Lifestyle

โรคหัวใจและหลอดเลือด ท็อป5ปัญหาสุขภาพคนไทย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โรคหัวใจและหลอดเลือด ท็อป5ปัญหาสุขภาพคนไทย โดย...  ทีมข่าวคุณภาพชีวิต [email protected] -

 

 

 

          โรคหลอดเลือดสมองและโรคหลอดเลือดหัวใจ เป็น 2 ใน 5 อันดับแรกของปัญหาสุขภาพของคนไทย และเป็น 5 อันดับแรกของสาเหตุการเสียชีวิตในกลุ่มผู้เป็นโรคเรื้อรัง แม้ว่าในปัจจุบัน จะมียาใหม่ เช่น ยาต้านการแข็งตัวของเลือดกลุ่ม NOAC ที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพในการรักษา แต่ก็พบว่าผู้ป่วยยังเข้าไม่ถึงเนื่องจากมีราคาแพง และสิทธิประกันสุขภาพยังไม่ครอบคลุม

 

อ่านข่าว...  โรคหลอดเลือดสมอง รู้เร็ว รักษาไว ห่างไกลอัมพฤกษ์ อัมพาต

 

 

 

          จากรายงาน Healthy Hearts, Healthy Aging ฉบับประเทศไทย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการการจัดทำรายงาน Healthy Hearts, Healthy Aging ในระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก จัดทำโดย ไบเออร์ และ NUS Enterprise หน่วยงานในสังกัดมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ เพื่อวิเคราะห์ผลกระทบที่เพิ่มขึ้นจากโรคหัวใจและหลอดเลือดกับการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของประเทศไทย ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของนวัตกรรมสุขภาพ และข้อเสนอแนะวิธีการรักษาเชิงป้องกันที่เหมาะสม


          ในรายงานระบุว่า แนวโน้มการก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยในประเทศไทย อายุที่มากขึ้นนำมาซึ่งปัญหาด้านสุขภาพ ภาวะโรคเรื้อรัง ภาวะทุพพลภาพที่เป็นผลจากการเป็นโรค รวมถึงโรคไม่ติดต่อ อาทิ โรคหัวใจ โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และโรคอ้วน คิดเป็นกว่า 70% ของการเสียชีวิตทั้งหมดในประเทศไทย มีรายงานว่ากว่า 50% ของประชากรผู้สูงอายุในประเทศไทยต้องทนทุกข์ทรมานกับโรคเรื้อรังอย่างน้อย 1 โรค และในปี 2558 โรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตถึง 23% ของจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งหมด


          ทั้งนี้ “โรคหัวใจและหลอดเลือด” แสดงถึงความผิดปกติต่างๆ ของหัวใจและหลอดเลือด เช่น ภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว (Atrial Fibrillation: AF) และโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) โดยที่โรคหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว (AF) หรืออาการที่หัวใจเต้นผิดจังหวะ เป็นอาการที่ทำให้สมองมีความเสี่ยงจากการขาดเลือดจากการอุดตันของเส้นเลือดเพิ่มขึ้นถึง 5 เท่า โรคหลอดเลือดสมองจากภาวะ AF มีอาการรุนแรง สามารถทำให้ผู้ป่วยมากกว่า 50% ต้องทุพพลภาพ

 

 




          2 ใน 5 ปัญหาสุขภาพคนไทย
          ริอาซ บัคซ ผู้จัดการทั่วไป กลุ่มธุรกิจฟาร์มาซูติคอล บริษัท ไบเออร์ไทย จำกัด กล่าวภายในงาน Healthy Hearts Healthy Aging…หัวใจสุขภาพดี สูงวัยอย่างแข็งแรง ว่า จากข้อมูลแผนยุทธศาสตร์ระดับชาติระยะ 20 ปี ด้านสาธารณสุข พบว่าโรคหลอดเลือดสมอง และโรคหลอดเลือดหัวใจ เป็น 2 ใน 5 อันดับแรก ของปัญหาสุขภาพของคนไทย และเป็น 5 อันดับแรกของสาเหตุการเสียชีวิตในกลุ่มผู้เป็นโรคเรื้อรัง โดยอัตราการเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดหัวใจ (CHD) เพิ่มขึ้น 24% และอัตราการเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมอง เพิ่มขึ้น 19.7% ในช่วงระหว่างปี 2550 ถึงปี 2560 ในประเทศไทย


          อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยในกรณีทุพพลภาพจากการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ควรให้ความสำคัญ ในช่วงปี 2550-2560 มีรายงานว่า ทั้งโรคหลอดเลือดหัวใจและโรคหลอดเลือดสมอง เป็น 1 ใน 10 อันดับของสาเหตุการเสียชีวิตและพิการในดัชนีวัดความสูญเสียทางสุขภาพ


          จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในประเทศไทย พบว่า จำนวนผู้ป่วยในจากโรคหัวใจที่รุนแรง เช่นโรคหัวใจวาย มีมากกว่า 84,000 คนในปี 2560 เพิ่มขึ้น 25% จาก 67,000 คนในปี 2556 และจำนวนผู้ป่วยในจากโรคหลอดเลือดสมองที่เข้ารับการตรวจรักษา มีมากกว่า 26,000 คนในปี 2560 เพิ่มขึ้นมากกว่า 50% จาก 17,000 คนในปี 2556


          บัคซ กล่าวเพิ่มเติมว่า หลายทศวรรษที่ผ่านมา การวิจัยทางการแพทย์ทำให้เกิดความก้าวหน้าทั้งด้านการรักษา การวินิจฉัย การผ่าตัด และยา ซึ่งผลการรักษาทำให้อุบัติการณ์การรักษาดีขึ้น เช่น การใช้ยาในกลุ่มต้านการแข็งตัวของเลือดชนิดรับประทานที่ไม่ได้ออกฤทธิ์ต้านวิตามินเค (NOAC) ใช้รับประทานร่วมกับยาต้านเกล็ดเลือด ให้ผลในเชิงบวก ในการป้องกันโรคหลอดเลือดสมอง ในคนไข้ที่เป็นโรคหัวใจเต้นระริก สามารถลดอัตราการเสียชีวิต และช่วยผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือดให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้


          “ระบบจ่ายร่วม”เพิ่มการเข้าถึงยา
          อย่างไรก็ตาม การพัฒนายาและนวัตกรรมการรักษา ย่อมมาพร้อมกับต้นทุนด้านสาธารณสุขที่แพงขึ้น เกิดปัญหาการเข้าถึงยาใหม่ๆ ของผู้ป่วยในประเทศไทยที่ยังไม่ทั่วถึง เนื่องจากสิทธิการรักษาทั้ง 3 สิทธิ ไม่ว่าจะเป็น สิทธิประกันสังคม สิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้า และสิทธิข้าราชการ ครอบคลุมเพียงยาในบัญชียาหลัก และใช้ยาใหม่ได้ในบางกรณีเท่านั้น


          นพ.วศิน พุทธารี หัวหน้าห้องปฏิบัติการสวนหัวใจ ศูนย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า ในปีที่ผ่านมาพบผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจกว่า 4 แสนคน เสียชีวิตราว 2 หมื่นคนต่อปี หรือ 2 คนต่อ 1 ชม. ส่งผลกระทบต่อผู้ป่วย คนรอบข้าง และสังคม ประเด็นคือ สิ่งเหล่านี้ป้องกันได้ หากเริ่มเป็นก็ป้องกันไม่ให้เป็นมากถึงอัมพาต แต่ประเทศไทยขาดข้อมูลบิ๊กดาต้าผลการรักษาภาพรวมของประเทศ มีแต่ข้อมูลค่าใช้จ่ายเรื่องยาในแต่ละปี ควรส่งเสริมให้เกิดการเก็บข้อมูลผลการรักษาที่ผ่านมาเพื่อมาทำเป็นบิ๊กดาต้า รวมถึงการวิจัยเพื่อสนับสนุนการเข้าถึงนวัตกรรมการรักษาที่มีประสิทธิภาพ และวิเคราะห์ไปถึงด้านเศรษฐศาสตร์
  

          “การเข้าถึงยานวัตกรรมเพื่อผลการรักษาที่ดีมากขึ้นก็เป็นสิ่งสำคัญ อาจต้องใช้ “ระบบจ่ายร่วม” เพิ่มการเข้าถึง และลดภาระทางการเงินในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับประสิทธิภาพของการนำนวัตกรรมใหม่ๆ รวมถึงศึกษาต้นทุนและความคุ้มค่าของการรักษาด้วยนวัตกรรมใหม่” นพ.วศิน กล่าว


          ผู้ป่วยหัวใจสั่นพลิ้วเข้าถึงยาใหม่9%
          ด้าน ศ.นพ.รุ่งโรจน์ กฤตยพงษ์ อาจารย์แพทย์ศูนย์โรคหัวใจสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวเพิ่มเติมว่า จากสถิติผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วมีมากกว่า 3,000 ราย และพบว่า 70% ของผู้ป่วยเหล่านี้ใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือดเพื่อป้องกันโรคหลอดเลือดสมอง แต่มีเพียง 9% เท่านั้นที่ได้รับใบสั่งยาต้านการแข็งตัวของเลือดชนิดรับประทานกลุ่มใหม่ที่ได้กำหนดไว้ในแนวทางการรักษา การให้ความรู้แก่ผู้ป่วยในเรื่องของการเข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่องเป็นสิ่งสำคัญ ผู้ป่วยบางรายมีการหยุดการใช้ยา ส่งผลเสียต่อทั้งสุขภาพของผู้ป่วยและการรักษาของแพทย์


          “การไม่รับประทานยาโรคหัวใจและหลอดเลือด มีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยและการเสียชีวิตที่เพิ่มขึ้น ดังนั้น ควรให้ความรู้แก่ผู้ป่วยในเรื่องความสำคัญในการเข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน ภาครัฐและเอกชนสามารถช่วยพัฒนาการเข้าถึงนวัตกรรม โดยผลักดันเรื่องการป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือดให้เป็นวาระสำคัญเพื่อกำหนดพัฒนานโยบาย อนุมัติวิธีการรักษาและเทคโนโลยีใหม่เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงนวัตกรรมเหล่านี้ได้”

 

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ