 กลุ่มใหญ่ได้แก่ กลุ่มที่ 1 กลุ่มที่เดินทางกลับหรือแวะพักในประเทศที่มีการระบาดโรคโควิด-19 ซึ่งเมื่อเดินทางถึงประเทศไทย ต้องโทรศัพท์แจ้งผู้บังคับบัญชา หรือหัวหน้างาน เพื่อขอลางาน เพราะคนกลุ่มนี้ควรหยุดทำงาน อยู่กับบ้านเป็นเวลา 14 วัน ตามระยะเวลาการฟักตัวของเชื้อ และเมื่ออยู่ที่บ้านควรแยกพื้นที่ที่อยู่อาศัยกับผู้อื่นในบ้าน เลือกอยู่ในบริเวณที่มีอากาศถ่ายเทได้ดี อยู่ห่างอย่างน้อยระยะ 1 เมตร

 

 

เปิดโทษปกปิดข้อมูล "โควิด-19"  โทษสูงสุดคุกไม่เกิน 2 ปีปรับไ

 


          โดยหากในบ้านมีผู้สูงอายุ มีผู้ป่วยภาวะติดเตียง หรือมีผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ ต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา และต้องทำความสะอาดมือด้วยสบู่ น้ำ หรือแอลกอฮอล์เจล อย่างเคร่งครัด และไม่ควรใช้สิ่งของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น และควรหาอุปกรณ์ป้องกัน เช่น หน้ากากอนามัย ให้คนที่ใกล้ชิดในบ้านเดียวกัน และหลีกเลี่ยงเดินทางไปในที่ชุมชนต่างๆ


          ขณะที่กลุ่มที่ 2 คนที่อาศัยอยู่ในครัวเรือนเดียวกับคนกลุ่มเสี่ยงกลุ่มแรก การปฏิบัติตัวในช่วง 14 วันแรกที่มีโอกาสได้รับเชื้อ ต้องไม่ให้คนกลุ่มเสี่ยงมาใกล้ชิด ในระยะอย่างน้อย 1 เมตร ต้องทำความสะอาดมือด้วยสบู่ แอลกอฮอล์เจล ไม่ใช้สิ่งของส่วนตัว หากจำเป็นต้องติดต่อควรสวมใส่หน้ากากอนามัย ทั้ง 2 กลุ่มนี้ ต้องเฝ้าระวังอาการเจ็บป่วยของตนเอง ที่จะบ่งชี้ว่าได้รับเชื้อมาแล้ว เช่น มีอาการไข้ ขอให้ตรวจวัดอุณหภูมิ ด้วยปรอทวัดไข้เป็นเวลา 3 ครั้งต่อวัน และมีอาการทางเดินหายใจ อย่าง มีน้ำมูก ถ้ามีอาการ 2 อย่างร่วมกัน ให้พึงระวังว่ามีโอกาสติดเชื้อสูงมากต้องเดินทางไปโรงพยาบาล หรือโทรสายด่วนควบคุมโรค 1442 และขอให้ไปโรงพยาบาลใกล้ที่สุด หรือโรงพยาบาลตามสิทธิ์ เมื่อมาด้วยรถส่วนตัวให้เปิดหน้าต่างรถจะได้มีอากาศถ่ายเท และเมื่อเดินทางมาถึงโรงพยาบาลขอให้แจ้งต่อเจ้าหน้าที่ว่าสงสัยป่วยเป็นโรคโควิด-19 เพื่อให้โรงพยาบาลดูแลรักษาต่อไป


          ส่วนกลุ่มที่ 3 กรณีที่ตนเองไม่ป่วยและไม่ได้เป็นกลุ่มเสี่ยงหากมีอาการป่วย ไข้หวัด ก็ขอให้ไปพบแพทย์ และแจ้งประวัติ แต่ถ้าไม่มีอาการใดๆ อย่ากังวล ขอให้ปฏิบัติตัวเอง ให้มีสุขอนามัยส่วนบุคคลที่ดี ทั้งในแง่ของความแข็งแรง ภูมิคุ้มกันที่ดี กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือบ่อยๆ หลีกเลี่ยงไปในพื้นที่สาธารณะ


          “อยากฝากให้ทุกคนในสังคมควรดูแลตัวเอง และป้องกันไม่ให้ตัวติดเชื้อหรือแพร่เชื้อ โดยปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และโรงพยาบาลต่างๆ และอย่าวิตกกังวล เพราะโรคนี้ไม่ใช่เป็นโรคที่เป็นตลอดชีวิต เมื่อพ้นระยะฟักตัว 14 วัน แล้วตรวจไม่เจอก็ถือว่าไม่เป็นโรค สังคมต้องช่วยกันทำความเข้าใจ อย่าให้ใครๆ ในสังคมมารังเกียจคนที่เป็นกลุ่มเสี่ยง หรือคนที่ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์”


 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ