Lifestyle

รพ.มหาราชนครเชียงใหม่ยกระดับรักษาพัฒนาตึกอาพาธสงฆ์

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

รพ.มหาราชนครเชียงใหม่ยกระดับรักษาพัฒนาตึกอาพาธสงฆ์สู่รพ.ครบวงจร โดย...  ทีมข่าวคุณภาพชีวิต -รูปกล่อง ตึกอาพาธสงฆ์ 

 

 

 


          โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ยกระดับระบบการรักษาผู้ป่วยสงฆ์ พัฒนาอาคารสงฆ์อาพาธ สู่โรงพยาบาลสงฆ์ เทียบเท่ากับ “โรงพยาบาลขนาดกลาง” รองรับสงฆ์อาพาธทั่วภาคเหนือกว่า 1 หมื่นรายหลังจากที่สร้างมาเมื่อปี 2482 และได้เปิดบริการเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน ปีเดียวกัน ขณะนั้นพระภิกษุสามเณรที่มารับการรักษาที่โรงพยาบาลแห่งนี้ ต้องปะปนกับบุคคลทั่วไป พระชาญวิธีเวชช์ รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขในขณะนั้น จึงแนะนำให้สร้างตึกสงฆ์สำหรับพระภิกษุ สามเณร ที่อาพาธให้แยกจากผู้ป่วยทั่วไป

 

 

 

รพ.มหาราชนครเชียงใหม่ยกระดับรักษาพัฒนาตึกอาพาธสงฆ์

 

 

          ปี 2493 อาคารสงฆ์อาพาธหลังแรกถือกำเนิดขึ้น ด้วยการเปิดรับบริจาคจำนวน 304,305.50 บาท สร้างอาคาร 2 ชั้น ขนาดกว้าง 8.5 เมตร ยาว 22 เมตร ชั้นล่างเป็นห้องรวมรับผู้ป่วยได้ 12 เตียง ชั้นบนเป็นห้องแยก 6 ห้อง แต่จากการที่มีจำนวนภิกษุสามเณรเดินทางมารักษาอาการอาพาธที่ รพ.มหาราชนครเชียงใหม่ มากขึ้น จึงได้มีการหาทุนสร้างอาคารสงฆ์อาพาธแห่งที่ 2 ในปี 2506 ซึ่งเป็นอาคาร 2 ชั้น ประกอบด้วย ห้องจัดพิธีทางศาสนา ห้องฉันเพล หน่วยเวชระเบียน ห้องตรวจผู้ป่วยนอก หอผู้ป่วยสงฆ์อาพาธ 1 จำนวน 16 เตียง หอผู้ป่วยสงฆ์อาพาธ 2 จำนวน 24 เตียง ใช้เงินในการก่อสร้างทั้งสิ้น 670,000 บาท


          หลังจากนั้นได้ขยายบริการ โดยมีพระครูจิตตวิโสธนาจารย์ (พระอาจารย์หนู สุจิตฺโต) เจ้าอาวาสวัดดอยแม่ปั๋ง บริจาคเงินจำนวน 55 ล้านบาท เพื่อสร้างอาคารสงฆ์หลังใหม่สูง 5 ชั้น มีพื้นที่ใช้สอย 7,080 ตารางเมตร มีเตียงทั่วไป 26 เตียง ห้องพิเศษ 19 ห้อง หอผู้ป่วยหนัก ห้องพิธีสงฆ์ และได้ให้ชื่ออาคารนี้ว่า “อาคารสงฆ์อาพาธสุจิตฺโต” ในปี 2547

 

รพ.มหาราชนครเชียงใหม่ยกระดับรักษาพัฒนาตึกอาพาธสงฆ์

 


          จากอาคารสงฆ์อาพาธสู่รพ.สงฆ์
          อาคารสงฆ์อาพาธสุจิตฺโต ได้เปิดใช้ตั้งแต่ปี 2547 กระทั่งปี 2560 คณะผู้บริหารของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รวมถึงคณะสงฆ์ เจ้าคณะสังฆาธิการของภาคเหนือ มีความเห็นร่วมกันว่าควรเพิ่มศักยภาพของตึกสงฆ์อาพาธให้สามารถบริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ครบวงจร ให้มีความสามารถเทียบเท่ากับ “โรงพยาบาลขนาดเล็ก” สามารถดูแลรักษาพระภิกษุสงฆ์ทั้งผู้ป่วยใน และผู้ป่วยนอกอย่างได้มาตรฐาน โดยการให้มีแพทย์ประจำ เพิ่มจำนวนบุคลากร อุปกรณ์ทางการแพทย์ และเพิ่มประโยชน์ใช้สอยของพื้นที่เดิมให้มากที่สุด




          ศ.นพ.บรรณกิจ โลจนาภิวัฒน์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มช. กล่าวว่า ปัจจุบันได้พัฒนาขีดความสามารถการรักษาพยาบาลสงฆ์อาพาธให้เทียบเท่าโรงพยาบาลขนาดกลางที่ได้มาตรฐาน โดยจัดให้มีอายุรแพทย์ประจำ เพิ่มศักยภาพในการวินิจฉัยโรค

 

 

 

รพ.มหาราชนครเชียงใหม่ยกระดับรักษาพัฒนาตึกอาพาธสงฆ์

ศ.นพ.บรรณกิจ โลจนาภิวัฒน์

 


          การรักษาพยาบาลให้มีเครื่องมือและสถานที่สำหรับทำหัตถการต่างๆ เอกซเรย์ ตรวจเลือด จ่ายยา ไตเทียม และรักษาผู้ป่วยวิกฤติได้ โดยให้มีการส่งต่อไปยังโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่เฉพาะบางรายเท่านั้น ปัจจุบันมีพระภิกษุอาพาธแบบผู้ป่วยนอกประมาณ 50 รูปต่อวัน ผู้ป่วยในประมาณ 15 รูปต่อวัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพระสงฆ์ในเขต 8 จังหวัดภาคเหนือ


          ชั้นที่ 1 จุดคัดกรองผู้ป่วย ห้องตรวจโรค 3 ห้อง ห้องทำหัตถการ ห้องเอกซเรย์ ห้องการเงิน ห้องจ่ายยา ห้องพิธีการสงฆ์ ห้องฉันภัตตาหาร ชั้นที่ 2 ห้องผู้ป่วยหนักจำนวน 4 ห้อง ห้องพักแพทย์ พยาบาล ชั้นที่ 3 หอผู้ป่วยใน เตียงรวมจำนวน 24 เตียง ห้องแยกจำนวน 2 ห้อง ห้องสวดมนต์ ชั้นที่ 4 หอผู้ป่วยในห้องเดี่ยวจำนวน 19 ห้อง ห้องสวดมนต์ และ ชั้นที่ 5 ห้องพิธีการสงฆ์ ห้องประชุม พิพิธภัณฑ์หลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ ใช้งบประมาณก่อสร้างปรับปรุงรวมประมาณ 80 ล้านบาท เปิดให้บริการเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2561

 

 

รพ.มหาราชนครเชียงใหม่ยกระดับรักษาพัฒนาตึกอาพาธสงฆ์

 


          ปี62สงฆ์อาพาธกว่า1หมื่น
          ปี 2562 มีพระภิกษุสงฆ์อาพาธเข้ารับการรักษามากขึ้น จำนวน 11,301 รูป ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพระสงฆ์ในเขต 8 จังหวัดภาคเหนือ พบสงฆ์อาพาธผู้ป่วยนอก ป่วยด้วยโรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือด โรคเบาหวาน โรคระบบทางเดินอาหาร และโรคกระดูกและข้อ ส่วนสงฆ์อาพาธที่เป็นผู้ป่วยใน พบป่วยด้วยโรคธาลัสซีเมีย โรคมะเร็ง โรคตา โรคปอดบวม และโรคไตวาย ตามลำดับ รวมค่ารักษาต่อปีทั้งสิ้นกว่า 43,530,067 บาท ส่วนใหญ่พระสงฆ์เป็นโรคทั่วไป คือ มะเร็ง ความดัน เบาหวาน ที่ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (สิทธิ 30 บาท) เกือบ 30%


          หลังจากมีการขยายให้เป็น รพ.สงฆ์ และมีการบริหารจัดการดีขึ้น ทำให้มีพระที่เข้ารักษาเพิ่มเป็น 2 เท่า จากแต่ก่อนราว 4,000 กว่ารูป ปัจจุบันเพิ่มเป็นมากกว่า 1 หมื่นรูป เพราะมีโรงเรียนแพทย์ที่รักษาโรคยาก ไม่ได้เก็บค่าใช้จ่าย ซึ่งในแต่ละปีโรงพยาบาลต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายส่วนเกินสิทธิบัตรทอง โดยใช้เงินจากมูลนิธิสงฆ์อาพาธ และเงินบำรุงโรงพยาบาล กว่า 30,186,347 บาท


          ประชาชนที่มีจิตศรัทธาทุกท่านร่วมบริจาคได้ที่บัญชี “มูลนิธิโรงพยาบาลสวนดอก เพื่อพระภิกษุสงฆ์อาพาธ” ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาคณะแพทยศาสตร์ เชียงใหม่ เลขที่บัญชี 566-4-95594-8 และสามารถบริจาคผ่านแอพพลิเคชั่น SCB Easy ของธนาคารไทยพาณิชย์ หรือโมบายแบงกิ้ง ของธนาคารอื่นๆ โดยสแกนผ่านคิวอาร์โค้ด มูลนิธิโรงพยาบาลสวนดอก (ใบเสร็จรับเงินสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้)

 

 

รพ.มหาราชนครเชียงใหม่ยกระดับรักษาพัฒนาตึกอาพาธสงฆ์

 


          สปสช.พัฒนาระบบสุขภาพพระสงฆ์
          ดร.นพ.ชาตรี เจริญชีวะกุล ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการมีส่วนร่วม สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ระบุว่า สปสช.มีสิทธิบัตรทอง 30 บาท ให้พระสงฆ์ได้เข้าถึงการรักษาพยาบาล โดยเฉพาะกรณีฉุกเฉิน ซึ่งสามารถเข้าได้ทุกโรงพยาบาลในประเทศไทยทั้งรัฐบาลและเอกชน แต่จากข้อมูลพระภิกษุและสามเณร โดยสำนักงานพระพุทธศาสนา ปี 2562 ระบุว่า มีจำนวน 174,091 รูปทั่วประเทศ ในจำนวนนี้ ไม่มีข้อมูลในฐาน สปสช. จำนวน 20,559 รูป เนื่องจากบางรูปไม่มีบัตรประจำตัวประชาชน เพราะบวชมาเป็นระยะเวลานานตั้งแต่อายุยังน้อย

          ดังนั้น ในยุทธศาสตร์พัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2560–2564 ซึ่ง สปสช.มีเป้าหมายในการเพิ่มการเข้าถึงบริการในกลุ่มเปราะบางและกลุ่มที่ยังเข้าไม่ถึง โดยภารกิจหลักคือการเพิ่มการเข้าถึงสิทธิของพระสงฆ์ ในปี 2563 นี้ จะมีการขับเคลื่อนการจัดระบบบริการสุขภาพแบบไร้รอยต่อ (ยกเว้นใบ Refer) ไปได้ทุกที่ ฟรีทุกสิทธิ นำร่องระดับเขต พร้อมสนับสนุนเผยแพร่คู่มือการใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำหรับพระภิกษุ สามเณร ตามวัดต่างๆ อีกด้วย
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ