Lifestyle

ณัฐ แก้วสกุล นักกิจกรรมจิตอาสา วิชาชีพที่มีต้องคืนให้แผ่นดิน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ณัฐ แก้วสกุล นักกิจกรรมจิตอาสา  วิชาชีพที่มี ต้องคืนให้แผ่นดิน  โดย...   ชลธิชา ศรีอุบล  กองประชาสัมพันธ์ มทร.ธัญบุรี

 

 

 

          25 ปีของการเป็นครู “ผศ.ณัฐ แก้วสกุล” ยึดหลักในการทำงานว่าต้องลงมือทำ ไม่ใช่สอนอย่างเดียว ต้องทำให้ดู เด็กทุกวันนี้เรียนรู้จากพฤติกรรม ไม่ใช่เรียนรู้จากกระดาษหรือคำสอน อย่างเช่นการทำกิจกรรมจิตอาสา ต้องชวนมาทำ หาวิธีในการจูงใจและเปลี่ยนทัศนคติ อาจต้องใช้ “ซูเปอร์สตาร์” เพื่อดึงให้มาช่วยเหลือสังคม ซึ่งหลายงานที่ผู้นำต้นแบบเป็นดารา เช่น บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์, ตูน บอดี้สแลม เป็นต้นแบบที่ชัดเจนในการสร้างแรงบันดาลใจด้านจิตอาสาเพื่อส่วนรวม

 

 

          ปัจจุบัน นอกจากเป็นอาจารย์คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม เขายังเป็นที่ปรึกษาชมรมราชมงคลอาสาพัฒนาเฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) หรือที่รู้จักกันดีในกลุ่มนักกิจกรรมจิตอาสา พยายามสร้างกิจกรรมและสร้างทัศนคติจิตอาสาให้แก่เยาวชน การปลูกฝังให้แก่นักศึกษา ผู้นำนักศึกษา 

 

 

 

ณัฐ แก้วสกุล นักกิจกรรมจิตอาสา วิชาชีพที่มีต้องคืนให้แผ่นดิน

 

 


          สาเหตุที่ทำกิจกรรมจิตอาสามาตลอด เพราะมีแนวคิดว่า “วิชาชีพที่มี ต้องคืนให้แผ่นดิน” และสาขาที่เรียนทำประโยชน์ได้ สร้างสิ่งปลูกสร้างอาคารเรียนให้เกิดประโยชน์แก่ชุมชนและเกิดแก่โรงเรียนได้ โดยออกค่ายกับนักศึกษาอยู่ประมาณ 4–5 ปี จึงได้รับตำแหน่งที่ปรึกษาชมรมราชมงคลอาสาพัฒนาเฉลิมพระเกียรติ มทร.ธัญบุรี ถึงทุกวันนี้


          ทุุกครั้งที่ออกค่ายต้องสร้างอาคารเรียนให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน เนื้องานทุกอย่างในการทำกิจกรรมครั้งนี้ เป็นการสร้างทักษะให้นักศึกษา สอนทุกกระบวนการ นักศึกษาที่ใฝ่รู้จะได้เนื้อหาได้ประสบการณ์ตรงนี้เต็มรูปแบบ ภูมิใจทุกครั้งที่นักศึกษาได้ลงมือและสำเร็จทุกครั้ง ภูมิใจที่เห็นลูกศิษย์ทำได้ ออกไปสู่สังคมและตลาดแรงงานที่จะพึ่งพาตัวเองได้

 

 

 

ณัฐ แก้วสกุล นักกิจกรรมจิตอาสา วิชาชีพที่มีต้องคืนให้แผ่นดิน

 


          เพราะเชื่อว่า สิ่งสำคัญที่สุดคือ ผู้นำ โดยผู้นำมหาวิทยาลัย คือ อาจารย์ ผู้นำเด็ก คือ ผู้นำนักศึกษา ทำการถ่ายทอดไปยังสโมสรนักศึกษา สโมสรถ่ายทอดให้นักศึกษาในสาขา ทำให้เป็นสังคมที่ฝังรากหยั่งลึกไปในหัวใจ ทุกอย่างต้องช่วยกัน ทุกกิจกรรม มุ่งเน้นกิจกรรมจิตอาสาทั้งหมด เพื่อให้ผู้นำจิตอาสาทั้งหมดมหาวิทยาลัย เพื่อมหาวิทยาลัยเป็นต้นแบบได้ นำไปสู่ชุมชน ชุมชนต่ออำเภอ ระดับจังหวัด เริ่มด้วยการทำจิตอาสาในมหาวิทยาลัยและชุมชน การระดมจิตอาสา ในการรับผิดชอบต่อสังคม

 



          “ถามว่าสิ่งที่ทำเพื่อต้องการเป็นฮีโร่ ต้องโดดเด่น ต้องการเป็นต้นแบบหรือเปล่า ตอบเลยว่าความต้องการไม่มี มีแต่จิตสำนึกที่ต้องร่วมรับผิดชอบต่อสังคม เพราะเราเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ร่วมอยู่ ร่วมใช้ทรัพยากรในสังคมอย่างมีจิตสำนึก ซึ่งถ้าสังคมขาดเรื่องพวกนี้จะอยู่อย่างไร เป็นสังคมที่เห็นแก่ตัวอย่างรุนแรง 20 ปี ในการทำงานตรงนี้ ในหลวงรัชกาลที่ 9 และรัชกาลที่ 10 คือต้นแบบการทำงานของผม เป็นแรงผลักดันทุกอย่าง ให้ทำงานเพื่อประโยชน์ส่วนรวม” ที่ปรึกษาชมรมราชมงคลอาสาพัฒนาเฉลิมพระเกียรติ มทร.ธัญบุรี กล่าว


          เขาเล่าว่า วัยเด็กช่วงปิดเทอม เขาต้องไปทำนากับปู่ย่า ที่ อ.หัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช ทั้งๆ ที่พ่อรับราชการครู ทำให้ได้เรียน ปรับตัวเข้ากับสังคม เป็นภูมิชีวิตที่ดีมาก ไม่ต้องกังวลเรื่องความเป็นอยู่ ไม่ได้สะทกสะท้านกับความลำบาก เมื่อครั้งปี 2531 เข้ามาเรียนในระดับ ปวช.และ ปวส. ที่วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา วิทยาเขตพระนครเหนือ 

 

ณัฐ แก้วสกุล นักกิจกรรมจิตอาสา วิชาชีพที่มีต้องคืนให้แผ่นดิน


    

          สมัยเรียนปริญญาตรี สาขาครุศาสตร์อุตสาหการ วิชาเอกวิศวกรรมงานเชื่อมประกอบ สถาบันเทคโนโลยีราชมงคลเขตเทเวศร์ (มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร วิทยาเขตเทเวศร์) มาอยู่วัดลครทำ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร หลวงตาสอนทุกวันว่า “คนเกิดก่อนต้องช่วยคนเกิดทีหลัง” คำนั้นฝังอยู่ในใจจนทุกวันนี้ ซึ่งเป็นเรื่องที่มนุษย์คนหนึ่งควรที่จะทำ


          หลังเรียนจบปี 2538 บรรจุรับราชการครูที่ ภาควิชาครุศาสตร์อุตสาหการ สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตเทเวศร์ และปี 2539 ได้ย้ายมาบรรจุราชการครูที่ คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม ศูนย์กลางสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล (มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี) จนกระทั่งปี 2547 ได้เริ่มออกค่าย กับชมรมราชมงคลอาสาพัฒนาเฉลิมพระเกียรติ มทร.ธัญบุรี ครั้งแรกที่ อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน 


          ผศ.ณัฐ บอกว่ามหาวิทยาลัยต้องพัฒนาจิตอาสาในรายวิชา ให้นักศึกษาเริ่มคิดกิจกรรมด้วยตนเองไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความรับผิดชอบต่อสังคม เช่น รณรงค์การคัดแยกขยะในมหาวิทยาลัยและชุมชน รวมไปถึงการดูแลสภาพแวดล้อม นำนักศึกษาลงพื้นที่ในการช่วยเหลือชาวบ้าน พัฒนาและปรับปรุงที่อยู่อาศัย ซ่อมแซม เช่น การซ่อมแซมศูนย์การเรียนรู้วัดไก่เตี้ย จิตอาสาในรายวิชามีประสิทธิภาพค่อนข้างมาก นักศึกษาได้ฝึกทักษะในรายวิชา รวมไปถึงการสร้างจิตสำนึกที่ดี ทำแล้วเกิดประโยชน์ ลงพื้นที่ทำงานแล้วกลับมาตระหนัก เชื่อมโยงมหาวิทยาลัยกับชุมชนได้

 

ณัฐ แก้วสกุล นักกิจกรรมจิตอาสา วิชาชีพที่มีต้องคืนให้แผ่นดิน

 


          "จิตอาสา ไม่ใช่ลงไปทำโน่นทำนี่ แต่จิตอาสาคือ ต้องไม่ทำร้ายสังคม ต้องไม่ซ้ำเติมสังคม ไม่ผลักภาระตนเองสู่สังคม นี่คือจิตอาสา ต้องมีความรับผิดชอบตนเองในทุกเรื่อง ถ้าคนในสังคมรับผิดชอบเรื่องของตนเองทุกเรื่อง มองที่ประโยชน์ขององค์กรมากขึ้นและมองว่าถ้าไม่มีองค์กรคงไม่มีเรา มองที่ส่วนรวมมากขึ้นก็จะทำให้สังคมน่าอยู่มากขึ้นไปในตัวนั่นเอง” ผศ.ณัฐ กล่าวทิ้งท้าย
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ