Lifestyle

ยุติ"เอดส์"ไม่ติดไม่ตายไม่ตีตราค้นหารักษาป้องกันแพร่ระบาด

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ยุติ "เอดส์" ไม่ติด ไม่ตาย ไม่ตีตรา  ค้นหา รักษา ป้องกันแพร่ระบาด โดย...  ปาริชาติ บุญเอก [email protected] -

 


          ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค ระบุว่า ปี 2561 ประเทศไทยมีจำนวนผู้ติดเชื้อเอชไอวี ที่ยังมีชีวิตประมาณ 480,000 ราย อยู่ระหว่างรับยาต้านไวรัส 358,606 ราย มีผู้เสียชีวิตเนื่องจากเอชไอวี 18,000 ราย และติดเชื้อรายใหม่ 6,400 ราย กรุงเทพมหานคร เป็นพื้นที่ที่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่มากที่สุด โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์สูง แต่การให้บริการดูแลรักษาเอชไอวี ยังไม่ครอบคลุม
   

 

 

 

ยุติ"เอดส์"ไม่ติดไม่ตายไม่ตีตราค้นหารักษาป้องกันแพร่ระบาด

 

 

          ทั้งนี้กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และกรุงเทพมหานคร ได้จัดโครงการ “เครือข่ายยุติเอดส์ในกรุงเทพมหานคร” (Network to Ending AIDS in Bangkok: NEAB) ตามยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการยุติปัญหาเอดส์ พ.ศ.2560–2573 โดยมีเป้าหมายหลัก 3 ประการ คือ “ไม่ติด-ไม่ตาย-ไม่ตีตรา” ด้วยวิธีการ 1.ลดการติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่เหลือไม่เกิน 1,000 รายต่อปี 2.ลดการเสียชีวิตในผู้ติดเชื้อเอชไอวี เหลือปีละไม่เกิน 4,000 ราย และ 3.ลดการเลือกปฏิบัติ อันเนื่องจากเอชไอวีและเพศภาวะ
    

          ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากโครงการ President’s Emergency Plan for AIDS Relife (PEPFAR) ของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ซึ่งทำงานร่วมกับสำนักอนามัย กรุงเทพมหานครตั้งแต่ปี 2544 พร้อมด้วยเครือข่าย 8 โรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานคร คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล และศูนย์บริการสาธารณสุข 37 แห่งของสำนักอนามัย ปี 2560–2652 มีการขับเคลื่อนเน้นจังหวัดที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่สูง 13 จังหวัด รวมถึงกรุงเทพมหานคร
   

 

ยุติ"เอดส์"ไม่ติดไม่ตายไม่ตีตราค้นหารักษาป้องกันแพร่ระบาด

 

          ล่าสุดในปี 2563  มีการขยายโรงพยาบาลเครือข่ายเพิ่มขึ้น 9 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า โรงพยาบาลเลิดสิน โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลราชวิถี โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี และโรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า ซึ่งเป็นโรงพยาบาลภาครัฐขนาดใหญ่ที่มีผู้ติดเชื้อจำนวนมากกำลังรับการรักษาอยู่ มุ่งสู่เป้าหมาย “เสี่ยงแล้วไม่ติด ติดแล้วกินยา กินยาอย่างสม่ำเสมอ”
    


          เพื่อให้คนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงและผู้ที่ติดเชื้อสามารถเข้าถึงบริการ วินิจฉัย ป้องกัน รักษาที่มีคุณภาพ รวมถึงมีเครือข่ายสถานพยาบาลที่ร่วมมือกันมุ่งสู่เป้าหมายยุติปัญหาเอดส์ มีสถานพยาบาลต้นแบบที่เป็นที่ผลิตบุคลากร สำหรับศึกษาดูงานได้ และมีข้อมูลที่ถูกต้องในการประเมินสถานการณ์นำไปสู่การยุติปัญหาเอดส์
   

          พญ.สุภาพร กรลักษณ์ รองผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร กล่าวในงานแถลงข่าวเดินหน้ายุติปัญหาเอดส์ในประเทศไทย ว่ากรุงเทพมหานครตั้งเป้าเป็นเมืองที่ไม่มีผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ ไม่มีการเสียชีวิตเนื่องจากเอชไอวี และไม่มีการตีตรา รวมถึงเพื่อให้ผู้ป่วยมีชีวิตยืนยาว ภายในปี 2573 ในส่วนของศูนย์บริการสาธารณสุข สำนักอนามัย ปัจจุบันมีการจัดบริการยาต้านไวรัสทั้งก่อนและหลัง ให้ผู้รับบริการที่ไม่มีเชื้อเอชไอวี แต่มีความเสี่ยงสูง ในศูนย์บริการสาธารณสุข 37 แห่ง กระจายทั่วกรุงเทพมหานคร และในปีนี้จะมีการพัฒนาคุณภาพข้อมูลของสถานพยาบาลให้มีการครอบคลุมมากขึ้นเพื่อนำมาใช้ในการยุติเอดส์ต่อไป


          ตั้งเป้า 95 – 95 - 95
          ด้าน นพ.ปรีชา เปรมปรี รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ประเทศไทยกำลังก้าวสู่เป้าหมายยุติปัญหาเอดส์ โดยกระทรวงสาธารณสุขได้ผลักดันนโยบาย เช่น การสนับสนุนงบประมาณ เวชภัณฑ์ ยา และการตรวจทางห้องปฏิบัติการที่เพียงพอ ให้ครอบคลุมประชากรทุกกลุ่ม พร้อมสนับสนุนให้มีกองทุนสุขภาพให้สิทธิประโยชน์ในการตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวี และยาต้านไวรัส เพื่อการรักษาฟรี
   

 

 

ยุติ"เอดส์"ไม่ติดไม่ตายไม่ตีตราค้นหารักษาป้องกันแพร่ระบาด

นพ.ปรีชา เปรมปรี

 

          เริ่มด้วยการให้ยาป้องกันก่อนการสัมผัสเชื้อเอชไอวี (PrEP) ฟรี ร่วมกับการใช้ถุงยางอนามัยในประชากรที่มีพฤติกรรมเสี่ยง รวมทั้งเร่งหาแนวทางให้คนที่ไร้สิทธิ และลดช่องว่างของแต่ละสิทธิ์ เพื่อให้ทุกคนเข้าถึงบริการป้องกันและดูแลรักษาอย่างครอบคลุม พร้อมจัดบริการและระบบส่งต่ออย่างมีประสิทธิภาพทั้งในภาครัฐ เอกชน องค์กรภาคประชาสังคม ทุกสิทธิ


          “เป้าหมายของการรักษาเริ่มตั้งแต่การค้นหา การรักษาต่อเนื่อง และการป้องกันไม่ให้แพร่ระบาด ซึ่งเป้าหมายปี 2573 เราจะเรียกว่า 95 – 95 -95 คือ คนที่ติดเชื้อต้องรู้สถานะการติดเชื้อ 95% คนรู้แล้วต้องได้รับการรักษา 95% และคนได้รับยาแล้วต้องได้รับยาอย่างสม่ำเสมอ 95%”

 

 

ยุติ"เอดส์"ไม่ติดไม่ตายไม่ตีตราค้นหารักษาป้องกันแพร่ระบาด

 


          เชื้อจะเหลือศูนย์ก็ต้องป้องกัน
           ทั้งนี้จากกรณีที่มีการถกเถียงในโลกออนไลน์อยู่ในขณะนี้นั้น รองอธิบดีกรมควบคุมโรค อธิบายว่าหากยังไม่รู้สถานะโรค คนที่มีความเสี่ยงทั้งหลายต้องรีบมาตรวจ ตอนนี้ก็มีบริการตรวจฟรีตามคลินิกนิรนาม ถ้าตรวจเจอแล้วกระบวนการรักษาเป็นสิ่งสำคัญ ถ้าได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่องทำให้เชื้อในร่างกายลดลงมาก แต่หากรับประทานยาไม่สม่ำเสมออาจจะทำให้เชื้อกลับขึ้นมาได้ ต้องติดตามอยู่ตลอด แต่สิ่งที่สำคัญ คือ เรื่องการป้องกันไม่ให้ติดเชื้อ ถ้าติดเชื้อแล้วให้มารักษาเพื่อไม่ให้แพร่ต่อ
   

          สำหรับคนที่รับประทานยาจนเชื้อไม่มีแล้ว ยังถือว่ามีความเสี่ยง แต่อาจจะน้อยลง ดังนั้นยังจำเป็นต้องป้องกัน ขณะที่กลุ่มที่เชื้อแพร่กระจายให้คนอื่นได้ ถึงแม้จะมีการตรวจหาว่ามีเชื้อมากน้อยเท่าไหร่ หรือรับประทานยาแล้วเชื้อลดลงไปมากต้องอาศัยการตรวจเช็กเป็นระยะ แต่ในบางรายที่เชื้อลดเป็นศูนย์อาจจะความเสี่ยงน้อย แต่ต้องป้องกันด้วยวิธี 1.ใช้ถุงยางอนามัย 2.คนที่ไม่ได้เป็นให้กินยาป้องกันก่อนการสัมผัสเชื้อเอชไอวี (PrEP) ทั้งสองอย่างต้องควบคู่กัน 3.ตระหนักและป้องกันตัวโรคอื่นๆ
  

 

ยุติ"เอดส์"ไม่ติดไม่ตายไม่ตีตราค้นหารักษาป้องกันแพร่ระบาด

 

 

          “คนที่ติดเชื้อเอชไอวี อาจมีโรคอื่นร่วมด้วย หากยังไม่รักษาอาจเกิดการแพร่ระบาด เช่น ซิฟิลิส หนองในทั้งหลาย ตับอักเสบ บี หรือ ซี ดังนั้นต้องมีการป้องกัน เพราะหากรู้สถานะเอชไอวี แต่ไม่รู้สถานะโรคอื่นก็มีความเสี่ยงในการติดต่อ”


          รับข่าวสารที่เชื่อถือได้
          นพ.ปรีชา กล่าวต่อไปว่า ตอนนี้มีเครือข่ายทั้งภาคประชาชนและกลุ่มเสี่ยงโดยตรง มีแกนนำแต่ละกลุ่มที่จะให้ข้อมูลข่าวสาร รวมถึงกระทรวงสาธารณสุขเอง มีเครือข่ายในการให้ข้อมูลข่าวสาร ซึ่งสามารถสอบถามได้ทุกที่ เช่น คลินิกนิรนาม สภากาชาดไทย โรงพยาบาล กลุ่มภาคเอกชน ภาคประชาชน เช่น กลุ่มชายรักชาย ที่ทำงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งผ่านการรับรองว่าสามารถให้ความรู้ได้ และหากไม่แน่ใจว่าข้อมูลตามโซเชียลมีเดียเชื่อถือได้หรือไม่ ให้โทรมาที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422 ก่อน ตลอด 24 ชั่วโมง
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ