Lifestyle

เปิดเกณฑ์บรรจุครู คพร. ร.ร.ต่ำ120คนได้คืนอัตรา100%

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย...   ทีมคุณภาพชีวิต [email protected] -

 

 

 

          กระบวนการบรรจุและแต่งตั้งข้าราชครูและบุคลากรทางการศึกษา ทุกสังกัดจะสำรวจครูว่าแต่ละสถานศึกษาแต่ละพื้นที่มีอัตราเกิน พอดี หรือขาด เพื่อเตรียมอัตรากำลังแทนอัตราครูเกษียณอายุราชการเสนอขอไปยังคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เป็นประธาน เพื่อพิจารณาและยื่นเรื่องอัตราครูไปยังคณะกรรมการบริหารพนักงานราชการ (คพร.) เพื่อจัดสรรคืนมา ซึ่งทุกปีจะเริ่มกระบวนการสำรวจอัตรากำลังครู ในช่วงประมาณเดือนมิถุนายน และเสร็จสิ้นประมาณเดือนกรกฎาคม เพื่อจะได้บรรจุและแต่งตั้งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในวันที่ 1 ตุลาคม ซึ่งครูคืนถิ่นอยู่กรอบระยะเวลาการบรรจุและแต่งตั้งดังกล่าวเช่นกัน 

 

 

          ว่ากันว่าการบรรจุและแต่งตั้งข้าราชการต้องยึดตามมาตรการที่ คพร.กำหนด ซึ่งคพร.มีการกำหนดมาตรการบริหารจัดการกำลังภาครัฐ (พ.ศ.2562–2565) ขึ้นใหม่ โดยในส่วนของการบรรจุข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในสถานศึกษา เดิมถ้าสถานศึกษาที่มีนักเรียนไม่ต่ำกว่า 250 คน จะได้คืนครูอัตราเกษียณอายุราชการกลับ 100% แต่ตามมาตรการบริหารจัดการกำลังภาครัฐ (พ.ศ.2562–2565) ได้กำหนดเงื่อนไขใหม่ให้สถานศึกษาที่มีจำนวนนักเรียนไม่ต่ำกว่า 120 คนจะได้คืนครูอัตราเกษียณอายุราชการ 100% 

 

 

เปิดเกณฑ์บรรจุครู คพร. ร.ร.ต่ำ120คนได้คืนอัตรา100%

 


          ทำให้กระบวนการคืนครูอัตราเกษียณอายุราชการและการบรรจุครูและบุคลากรทางการศึกษาเปลี่ยนแปลงจากเดิม การบรรจุและแต่งตั้งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา รวมถึงนักศึกษาทุนในโครงการครูคืนถิ่นเพื่อพัฒนาท้องถิ่นในปี 2562 ถือเป็นช่วงรอยต่อของมาตรการเก่าและมาตรการใหม่ ที่ ก.ค.ศ.ต้องปฏิบัติตามมาตรการใหม่ โดยก.ค.ศ.ได้รับคู่มือและเกณฑ์ที่ คพร.กำหนดเงื่อนไขใหม่ช่วงประมาณเดือนก.ค. แต่เป็นช่วงหลังจากที่สถานศึกษาแต่ละสังกัดอย่าง สพฐ. ส่งข้อมูลมาให้ ก.ค.ศ. ทำให้ก.ค.ศ.ต้องขอให้สพฐ.กรอกข้อมูลใหม่ตามแพลตฟอร์มในการรายงาน เพื่อปรับไปตามมาตรการใหม่ 

 



          รวมถึงก.ค.ศ.ก็ต้องตรวจสอบรายละเอียดตั้งแต่ชื่อสถานศึกษา เลขที่ตำแหน่ง อัตราเงินเดือน และรายชื่อสถานศึกษา อัตราครูที่เกษียณอายุราชการและรายชื่อสถานศึกษาที่ขออัตรากำลังครูอีกครั้ง จึงทำให้เกิดความล่าช้า เพราะการตรวจสอบสถานศึกษา 20,000 กว่าแห่งนั้นต้องใช้เวลา เพื่อไม่ให้อัตราซ้ำซ้อน และต้องตรวจสอบให้ละเอียดรอบคอบมากที่สุด
   

          “มาตรการดังกล่าว เงื่อนไขใหม่จะดำเนินการไปจนถึงปี 2565 ขณะเดียวกันหากมีการปรับเปลี่ยนมาตรการใดๆ ก.ค.ศ.ก็จะปรับให้ระบบการทำงานรวดเร็วมากขึ้น สอดรับมาตรการใหม่ๆ ซึ่งทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการบรรจุและแต่งตั้งข้าราชครูและบุคลากรทางการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) และกรุงเทพมหานคร (กทม.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต่างร่วมมือกันเพื่อให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาได้รับการบรรจุและแต่งตั้ง และทุกห้องเรียนได้มีครู


          “โครงการผลิตครูคืนถิ่นเพื่อพัฒนาท้องถิ่น (พ.ศ.2559-2572)” เป็นหนึ่งโครงการพิเศษที่ดำเนินการขึ้นโดยมีสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (สกอ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) เพื่อแก้ไขปัญหาการผลิตและพัฒนาครูของประเทศไทย รวมทั้งเพื่อรองรับการอัตราเกษียณของครูและบุคลากรทางการศึกษาในแต่ละปี


          โดยข้อมูล 6 ปีย้อนหลัง (ปี 2557-2562) พบว่าการจัดสรรคืนอัตราว่างจากเกษียณอายุราชการของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษามีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปี ดังนี้ 2557 แบ่งเป็น สังกัดสพฐ. 12,884 อัตรา สอศ.489 อัตรา กศน.71 อัตรา ปี2558 สังกัดสพฐ. 18,332 อัตรา สอศ.582 อัตรา กศน.78 อัตรา ปี 2559 สังกัดสพฐ. 22,519 อัตรา สอศ.761 อัตรา กศน.101 อัตรา ปี 2560 สังกัดสพฐ. 23,146 อัตรา สอศ.804 อัตรา กศน.107 อัตรา ปี 2561 สังกัดสพฐ. 23,998 อัตรา สอศ.941 อัตรา กศน.138 อัตรา และปี 2562 สังกัดสพฐ. 23,086 อัตรา สอศ.1,023 อัตรา กศน.154 อัตรา

 

 

เปิดเกณฑ์บรรจุครู คพร. ร.ร.ต่ำ120คนได้คืนอัตรา100%

 

 


          ฉะนั้นอัตราการบรรจุของนักศึกษาทุนโครงการครูคืนถิ่นจึงเป็นเพียงส่วนหนึ่งของจำนวนครูที่ต้องได้รับการบรรจุและแต่งตั้งเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาเท่านั้น ซึ่งตลอดระยะเวลาการดำเนินการตั้งแต่ปี 2559 จนถึงปี 2561 พบว่าปี 2559 มีตำแหน่งว่าง 3,845 อัตรา รายชื่อที่สกอ./อว.แจ้ง 3,150 อัตรา บรรจุเป็นครูผู้ช่วย 3,130 อัตรา ปี 2560 มีตำแหน่งว่าง 4,830 อัตรา รายชื่อที่สกอ./อว.แจ้ง 3,091 อัตรา บรรจุเป็นครูผู้ช่วย 3,075 อัตรา ปี 2561 มีตำแหน่งว่าง 4,985 อัตรา รายชื่อที่สกอ./อว.แจ้ง 2,650 อัตรา บรรจุเป็นครูผู้ช่วย 2,538 อัตรา และปี 2562 มีตำแหน่งว่าง 5,253 อัตรา รายชื่อที่สกอ./อว.แจ้ง 2,681 อัตรา และบรรจุเป็นครูผู้ช่วยดำเนินการในวันที่ 4 ตุลาคมนี้


          อย่างไรก็ตามเมื่อเทียบข้อมูลอัตราคืนครูเกษียณอายุราชการกับการบรรจุและแต่งตั้งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พบว่าประเทศไทยยังมีตำแหน่งว่างของครูและบุคลากรทางการศึกษาที่รองรับนิสิตนักศึกษาครูที่กำลังศึกษาคณะครุศาสตร์หรือคณะศึกษาศาสตร์ในสถาบันการผลิตครู 54 แห่ง แต่ทั้งนี้การบรรจุครูและบุคลากรทางการศึกษาต้องผ่านเกณฑ์การคัดเลือกต่างๆ ตามที่โครงการ และก.ค.ศ.กำหนดการบรรจุและแต่งตั้ง


          “ครูคืนถิ่น”ยากเริ่มต้นจนจบ
          “โครงการผลิตครูคืนถิ่นเพื่อพัฒนาท้องถิ่น (พ.ศ.2559-2572)” เป็นโครงการพิเศษที่ดำเนินการขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาการผลิตและพัฒนาครูของประเทศไทยเนื่องจากสถานภาพการผลิตครูของประเทศไทยที่ต้องพบกับวิกฤติ และสภาพปัญหาของระบบการผลิตครู ทำให้มีการจัดทำโครงการผลิตครู โดยในปี 2559 ได้จัดทำโครงการผลิตครูคืนถิ่นเพื่อพัฒนาท้องถิ่น คัดเลือกคนดีคนเก่งมาเรียนในระบบการผลิตครู จำกัดรับที่มีคุณภาพในสถาบันผลิตครูที่มีคุณภาพให้ตรงสาขาวิชาตามต้องการของผู้ใช้ และมีอัตราบรรจุเป็นข้าราชการครูในพื้นที่ภูมิลำเนาของผู้สำเร็จการศึกษา เพื่อให้สามารถปรับตัวกับสภาพแวดล้อมของสถานศึกษา และประสบความสำเร็จในการเป็นครูเพื่อไปพัฒนาท้องถิ่นของตนเอง


          เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วจะได้รับการบรรจุแต่งตั้งให้รับราชการครูในภูมิลำเนาของตนเองในสังกัดสพฐ. สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) กันอัตราเกษียณอายุราชการ ร้อยละ 35 ส่วนสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) และกรุงเทพมหานคร (กทม) ซึ่งในส่วนของสพฐ.จะกันอัตราเกษียณอายุราชการไว้ร้อยละ 25 ของอัตราเกษียณทั้งหมด และสอศ.ร้อยละ 35 เพื่อรองรับครูกลุ่มนี้

 

 

 

เปิดเกณฑ์บรรจุครู คพร. ร.ร.ต่ำ120คนได้คืนอัตรา100%

 


          อัมพร พินะสา รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า เกณฑ์ในการคัดเลือกครูคืนถิ่นต้องมีผลการเรียนเฉลี่ยสะสมตลอดหลักสูตร (GPAX) ทุกวิชา ผลการเรียนเฉลี่ยสะสมตลอดหลักสูตร (GPAX) ในวิชาเอก และผลการเรียนเฉลี่ยสะสมตลอดหลักสูตร (GPAX) ในวิชาชีพครู ตามข้อบังคับของสถาบันอุดมศึกษาที่สังกัดไม่ต่ำกว่า 3.00 หากได้คะแนนต่ำกว่าเกณฑ์จะถูกตัดสิทธิ์การเข้าร่วมโครงการ


          นอกจากนั้นผู้ผ่านการคัดเลือกครูคืนถิ่นต้องมีทักษะภาษาอังกฤษเมื่อสำเร็จการศึกษาตามกรอบมาตรฐาน Common European Framework of Reference (CEFR) โดยวิชาเอกภาษาอังกฤษต้องมีทักษะภาษาอังกฤษ ระดับ C1 และวิชาเอกอื่นต้องมีทักษะภาษาอังกฤษระดับ B1, ต้องมีผลการทดสอบภาษาอังกฤษเมื่อสำเร็จการศึกษาตามที่โครงการกำหนด โดยมีผลการสอบไม่เกิน 2 ปี และต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู เป็นต้น


          ซึ่งผู้ที่ผ่านการคัดเลือกครูคืนถิ่นได้เข้าร่วมโครงการตั้งแต่ตอนเรียนแล้ว แต่ต้องเข้ารับการพิจารณาคัดเลือกเพื่อบรรจุและแต่งตั้งอีกครั้งหลังเรียนจบการศึกษาและหากขาดคุณสมบัติเกณฑ์ข้อใดข้อหนึ่ง หรือขาดคะแนนทางด้านทักษะทางภาษาอังกฤษไม่ว่าจะเป็น TOEIC, IELTS, TOEFL หรือ CU-TEP ก็จะอาจจะไม่ได้รับการบรรจุและแต่งตั้งแม้ว่าได้รับคัดเลือกเข้าร่วมโครงการไปตั้งแต่แรก


          “โครงการครูคืนถิ่นช่วยทำให้แต่ละภูมิลำเนาได้มีครูที่คุณภาพทุกอย่างเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ แต่ในส่วนของจำนวนนักศึกษาทุนในโครงการตามเป้าที่กำหนดไว้นั้น เพราะด้วยเกณฑ์ต่างๆ ที่เด็กทุกคนต้องผ่านการคัดเลือก ถ้ามีคุณสมบัติไม่เป็นไปตามประกาศจะถูกตัดสิทธิ์การเข้าร่วมโครงการ และจะไม่ได้รับการบรรจุเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาตำแหน่งครูผู้ช่วยในโครงการดังกล่าวทันที โครงการนี้เชื่อว่าจะมีต่อไปเรื่อยๆ เนื่องจากคัดเลือกคนดี คนเก่ง มีคุณภาพมาเป็นครูได้อย่างแท้จริง"

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ