Lifestyle

ควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก ทางออกหรือซ้ำเติมคุณภาพการศึกษา 

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก ทางออกหรือซ้ำเติมคุณภาพการศึกษา  โดย...  -ชุลีพร อร่ามเนตร[email protected]

 

 

 


          ถือเป็นครั้งแรกที่มีมติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ออกมาอย่างชัดเจนว่าให้มี “ควบรวม” โรงเรียนขนาดเล็กในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ที่มีระยะทางห่างจากโรงเรียนในสังกัด สพฐ.ในตำบลเดียวกันน้อยกว่า 6 กิโลเมตร ให้บังเกิดผลเป็นรูปธรรม เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาให้เพิ่มสูงขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพการจัดการเรียนการสอน และลดภาระค่าใช้จ่ายงบประมาณด้านบุคลากรและการบริหารจัดการลง

  อ่านข่าว : เตรียมยุบโรงเรียน34แห่ง ภายใน 4 ปี ล่าสุดยุบแล้ว 6 ที่

 

 

 

          เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2562 นายอำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) ได้ลงนามในหนังสือแจ้งไปยังผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) และผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา(สพม.) เพื่อให้ดําเนินการตามมติดังกล่าว 

 

 

 

ควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก ทางออกหรือซ้ำเติมคุณภาพการศึกษา 

 


          ขณะที่ นายประเสริฐ บุญเรือง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ได้ลงนามแต่งตั้ง คณะทำงานจัดทำแผนบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็กในภาพรวมของกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อมอบหมายให้สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดทุกจังหวัดร่วมมือกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษา รวมทั้งภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็ก มีการกำหนดเป้าหมาย ระยะเวลาและแนวทางการดำเนินงานอย่างชัดเจน ให้แล้วเสร็จภายใน 6 สัปดาห์


          ว่ากันว่า “การควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก” เป็นโรงเรียนที่ถูกตั้งคำถามเรื่องคุณภาพ และความคุ้มค่าในการใช้ทรัพยากร ส่งผลให้กระทรวงศึกษาธิการ มีนโยบายต้องการยุบ ควบรวม โรงเรียนขนาดเล็กมาโดยตลอด อาทิ ปี 2554 ต้องการยุบโรงเรียนขนาดเล็ก 7,000 แห่ง ภายในปี 2561 เป็นต้น


          ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ ผู้อำนวยการศูนย์วิชาการและเครือข่ายวิชาการด้านเด็ก เยาวชน และครอบครัว  กล่าวว่าการยุบ ควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก กำลังเป็นการละเมิดสิทธิเด็กและชุมชนอย่างร้ายแรง เพราะโรงเรียนขนาดเล็กไม่ได้เกิดจากภาครัฐ แต่เกิดจากความร่วมมือของภาคประชาสังคม ชุมชน เพื่อพัฒนาการศึกษาของเด็กในชุมชนท้องถิ่น 

 

 

ควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก ทางออกหรือซ้ำเติมคุณภาพการศึกษา 

ศ.ดร. สมพงษ์ จิตระดับ




          "จุดเริ่มต้นการสร้างโรงเรียนขนาดเล็ก เป็นเรื่องที่ดีมาก แต่ที่โรงเรียนขนาดเล็กมีคุณภาพแย่ลง เพราะนโยบายจากภาครัฐ กระทรวงศึกษาธิการ ทั้งเรื่องการบรรจุครู การแต่งตั้งผู้บริหาร ไม่มีนวัตกรรมการเรียนการสอนใหม่ๆ การดึงเด็กออกจากชุมชนไปเรียนในเมือง  และเมื่อผู้ปกครองไม่เชื่อมั่นในโรงเรียนขนาดเล็ก เกิดอุปทานหมู่ว่าโรงเรียนขนาดเล็กด้อยคุณภาพ ทั้งที่จริงๆ แล้วสิ่งที่ทำให้เกิดปัญหามาจากระบบราชการที่บริหารจัดการไม่ดี” ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าว 


          ศธ.ต้องประเมินตนเองว่าโรงเรียนขนาดเล็กที่ไม่มีคุณภาพเกิดจากอะไร อย่าโทษว่าเด็กเกิดน้อย เพราะนั่นเป็นเพียงประเด็นหนึ่งเท่านั้น


          ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าวต่อว่า จากงานวิจัยยืนยันว่าสามารถพัฒนาโรงเรียนขนาดเล็กให้ฟื้นกลับมามีคุณภาพได้ โดยนำปัจจัยต้นทุนประวัติศาสตร์ ความเป็นเจ้าของในชุมชน ผู้บริหารโรงเรียน ครูต้องไม่คิดเรื่องการโยกย้าย แต่ครูและผู้บริหารโรงเรียนต้องทำงานร่วมกับชุมชม ครูต้องเป็นคนในพื้นที่ และต้องมีนวัตกรรมแก้ปัญหาการศึกษา ต้องจัดการเรียนการสอนโดยให้ชุมชนเป็นฐาน มีปฏิสัมพันธ์ ความมีส่วนร่วมของชุมชน และโรงเรียนต้องเป็นนิติบุคคลอย่างจริงจัง

 

 

ควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก ทางออกหรือซ้ำเติมคุณภาพการศึกษา 

 


          การยุบ ควบรวมโรงเรียน นอกจากประหยัดงบประมาณและประสิทธิภาพของบุคลากร “ศ.ดร.สมพงษ์” อยากให้มองมิติด้านชุมชน เพราะการศึกษาต้องช่วยลดความเหลื่อมล้ำ แต่สิ่งที่ทำกลับยิ่งทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กยากจนและมีผู้ปกครองที่พึ่งตนเองไม่ได้ ซึ่งมีประมาณเกือบ 5-6 แสนคน อยากฝากนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ ทบทวนในเรื่องนี้ให้ดี อย่ามองเพียงในกระทรวง และเชื่อข้อมูลจากข้างบนเท่านั้น อยากให้มองไปถึงชุมชน เด็ก และผู้ปกครองด้วย 


          ปัจจุบันข้อมูลของ สพฐ. ในปี 2562 (ข้อมูล ณ วันที่ 10 มิ.ย. 2562) ระบุว่า มีจำนวนโรงเรียนขนาดเล็กในประเทศไทย ทั้งหมด 15,158 โรง มีจำนวนครูที่สอนอยู่ในโรงเรียนขนาดเล็ก 103,079 คน และมีนักเรียน 981,831 คน อัตราส่วนครูต่อนักเรียน 1:10


          ด้าน น.ท.สุมิตร สุวรรณ รองคณบดี คณะศึกษาศาสตร์และพัฒนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) กล่าวว่า โดยส่วนตัวเห็นด้วยกับการควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก มีแนวโน้มจะทำให้คุณภาพการศึกษาดีขึ้น แต่ต้องใช้เวลา และต้องเลือกพื้นที่ที่เหมาะสม ซึ่งโรงเรียนขนาดเล็กที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ภูเขา หรือตามเกาะต่างๆ ต้องคงไว้ เพื่อไม่ให้เด็กและผู้ปกครองเดือดร้อน

 

      "ส่วนโรงเรียนขนาดเล็กที่สามารถควบรวมได้ ก็ต้องคำนึงถึงผู้ปกครอง เด็ก ครูและผู้อำนวยการโรงเรียนต้องไม่เดือดร้อน ต้องไม่เป็นการผลักภาระให้ใคร โดยต้องมีมาตรการต่างๆ คอยช่วยเหลือ เช่น จัดรถรับส่งไม่ให้กระทบกับการเดินทาง เป็นต้น" น.ท.สุมิตร กล่าว

 

 

ควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก ทางออกหรือซ้ำเติมคุณภาพการศึกษา 

น.ท.สุมิตร สุวรรณ

 


          ขณะที่ฝั่งผู้ปฏิบัติงาน  นายธนชน มุทาพร ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) ชัยภูมิ เขต 1 ในฐานะประธานชมรมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาแห่งประเทศไทย (ชร.ผอ.สพท.) กล่าวว่า การควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กนั้น เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่และเป็นเรื่องที่ทางเขตพื้นที่การศึกษาแต่ละแห่งได้มีการดำเนินการอยู่แล้ว โดยยึดตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการจัดตั้ง รวม หรือเลือกสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2550

 

           "ภายใต้การทำงานโดยมีหลักการชัดเจนว่าต้องไม่กระทบต่อสิทธิ์ของเด็ก ครู ผู้อำนวยการโรงเรียน ประชาชนชุมชนทุกคน ดังนั้น การจะยุบรวมหรืออะไรก็ตามต้องผ่านความเห็นชอบจากทุกฝ่าย และไม่เป็นการสร้างปัญหาให้แก่เด็ก ผู้ปกครอง ครู และผู้อำนวยการโรงเรียน รวมถึงชุมชน" นายธนชน กล่าวนายธนชน กล่าว


          ดังนั้น การควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กเพื่อประโยชน์ของเด็กนักเรียน ครู ผู้ปกครอง ชุมชน เป็นเรื่องปกติที่เขตพื้นที่ทำอยู่แล้ว เมื่อมีมติคณะรัฐมนตรีชัดเจนก็จะทำให้ง่ายขึ้น

 

 

ควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก ทางออกหรือซ้ำเติมคุณภาพการศึกษา 

 


          แผนบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็ก
          หลังจากมีมติคณะรัฐมนตรี ควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ที่มีระยะทางห่างจากโรงเรียนในสังกัด สพฐ. ในตำบลเดียวกันน้อยกว่า 6 กิโลเมตร ให้บังเกิดผลเป็นรูปธรรม “นายประเสริฐ บุญเรือง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ” ได้ลงนามคำสั่งสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ที่ 2472/2562 เรื่องแต่งตั้ง คณะทำงานจัดทำแผนบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็กในภาพรวมของกระทรวงศึกษาธิการ ว่า ตามที่ ศธ.ประกาศนโยบายการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็ก เพื่อให้มีการบริหารทรัพยากรทางการศึกษา รวมถึงการบริหารอัตรากำลังคนให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

 

           โดยมีแผนบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็กแบบขั้นบันไดที่มีความต่อเนื่องและยั่งยืนให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมภายใน 2 ปี และมอบหมายให้สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดทุกจังหวัดร่วมมือกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษา รวมทั้งภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็ก มีการกำหนดเป้าหมาย ระยะเวลาและแนวทางการดำเนินงานอย่างชัดเจน ให้แล้วเสร็จภายใน 6 สัปดาห์ โดยเน้นตำบลเป็นฐาน เพื่อให้การจัดทำข้อมูลบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็กของ ศธ. เป็นไปด้วยความเรียบร้อย บรรลุผลสำเร็จและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด


          ทั้งนี้ สำหรับคณะทำงานจัดทำแผนบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็กในภาพรวมของ ศธ. ประกอบด้วย นายวรัท พฤกษากุลนันท์ รองศึกษาธิการภาค 6 ปฏิบัติหน้าที่ศึกษาธิการภาค 11 เป็นประธาน นายพิเชฐ โพธิ์ภักดี ศึกษาธิการจังหวัดสมุทรสงคราม สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดสมุทรสงคราม เป็นรองประธาน และมีกรรมการ 18 คน ประกอบด้วยคณะทำงานซึ่งมาจากผู้อำนวยการสำนักต่างๆ นักวิชาการศึกษาชำนาญการ นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ นักจัดการงานทั่วไปชำนาญการพิเศษ ผู้อำนวยการโรงเรียน รองผู้อำนวยการโรงเรียน และศึกษานิเทศก์

 

         โดยคณะทำงานชุดนี้จะมีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบในการจัดทำข้อมูลการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็กในภาพรวมของ ศธ. ออกแบบและจัดทำสรุปรายงานการจัดทำแผนบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็กในภาพรวม ศธ. ให้ปลัด ศธ.รับทราบต่อไป

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ