Lifestyle

เปิดตัวเลขคนว่างงานเกือบ4แสน-รัฐทุ่ม8.6พันล้านแก้เตะฝุ่น 

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เปิดตัวเลขคนว่างงานเกือบ4แสนป.ตรี2แสนรัฐทุ่ม8.6พันล้านแก้เตะฝุ่น  โดย...   คุณภาพชีวิต [email protected] -

 

 

 

          สำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สรุปผลการสำรวจภาวะการทำงานของประชากรเดือนกันยายน 2562 พบว่า จำนวนผู้มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป 56.64 ล้านคน เป็นผู้อยู่ในกำลังแรงงานหรือผู้ที่พร้อมจะทำงาน 37.72 ล้านคน ส่วนผู้ที่อยู่นอกกำลังแรงงาน หรือผู้ที่ไม่พร้อมทำงานมีจำนวน 18.92 ล้านคน โดยผู้ที่พร้อมทำงาน ประกอบด้วยผู้ที่มีงานทำ 37.21 ล้านคน ผู้ว่างงาน 3.85 แสนคน ผู้ที่รอฤดูกาล 1.2 แสนคน

 

อ่านข่าว...  สัญญาณอันตราย

 

 

 

 

 

          เมื่อพิจารณาอัตราการว่างงานตามกลุ่มอายุ พบว่ากลุ่มวัยเยาวชนหรือผู้มีอายุ 15-24 ปี มีอัตราการว่างงานร้อยละ 6.5 ซึ่งปกติในกลุ่มนี้อัตราการว่างงานจะสูง ส่วนกลุ่มวัยผู้ใหญ่อายุ 25 ปีขึ้นไป มีอัตราการว่างงานร้อยละ 0.4 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2561 กลุ่มเยาวชนมีอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 5.1 เป็นร้อยละ 6.5

 

เปิดตัวเลขคนว่างงานเกือบ4แสน-รัฐทุ่ม8.6พันล้านแก้เตะฝุ่น 

 


          หากจำแนกตามระดับการศึกษาที่สำเร็จ พบว่าระดับอุดมศึกษาว่างงานสูงถึง 1.73 แสนคน ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่า ว่างงาน 8.4 หมื่นคน ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ว่างงาน 7.7 หมื่นคน ระดับประถมศึกษา ว่างงาน 4.2 หมื่นคน ไม่มีการศึกษาหรือต่ำกว่าประถมศึกษา ว่างงาน 9.0 พันคน


          ทุ่ม8,600ล้านแก้บัณฑิตเตะฝุ่น
          “สุวิทย์ เมษินทรีย์”  รมว.การอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวถึงแนวทางแก้ปัญหาว่ากระทรวงการอุดมศึกษาฯ จะจัดทำโครงการยุวชนสร้างชาติเพื่อลดหรือชะลออัตราการว่างงานของบัณฑิตใหม่ในสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่รับผลกระทบจากสงครามทางการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐที่ส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมของประเทศและการมีงานทำของประชาชน
  

          โดยปัจจุบันจากการสำรวจพบว่ามีบัณฑิตที่ตกงานมากถึง 370,000 คน และในเดือนมีนาคม 2563 หรือในอีก 4 เดือนข้างหน้า จะมีบัณฑิตกำลังจะจบจากมหาวิทยาลัยอีก 3 แสนคน ซึ่ง 50 เปอร์เซ็นต์คาดว่าจะตกงาน ทำให้มีบัณฑิตกำลังจะตกงานรวมกว่า 5 แสนคน ดังนั้นรัฐบาลจึงมอบให้กระทรวงการอุดมฯ จัดทำโครงการยุวชนชาติสร้างชาติ ซึ่งจะมี 3 โครงการย่อย ประกอบด้วย บัณฑิตอาสา อาสาประชารัฐและกองทุนยุววิสาหกิจเริ่มต้น เพื่อรับมือกับวิกฤติการณ์ดังกล่าว โดยจะใช้งบประมาณ 8,600 ล้านบาท ซึ่งได้รับความเห็นชอบจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แล้ว โดยจะเริ่มดำเนินการในเดือนธันวาคมนี้

 

 

เปิดตัวเลขคนว่างงานเกือบ4แสน-รัฐทุ่ม8.6พันล้านแก้เตะฝุ่น 

 


          โครงการยุวชนสร้างชาติ มีเป้าหมายคือเยาวชนวัยหนุ่มสาวในรั้วมหาวิทยาลัยและบัณฑิตจบใหม่ โดยวิธีการแก้ปัญหาจะผ่าน 3 โครงการย่อย คือ โครงการบัณฑิตอาสาเพื่อช่วยบัณฑิตตกงาน ใช้งบประมาณจำนวน 8 พันล้านบาท รับจำนวนกว่า 50,000 คน เพื่อให้ลงไปพัฒนาพื้นที่ในชุมชนร่วมกับชาวบ้านในพื้นที่ห่างไกลความเจริญโดยจะรับบัณฑิตจบใหม่ไม่เกิน 3 ปี ระยะเวลา 12 เดือน โดยจะได้เงินเดือน 10,000-15,000 บาท สามารถสมัครได้ที่มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ




          ทั้งนี้ โครงการบัณฑิตอาสา จะมีหลักการคล้ายๆ กับโครงการบัณฑิตอาสาของอาจารย์ป๋วย อึ้งภากรณ์ อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ส่งนักศึกษาที่จบมหาวิทยาลัยไปทำงานพัฒนาชนบท โครงการที่สองคือโครงการอาสาประชารัฐ งบประมาณ 500 ล้านบาท กลุ่มเป้าหมายคือนักศึกษาปี 3-4 จำนวน 10,000 คน ใช้ระยะเวลาทำงาน 4-5 เดือนหรือ 1 ภาคเรียน ให้ไปทำงานร่วมกับชาวบ้านและสามารถเทียบโอนหน่วยกิตได้ทั้งหมด
   

          โดยจะมีค่าเบี้ยเลี้ยงให้คนละ 5 พันบาท และสุดท้าย โครงการกองทุนยุววิสาหกิจ เริ่มต้นงบประมาณ 100 ล้านบาท กลุ่มเป้าหมายจะเป็นนิสิตนักศึกษาร่วมกับบุคลากรมหาวิทยาลัย ใช้ระยะเวลา 3-5 ปี เพื่อให้ไปพัฒนาผลิตภัณฑ์ ทดลองจัดตั้งสตาร์ทอัพ พัฒนาต่อยอดองค์ความรู้ให้เกิดเป็นนวัตกรรมทางธุรกิจ นวัตกรรมสังคมและนวัตกรรมสร้างสรรค์


          โครงการยุวชนสร้างชาติจะช่วยลดจำนวนบัณฑิตตกงานได้ประมาณร้อยละ 10 และจะเริ่มโครงการอาสาประชารัฐก่อนในเดือนธันวาคมนี้ นำร่องในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งเป็น 1 ใน 3 จังหวัดที่ยากจนที่สุดของประเทศ โดยให้นักศึกษา 500 คน จัดกลุ่มทำงานเป็นทีมทีมละ 8-10 คน มาจากการรวมตัวของหลากหลายคณะ นำความรู้ที่เรียนมาไปทำงานร่วมกับชาวบ้านเพื่อแก้ไขปัญหาและพัฒนาชุมชนในมิติต่างๆ โดยเฉพาะด้านความยากจน ความเหลื่อมลํ้า และปัญหาคุณภาพชีวิต
   

          โดยนักศึกษาเหล่านี้ต้องพักอาศัยในชุมชนที่ทำโครงการเป็นเวลา 4-5 เดือน คิดเป็น 1 ภาคเรียน เรียนรู้ร่วมกับชุมชน มีการทำงานกับชุมชนอย่างเป็นขั้นเป็นตอนตามหลักวิชาการ มีอาจารย์ที่ปรึกษาประจำทีม และมีความร่วมมือกับหน่วยงานภายในสังกัดกระทรวง อว. รวมถึงหน่วยงานอื่นในพื้นที่ ซึ่งนักศึกษาสามารถเทียบโอนหน่วยกิตการลงพื้นที่ได้เทียบเท่ากับที่เข้าเรียนในชั้นเรียนทั้งหมด


          จากนั้นจะเริ่มโครงการบัณฑิตอาสาในทั่วประเทศซึ่งจะต้องไปขึ้นทะเบียนกับสถาบันอุดมศึกษาในพื้นที่และทำงานร่วมกันเป็นกลุ่ม กลุ่มละ 8-10 คน แต่ละกลุ่มจะได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบพื้นที่ชุมชน 1 ชุมชนและต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขสำคัญคือสมาชิกในกลุ่มทุกคนจะต้องพำนักอาศัยในชุมชนนั้นเป็นระยะเวลา 1 ปีเพื่อเรียนรู้ร่วมกับชาวบ้านและทำงานตามที่ได้รับมอบหมาย ซึ่งมั่นใจว่าโครงการยุวชนสร้างชาติจะช่วยลดอัตราการว่างงานของบัณฑิตใหม่ในสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบ ที่สำคัญจะก่อให้เกิดอาชีพใหม่ด้วย


          ทั้งนี้ต้องสร้างสังคมไทยไม่หยุดเรียนรู้ สร้างโอกาส สร้างอาชีพ ครอบคลุมทุกช่วงวัย (Life Long Learning) พัฒนาหลักสูตรการศึกษาให้ตอบโจทย์ธุรกิจกลุ่มคนทำงานจำนวน 38 ล้านคน ด้วยการจับมือ 11 บริษัทยักษ์ใหญ่ของเมืองไทยและบริษัทระดับโลกอย่างบริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด จัดการฝึกอบรมพัฒนาเพิ่มทักษะตัวเอง และบริษัท หัวเว่ย สร้างกลุ่มสตาร์ทอัพร่วมกับมหาวิทยาลัยในการจัดทำหลักสูตรการเรียนรู้สำหรับผู้สูงอายุจำนวนกว่า 11 ล้านคน 


          นอกจากนี้ยังจับมือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หอการค้าไทย สภาเกษตรกรแห่งชาติ จัดทำนวัตกรรมชุมชนลดความเหลื่อมล้ำ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก ภายใต้โครงการ “1 ไร่ 1 ล้านบาท” สร้างรายได้ เพิ่ม 10 เท่าด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เช่น สํานักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พัฒนาเทคโนโลยีการเลี้ยงปลานิลหนาแน่นระบบปิด จากที่เลี้ยงในบ่อดินขนาด 1 ไร่ จํานวนปลาประมาณ 900 ตัว อัตราการรอดชีวิต 70-80% จะเพิ่มเป็น 6.4 หมื่นตัว ต่อไร่อัตราการรอดชีวิตสูงกว่า 90% เพื่อขยายฐานการส่งออกและตั้งเป้าการส่งออกเป็น 8.4 พันล้านบาทในปี 2565 จากยอดการส่งออกปลานิลในปัจจุบัน 5 พันล้านบาท และจะต่อยอดสู่หลักหมื่นล้านบาทให้ได้ในอนาคต เริ่มดำเนินการได้ภายในสิ้นปี 2562 เป้าหมายยกระดับเกษตรกร 1 หมื่นรายครอบคลุมพื้นที่กว่า 5 แสนไร่
  

          ปฏิรูปงานวิจัยและนวัตกรรมมุ่งเน้นว่าการวิจัยต้องตอบโจทย์ประเทศ เอกชนและชุมชน  ผลักดันงบวิจัยเพิ่มขึ้นเป็น 1.1% ต่อจีดีพี และจะเพิ่มขึ้นไปต่อเนื่อง โดยภายใน 5 ปี ควรขยับจาก 1.1% เป็น 1.5% ต่อจีดีพี หรือ 280,000 ล้านบาท มุ่งเน้นว่าการวิจัยต้องตอบโจทย์ประเทศ โจทย์เอกชน โจทย์จากชุมชน โดยแบ่งงานเป็น 4 ส่วน คือ 1.การพัฒนาคน (Brain power และ Man power) 2.การเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน 3.การลดความเหลื่อมล้ำพัฒนาพื้นที่ให้ความสำคัญเศรษฐกิจฐานราก และ 4.การวิจัยตอบโจทย์ท้าทายสังคม เช่น ปัญหาขยะ ภาวะโลกร้อน


          ปลดล็อกมหาวิทยาลัย พลิกโฉมมหาวิทยาลัยไทยเข้าสู่ 100 อันดับแรกของโลก โดยผลงานสำคัญคือการยกเครื่องมหาวิทยาลัยอันเป็นการวางรากฐานในระดับอุดมศึกษาของไทยด้วยการเดินหน้าปลดล็อกข้อจำกัดของมหาวิทยาลัยให้ตอบโจทย์ประเทศในอนาคตด้วยการทบทวนกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ (มคอ.) และปรับวิธีขอตำแหน่งวิชาการให้เหมาะสม แบ่งมหาวิทยาลัยออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มมหาวิทยาลัยที่สร้างองค์ความรู้ระดับโลก 2.มหาวิทยาลัยด้านเทคโนโลยีที่เน้นพัฒนาเทคโนโลยี อุตสาหกรรม และนวัตกรรม และ 3.มหาวิทยาลัยที่มุ่งเน้นตอบโจทย์พื้นที่ในการพัฒนาชุมชนและท้องถิ่น
     

          BCG in action สร้างจีดีพีประเทศจาก 3.4 ล้านล้าน เป็น 4.4 ล้านล้านบาทภายใน 5 ปี การขับเคลื่อนบีซีจี ระยะเร่งด่วนใน 4 ด้าน ประกอบด้วย ด้านการเกษตรและอาหาร : มุ่งสู่การผลิตสินค้าเกษตรและอาหารจากการผลิตมากแต่สร้างรายได้น้อยไปสู่การผลิตสินค้าที่เป็นพรีเมียมที่ผลิตน้อยแต่สร้างรายได้สูง รวมถึงการเพิ่มความหลากหลายของสินค้าเกษตรเศรษฐกิจ   โดยมีเป้าหมายเพิ่มจีดีพีของภาคเกษตรได้สูงขึ้นเป็น 1.7 ล้านล้านบาท ใน 5 ปี 
  

          ในส่วนของผลิตภัณฑ์อาหารมีศักยภาพในการเพิ่มมูลค่าจีดีพี จาก 0.6 ล้านล้านบาท เป็น 0.9 ล้านล้านบาท ใน 5 ปีมุ่งเน้นการสร้างความสามารถในการพึ่งพาตนเองได้ ทางด้านการผลิตยาและชีวเภสัชภัณฑ์ อุปกรณ์ทางการแพทย์และวัสดุฝังในร่างกาย ปรับเปลี่ยนรูปแบบการรักษาไปสู่การแพทย์แม่นยำ การเป็นศูนย์กลางการให้บริการด้านสุขภาพและการวิจัยด้านคลินิกชั้นนำของโลก เป้าหมายเพิ่มจีดีพี จาก 4 หมื่นล้านบาท เป็น 9 หมื่นล้านบาท ใน 5 ปี 
  

          ยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นทั้งในเรื่องของการผลิตอาหารมีคุณภาพ ความปลอดภัย รวมถึงสุขภาพและการแพทย์ ลดความเหลื่อมล้ำจากการเข้าถึงยาและเวชภัณฑ์ราคาสูงอย่างน้อย 300,000 คนต่อปี ภายใน 5 ปี ด้านพลังงาน วัสดุและเคมีชีวภาพ : มุ่งเน้นการเพิ่มความมั่นคงด้านพลังงานและการต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์เคมีและวัสดุชีวภาพมูลค่าสูงด้วยการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรให้เกิดความคุ้มค่ามากที่สุด

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ