Lifestyle

หลักสูตรสังคม อินเทรนด์ บูรณาการข้ามศาสตร์ เรียนรู้นวัตกรรม

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

หลักสูตรสังคม อินเทรนด์ บูรณาการข้ามศาสตร์ เรียนรู้นวัตกรรม โดย...  ชุลีพร อร่ามเนตร [email protected] -

 

 

          การศึกษาไทยในตลอดระยะเวลาหลายสิบปี เห็นได้ชัดเจนว่ามุ่งพัฒนากำลังคนเข้าสู่ตลาดแรงงานสายวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีเป็นหลัก เพราะด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกลายเป็นปัจจัยที่ทำให้ประเทศเข้มแข็งและแข่งขันกับนานาประเทศได้ ส่งผลให้มหาวิทยาลัยไทย ซึ่งมีบทบาทหน้าที่ในการผลิตกำลังสายต่างๆ ของประเทศได้มีการพัฒนาหลักสูตร การเรียนการสอนให้ตอบโจทย์ความต้องการของภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น

 

 

          ทว่าต่อให้มีหลักสูตรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ก่อเกิดตามการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีมากขนาดไหน หลักสูตรด้านสังคม ไม่ว่าจะเป็นสังคมศาสตร์ อักษรศาสตร์ มนุษย์ศาสตร์ ศิลปกรรมศาสตร์ นิเทศศาสตร์ ฯลฯ หลักสูตรเหล่านี้ยังคงเปิดการเรียนการสอน แถมยังมีเด็กให้ความสนใจเข้าศึกษาต่อจำนวนมาก

 

 

 

หลักสูตรสังคม อินเทรนด์ บูรณาการข้ามศาสตร์ เรียนรู้นวัตกรรม

ผศ.ชัยชาญ ถาวรเวช

 


          ผศ.ชัยชาญ ถาวรเวช อธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร (มศก.) กล่าวว่า การเรียนการสอนในอดีตจะเป็นไปตามเอกวิชาของตนเอง เช่น หลักสูตรประณีตศิลป์ จิตรกรรม ศิลปกรรมภาพพิมพ์ สถาปัตยกรรมศาสตร์ มัณฑนศิลป์ โบราณคดี อักษรศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ รวมถึงคณะด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ด้วยความหลากหลาย ม.ศิลปากรได้เปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอนเป็นบูรณาการข้ามศาสตร์ระหว่างหลักสูตรด้านศิลป์ สังคม วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี มีความเป็นดิจิทัลอาร์ต เรียนทั้งด้านศิลปะ เทคโนโลยี การออกแบบ และวิทยาศาสตร์ร่วมด้วย จนเป็นอัตลักษณ์ของ ม.ศิลปากร


          ปัจจุบันยุคดิสรัปชั่น มีการเปลี่ยนผ่านของเทคโนโลยี การใช้ชีวิตของผู้คน ขณะเดียวกันเด็กก็เกิดน้อยลง โครงสร้างสังคม เมืองเปลี่ยนไป อธิการบดีมศก. กล่าวต่อว่า มหาวิทยาลัยได้พยายามปรับเปลี่ยนการเรียนการสอน โดยมีการวิเคราะห์ว่าอนาคตสังคมต้องการคนแบบไหน โดยเฉพาะในศตวรรษที่ 21 คนที่อยู่รอด ต้องสามารถคิดวิเคราะห์ คิดสร้างสรรค์ ทำงานเป็นทีม อยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ และใช้เทคโนโลยีเป็น 

 

หลักสูตรสังคม อินเทรนด์ บูรณาการข้ามศาสตร์ เรียนรู้นวัตกรรม
 

 


          ดังนั้น บัณฑิตทุกคณะของมหาวิทยาลัยต้องคิดเป็น และทำงานได้ตั้งแต่เรียนอยู่ในมหาวิทยาลัย การเรียนการสอนข้ามศาสตร์ ทำให้นักศึกษาจบออกไปสามารถทำงานได้ทันที เพราะฝึกให้เรียนรู้ทั้งทฤษฎีและฝึกปฏิบัติ เช่น เด็กจบปริญญาตรีสถาปัตยกรรมศาสตร์ก็สามารถมาเรียนเพิ่มเติมในรายวิชาที่ตนเองต้องการ อย่าง สาขาด้านการท่องเที่ยว เพื่อจัดการท่องเที่ยวด้านสถาปัตยกรรมศาสตร์ได้ เป็นต้น


          “มหาวิทยาลัยไม่เคยประสบปัญหาเรื่องไม่มีเด็กมาเรียนหลักสูตรด้านศิลป์ สังคม มนุษยศาสตร์ อักษรศาสตร์ เพราะเด็กรุ่นใหม่ที่เข้ามาเรียนศิลปะ เขามีเป้าหมายชัดเจน มีอาชีพที่ตนเองต้องการทำ อีกทั้งหลักสูตรการเรียนการสอนนอกจากสอนแบบบูรณาการข้ามศาสตร์แล้ว เด็กสายสังคมต้องมีทักษะด้านดิจิทัล ใช้เทคโนโลยี และมีทักษะภาษาทั้งภาษาอังกฤษและภาษาจีน หรือภาษาที่เขาต้องนำไปใช้ประกอบอาชีพ ซึ่งเด็กรู้ว่าผลงานของเขาสามารถขายระดับนาชาติได้ และนักศึกษารู้จักการปรับตัวเขากับสถานการณ์ร่วมด้วย ให้ปรับตัวกับสถานการณ์ ฉะนั้น หลักสูตรเหล่านี้มีการพัฒนา และเด็กไม่ได้เรียนเพียงศาสตร์เดียว เขาสามารถทำงานได้หลากหลาย” ผศ.ชัยชาญกล่าว

 

 

หลักสูตรสังคม อินเทรนด์ บูรณาการข้ามศาสตร์ เรียนรู้นวัตกรรม

 


          “ม.ศิลปากร” มีแผนในการจัดทำรายวิชาหลากหลาย เพื่อให้นักศึกษาได้เลือกเรียนตามความต้องการของตนเอง โดยอนาคตจะมีทั้งหลักสูตรเฉพาะเอกหรือศาสตร์เดิมเพียวๆ และมีหลักสูตรที่นักศึกษาสามารถเลือกรายวิชา เลือกเรียนในสิ่งที่ตนเองต้องการ เป็นธนาคารหน่วยกิตให้นักศึกษาได้สะสม ซึ่งเหมาะกับลักษณะของคนรุ่นใหม่ต้องเรียนหลายศาสตร์ร่วมกัน หลักสูตรต้องมีความยืดหยุ่นมากขึ้น


          ขณะที่ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) อีกหนึ่งมหาวิทยาลัยที่เปิดการเรียนการสอนสายสังคมที่มีนิสิตเข้าเรียนจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น หลักสูตรสังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ อักษรศาสตร์ มนุษย์ศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ หลักสูตรภูมิศาสตร์ หลักสูตรประวัติศาสตร์ เป็นต้น

 

 

หลักสูตรสังคม อินเทรนด์ บูรณาการข้ามศาสตร์ เรียนรู้นวัตกรรม

รศ.ดร.สมชาย สันติวัฒนกุ

 

 


          รศ.ดร.สมชาย สันติวัฒนกุล อธิการบดี มศว กล่าวว่าคณะด้านสังคมของมหาวิทยาลัยเป็นคณะที่มีความเก่าแก่ และมีหลายคณะ ซึ่งการเรียนการสอนจะเป็นการเรียนทั้งภาคทฤษฎี และปฏิบัติ เพราะบริบทการเป็นคณะด้านสังคมต้องรองรับสังคม มหาวิทยาลัยมุ่งพัฒนานิสิตให้มีจิตอาสาตามหลักของมหาวิทยาลัยรับใช้สังคม ที่ผ่านมาถึงจะมีเปลี่ยนผ่านของเทคโนโลยี แต่มหาวิทยาลัยไม่เคยมีปัญหาเรื่องไม่มีเด็กมาเรียนคณะด้านสังคม หรือมีปัญหาจากเด็กเกิดน้อยลง ทุกคณะยังคงได้รับความสนใจจากผู้เรียนตลอดหลายสิบปี


          “มหาวิทยาลัยตั้งมา 70 ปี มีการปรับเปลี่ยนหลักสูตร การจัดการเรียนการสอนให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลกและตอบสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรม การพัฒนาประเทศ ดังนั้น หลักสูตรสายสังคม ได้มีการปรับตัวก่อนที่เทคโนโลยีจะเข้ามามีบทบาทในชีวิตของผู้คนอย่างเช่นตอนนี้ โดยทุกหลักสูตรมีการนำเรื่องดิจิทัลเข้ามามากขึ้น และร่วมกับภาคเอกชนในการจัดทำหลักสูตร เช่น กำหนดให้นิสิตเรียน 30 หน่วยกิต เรียนผสมผสานระหว่างศิลป์และวิทย์ มีการสอนความเป็นผู้ประกอบการ มีการเพิ่มทักษะการใช้ดิจิทัล และทักษะภาษา เป็นต้น

 

 

หลักสูตรสังคม อินเทรนด์ บูรณาการข้ามศาสตร์ เรียนรู้นวัตกรรม

 

 


          นอกจากนั้น มีการเปิดหลักสูตรใหม่ๆ ตรงกับความต้องการของผู้เรียน อาทิ คณะนวัตกรรมการสื่อสารสังคม นำเรื่องดิจิทัล นิเทศศาสตร์ ศิลปกรรมศาสตร์ มารวมกัน หรือวิทยาลัยอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ เรียนการเป็นผู้ประกอบการการทำจิวเวลรี่ ฯลฯ


          “คนมักคิดว่าเด็กเรียนด้านสายสังคม ไม่ต้องเรียนรู้นวัตกรรม ไม่ต้องเรียนปัญญาประดิษฐ์(AI) ซึ่งเป็นความคิดที่ผิด เพราะเด็กในยุคนี้และการใช้ชีวิตของเขาในอนาคต โดยเฉพาะการทำงานล้วนต้องอยู่กับ AI อยู่กับนวัตกรรมดังนั้น มหาวิทยาลัยจึงสอนให้นิสิตสายสังคมได้เรียนรู้นวัตกรรม AI การใช้เทคโนโลยี และมีทักษะภาษาอังกฤษ คิดวิเคราะห์ สร้างสรรค์ นิสิตเรียนสายสังคม จบออกไปไม่ตกงานอย่างแน่นอน เพราะเขามีทักษะศตวรรษที่ 21 และสามารถทำงานได้หลากหลาย” อธิการบดี มศว กล่าว

 

 

หลักสูตรสังคม อินเทรนด์ บูรณาการข้ามศาสตร์ เรียนรู้นวัตกรรม

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ