Lifestyle

งานบ้านเรื่องใหญ่ที่หลายคนมองข้าม

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

งานบ้านเรื่องใหญ่ที่หลายคนมองข้ามผู้ชายมีส่วนร่วมยุติความรุนแรงในผู้หญิง โดย...  ปาริชาติ บุญเอก [email protected]

 

 


          จากกรอบความคิดที่ถูกปลูกฝังว่า “ชายเป็นใหญ่” ทำให้หลายครอบครัวยังมองว่าเรื่องของงานบ้าน การเลี้ยงลูก ต้องเป็นหน้าที่ของผู้หญิงจนกลายเป็นความเคยชิน ขณะที่ปัจจุบัน ผู้หญิงส่วนใหญ่ออกไปทำงานนอกบ้านกันมากขึ้นไม่ต่างจากผู้ชาย อย่างไรก็ตาม ผู้ชายบางส่วนยังคงมองว่าเรื่องงานบ้านเป็นหน้าที่ของผู้หญิงอยู่ดี

 

 

 

งานบ้านเรื่องใหญ่ที่หลายคนมองข้าม

 

 

          ทั้งนี้ในปี 2542 องค์การสหประชาชาติได้มีมติให้วันที่ 25 พฤศจิกายน ของทุกปี เป็น “วันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากล” (International Day for the Elimination of Violence against Women) สำหรับประเทศไทย คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2542 เห็นชอบให้เดือนพฤศจิกายนของทุกปีเป็น เดือนรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี เพื่อให้สังคมตระหนัก ป้องกัน และแก้ไขปัญหาความรุนแรงทั้งต่อเด็กและสตรี


          ล่าสุด มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่าย จัดกิจกรรมเนื่องในเดือนรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อผู้หญิง ภายใต้แนวคิด “งานบ้านเป็นหน้าที่ของทุกคน ทำได้ทุกเพศ” เพื่อสร้างกระแสเชิญชวนคุณผู้ชายช่วยทำงานบ้าน ไม่ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของแฟนหรือภรรยาฝ่ายเดียว หวังลดช่องว่างสร้างความเข้าใจที่ดีในครอบครัวและชีวิตคู่ พร้อมเดินรณรงค์เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ณ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ

 

 

งานบ้านเรื่องใหญ่ที่หลายคนมองข้าม

 


          54.9% มองว่าผู้ชายช่วยงานบ้านไม่น่าอาย
          พร้อมกันนี้ ได้เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นต่อการทำงานบ้านของกลุ่มผู้ชายอายุ 18-50 ปี ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล จำนวน 1,995 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 9-14 พฤศจิกายน 2562 พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่อายุระหว่าง 18-23 ปี 30.8% รองลงมาคือ อายุ 24-29 ปี 28.9% ถัดมาคือ อายุ 30-34 ปี 14.1% อายุ 42-47 ปี 10.6% อายุ 36-41 ปี 8.1% อายุ 48 ปีขึ้นไป 8%

 



          ส่วนใหญ่กว่า 54.9% มองว่าผู้ชายช่วยงานบ้านเป็นเรื่องที่ควรภาคภูมิใจ ไม่ใช่เรื่องน่าอาย ขณะที่ 53.5% มองว่าผู้หญิงที่ดีต้องทำงานบ้าน เป็นแม่ศรีเรือน อย่าให้บกพร่อง และกว่า 47% มองว่าผู้ชายมีหน้าที่ทำงานหาเลี้ยงครอบครัว ผู้หญิงมีหน้าที่ทำงานบ้านเลี้ยงลูก ที่น่าห่วงคือ 1 ใน 3 หรือ 37.5% มองว่าแม้ผู้หญิงจะทำงานนอกบ้าน แต่งานบ้านก็ยังเป็นของผู้หญิงอยู่ดี อีกทั้ง 33.2% ระบุว่า งานบ้านไม่ใช่หน้าที่ของผู้ชายแต่เป็นหน้าที่ของผู้หญิง

 

 

งานบ้านเรื่องใหญ่ที่หลายคนมองข้าม

 


          สำหรับข้อเสนอแนะต่อประเด็นงานบ้านนั้น ผู้ชายกลุ่มตัวอย่าง 74.2% มองว่าครอบครัวมีส่วนช่วยในการปลูกฝังเรื่องการทำงานบ้านและสร้างทัศนคติที่ดีเรื่องความเสมอภาคระหว่างเพศตั้งแต่เด็กๆ และกว่า 73.3% มองว่าถึงเวลาเปลี่ยนแปลงให้งานบ้านเป็นงานของทุกคน และสามารถทำได้ทุกเพศทุกวัย


          น.ส.จรีย์ ศรีสวัสดิ์ หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมภาคีเครือข่าย มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล อธิบายว่า จากผลสำรวจสะท้อนว่า ผู้ชายบางส่วนยังมีความเชื่อว่า งานบ้านเป็นหน้าที่ผู้หญิง ซึ่งสาเหตุมาจากความคิดแบบชายเป็นใหญ่ ถูกบอกถูกสอนว่าผู้ชายต้องเป็นผู้นำ ส่วนผู้หญิงต้องทำงานบ้าน เลี้ยงลูก หากปล่อยให้ผู้ชายทำจะเสียศักดิ์ศรี ดังนั้น คงต้องเริ่มจากจุดนี้ ให้เขามองว่าการทำงานบ้านผู้ชายต้องทำได้ มันไม่ใช่หน้าที่ฝ่ายหญิงฝ่ายเดียว ค่อยๆ ปรับเปลี่ยน เพื่อทำให้ปัญหาความขัดแย้ง ความรุนแรงในครอบครัวลดลง ขณะที่การศึกษาควรเป็นเบ้าหลอมสำคัญ ต้องรื้อและเปลี่ยนแปลง เพราะในแบบเรียนก็ยังเห็นว่ากรอบความคิดแบ่งแยกชายหญิงยังแข็งแรง เราต้องช่วยกันเขย่ากรอบความคิดนี้ให้หมดไป

 

 

งานบ้านเรื่องใหญ่ที่หลายคนมองข้าม

 


          ด้าน นายจะเด็ด เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล อธิบายว่า ส่วนใหญ่คนที่มองว่าชายเป็นใหญ่จะอายุ 45 ขึ้นไป เขาจะเชื่อว่างานบ้านเป็นงานของผู้หญิงเพราะเขาเห็นรุ่นพ่อแม่เป็นแบบนั้น นี่คือสิ่งที่ปลูกฝังมาตลอดว่าไม่ใช่งานของเขา และบางคนมีความเชื่อที่ซับซ้อน เช่น ห้ามลอดราวตากผ้า หรือไม่จับผ้าถุงผู้หญิง เราไม่ได้โทษผู้ชายเพราะบางทีเขาปลูกฝังมาแบบนี้ ดังนั้น เราต้องมาคิดว่าทำอย่างไรให้เขาเกิดกระบวนการเรียนรู้ งานบ้านทำให้ความเสมอภาคชายหญิงเกิดขึ้นได้


          “บางทีหลายคนมองว่าเป็นเรื่องเล็กและเคยชินว่า ผู้หญิงต้องทำงานบ้าน แต่สังเกตว่าคนรุ่นใหม่ความคิดเริ่มเปลี่ยนแปลง พ่อแม่ยุคใหม่เริ่มปลูกฝังให้ทำงานบ้าน ตอนภรรยาผมคลอดลูก ที่องค์กรให้หยุดงานไปเลี้ยงลูกได้ 1 เดือน ผมรู้เลยว่ามันเหนื่อย เราเห็นข่าวว่าแม่ทำร้ายลูกตัวเองเพราะเครียดประชดสามี นี่ก็เป็นผลพวงของพ่อแม่ที่ไม่ช่วยเหลือกัน ดังนั้น ต้องเข้าใจว่ามิติงานบ้าน เชื่อมโยงกับเรื่องทางสังคมหลายด้าน ถ้าช่วยผู้หญิงทำงานบ้าน การดูแลลูกจะสมบูรณ์ ลูกจะเติบโตมาแบบมีพัฒนาการ หากผู้ชายไม่มีส่วนร่วม คุณจะไม่มีทางได้เห็นว่าเขาเติบโตขึ้นมาเป็นอย่างไร”


          ทั้งนี้ ที่ผ่านมามูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ได้ทำงานร่วมกับชุมชนเพื่อสร้างเครือข่ายแกนนำใน 6 จังหวัดทั่วประเทศ อาทิ อำนาจเจริญ เชียงใหม่ ชุมพร สมุทรปราการ ฯลฯ โดยมีแกนนำราว 20-30 คนต่อพื้นที่ ในการสร้างความเข้าใจกับผู้ชาย และเปลี่ยนทัศนคติที่มีต่อการแบ่งแยกหน้าที่ชายหญิง สร้างความเท่าเทียม ลดความรุนแรงให้เกิดผลได้อย่างเป็นรูปธรรม

 

 

งานบ้านเรื่องใหญ่ที่หลายคนมองข้าม

 


          “บางทีปัญหาความรุนแรงไม่ใช่แค่เรื่องของผู้หญิงอย่างเดียว ผู้ชายต้องออกมาทำให้เปลี่ยนด้วย เราคิดว่ามนุษย์เปลี่ยนได้ เรื่องงานบ้านไม่ได้ซับซ้อน นอกจากนี้ ต้องมีแรงสนับสนุนด้วย เช่น มีมาตรการให้ผู้ชายลาไปเลี้ยงลูกได้เหมือนที่ต่างประเทศ ปัจจุบันเห็นแค่ในราชการเท่านั้น เราคงไม่รณรงค์เพื่อบังคับเขา แต่ให้เขาได้แลกเปลี่ยน เรียนรู้ ปรับเปลี่ยน เราเชื่อว่าผู้ชายหลายคนที่ถูกมองว่าเป็นคนไม่ดี แต่หากให้โอกาสเขาอาจจะเปลี่ยนแปลงได้ แต่เรื่องแบบนี้ต้องใช้เวลา อย่างน้อย 1 ปีขึ้นไป”


          ทัศนคติเปลี่ยนยาก แต่เปลี่ยนได้
          นายรัชเวทย์ คำเสมอคชสีห์ อายุ 54 ปี ประธานชุมชนซอยสินทรัพย์ เขตดุสิต กทม. เป็นอีกหนึ่งตัวแทนของผู้ชายที่ครั้งหนึ่งเคยละเลยครอบรัว แต่ก็สามารถปรับตัวและกลับมาทำให้ครอบครัวอบอุ่นได้อีกครั้ง รัชเวทย์ เล่าว่าเกิดในครอบครัวที่มีวัฒนธรรมเรื่อง “ชายเป็นใหญ่” งานบ้านทุกอย่างเป็นของแม่และพี่สาว เมื่อมีครอบครัวก็ดื่มเหล้าแทบทุกวัน เมากลับบ้าน ด่าทอภรรยาและลูก เคยหนักถึงขั้นทำร้ายร่างกาย จนภรรยาและลูกไม่กล้าคุยด้วย แต่หลังจากที่ได้รับการชักชวนเข้าร่วมโครงการงดเหล้าเข้าพรรษา ของ สสส. เมื่อ 6 ปีก่อน และร่วมกิจกรรมของมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ทำให้ได้เห็นตัวอย่างความรุนแรงภายในครอบครัวอื่นๆ และสะท้อนกลับมาที่ตัวเอง


          “จุดเปลี่ยนที่สำคัญ คือ การได้อยู่บ้านกับหลานสองคน เป็นครั้งแรกที่ต้องเปลี่ยนผ้าอ้อมให้หลานเอง จึงรู้ว่าไม่ใช่เรื่องยาก ขณะที่หลานอยู่ในวัยกำลังคลาน เราเห็นพื้นสกปรกจึงหยิบไม้กวาดมากวาด ทำให้คิดย้อนไปว่าที่ผ่านมาเราไม่เคยทำเลย แม่ดูแลเรา แต่เราไม่เคยดูแลภรรยาและลูกของเรา หลังจากนั้นเริ่มเปลี่ยนพฤติกรรมทีละนิด เลิกเล่นการพนัน ขายของช่วยภรรยา และมีเป้าหมายที่จะเลิกเหล้าให้ได้อย่างเด็ดขาด ทุกวันนี้ครอบครัวกลับมาเป็นครอบครัวอีกครั้ง ภรรยาและลูกจากที่ไม่เคยคุยด้วย เริ่มชวนไปทำบุญที่วัด ไปดูหนัง ผมคิดว่าทุกคนเปลี่ยนได้ แต่อาจต้องใช้เวลา” รัชเวทย์ กล่าว


          การปลูกฝัง เริ่มจากครอบครัว
          ด้าน นางสุรีย์พร สาตราคม วัย 54 ปี ในฐานะคุณแม่ที่มีลูกเป็นคนรุ่นใหม่เล่าว่า มีลูกชาย 3 คน คนโตทำงานแล้ว ส่วนอีก 2 คนยังเรียนอยู่ ด้วยความที่ต้องทำงาน ลูกชายทั้งสามคนจึงต้องรับผิดชอบตัวเอง จะปลูกฝังให้ลูกรู้จักทำงานบ้านช่วยกันตั้งแต่เด็ก เพราะเป็นสิ่งที่ดี สมัยก่อนพื้นฐานครอบครัวส่วนใหญ่ให้ผู้หญิงทำงานบ้าน ผู้ชายก็หาเงินอย่างเดียว แต่ยุคปัจจุบันเปลี่ยนไป ต้องช่วยเหลือเกื้อกูลกัน การแบ่งเบาภาระให้ผู้ชายทำบ้างเป็นสิ่งที่ดี เพราะผู้หญิงต้องทำงานข้างนอก จึงให้เขาซักผ้า รีดผ้าเอง ผลัดกันดูแลสุนัข โตหน่อยก็หุงข้าว จะมารอแต่แม่ไม่ได้แล้ว ต้องช่วยเหลือตัวเอง เด็กต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต ช่วยกันให้เป็นหน้าที่ได้


 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ