Lifestyle

เพิ่มทักษะแรงงานด้อยโอกาสสร้างเศรษฐกิจชุมชนเข้มแข็ง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย...   ชุลีพร อร่ามเนตร [email protected] -

 

 

 

          รัฐบาลประกาศก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0 หรือการพัฒนาด้วยนวัตกรรมเศรษฐกิจสร้างสรรค์อย่างเต็มตัว ขณะที่ศักยภาพของคนในประเทศโดยเฉพาะแรงงานกว่า 21.2 ล้านคน หรือเกินครึ่งของแรงงานทั้งหมด ที่เรียกว่า “แรงงานนอกระบบ” ตั้งแต่ช่วงวัย 15-60 ปีขึ้นไป ยังเป็นกลุ่มแรงงานด้อยทักษะความรู้ ขาดโอกาสในการศึกษาเพื่อพัฒนาตนเองสู่การเป็นแรงงานฝีมือระดับสูง

 

 

          ขณะนี้หลายภาคส่วนทั้งรัฐและเอกชนต่างพยายามมุ่งพัฒนาฝีมือแรงงานของไทยให้มีทักษะตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงานที่เปลี่ยนแปลงไปในโลกดิจิทัล “กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ทำหน้าที่ลดความเหลื่อมล้ำทั้งด้านการศึกษาและเศรษฐกิจในกลุ่มแรงงานนอกระบบ จึงได้ร่วมกับ 73 หน่วยงานพัฒนาอาชีพที่ได้รับการคัดเลือก อาทิ กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน วิทยาลัยชุมชน มหาวิทยาลัย ศูนย์การเรียนรู้ ศูนย์ปราชญ์ กศน.อำเภอ วิสาหกิจชุมชน ดำเนินโครงการพัฒนาระบบตัวอย่างการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสโดยมีชุมชนเป็นฐาน

 

 

เพิ่มทักษะแรงงานด้อยโอกาสสร้างเศรษฐกิจชุมชนเข้มแข็ง

 


          โดยมุ่งยกระดับฝีมือแรงงานระดับ 1.0 และ 2.0 ทุกช่วงอายุ กลุ่มแรงงานนอกระบบที่มีการศึกษาต่ำกว่าระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานและมีรายได้ต่ำกว่า 6,500 บาท รวมถึงผู้ด้อยโอกาส เช่น ผู้ที่ว่างงาน คนพิการ คนเร่ร่อน เยาวชนในสถานพินิจ ผู้ต้องขัง ที่ทำงานอยู่ในภาคเกษตรกรรม หัตถกรรม เน้นการใช้แรงงานหนักและราคาถูกให้มีทักษะสูงขึ้น มีงานทำ มีโมเดลธุรกิจของตัวเอง มีรายได้สูงขึ้น โดยมีพื้นที่ชุมชน ตำบลหรือเทศบาลเป็นฐานสร้างการเรียนรู้และพัฒนาไปพร้อมกันจำนวนกว่า 76 ตำบล ใน 42 จังหวัดครอบคลุมทุกภูมิภาค ซึ่งในปีแรกจะครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายมากกว่า 6,239 คน
 

 

 

          สมพงษ์ จิตระดับ ที่ปรึกษากองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า แรงงานนอกระบบเป็นทั้งคนว่างงาน คนพิการ และสุดท้ายกลายเป็นภาระชุมชน สังคม ถูกตีตราเป็นคนด้อยโอกาส การศึกษาที่ผ่านมาดึงลูกหลานออกจากชุมชนทุกวัน ชุมชนอ่อนแอลงตามลำดับ ช่องว่างในประเทศมากขึ้นทุกวัน ความเหลื่อมล้ำเป็นผลพวงจากเรื่องนี้ การแก้ไขต้องสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจฐานราก ให้ชุมชนเป็นฐานการเรียนรู้ สร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจของประเทศ และตัดวงจรความเหลื่อมล้ำข้ามชั่วคนได้

 

 

 

เพิ่มทักษะแรงงานด้อยโอกาสสร้างเศรษฐกิจชุมชนเข้มแข็ง

 


          “การเพิ่มทักษะให้แก่แรงงานมีความจำเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะแรงงานยากจน ต้องยกระดับคุณภาพชีวิตของพวกเขาอีกด้วย โดยความร่วมมือกับเครือข่ายหน่วยพัฒนาอาชีพทั้ง 73 แห่ง จะไปจับคู่กับชุมชนดำเนินงานยกระดับทักษะการประกอบอาชีพให้กับแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โครงการจะส่งเสริมให้ชุมชนและสถานประกอบการ ภาคธุรกิจเอกชนเข้ามามีส่วนร่วม เกิดเป็นเครือข่ายจับคู่การพัฒนา เช่น การร่วมเป็นวิทยากร การใช้สถานที่ฝึกงาน และการสมทบทรัพยากรในรูปแบบที่เป็นไปได้ เน้นกระบวนการเสริมศักยภาพของชุมชนในการพัฒนาอาชีพ บนฐานข้อมูล ความรู้ ทุนทางสังคม เศรษฐกิจ และทรัพยากร สร้าง Creative Space ที่มีการใช้เทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์และทุนทางสังคมเพื่อเพิ่มมูลค่าของสินค้าและบริการ มุ่งเป้าตรงตามความต้องการของชุมชนหรือตลาดแรงงานท้องถิ่นร่วมไปกับการสร้างพื้นฐานทักษะอาชีพในฐานะผู้ประกอบการ (Entrepreneur) ขนาดย่อมในชุมชน” สมพงษ์ กล่าว


          73 โครงการจะเป็นโมเดลหรือระบบต้นแบบสำคัญของประเทศ ในการยกระดับแรงงาน 1.0 หรือ 2.0 ให้เป็นแรงงานมีฝีมือ เป็นผู้ประกอบการ สตาร์ทอัพรุ่นใหม่ของชุมชนช่วยการแก้ไขความเหลื่อมล้ำไม่ใช่เศรษฐกิจมหภาค แต่เป็นเศรษฐกิจฐานราก


          บัญชร แก้วส่อง ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย กล่าวว่า การจัดกระบวนการเรียนรู้โดยใช้ชุมชนเป็นฐาน ต้องมองเห็นนิเวศของชุมชนว่าเป็นอย่างไร เพื่อความเข้าใจต่อวิถีชีวิตของผู้คน ที่ผ่านมาการศึกษามักพาคนออกจากพื้นที่ ทำให้ชุมชนอ่อนแอลง ขณะที่การพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานมุ่งเน้นในระดับปัจเจกไม่ได้เชื่อมโยงกับศักยภาพของชุมชน จึงยังไม่เกิดพลังจากเครือข่ายที่สามารถช่วยเหลือ เกื้อกูลกันได้

 

 

 

เพิ่มทักษะแรงงานด้อยโอกาสสร้างเศรษฐกิจชุมชนเข้มแข็ง

 


          “หน่วยพัฒนาอาชีพจะทำอย่างไรให้ผู้คนรักการเรียนรู้ เกิดปัญหา เห็นคุณค่าของสิ่งที่มีอยู่ในชุมชน นำมาสร้างเส้นทางอาชีพ และจะต้องเป็นการสร้างอาชีพให้เหมาะกับพื้นที่ ที่สำคัญการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน ต้องให้การศึกษา มีพลังที่จะหาทางแก้ให้อยู่ในพื้นที่ให้ได้พัฒนาทั้งทักษะฝีมือแรงงานพัฒนาปัญญา พัฒนาหัวใจ ควบคู่ไปกับฝีมือ”นายบัญชา กล่าว

 

 

 

เพิ่มทักษะแรงงานด้อยโอกาสสร้างเศรษฐกิจชุมชนเข้มแข็ง

 


          ชาญ อุทธิยะ ปราชญ์ชาวบ้านภาคเหนือ บ้านสามขา อำเภอแม่ทะ จ.ลำปาง กล่าวว่า ถ้าอาชีพนั้นมีฐานทุนในชุมชนและต่อยอด โอกาสประสบความสำเร็จมีสูง เพราะยกระดับจากฐานความรู้เดิมที่มีอยู่ในชุมชน ขยายตัวไปถึงคนอื่นได้มาก อย่างชุมชนเคยทำกล้วยอบ มีความรู้ว่าทำอย่างไร ขายที่ไหน แต่ทำไม่นานก็ล้มเหลว เพราะไม่มีกล้วย แรงงานในชุมชนมีฝีมือแต่ขาดทรัพยากรจากชุมชนก็เดินต่อไม่ได้ การทำโครงการจะประสบความสำเร็จ เพิ่มทักษะแรงงานผู้ขาดแคลนและผู้ด้อยโอกาสในชุมชนได้ผลสำเร็จ ต้องเริ่มด้วยเข้าถึง ควรมาก่อนความเข้าใจ จากนั้นสร้างความสัมพันธ์ให้เกิดความเชื่อใจ ไว้ใจและออกแบบการทำงานร่วมกัน หน่วยพัฒนาอาชีพต้องสวมบทบาทเป็นพี่เลี้ยง ไม่คิดแทน ทำแทนและรับประโยชน์แทน มีการถอดบทเรียนความรู้ และสื่อสารกัน เป็นระยะ เพื่อสร้างกำลังใจต่อกัน

 

 

เพิ่มทักษะแรงงานด้อยโอกาสสร้างเศรษฐกิจชุมชนเข้มแข็ง

 


 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ