Lifestyle

ทรานฟอร์ม การศึกษาไทย ปี63 จัดทำข้อมูล ใช้เทคโนโลยีอัพคุณภาพ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ทรานฟอร์ม การศึกษาไทย ปี 63 จัดทำข้อมูล ใช้เทคโนโลยีอัพคุณภาพ โดย...  ชุลีพร อร่ามเนตร [email protected] -

 

 


          กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ประกาศเรื่องนโยบายและจุดเน้นของกระทรวงศึกษาธิการ ปีงบประมาณ พ.ศ.2563 อย่างชัดเจน ว่าต่อจากนี้การบริหารจัดการศึกษาจะเน้นให้มีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติโดยเฉพาะนโยบายเร่งด่วน เรื่องการเตรียมคนสู่ศตวรรษที่ 21

 

 

          ไม่ว่าจะเป็นระดับอนุบาล ประถมศึกษา มัธยมศึกษา และอาชีวศึกษา จะมีการสร้างแพลตฟอร์มดิจิทัลเพื่อการเรียนรู้และใช้ดิจิทัลเป็นเครื่องมือการเรียนรู้ จัดการเรียนการสอนเพื่อฝึกทักษะคิดแบบมีเหตุผล เป็นขั้นตอน ออกแบบกิจกรรม การเรียนรู้แอ็กทีฟเลิร์นนิ่ง เรียนจากประสบการณ์จริง และเด็กต้องมีความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและภาษาต่างประเทศ รวมถึงเชื่อมโยงสู่การสร้างอาชีพ

 

 

 

ทรานฟอร์ม การศึกษาไทย ปี63 จัดทำข้อมูล ใช้เทคโนโลยีอัพคุณภาพ

 

 


          ปีที่ผ่านมาจนถึงปี 2563 ศธ.จะนำงบประมาณที่ได้รับจัดสรรไปขับเคลื่อนการปฏิบัติ อาทิ การจัดทำฐานข้อมูลของ ศธ.ให้ครบถ้วน ถูกต้อง ทันสมัย แก้ปัญหาคุณภาพโรงเรียนขนาดเล็กให้มีความเสมอภาคเท่าเทียมกัน ปรับปรุงโครงสร้างกระทรวงให้เกิดความคล่องตัว โดยจะรัดเข็มขัดงบประมาณ ศธ. ใน 4 เรื่องที่สำคัญ คือ งด การศึกษาดูงานต่างประเทศ 1 ปี ลด การจัดประชุมสัมมนาที่ใหญ่โต เพราะสามารถทดแทนได้ด้วยเทคโนโลยี ยกเลิก การจัดงานที่มีค่าใช้จ่ายสูงหรืองานลักษณะอีเวนท์


          นอกจากนั้น ศธ.จะลงทุนด้านดิจิทัล ในเดือนพฤษภาคมปี 2563 โรงเรียน 95% ต้องมีอินเทอร์เน็ตใช้ พัฒนาครูให้สามารถสอนเทคโนโลยี คอมพิวเตอร์ รวมถึงครูต้องมีทักษะภาษาอังกฤษ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) และมีความรู้ในวิชาที่ตนเองสอน เพราะเมื่อครูเก่ง เด็กก็จะมีความสามารถเพื่อเข้าสู่ระดับที่สูงขึ้น เป็นวงจรแห่งการเรียนรู้ ตอบโจทย์โอกาสของประเทศไทย

 

 

 

ทรานฟอร์ม การศึกษาไทย ปี63 จัดทำข้อมูล ใช้เทคโนโลยีอัพคุณภาพ

 



          นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวว่าปี 2563 นี้ จะได้เห็นการนำเทคโนโลยีมาเชื่อมโยงเข้ากับการเรียนการสอนของโรงเรียน และส่วนกลางของศธ.ในลักษณะของเรียลไทม์มากขึ้น พร้อมจะมีการจัดทำข้อมูลอย่างเป็นระบบเพื่อสะดวกต่อการตัดสินใจรวมถึงการส่งรายงาน การของบประมาณ การอัพเดตสถานการณ์ การประเมินต่างๆ ทั้งในส่วนของครู ผู้อำนวยการโรงเรียนและสถานศึกษา ผู้บริหารในเขตพื้นที่ และผู้บริหาร ศธ. เป็นการประเมินจากรอบด้าน ได้รู้ว่าจุดอ่อน สถานะของแต่ละคนอยู่ตรงไหน อยากให้มองการนำเทคโนโลยี การจัดทำข้อมูลไปในทางบวก ไม่ใช่การจับผิด เพราะยุคนี้สมัยนี้ต้องมีการข้อมูล ระบบเทคโนโลยีเข้ามาใช้ เพื่อนำข้อมูลในระบบมาประกอบการตัดสินใจ แก้ปัญหาต่างๆ ได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น


          “ปัญหาทุกอย่างถ้าเอาความเป็นจริงมาพูดก็จะแก้ได้ แต่ถ้าปิดบังข้อมูลก็จะไม่ได้รับการแก้ไข หรือแก้ไขในผิดทาง ดังนั้นการเปลี่ยนผ่านของกระทรวงศึกษาธิการต้องมีการนำเทคโนโลยีมาใช้มากขึ้น ทั้งในด้านการจัดการข้อมูล การอบรม สัมมนาพัฒนาครู การจัดการเรียนการสอนในห้องเรียน การปรับหลักสูตร เทคโนโลยีเป็นกลไกการขับเคลื่อน” รมว.ศธ.กล่าว


          ทั้งนี้ รมว.ศธ.ยังเชื่อมั่นว่าการเรียนการสอนต้องใช้ความสามารถของครู ซึ่งมั่นใจในจิตวิญญาณแห่งความเป็นครูของครูส่วนใหญ่ในองค์กร ศธ. รวมถึงคนที่จะเข้ามาเป็นครู ทุกคนอยากเป็นตัวอย่างที่ดี อยากเป็นคนที่ให้ความรู้แก่เด็ก แต่ศธ.ต้องจัดทำข้อมูล เสริมอุปกรณ์อาวุธทางปัญญาที่ทันสมัย ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก

 

 

ทรานฟอร์ม การศึกษาไทย ปี63 จัดทำข้อมูล ใช้เทคโนโลยีอัพคุณภาพ

 


          นายณัฏฐพล กล่าวต่อว่า การจัดการเทคโนโลยีต้องรอ ศธ.จัดการให้ส่วนหนึ่ง เนื่องจากระบบเทคโนโลยียังไม่เอื้ออำนวยให้ครูทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างเท่าเทียมกัน ซึ่ง ศธ.จะพยายามในการใช้เทคโนโลยีมาทำเรื่องดีๆ และสร้างความคุ้นเคยให้แก่ครู เพราะครูขาดความเข้าใจอย่างลึกซึ้งว่าจะใช้ให้มีประสิทธิภาพมากที่สุดได้อย่างไร เช่น DLTV หรือการจัดการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมเป็นเรื่องที่ดี ทำให้นักเรียนได้มีโอกาสสัมผัสครูที่เก่งแต่ด้วยทักษะพื้นฐานของเด็กไม่เท่ากัน ต้องใช้ครูที่เป็นตัวตนพยุงเด็ก 


          ดังนั้นถ้ามี DLTV ที่เปิด หยุด และตอบคำถามเมื่อใดก็ได้ จะช่วยให้การเรียนการสอนได้รับความเข้มข้นมากขึ้น มีความชัดเจน หรือในระหว่างการสอนมีเทคโนโลยีที่จับความรู้สึก ความเข้าใจของเด็กได้ว่าเขาเข้าใจจริงหรือไม่จริง ถ้ามีเทคโนโลยีเหล่านี้มาใช้จะทำให้เด็กได้เรียนรู้ไม่หลุดไปจากการเรียนการสอนและช่วยเด็กได้ทุกคน


          “ถ้าทำให้การศึกษาเท่าเทียมกันต้องทำให้หลักสูตรพื้นฐานเอื้อต่อเด็กที่มีความสามารถในการรับรู้ระดับกลางไปจนน้อย ส่วนเด็กที่เก่งก็ต่อยอดให้ดีขึ้น ซึ่งไม่ได้หมายความว่าเอาเทคโนโลยีมาคัดกรองหรือแบ่งแยกเด็ก แต่ในการสอนครูต้องเป็นคนเข้าใจเด็กว่าเด็กแต่ละคนอยู่ในสถานภาพอย่างไร มีความสามารถในการรับรู้อย่างไรและค่อยเติมแต่งเข้าไป” นายณัฏฐพล กล่าว


          รมว.ศธ. กล่าวต่อไปว่า การเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาได้จริง นอกจากเรื่องการนำเทคโนโลยีมาใช้แล้ว ต้องให้อิสระครูจัดการห้องเรียนของตนเอง จัดการเรียนรู้ ปรับหลักสูตรการเรียนการสอนให้ครูมีเวลาอยู่กับเด็กมากขึ้น มีโอกาสพัฒนาตนเอง เข้าใจหลักสูตรที่ตนเองต้องสอน ซึ่งตอนนี้ครูอาจจะยังไม่มีเวลามากพอ ดังนั้นได้ปลดล็อกให้ครู ผู้อำนวยการโรงเรียนมีความสามารถในการกำหนดทิศทางตามบริบทของตนเอง เข้าใจนโยบายของศธ. โดยศธ.พร้อมสนับสนุน เปิดให้โรงเรียนเป็นนิติบุคคลมากขึ้น แต่การเป็นนิติบุคคลต้องไม่ล่วงละเมิดสิทธิที่ได้รับ ไม่ไปใช้ในทางที่ไม่เหมาะสม

 

 

ทรานฟอร์ม การศึกษาไทย ปี63 จัดทำข้อมูล ใช้เทคโนโลยีอัพคุณภาพ


          “บทบาทหน้าที่ของผู้บริหาร ศธ.ทุกคนต้องเข้าใจลึกซึ้งในปัญหาของหน่วยงานที่ตนเองรับผิดชอบและมุ่งเพิ่มประสิทธิภาพให้เด็กปัจจุบันเป็นอย่างไร ในปีหน้า ศธ.จะทำให้โรงเรียน 95% มีอินเทอร์เน็ตใช้ โดยการเรียนการสอน ครูประกบกับเทคโนโลยี อย่าง DLTV ให้มีคุณภาพเต็มที่แก่เด็ก ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยจัดการข้อมูล จัดระบบการอบรมครูภายใต้การบริหารจัดการงบประมาณที่มีประสิทธิภาพเพื่อประโยชน์ของเด็ก หลักสูตรยังคงต้องให้เด็กได้อ่านหนังสือ ท่องจำส่วนหนึ่งแต่ต้องเรียนรู้จากการเป็นปฏิบัติ การศึกษาค้นคว้าจากของจริงเป็นหลัก อนาคตอาจจะมีการลดเวลาเรียนเฉลี่ย 55 ชั่วโมงต่ออาทิตย์เหลือ 45 ชั่วโมงต่ออาทิตย์ และเวลาที่เหลือให้เด็กได้ไปทำอย่างอื่น ไปเล่นกีฬา ดนตรี ศิลปะ หรือทำเรียนรู้ในสิ่งที่ตนเองต้องการ เพราะการเรียนรู้ต้องทำให้เด็กมีทักษะศตวรรษที่ 21 และมีความสุข ทักษะชีวิตด้วย” รมว.ศธ. กล่าว

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ