Lifestyle

จับสัญญาณ..โรคหัวใจ วินิจฉัยไว เร่งรักษา ลดเสียชีวิต

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย...  ทีมข่าวคุณภาพชีวิต [email protected] -

 

 

 

   
          ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน หรือภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน นับเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของผู้คนทั่วโลก เฉพาะประเทศไทยในปี 2559 พบผู้เสียชีวิตด้วยโรคหลอดเลือดหัวใจ 19,030 คน คิดเป็นอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 29.09 ต่อแสนประชากร ส่วนผู้ป่วยโรคหัวใจรายใหม่อยู่ที่ 98,148 ราย มีอุบัติการณ์อยู่ที่ 150.1 ต่อประชากรแสนคนและมีอัตราการเสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นทุกปีอย่างต่อเนื่อง


   

          นอกจากนี้สถิติกระทรวงสาธารณสุขเมื่อปี 2561 พบว่ามีจำนวนคนไทยที่ป่วยด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือด 432,943 คน มีอัตราการเสียชีวิตถึง 20,855 คนต่อปี หรือชั่วโมงละ 2 คน และด้วยจำนวนผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาที่มีจำนวนมากก่อให้เกิดปัญหาสถานการณ์ความแออัดของห้องฉุกเฉิน


          จากสถิติปี 2559 พบว่าในประเทศไทยมีสถิติผู้ป่วยที่เข้ารับบริการการรักษาในห้องฉุกเฉินอยู่ที่ 458 ต่อแสนประชากร ซึ่งสูงกว่าสหรัฐอเมริกา 421 ต่อแสนประชากร ออสเตรเลีย 331 ต่อแสนประชากร และอังกฤษ 412 ต่อแสนประชากร ทั้งนี้ในประเทศไทยมีผู้ป่วยเข้ารับบริการในห้องฉุกเฉินเป็นจำนวนมากถึง 35 ล้านครั้งต่อปี และพบว่าเกือบ 60% เป็นผู้ป่วยไม่ฉุกเฉิน ดังนั้นเพื่อลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน การพิจารณาคัดแยก (Triage) ว่าผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในห้องฉุกเฉินเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินที่แท้จริงหรือไม่จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง


          ผศ.นพ.พิสิษฐ หุตะยานนท์ อายุรแพทย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ กล่าวว่า ผู้ป่วยโรคหัวใจที่เข้ารับการตรวจรักษาในโรงพยาบาลนั้น สามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มหลัก ได้แก่ กลุ่มที่เข้ารับการตรวจแบบทั่วไปและกลุ่มที่เข้ารับการตรวจแบบฉุกเฉิน การตรวจวินิจฉัย ดูแล และรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจเหล่านี้แพทย์จะอาศัยการตรวจสอบประวัติ ลักษณะอาการของผู้ป่วย ลักษณะของคลื่นไฟฟ้าหัวใจ และการพิจารณาว่ามีการเสื่อมสลายของกล้ามเนื้อหัวใจหรือไม่ โดยการเจาะเลือดเพื่อตรวจดูการเปลี่ยนแปลงของระดับสารบ่งชี้ภาวะโรคหัวใจ (cardiac biomarker / cardiac troponin)
  

 

 

          ปัจจุบันจะเป็นการตรวจวัดสารบ่งชี้ภาวะโรคหัวใจแบบไฮเซนซิทิฟ คาร์ดิแอค โทรโพนิน ที (high sensitivity cardiac troponin T) ที่ให้ผลการตรวจวัดอย่างละเอียดและมีความแม่นยำ สามารถนำมาใช้กับแนวทางการดูแลผู้ป่วยที่สงสัยภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันแบบ 0 และ 1 ชั่วโมง (0h/1h algorithm) ซึ่งช่วยลดระยะเวลาในการวินิจฉัยผู้ป่วยที่สงสัยภาวะโรคหลอดเลือดหัวใจเฉียบพลันที่ส่งผลให้เกิดลักษณะของกล้ามเนื้อหัวใจตายดังกล่าว จากเดิมที่ต้องรอการแปลผลการเปลี่ยนแปลงของสารบ่งชี้โรคหัวใจ 3-6 ชั่วโมงหรือมากกว่านั้น ก็ลดลงเป็นที่ 1 ชั่วโมง
   

          แนวทางการรักษาดังกล่าวให้ประโยชน์อย่างน้อย 2 ประการ คือ 1.ผู้ป่วย หากแพทย์สามารถให้การวินิจฉัยว่าผู้ป่วยมีภาวะโรคซึ่งมีอัตราการเสียชีวิตสูงหรือมีภาวะแทรกซ้อนสูงหรือไม่ ภายในระยะเวลาที่สั้นลง จะส่งผลให้แพทย์สามารถตัดสินใจเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมในขั้นตอนต่อไปได้เร็วขึ้น ในขณะเดียวกัน ากผลการตรวจเลือดไม่พบการเปลี่ยนแปลงของไฮ เซนซิทิฟ คาร์ดิแอค โทรโพนิน ที แสดงว่าผู้ป่วยอาจมีภาวะโรคหลอดเลือดหัวใจตีบอาจเป็นไปได้น้อย แพทย์สามารถมุ่งประเด็นสู่การหาสาเหตุอื่นมาอธิบายอาการของผู้ป่วยได้เร็วขึ้น บรรเทาความไม่สบายใจ การลังเลสงสัย และความกังวลของทั้งตัวผู้ป่วยเองและญาติของผู้ป่วยจากการรอฟังผลจากแพทย์ และ 2.การที่ผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยเร็วขึ้นและได้รับการส่งต่อไปยังตำแหน่งที่ควรได้รับการรักษาได้รวดเร็วขึ้น หรือได้รับการพิจารณาให้สามารถกลับบ้านได้อย่างปลอดภัย แพทย์และบุคลากรในห้องฉุกเฉินจะมีเวลาในการดูแลผู้ป่วยหนักรายอื่นเพิ่มขึ้น ลดปัญหาความแออัดของห้องฉุกเฉินได้อย่างมาก และส่งผลดีต่อระบบการรักษาดูแลผู้ป่วยโดยรวม

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ