Lifestyle

จากเกมกายภาพบำบัดเพื่อแม่สู่ 1 ใน 20 ธุรกิจดีเด่นอาชีวะฯ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

จากเกมกายภาพบำบัดเพื่อแม่สู่ 1 ใน 20 ธุรกิจดีเด่นอาชีวะฯ โดย...  ทีมข่าวคุณภาพชีวิต [email protected] 

 

 

 


          จากแรงบันดาลใจที่คุณแม่เป็นโรคหลอดเลือดในสมอง ต้องทำกายภาพบำบัดด้วยท่าเดิมๆ ซ้ำๆ ในทุกๆ วันจนทำให้เกิดอาการเบื่อและเคร่งเครียด จุดประกายให้ กวินทรา ตรีรัตนาภรณ์ สร้าง “ธุรกิจโปรแกรมเกมตะลุยมหาสมบัติ” ฟื้นฟูผู้ป่วยที่มีภาวะอัมพฤกษ์ทางแขน

 

 

          สำหรับ “ธุรกิจโปรแกรมเกมตะลุยมหาสมบัติ” เพื่อผู้มีภาวะอัมพฤกษ์ทางแขนและกลุ่มผู้สูงอายุที่มีความบกพร่องทางการเคลื่อนไหวของแขน ซึ่งถูกคิดค้นโดย กวินทรา ตรีรัตนาภรณ์ ปวช.2 สาขาคอมพิวเตอร์กราฟฟิก วิทยาลัยอาชีวศึกษาสุราษฎร์ธานี ถือเป็นอีกหนึ่งผลงานของศูนย์บ่มเพาะผู้ประกอบการอาชีวศึกษาวิทยาลัยอาชีวศึกษาสุราษฎร์ธานี ที่ผ่านการคัดเลือกเป็น 1 ใน 20 ทีมธุรกิจดีเด่นในโครงการของอาชีวศึกษาที่ส่งเสริมการประกอบอาชีพอิสระสำหรับผู้เรียนอาชีวศึกษา 

 

 

 

จากเกมกายภาพบำบัดเพื่อแม่สู่ 1 ใน 20 ธุรกิจดีเด่นอาชีวะฯ

 


          กวินทรา เล่าถึงแรงบันดาลใจในการทำธุรกิจโปรแกรมเกมตะลุยมหาสมบัติสำหรับผู้มีภาวะอัมพฤกษ์ทางแขน และกลุ่มผู้สูงอายุที่มีความบกพร่องทางการเคลื่อนไหวของแขนว่า คุณแม่เป็นโรคอัมพฤกษ์หรือโรคหลอดเลือดในสมอง คือ ภาวะที่สมองขาดเลือดไปเลี้ยงทำให้เกิดอาการปากเบี้ยว พูดไม่ชัด แขนขาข้างใดข้างหนึ่งอ่อนแรงหรือชาเป็นอาการที่เกิดขึ้นอย่างทันทีทันใด


          “คุณหมอแนะนำให้ฝึกกายภาพบำบัดเพื่อช่วยกระตุ้นการฟื้นตัวของระบบประสาทมือและแขนที่อ่อนแรง เช่น บีบลูกบอล ยืดแขนยกแขน แต่การกายภาพบำบัดในท่าซ้ำๆ เดิมๆ ทำให้แม่เกิดอาการเบื่อ และเครียด จึงเกิดแนวคิดสร้างเกมให้คุณแม่เล่นโดยนำแนวคิดดังกล่าวปรึกษา ครูศิระ ประเสริฐศักดิ์ ช่วยกันประดิษฐ์ คิดค้นและทดลอง จนเกิดเป็นเกมตะลุยมหาสมบัติ (The Land of Treasure) โดยใช้อุปกรณ์ Leap Motion Controller เป็นอุปกรณ์ร่วม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการทำกายภาพบำบัดให้กับผู้ป่วยที่มีภาวะอัมพฤกษ์ทางแขน เพื่อให้ผู้ป่วยเกิดการฟื้นตัวของระบบประสาทมือ”

 

 

จากเกมกายภาพบำบัดเพื่อแม่สู่ 1 ใน 20 ธุรกิจดีเด่นอาชีวะฯ

 



          สำหรับเกมตะลุยมหาสมบัติ (The Land of Treasure) มีทั้งหมด 5 ด่าน ด่านแรก จะเป็นด่านของการทดลองเล่น เพื่อให้ผู้เล่นเกิดความคุ้นชินในการใช้อุปกรณ์ Leap Motion Controller เช่น ให้ผู้เล่นใช้มือปัดป้ายวัตถุภายในเกมตามจำนวนที่ระบุ และเมื่อผู้เล่นผ่านภารกิจก็จะเพิ่มความยากขึ้นไปในแต่ละด่าน เช่น การเก็บชิ้นส่วนที่มากขึ้น และการทำภารกิจให้สำเร็จตามเวลาที่กำหนด เป็นต้น


          อาการแม่ดีขึ้นกว่า 90%
          กวินทรา กล่าวต่อไปว่า ในช่วงแรกของการทดสอบคุณแม่มีอาการดีขึ้นตามลำดับ จนปัจจุบันดีขึ้น ประมาณ 90% ดีใจมาก ครูหลายท่านในวิทยาลัยอาชีวศึกษาสุราษฎร์ธานี เห็นประโยชน์จากโปรแกรมเกมนี้ จึงแนะนำให้เขียนเป็นแผนธุรกิจส่งในนามศูนย์บ่มเพาะผู้ประกอบการอาชีวศึกษา


          และเนื่องจากปัจจุบันประเทศไทย มีผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้นตามการคาดประมาณประชากรของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในปี 2564 ประเทศไทยจะเข้าสู่ “สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์” เมื่อประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป มีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด และในปี 2574 ประเทศไทยจะเข้าสู่ “สังคมสูงวัยระดับสุดยอด” เมื่อประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมีสัดส่วนถึงร้อยละ 28 ของประชากรทั้งหมด

 

 

จากเกมกายภาพบำบัดเพื่อแม่สู่ 1 ใน 20 ธุรกิจดีเด่นอาชีวะฯ

 


          จึงได้นำโปรแกรมเกมตะลุยมหาสมบัติ ไปประชาสัมพันธ์ให้ทดลองใช้ฟรี โดยติดตั้งไว้ในคลินิกอายุรกรรมและสถานพยาบาลในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งจากการติดตามผลการใช้งานของผู้ป่วยอัมพฤกษ์ทางแขนและผู้สูงอายุที่มีความบกพร่องทางการเคลื่อนไหวของแขนมีผลตอบรับดี เนื่องจากเป็นการฝึกกายภาพบำบัดที่แปลกใหม่ ช่วยฟื้นฟูการเคลื่อนไหวตั้งแต่สะบักหลังจนถึงปลายนิ้วมือ ทำให้อาการดีขึ้นตามลำดับ ไม่เบื่อ ไม่เครียด เกิดความเพลิดเพลิน และแรงจูงใจในการฝึกกายภาพบำบัด


          “ชุดโปรแกรมนี้มีราคาถูกมากเมื่อเทียบกับราคาที่ขายกันในต่างประเทศ เพราะเป็นการนำโปรแกรมเกมมาผสมผสานกับเทคโนโลยีเสมือนจริง เพื่อเสริมแรงให้สนุกสนาน เพลิดเพลิน ช่วยลดความกดดันและตึงเครียดในการฝึกกายภาพบำบัดได้ โดยโปรแกรมเกมตะลุยมหาสมบัติฯ ยังได้รับรางวัลรองชนะเลิศ สุดยอดนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์อาชีวศึกษา ระดับชาติ ประจำปีการศึกษา พ.ศ.2561ประเภทที่ 6 สิ่งประดิษฐ์ด้านนวัตกรรมซอร์ฟแวร์และสมองกลฝังตัวอีกด้วย”

 

 

 

จากเกมกายภาพบำบัดเพื่อแม่สู่ 1 ใน 20 ธุรกิจดีเด่นอาชีวะฯ

ณรงค์ แผ้วพลสง

 


          ณรงค์ แผ้วพลสง ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ รักษาการแทนเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เปิดเผยว่า ตามนโยบายหลัก 12 ด้านของรัฐบาลปัจจุบัน ว่าด้วยเรื่องการปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้และการพัฒนาศักยภาพของคนไทยทุกช่วงวัย เน้นให้มีการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเพื่อขจัดความเหลื่อมล้ำและความยากจน ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน


          โดยการพัฒนานวัตกรรมเชิงสังคมและนวัตกรรมในเชิงพื้นที่ ที่สามารถช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ สร้างโอกาสสำหรับผู้ด้อยโอกาส และยกระดับคุณภาพชีวิตผู้สูงวัย ควบคู่ไปกับการพัฒนาทุนมนุษย์ให้พร้อมสำหรับโลกยุคดิจิทัลและอุตสาหกรรม 4.0 อย่างเป็นรูปธรรม

 

 

 

จากเกมกายภาพบำบัดเพื่อแม่สู่ 1 ใน 20 ธุรกิจดีเด่นอาชีวะฯ

 


          นายณรงค์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ระยะแรกจะให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาด้านสุขภาพของประชาชนอย่างครบวงจร ทั้งระบบยา วัคซีน เวชภัณฑ์ และเทคโนโลยีที่ทันสมัย สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) จึงได้ส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้เรียนอาชีวศึกษาคิดค้นสร้างนวัตกรรม โดยใช้เทคโนโลยีผนวกกับความรู้ด้านวิชาชีพมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ ต่อยอดในเชิงพาณิชย์ ให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้การทำธุรกิจและมีรายได้ระหว่างเรียน เกิดเป็นศูนย์บ่มเพาะผู้ประกอบการอาชีวศึกษาในสถานศึกษาสังกัด สอศ.


          “ธุรกิจโปรแกรมเกมตะลุยมหาสมบัติ ถือเป็นอีกหนึ่งผลงานของศูนย์บ่มเพาะผู้ประกอบการอาชีวศึกษาวิทยาลัยอาชีวศึกษาสุราษฎร์ธานี ที่ผ่านการคัดเลือกเป็น 1 ใน 20 ทีมธุรกิจดีเด่นในโครงการของอาชีวศึกษาที่ส่งเสริมการประกอบอาชีพอิสระสำหรับผู้เรียนอาชีวศึกษาที่จะจัดแสดงแผนธุรกิจในวันที่ 23 ธันวาคม 2562 นี้ที่สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา” นายณรงค์ กล่าว

 

 

 

จากเกมกายภาพบำบัดเพื่อแม่สู่ 1 ใน 20 ธุรกิจดีเด่นอาชีวะฯ

 


          ดูรายละเอียดเกี่ยวกับ “เกมตะลุยมหาสมบัติ” เพิ่มเติมที่ เฟซบุ๊กแฟนเพจ VR Game Innovation หรือที่ศูนย์บ่มเพาะผู้ประกอบการอาชีวศึกษา วิทยาลัยอาชีวศึกษาสุราษฎร์ธานี


 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ