Lifestyle

"ช่างชาวนา"ปรับวิถีตามยุคสมัยลดต้นทุนกำหนดชะตาชีวิตตัวเอง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"ช่างชาวนา"ปรับวิถีตามยุคสมัยลดต้นทุนกำหนดชะตาชีวิตตัวเอง โดย...  ทีมคุณภาพชีวิต [email protected] -

 

 

          ชาวนากระดูกสันหลังของชาติ พวกเขาทำนากันด้วยความรักโดยไม่ได้สนใจกาลเวลา มารู้ตัวอีกทีก็อายุ 60 - 70 ปีเข้าไปแล้ว แม้จะอยากทำนาต่อแต่ร่างกายก็เริ่มอ่อนแรง สิ่งที่ต้องคิดต่อจึงเป็นเรื่องว่าจะทำอย่างไรให้ผืนนาแห่งนี้อยู่ต่อไปได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งคำตอบก็คือต้องปรับวิถีการทำนาให้สอดคล้องกับยุคสมัย ให้คนเดิมที่มีความรักต่อท้องนายังสามารถทำนาต่อแม้ร่างกายจะเริ่มอ่อนแรง หรือให้คนรุ่นใหม่หันมาสนใจ นำความเชี่ยวชาญเท่าทันต่อยุคสมัยของพวกเขามาพัฒนาผืนนาไทยอย่างยั่งยืน

 

 

"ช่างชาวนา"ปรับวิถีตามยุคสมัยลดต้นทุนกำหนดชะตาชีวิตตัวเอง

 

 

          จากโจทย์คำว่า “การปรับวิถีการทำนาให้สอดคล้องกับยุคสมัย” นี้เอง จึงทำให้เกิดการระดมกลุ่มคนเพื่อสร้างสรรค์วิธีการทำนาที่ตอบโจทย์พื้นที่และแรงงานด้วยการรวมตัวกันเป็นกลุ่ม “ช่างชาวนา” เพื่อยกระดับเครื่องมือการทำนาให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ด้วยการรวบรวมกลุ่มช่างชาวนามาแก้ปัญหาหลักการทำนาอย่างไรให้ได้ผลมากที่สุด ขณะที่ฝนไม่ตกตามฤดูกาล


          ทองหล่อ ขวัญทอง นักวิจัยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เป็นทั้งนักวิจัยและชาวนาแดนอีสาน จ.ยโสธร เล่าว่า การเกิดขึ้นของกลุ่มช่างชาวนา เริ่มต้นจากการช่วยกันสืบย้อนว่ามีเครื่องมือทำนาที่ผ่านการออกแบบให้สอดรับกับบริบทของพื้นที่อยู่ที่ใดบ้าง มาจากช่างฝีมือคนไหน แล้วจึงช่วยกันออกตระเวนหาช่างเหล่านั้น ช่างที่พร้อมจะเดินไปด้วยกัน และพร้อมจะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน จนได้พบกับช่างรายย่อยที่อยู่ใกล้ชิดกับคนในชุมชนต่างๆ ช่างที่รู้ว่าคนในชุมชนมีเครื่องจักรประเภทไหนและรู้ว่าจะต่อเติมเพิ่มสมรรถนะให้แก่เครื่องจักรที่มีอยู่เดิมอย่างไร เพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้งานจริง

 

 

"ช่างชาวนา"ปรับวิถีตามยุคสมัยลดต้นทุนกำหนดชะตาชีวิตตัวเอง

 


          เมื่อรวมตัวกันเป็นกลุ่มช่างชาวนาได้ 10 คน เครื่องมือแรกที่ถูกพัฒนามาจากโจทย์ปัญหาที่หนักหนาสุดของชาวนาอีสาน “ปัญหาหลักคือคนอีสานทำนาดำไม่ค่อยได้ เพราะฝนไม่ตกตามฤดูกาล การจะทำนาหว่านก็ไม่เหมาะกับบริบทการทำเกษตรแบบอินทรีย์ของคนที่นี่เพราะต้องใช้ยาในการฆ่าหญ้า ประกอบกับชาวนาในกลุ่มส่วนใหญ่ก็ทำในส่วนของการผลิตเมล็ดพันธุ์ซึ่งจะต้องใช้ความละเมียดละไมในการปลูกมากกว่าข้าวทั่วไป 

 

          วิธีการทำนาที่จะตอบโจทย์ที่สุดจึงเป็นการทำ ‘นาหยอด’ ดังนั้นเครื่องมือแรกที่กลุ่มช่างสร้างสรรค์จึงเป็น ‘เครื่องหยอดข้าว’ ซึ่งได้เครื่องต้นแบบมาจาก จ.กาฬสินธุ์ แล้วจึงนำมาปรับให้เหมาะสมกับพื้นที่ยโสธรซึ่งเป็นดินทราย หลังจากพัฒนาตัวต้นแบบ (Prototype) เสร็จ จึงนำไปให้กลุ่มเป้าหมายทดลองใช้งานจริงอีกหลายครั้งเพื่อเก็บข้อมูลมาพัฒนาประสิทธิภาพการทำงานของเครื่อง

 

 

"ช่างชาวนา"ปรับวิถีตามยุคสมัยลดต้นทุนกำหนดชะตาชีวิตตัวเอง

 



          ทองหล่อ เล่าว่า แนวคิดของกลุ่มคือการสร้างอุปกรณ์การทำนาที่ตอบโจทย์พื้นที่และการเปลี่ยนแปลงไปของแรงงาน ทำอย่างไรจะทุ่นแรงให้ได้มากขึ้น ใช้แรงงานให้น้อยลงแทนการจ้างแรงงานมาทำนา และปรับผืนนาให้สอดรับกับเครื่องมือที่นายทุนผลิต ตอนนี้สามารถผลิตเครื่องหยอดข้าวต้นแบบที่เหมาะกับพื้นที่โจทย์ได้แล้ว ไม่เพียงหยอดข้าวได้ดีแต่ยังมีขนาดเครื่องยนต์เล็กเหมาะกับการทำงานในผืนนาขนาดย่อมและยังมีน้ำหนักที่เบาพอจะให้คนชราและคนรุ่นใหม่ทำนาได้ไม่ลำบากเหนื่อยยากเหมือนแต่เดิม นอกจากนั้นยังมีอีกเครื่องมือหนึ่งที่กลุ่มช่างได้พัฒนาควบคู่กันไป เพราะเป็นปัญหาใหญ่ของคนทำนาแบบปลอดสารในพื้นที่เช่นกันคือ ‘เครื่องกำจัดวัชพืช’ ตอนนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการพัฒนาให้สมบูรณ์


          เครื่องมือที่ช่างชาวนาพัฒนาขึ้นไม่เพียงทุ่นแรงแต่ยังทำให้ผืนนาแห่งนี้มีมูลค่าสูงขึ้น จากการที่ชาวนาสามารถกำหนดชะตาชีวิตได้ด้วยตนเอง “แน่นอนสิ่งแรกที่เกิดขึ้นกับนาที่ใช้เครื่องมือของช่างชาวนาคือ ‘ต้นทุนลดลง’ เพราะเครื่องมือที่ผลิตขึ้นมีราคาเพียงหลักหมื่นต้นๆ แตกต่างจากเครื่องมือที่ผลิตโดยบริษัทใหญ่ราคาหลักแสนหลักล้าน ประกอบกับการที่เครื่องยนต์มีกลไกการทำงานไม่ซับซ้อน จึงเหมาะกับการซื้อไปใช้ในทุกชุมชนหรืออาจไปถึงทุกครัวเรือน จะคนวัยไหนก็สามารถใช้งานได้สะดวก จึงลดต้นทุนแรงงานจากที่จะต้องจ้างคนมาช่วยทำนา

 

 

"ช่างชาวนา"ปรับวิถีตามยุคสมัยลดต้นทุนกำหนดชะตาชีวิตตัวเอง

 


          ประเด็นที่สองคือ ‘กำหนดชะตาชีวิตได้ด้วยตัวเอง’ เพราะการที่ต้องอาศัยแรงงานผู้อื่นในการทำนาบางครั้งอาจทำให้เวลาทำนาคลาดเคลื่อน ซึ่งแท้จริงแล้วหากพลาดไปจากเวลาที่เหมาะสมเพียงวันหรือสองวันบางครั้งก็เหมือนพลาดไปเป็นปี ชาวนาอีสานจึงต้องทันต่อช่วงการมาของน้ำและสภาพของดินที่เหมาะสม ประเด็นสุดท้ายคือการ ‘ลดการสูญเสีย’ เพราะการที่สามารถควบคุมคุณภาพในการปลูกได้มากขึ้น จึงใช้ปริมาณเมล็ดพันธุ์ลดลงกว่าครึ่ง และใช้เวลาในการทำนาลดลงด้วยเช่นกัน สามารถนำเวลาที่เหลือไปใช้ในการทำเรื่องอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์หรือสร้างรายได้เพิ่ม ถ้าเทียบเป็นสัดส่วนรายได้ก็ถือว่าเพิ่มขึ้นอีกกว่าครึ่งจากรายได้เดิม”


          "การสร้างสรรค์เครื่องมือของกลุ่มช่างชาวนา จะทำให้คนรุ่นใหม่หันกลับมาสนใจผืนนาที่จะเป็นมรดกตกทอดไปสู่รุ่นหลัง “ก็หวังว่าเทคโนโลยีที่สะดวกสบายขึ้น สร้างรายได้มากขึ้นและมีความมั่นคงในการทำงานเพราะมีตลาดอาหารปลอดสารพิษที่พร้อมรับสินค้าและให้ราคาที่ค่อนข้างดีโดยตลอด จะทำให้พวกเขาหันมาสนใจ รู้สึกหวงแหน และเกิดเป็นความรักต่อไป หวังว่าพวกเขาจะนำความรู้ความเชี่ยวชาญของคนรุ่นใหม่มาพัฒนาต่อยอดให้ผืนนาแห่งนี้งดงามและงอกเงยยิ่งขึ้น” ทองหล่อ กล่าว

 

 

"ช่างชาวนา"ปรับวิถีตามยุคสมัยลดต้นทุนกำหนดชะตาชีวิตตัวเอง

 


          กลุ่มช่างชาวนาไม่เพียงจะมีการพัฒนาเครื่องมือจากความต้องการของผู้ใช้งานจริงให้มากขึ้น “กลุ่มช่างชาวนากำลังเดินหน้าไปสู่การขยายวงกว้างในหลายมิติ ทั้งในการรวมตัวของกลุ่มช่างที่มากขึ้น การขยายขอบเขตองค์ความรู้เชื่อมโยงกับผู้เชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยี เช่น อาจารย์จากมหาวิทยาลัย และขยายการใช้งานเทคโนโลยีไปสู่วงกว้าง โดยการจัดตั้งพื้นที่ให้ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีและจัดจำหน่ายอุปกรณ์​ ผู้ที่สนใจสามารถทดลองใช้ได้ในพื้นที่เครือข่ายจังหวัดต่างๆ ซึ่งจะขยายวงกว้างต่อไปในอนาคต
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ