Lifestyle

ย้อนรอยมาตรการของไทย ในวันที่ ไวรัสข้ามพรมแดน 

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ย้อนรอยมาตรการของไทย ในวันที่ ไวรัสข้ามพรมแดน  โดย... พวงชมพู ประเสริฐ  [email protected]

 

 

  

          “ห้ามคนไม่ให้เดินทางไม่ได้เช่นไร ก็ห้ามไวรัสไม่ให้แพร่ระบาดข้ามแดนไม่ได้เช่นนั้น” เป็นคำที่วงการระบาดวิทยารับรู้กันดีว่า เมื่อเกิดการระบาดของโรคใดในพื้นที่ใดยากที่จะไม่ให้แพร่ไปในพื้นที่อื่น ซึ่งประเทศไทยในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา มีการรับมือครั้งใหญ่กับการแพร่ระบาดของโรคจากพื้นที่อื่นอย่างน้อย 5 ครั้ง ซาร์ส ไข้หวัดนก ไข้หวัดใหญ่ 2009 อีโบลา เมอร์ส และกรณี “ปอดอักเสบ” ที่กำลังระบาดอยู่ในเมืองอู่ฮั่นของจีนและยังไม่ทราบต้นเหตุนับเป็นครั้งที่ 6

 

 

          ปี 2545 โรคซาร์ส
          สถานการณ์ในประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ได้รายงานผู้ป่วยและเสียชีวิต 1 ราย คือ นพ.เออร์บานี่ คาร์โล ชาวอิตาลี เจ้าหน้าที่ประจำองค์การอนามัยโลก ซึ่งเดินทางกลับจากการสอบสวนโรคไวรัสซาร์ส ที่กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม แล้วเดินทางเข้ามาในประเทศไทย เพื่อรักษาตัวจากอาการติดเชื้อจากโรคดังกล่าวที่สถาบันบำราศนราดูร ก่อนที่จะเสียชีวิต


          ขณะนั้น สธ.มีการดำเนินการเฝ้าระวัง ป้องกันโรคอย่างเข้มข้น โดยได้ออกประกาศให้ประชาชนปฏิบัติ ได้แก่ 1.หลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังประเทศที่เป็นพื้นที่ของเขตระบาดโรคนี้ ได้แก่ จีน ฮ่องกง ไต้หวัน สิงคโปร์ และเวียดนาม จนกว่าสถานการณ์ของโรคนี้จะยุติลง 2.กรณีที่จำเป็นจะต้องเดินทางไปในพื้นที่ดังกล่าวขอให้หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับผู้ที่มีอาการหวัด

 

 

ย้อนรอยมาตรการของไทย ในวันที่ ไวรัสข้ามพรมแดน 

 


          3.กรณีที่เดินทางกลับมาจากเขตแพร่ระบาดของโรค หากมีอาการเป็นไข้หวัดควรรีบไปตรวจรักษา ระหว่างนี้ไม่ควรคลุกคลีกับบุคคลภายในครอบครัว จนกว่าจะตรวจและไม่พบการติดเชื้อ 4.หาก สธ.เห็นว่ามีผู้โดยสารเข้าประเทศรายใดรายหนึ่งรวมทั้งกลุ่มบุคคลที่เดินทางมาพร้อมกัน อาจจะมีอาการติดโรคดังกล่าว ก็จะกักตัวผู้ต้องสงสัยเหล่านั้นไว้เพื่อดูอาการ และ 5.ขอให้ประชาชนรักษาสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อเป็นการป้องกัน


          ปี 2546 ไข้หวัดนก
          มีรายงานข่าว “โรคระบาดไก่ ที่สงสัยจะเป็นไข้หวัดนก” ที่ฟาร์มเลี้ยงไก่ไข่รายย่อย บริเวณบึงบอระเพ็ด อ.หนองบัว จ.นครสวรรค์ ครั้งนั้น มีไก่ตายเป็นไก่ไข่ราว 10 ล้านตัว ไก่เนื้อ 160-200 ล้านตัว และเกิดมาตรการในการควบคุมการแพร่ระบาดต่างๆ ตามมา

 



          การควบคุมโรคในสัตว์มีการทำลายไก่ไปกว่า 30 ล้านตัว ขณะที่การเฝ้าระวังโรคในคน สธ.เฝ้าระวังผู้น่าจะเป็นไข้หวัดนก โดยมีอาการปอดบวม มีประวัติสัมผัสกับไก่ และส่งผลตรวจยืนยันเชื้อทางห้องปฏิบัติการว่า มีเชื้อไวรัสเอช 5 เอ็น 1 หรือเชื้อไข้หวัดนกหรือไม่ หากติดเชื้อจะให้ยารักษา ไม่ต้องกักบริเวณคนไข้และคนใกล้ชิด เพราะไม่ติดจากคนสู่คน คนที่ติดคือ คนที่สัมผัสไก่ มูลไก่ น้ำมูก น้ำลาย น้ำเลือด น้ำเหลือง ติดคนที่อ่อนแอ สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้ประชาชนไม่กล้าที่จะ “กินไก่” ทำให้นายกรัฐมนตรีในยุคนั้นต้องออกมา “กินไก่โชว์” เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภค

 

 

ย้อนรอยมาตรการของไทย ในวันที่ ไวรัสข้ามพรมแดน 

 


          ข้อมูลจากกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ประเทศไทยพบผู้ป่วยไข้หวัดนก ตั้งแต่ปี 2547–2549 จำนวน 25 ราย เสียชีวิต 17 ราย หลังจากปี 2549 เป็นต้นมา ไม่พบรายงานผู้ป่วยยืนยันโรคไข้หวัดนก


          ปี 2552 ไข้หวัดใหญ่ 2009
          เกิดการระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ขึ้นในประเทศเม็กซิโก โดยองค์การอนามัยโลก หรือ WHO เรียกชื่อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่นี้ว่า “ไข้หวัดหมู” หรือ Swine Flu และ “ไข้หวัดใหญ่เม็กซิโก” ก่อนที่จะประกาศเปลี่ยนเป็น “ไข้หวัดใหญ่ ชนิดเอ เอช 1 เอ็น 1" (Influenza A H1N1) ซึ่ง สธ.ไทยประกาศเปลี่ยนตามและให้เรียกย่อว่า “ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009” ตามปีที่เกิดการระบาดของโรค


          การสกัดโรคจึงมุ่งเน้นการดำเนินการภายในประเทศ ด้วยการรณรงค์ให้ประชาชน “กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ” ให้สวมใส่หน้ากากอนามัยเมื่อมีอาการไอเพื่อลดการแพร่ระบาดของโรค


          การจัดหาวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่มาฉีดให้แก่ประชาชน กระทั่งต่อมาก่อสร้าง “โรงงานผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่และไข้หวักนก” ขึ้นเอง เพื่อผลิตและใช้ในประเทศไทยและส่งออก ใช้งบประมาณราว 1,500 ล้านบาท ปัจจุบันโรงงานแห่งนี้ยังไม่สามารถผลิตวัคซีนในเชิงอุตสาหกรรมออกมาได้ และปัจจุบันโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 กลายเป็นไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลของไทย


          ปี 2557 อีโบลา
          พบเชื้อไวรัสอีโบลาระบาดในประเทศสาธารณรัฐกินี ยังไม่มีวัคซีนหรือวิธีรักษา สามารถแพร่ระบาดได้จากการสัมผัสเลือด อุจจาระ หรือเหงื่อของผู้ป่วยโดยตรง หรือมีเพศสัมพันธ์ หรือสัมผัสศพผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ โดยไม่มีการป้องกัน

 

 

ย้อนรอยมาตรการของไทย ในวันที่ ไวรัสข้ามพรมแดน 

 


          ประเทศไทยยังไม่เคยมีรายงานผู้ป่วยจากเชื้อไวรัสอีโบลา (Ebola) และเสี่ยงต่อโรคนี้ค่อนข้างน้อย เพราะมีระบบการป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาลที่ดี และมีผู้เดินทางไปแอฟริกาน้อย


          ระบบการเฝ้าระวังและควบคุมใช้ 4 มาตรการ คือ 1.ออกคำเตือนผู้ที่จะเดินทางไป และทำหนังสือถึงกระทรวงการต่างประเทศให้คำแนะนำแก่ผู้เดินทางไปประเทศที่พบการระบาด


          2.มีระบบการตรวจคัดกรอง และให้ความรู้แก่ประชาชนหลังเดินทางกลับจากพื้นที่ระบาด ภายใน 14 วัน หากมีอาการไข้ เลือดออกผิดปกติ หรืออาการผิดปกติอื่นๆ ให้ไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล พร้อมแจ้งประวัติการเดินทางกลับจากต่างประเทศแก่แพทย์ด้วย 3.การตรวจหาเชื้อ ทางห้องปฏิบัติการ โดยส่งเชื้อจากผู้ป่วยเข้าข่ายสงสัย ตรวจยืนยันที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และ 4.การป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล


          ปี 2557 โรคเมอร์ส
          สถานการณ์ต่างประเทศพบยอดผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ 2012 หรือ เมอร์ส-โควี ใน 13 ประเทศ และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นที่ประเทศซาอุกีอาระเบีย ล่าสุดมีรายงานในประเทศมาเลเซียและฟิลิปปินส์ ก่อนที่ต่อมาจะเรียกชื่อว่า โรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง หรือโรคเมอร์ส (MERS)


          สธ.จัดระบบการเฝ้าระวังโรคนี้ทุกจังหวัดในกลุ่มผู้เดินทางมาจากประเทศที่มีการระบาด และผู้ป่วยโรคติดเชื้อทางเดินหายใจเฉียบพลัน หากพบจะให้การดูแลเป็นพิเศษให้ปฏิบัติตามแนวทางการป้องกันควบคุมการแพร่กระจายเชื้อในสถานพยาบาลในระดับสูงสุดเช่นเดียวกับโรคซาร์ส และให้กรมควบคุมโรควางแผนการเฝ้าระวัง สอบสวนและควบคุมโรคอย่างเข้มข้นและส่งสารคัดหลั่งและเลือดเพื่อตรวจยืนยันเชื้อทางห้องปฏิบัติการกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ทุกราย


          ข้อมูลจากกองระบาดวิทยา ตั้งแต่ปี 2558-16 กันยายน 2562 ประเทศไทยมีผู้ป่วยสงสัยโรคดังกล่าว สะสมจำนวน 1,013 ราย โดยเป็นผู้ป่วยยืนยัน 3 ราย เป็นชาวต่างชาติทั้งหมด ได้เข้ารับการรักษาที่สถาบันบำราศนราดูร จนหายเป็นปกติและเดินทางกลับประเทศ


          ล่าสุด ปี 2563 “ปอดอักเสบ” จากเมืองอู่ฮั่นตอนกลางของจีน ที่ยังเป็นปริศนาว่าเกิดจากเชื้อไวรัสใด จำเป็นที่ประเทศไทยจะต้องออกมาตรการป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดโรคภายในประเทศสู่ประชาชนเป็นวงกว้าง คัดกรองผู้ป่วยที่เดินทางจากพื้นที่ที่สนามบินทุกแห่ง หากพบอาการต้องสงสัยจะนำมารักษาที่ห้องแยกโรค สถาบันบำราศนราดูร และส่งตรวจยืนยันเชื้อทางห้องปฏิบัติการ 


          ประสานสถานพยาบาลทุกระดับทั้งรัฐและเอกชนให้เฝ้าระวังผู้ป่วยที่เดินทางกลับจากเมืองอู่ฮั่น และขอความร่วมมือผู้ประกอบการท่องเที่ยวและที่พักให้ร่วมเฝ้าระวังและให้ข้อมูลนักท่องเที่ยวสอบถามได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422


 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ