Lifestyle

เบาหวาน…ควบคุมได้สร้างเครือข่ายสู่ความสำเร็จ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เบาหวาน…ควบคุมได้สร้างเครือข่ายสู่ความสำเร็จ โดย... ทีมคุณภาพชีวิต [email protected] -

 

 

 

          ปัจจุบันคนไทยป่วยเป็นเบาหวานประมาณ 5 ล้านคน และมีแนวโน้มเป็นเบาหวานเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จากปี 2534 คนไทยเป็นเบาหวาน 2.3% และปี 2557 เพิ่มขึ้นเป็น 8.9% เสียชีวิตจากโรคเบาหวานและภาวะแทรกซ้อนถึง 21.96% และยังควบคุมระดับน้ำตาลได้น้อยมากประมาณ 40% สามารถควบคุมทั้ง 3 อย่าง คือ ระดับน้ำตาล ไขมัน และความดันโลหิตได้ประมาณ 12% เท่านั้น ทำให้ประเทศไทยต้องสูญเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคเบาหวานเฉลี่ยสูงถึง 47,596 ล้านบาทต่อปี และหากมี 3 โรคร่วมด้วย ได้แก่ ความดันโลหิตสูง หัวใจและหลอดเลือดสมอง ทำให้ต้องสูญเสียค่าใช้จ่ายประมาณ 3 แสนล้านบาทต่อปี

 

 

          สิ่งที่เกิดขึ้นยังพบว่าผู้ป่วยมีการควบคุมระดับน้ำตาลได้น้อย โดยคนไข้ใหม่ในปีแรกจะดูแลตัวเองดีมาก คุมระดับน้ำตาลได้ดี แต่เมื่อนานไปเริ่มที่จะคุมไม่ได้ เพราะจะมีข้ออ้างในการดูแลตัวเองต่างๆ มากมาย เช่น ทุเรียนภูเขาไฟออกปีละครั้งจะต้องกิน หรือกินลองกองช่วยชาติ เป็นต้น ซึ่งการจะบอกคนไข้ให้ยับยั้งชั่งใจและเปลี่ยนพฤติกรรม วิถีชีวิตและต้องเปลี่ยนไปตลอดชีวิตกับสิ่งที่คุ้นเคยมานาน 30-40 ปี ไม่ใช่เรื่องง่ายและเกิดขึ้นได้ทันที


          นพ.เพชร รอดอารีย์ อายุรแพทย์ต่อมไร้ท่อ รพ.วชิระ และเลขาธิการสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย บอกว่า การจะทำให้ผู้ป่วยเบาหวานสามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้ดีขึ้นนั้น จะต้องอาศัยมิติเชิงสังคมและวัฒนธรรมด้วย ตาม “โครนิค แคร์ โมเดล" (Chronic Care Model) ที่จะต้องประกอบด้วย 2 ส่วน ได้แก่ ระบบสุขภาพ และชุมชน ซึ่งจะเป็นส่วนที่สำคัญ เนื่องจากเมื่อคนไข้ได้รับความรู้และการดูแลจากระบบแล้ว จะต้องกลับไปใช้ชีวิตอยู่ในบ้าน ในชุมชน สภาพแวดล้อมของคนไข้ส่วนใหญ่จึงอยู่ที่ชุมชน 


          เพราะฉะนั้นการที่จะทำให้ผู้ป่วยเบาหวานสามารถดูแลตนเอง ควบคุมระดับน้ำตาลได้ดีอย่างยั่งยืน จะต้องอาศัยครอบครัวและชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม ช่วยในการสนับสนุนอำนวยความสะดวก เพื่อให้มีสิ่งแวดล้อมที่เอื้อจะทำให้ผู้ป่วยเบาหวานดูแลตนเองได้ดีขึ้น แต่หากมุ่งเน้นการดูแลแต่เฉพาะในสถานพยาบาลจะไม่สำเร็จ


          แนวทางการดึงชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม สามารถเริ่มต้นด้วยการใช้รูปแบบของการสร้างชมรม เครือข่ายหรือกลุ่มคนในชุมชน ซึ่งเป็นกลุ่มบุคคลที่มีปัญหาคล้ายคลึงกันมารวมตัวกัน ด้วยความสมัครใจ เพื่อช่วยเหลือกันและกัน ด้วยการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ประสบการณ์อย่างสม่ำเสมอ ส่งเสริมให้มีกำลังใจ สามารถปรับตัว และมีศักยภาพในการดูแลตนเองและจัดการกับสุขภาพตนเอง เพราะคนไข้ด้วยกันจะมีความเข้าใจกันและกันมากกว่าแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข




          “เป้าหมายหลักของการมีกลุ่มสนับสนุนหรือเครือข่ายผู้ป่วยเบาหวานที่ช่วยเหลือ ประคับประคอง ส่งเสริมสนับสนุน เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเผชิญกับความวิตกกังวล ลดความรู้สึกที่ต้องแยกตัวออกจากสังคม เพื่อความสามารถในการเผชิญกับความเจ็บป่วย มีการรับรู้ที่ถูกต้อง รู้จักแหล่งให้ความช่วยเหลือและพัฒนาศักยภาพในการดูแลตนเอง งานวิจัยในต่างประเทศ พบว่าการมีกลุ่มสนับสนุนของผู้ป่วยเบาหวาน ทำให้การควบคุมระดับน้ำตาลของผู้ป่วยเบาหวานดีขึ้นอย่างชัดเจน” นพ.เพชรกล่าว


          การมีกลุ่มสนับสนุนและการสร้างเครือข่ายสามารถเกิดขึ้นได้จริง โดย รพ.พุทธชินราช จ.พิษณุโลก เป็นต้นแบบของความสำเร็จในการควบคุมโรคเบาหวานและการสร้างเครือข่ายในพื้นที่ Life Long NCDs นพ.วิรัช  ศิริกุลเสถียร อายุรแพทย์ รพ.พุทธชินราช เล่าว่า นวัตกรรม Life Long NCDs  ซึ่งเป็นการช่วยให้คนมีชีวิตยืนยันปลอดจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง(NCDs) มีแนวคิดว่าจะต้องดำเนินการในทุกกลุ่มวัย เชื่อมโยงทุกภาคี ดูแลระดับบุคคล ครอบครัวชุมชน จึงมีการเริ่มต้นตั้งแต่การตั้งครรภ์ที่มีคุณภาพ การมีคลินิกติดตามเด็กและมารดาหลังคลอด


          รวมถึงการดึงชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม ด้วยการดำเนินโครงการเครือข่ายราชการต้นแบบ แกนนำสุขภาพภาครัฐ โรงงานต้นแบบ วัดต้นแบบ และชุมชนต้นแบบ เป็นการดึงทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม โดยการเข้าไปแนะนำถึงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อให้ลดความเสี่ยงของโรค เช่น ครัวต้นแบบ การให้ร้านอาหารในพื้นที่ มีเมนูอาหารที่เค็มน้อยอร่อยดี เป็นเมนูทางเลือกสำหรับประชาชนอย่างน้อย 1-3 เมนู


          นอกจากนี้ ดำเนินการระดับบุคคล ด้วยการคัดกรองประชาชนแล้วให้ความรู้และการดำเนินการตามความเหมาะสมของแต่ละกลุ่ม อย่างกลุ่มเสี่ยงจะให้คำแนะนำวิธีการปฏิบัติเพื่อไม่ให้กลายเป็นกลุ่มป่วย กลุ่มป่วยก็จะส่งเสริมแนวทางในการควบคุมโรคให้ได้ เช่น การมีตู้เย็นรอบบ้านจากการปลูกผักกินเอง มีอาสาสมัครครอบครัว(อสค.)เข้าไปดูแล และกลุ่มป่วยนอกระบบมีการร่วมกับเครือข่ายคลินิกประกันสังคมและร้านยาคุณภาพในการร่วมดูแลและลดความแออัดของสถานพยาบาล


          ตัวอย่างชุมชนต้นแบบ คือที่ “ชุมชนจอมทอง” อ.เมืองพิษณุโลก ซึ่งมีวิสัยทัศน์ชุมชนที่ให้ชาวจอมทองมีสุขภาพพอเพียง ผู้นำชุมชนจึงมีนโยบายสาธารณะในเรื่องเหล้า บุหรี่ ห้ามเผาหญ้า โรงเรียนปลอดก๊อบแก๊บ ร้านค้าต้นแบบ ร้านนี้ดีมีเมนูอ่อนหวาน ร้านนี้เกลือเจือจาง ล้อมรั้วด้วยรักปลูกผักสวนครัว วัดปลอดพระ(อ้วน) เครือข่ายพระบิณฑบาตความทุกข์ด้วยการนิมนต์พระเยี่ยมบ้านผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง เป็นต้น เมื่อมีการขับเคลื่อนทั้งชุมชนเช่นนี้ ส่งผลให้การรายงานอัตราการเกิดภาวะแทรกซ้อนเฉียบพลันในผู้ป่วยเบาหวานของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.)จอมทอง เป็น 0 ตั้งแต่ปี 2559-2562


          ศ.คลินิก นพ.วีระศักดิ์ ศรินนภากร กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า ทุกส่วนต้องมีส่วนในการดูแลสุขภาพของตัวเองและครอบครัวด้วย การให้ความรู้เพื่อจัดการตนเองในผู้ป่วยเบาหวานจึงสำคัญ และความรู้ความเข้าใจที่เจ้าหน้าที่ให้ไปนั้นจะต้องส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมและเกิดการเปลี่ยนแปลง โดยที่ผู้ป่วยสามารถทำพฤติกรรมนั้นได้เอง แม้ไม่มีเจ้าหน้าที่หรือผู้ให้ความรู้อยู่ด้วย


          ดังนั้นผู้ที่ทำหน้าที่ให้ความรู้จะต้องรู้จักเรื่องการพูดเพื่อสร้างแรงจูงใจด้วย และต้องแสดงให้ผู้ป่วยรับรู้ได้ถึงความใส่ใจและปรารถนาดีจึงได้แนะนำแนวทางการปฏิบัติตน หากอาสาสมัครสาธารณสุข(อสม.)ที่มีอยู่กว่า 1 ล้านคนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการให้ความรู้เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและการดูแลตนเองของผู้ป่วยเบาหวานก็น่าจะได้ผล เพราะอสม.เป็นคนคุ้นเคยอยู่ในชุมชน ผู้ป่วยย่อมมีความไว้วางใจ โดยอาจจะต้องเพิ่มเติมแนวทางหรือองค์ความรู้การดูแลผู้ป่วยเบาหวานให้ อสม.เพิ่มขึ้น เพื่อนำไปแนะนำผู้ป่วยต่อไป


          นายวีรชัย ก้อนมณี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนระบบบริการสุขภาพชุมชน สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) กล่าวว่า สปสช.มีกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่นหรือกองทุนตำบล ซึ่งเป็นการลงทุนร่วมกันระหว่างสปสช.และท้องถิ่น เป็นไปตามมาตรา 47 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ที่กำหนดให้ สปสช.สร้างความร่วมมือกับท้องถิ่น ในการสร้างระบบสุขภาพให้แก่ประชาชนในพื้นที่ 


          โดยกองทุนมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนตั้งแต่เด็ก ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ประกอบอาชีพเสี่ยงต่างๆ เข้าถึงระบบบริการสุขภาพ โดยทำหน้าที่ในการหนุนเสริมให้ประชาชนเข้าถึงบริการ ในลักษณะที่ใครอยากทำอะไร เพื่อดูแลสุขภาพตนเองก็สามารถเสนอโครงการเพื่อรับงบประมาณจากกองทุนนี้ไปดำเนินการได้ ซึ่งหากชุมชนมีโครงการจะทำเกี่ยวกับโรคเบาหวาน หรือโรค NCDs อื่น ก็สามารถเสนอโครงการผ่านกองทุนนี้ได้

         คนไทยป่วยเป็นเบาหวาน
         - ประมาณ 5 ล้านคน
         - คุมระดับน้ำตาลได้ประมาณ 40% 
         - คุม ระดับน้ำตาล ไขมัน และความดัน 12%
         - ค่าใช้จ่ายรักษาเบาหวาน 47,596 ล้านบาทต่อปี
         - 3 โรคร่วม 3 แสนล้านบาทต่อปี

         *การควบคุมระดับน้ำตาล
         - อาศัยมิติเชิงสังคมและวัฒนธรรม
         - “โครนิค แคร์ โมเดล" 
         - ครอบครัวและชุมชนมีส่วนร่วม-สร้างเครือข่ายในพื้นที่ Life Long NCDs
         - อาสาสมัครครอบครัว(อสค.)เข้าไปดูแล
         - อาสาสมัครสาธารณสุข(อสม.)ให้ความรู้

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
-แผลเบาหวานติดเชื้อง่ายหายยาก
-เมื่อสุนัขเป็นเบาหวาน
-งานวิจัยสำหรับผู้ป่วยแผลเบาหวานที่เท้า คณะแพทยศาสตร์

 

 

 

 

 

 

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ