Lifestyle

วัด ประชา รัฐ สร้างสุข พัฒนาวัดคู่สังคมอย่างยั่งยืน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

วัด ประชา รัฐ สร้างสุข พัฒนาวัดคู่สังคมอย่างยั่งยืน โดย...  -ชุลีพร อร่ามเนตร[email protected]

 

 


          “วัด” เป็นศูนย์กลางและศูนย์รวมจิตใจของทุกคนในชุมชน ดังนั้น การไปวัดจึงไม่ใช่เพียงไปทำบุญเท่านั้น แต่ยังเป็นพื้นที่ของประชาชนที่ส่งผลทั้งทางกายและจิตใจ

 

 

          “โครงการ วัด ประชา รัฐ สร้างสุข” อีกหนึ่งโครงการภายใต้แผนปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนาด้านสาธารณูปการ โดยมีเป้าหมายเพื่อให้วัดมีการพัฒนาทางด้านกายภาพ มีสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการเสริมสร้างสุขภาวะ เป็นสถานที่สงบร่มเย็นเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ชุมชน นำไปสู่สังคมที่ดี


          มหาเถรสมาคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(พศ.) และสถาบันวิจัยพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้ประกาศผลการคัดเลือกรางวัล “สัปปายะอวอร์ด” มอบรางวัล 22 วัดต้นแบบระดับประเทศ ในโครงการ วัด ประชา รัฐ สร้างสุข ด้วยวิถี 5ส ประจำปี 2562

 

 

วัด ประชา รัฐ สร้างสุข พัฒนาวัดคู่สังคมอย่างยั่งยืน

 


          พระธรรมรัตนาภรณ์ ประธานอนุกรรมการโครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุข และเจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี กล่าวว่า สัปปายะ คือสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม เกื้อกูลให้การประพฤติปฏิบัติธรรมเป็นไปด้วยความสบายกาย สบายใจ ขั้นตอนการดำเนินงานวัด ประชา รัฐ สร้างสุขสู่สัปปายสถาน มีแนวทางการดำเนินงานเริ่มจากตั้งคณะกรรมการดำเนินงาน ประกาศนโยบาย อบรมให้ความรู้ สำรวจพื้นที่ด้วยคณะทำงาน จัดทำแผนปรับปรุง กำหนดพิธีเปิดเพื่อทำความสะอาดครั้งใหญ่ และตรวจประเมินพื้นที่สรุปผลการปฏิบัติงาน ส่วนพื้นที่ต่างๆ ภายในวัดที่ควรได้รับการพัฒนา ได้แก่ ป้ายชื่อวัด ผังวัด การจัดการจราจร การจัดระบบคลังวัสดุสงฆ์ ห้องน้ำ การจัดการขยะ สภาพแวดล้อมทั่วไป ระบบไฟฟ้าและการป้องกันอัคคีภัย โรงครัว ตลอดจนอาคารเสนาสนะต่างๆ


          ดร.ประกาศิต กายะสิทธิ์ รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ กล่าวว่า สสส.ได้ให้ความสำคัญในการเผยแพร่และสนับสนุนการเสริมสร้างสุขภาวะให้แก่กลุ่มองค์กรสงฆ์ โดยโครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุข ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2554ร่วมกับทางสมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) นำหลัก 5ส ไปปรับใช้ในวัดนำร่อง 4 วัด ได้แก่ วัดสุทธิวราราม วัดด่านพระรามสาม วัดคลองเตยใน และวัดจำปา หลังจากนั้นได้มีการขยายผล ทำงานร่วมกับองค์กรภาคเอชน จนปี 2556 ได้ขยายผลในลักษณะการจับคู่ระหว่างวัดและองค์กรเอกชน 100 วัด 100 องค์กร ช่วงนั้นมีการปฏิรูปกิจการพุทธศาสนา และมีการจัดทำธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ ถือเป็นโอกาสดีในการขยายผลโครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุข เพื่อเผยแพร่ความก้าวหน้าในการนำ 5ส นั่นคือ สะสาง สะดวก สะอาด สร้างมาตรฐาน และสร้างวินัย ขับเคลื่อนพัฒนาวัด ยิ่งในปี 2560 กระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการจัดทำสมัชชาสุขภาพ เน้น 3 ด้าน คือ สุขภาพของพระสงฆ์ สร้างพระสงฆ์แกนนำในชุมชน และอาสาสมัครขับเคลื่อนพระสงฆ์ ในการดูแลสุขภาพของพระภิกษุกันเองในวัด

 

 

วัด ประชา รัฐ สร้างสุข พัฒนาวัดคู่สังคมอย่างยั่งยืน

 



          เมื่อมีการจัดทำธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ และมีการปฏิรูปกิจการพระสงฆ์ วัดซึ่งเป็นศูนย์กลางของชุมชนยิ่งทำให้มีการเชื่อมโยงชัดเจนมากขึ้น และวัดกลายเป็นศูนย์การเรียนรู้สุขภาวะ ดังนั้น บทบาทของ สสส.มี 4 ด้าน คือ 1.ขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ 2.พัฒนาความรู้ ส่งเสริมชุดความรู้ 3.บริหารจัดการพื้นที่ ดึงภาคเอกชน ท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วม และ 4.ปรับสภาพภายในวัดให้เป็นพื้นที่สร้างเสริมสุขภาพ พัฒนาแกนนำเครือข่ายเพื่อประสานกันทำงาน


          “ตามเป้าหมายของโครงการที่ตั้งไว้ 5 ปี หรือในปี 2565 นี้ จะทำให้ 50% ของวัด ที่มีจำนวน 40,100 แห่งทั่วประเทศเข้าร่วมในโครงการดังกล่าว เพราะตอนนี้แม้โครงการจะเริ่มได้เพียง 1,700 แห่ง แต่เชื่อว่าการสร้างความตระหนักรู้ที่ได้ขยายวงกว้างในขณะนี้จะทำให้วัดทุกแห่งเข้าใจและร่วมมือกันพัฒนาวัด ซึ่งในเชิงปฏิบัติ จะร่วมมือกับกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น และคณะสงฆ์ เมื่อมีแม่ข่ายเชื่อมต่อกับวัดในจังหวัดต่างๆ โครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุข จะช่วยยกระดับ พัฒนาสภาพแวดล้อม สร้างวัดให้เป็นแหล่งเรียนรู้แก่ทุกคน” ดร.ประกาศิต กล่าว 

 

 

วัด ประชา รัฐ สร้างสุข พัฒนาวัดคู่สังคมอย่างยั่งยืน

 


          จากการทำงานที่ผ่านมามีปัญหาในเรื่องของการขยายผล เพราะการดำเนินโครงการต่างๆ มีทั้งขาขึ้น การสร้างต้นแบบ การจัดทำชุดความรู้ ทำให้นโยบายเกิดขึ้น มาต่อด้วยภาวะขาเคลื่อน การนำนโยบายสู่การปฏิบัติ ซึ่งส่วนใหญ่จะพบอุปสรรคในภาวะขาเคลื่อน เนื่องจากมีวัดจำนวนมาก ต้องอาศัยความเข้าใจ ความพร้อมหรือความเข้มแข็งของแต่ละวัด และต้องทำให้เกิดความยั่งยืน และขาลงโดยขาลงในนี้ไม่ใช่แย่ลง แต่เมื่อหน่วยงานภาครัฐ อย่าง สสส.จะถอนตัวออกจากโครงการต้องทำให้ชุมชน วัดกลายเป็นเจ้าภาพกลไกหลักในการสร้างความต่อเนื่อง


          นายเดโช ขวัญพร้อม ผู้ใหญ่บ้าน ตัวแทนจาก จ.กระบี่ กล่าวว่า หมู่บ้านได้ร่วมโครงการตั้งแต่ครั้งแรก โดยนำหลัก 5 ส มาใช้ในการยกระดับสุขภาวะของวัด 2 แห่ง คือ วัดเขาหัวสิงห์ และวัดช่องแบก ซึ่งช่วงแรกของการดำเนินการประสบปัญหา คือ หน่วยงานหรือองค์กรต่างๆ ยังไม่เข้าใจ ว่าโครงการ วัด ประชา รัฐ คืออะไร แต่เมื่อทำการชี้แจงต่างๆ ทำให้ขณะนี้ทุกคนในชุมชน หมู่บ้าน ทั้งภาครัฐ เอกชน สถานศึกษา ท้องถิ่นได้เข้ามาช่วยพัฒนาวัดให้เป็นที่สงบจิตใจ ทุกคนอยากเข้ามาวัด 

 

 

วัด ประชา รัฐ สร้างสุข พัฒนาวัดคู่สังคมอย่างยั่งยืน

 


          ตบท้ายด้วย ดร.อินทพร จั่นเอี่ยม ผู้ตรวจราชการพศ.กล่าวว่า พศ.ทำหน้าที่ในการสร้างความเข้าใจประสานงานกับวัดในแต่ละจังหวัด เพื่อสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับ 5 ส โดยได้มีให้ความรู้ คัดเลือกวัดที่เข้าร่วม ซึ่งตอนนี้มีวัดเข้าร่วม 1,700 แห่ง และปี2563 จะเพิ่มเป็น 3,000 กว่าวัด เพราะโครงการนี้ เป็นความร่วมมือทั้งในส่วนของวัด ประชาชน ภาครัฐที่ทำให้เกิดการพัฒนาวัด ทำให้วัดอยู่คู่สังคมได้อย่างยั่งยืน


 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ