Lifestyle

ธนาคารน้ำใต้ดินหนองมะโมงแก้วิกฤติภัยแล้ง น้ำท่วมชุมชน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย...   ปาริชาติ บุญเอก [email protected]

 

 

 

          ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่ยังคงประสบปัญหาภัยธรรมชาติโดยเฉพาะอุทกภัยและภัยแล้ง ที่ผ่านมามีเพียงการแก้ปัญหาตามสถานการณ์เท่านั้น ทำให้หลายพื้นที่ยังไม่ได้รับการแก้ปัญหาหรือมีมาตรการรับมืออย่างเป็นระบบ ต.หนองมะโมง อ.หนองมะโมง จ.ชัยนาท เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่ประสบปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้งมาเป็นเวลากว่า 100 ปี ชาวบ้านส่วนใหญ่ทำไร่อ้อย ทำนา และปลูกมันสำปะหลัง “น้ำ” จึงเป็นปัจจัยสำคัญในการหล่อเลี้ยงชีวิตของคนในชุมชน

 

 

ธนาคารน้ำใต้ดินหนองมะโมงแก้วิกฤติภัยแล้ง น้ำท่วมชุมชน

 

 

          การแก้ปัญหาอีกทางหนึ่งคือการสร้างธนาคารน้ำใต้ดิน (Groundwater bank) นำน้ำไปเก็บที่ชั้นใต้ดินในชั้นหินอุ้มน้ำเหมือนการฝากเงินไว้ที่ธนาคาร ช่วงหน้าฝนที่มีน้ำมากธนาคารน้ำใต้ดินจะช่วยดูดซับน้ำเพื่อนำไปกักเก็บไว้ที่ชั้นหินอุ้มน้ำ เมื่อถึงช่วงหน้าแล้งก็สามารถสูบน้ำมาใช้ได้ แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ธนาคารน้ำใต้ดินระบบปิดและธนาคารน้ำใต้ดินระบบเปิด หากสามารถทำทั้งสองประเภทควบคู่กันไปจะมีประสิทธิภาพมากที่สุด
   

          ทั้งนี้ปี 2560  ชูชีพ สุพบุตร  นายกเทศมนตรีตำบลหนองมะโมง และคณะได้ไปศึกษาดูงานการทำธนาคารน้ำใต้ดินที่ ต.เก่าขาม อ.น้ำยืน จ.อุบลราชธานี และนำมาทดลองปรับใช้กับพื้นที่ รวมถึงอุทิศที่ดินส่วนตัวกว่า 35 ไร่ เพื่อเป็นศูนย์การเรียนรู้ธนาคารน้ำใต้ดินให้แก่ผู้ที่สนใจเข้ามาศึกษาดูงาน พร้อมเป็นพื้นที่ต้นแบบเพื่อให้ชาวบ้านได้เห็นภาพความสำเร็จของโครงการ โดย ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ภายใต้ทุนโครงการหมู่บ้านนวัตกรรมเพื่อสังคม โดยได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ในการพัฒนานวัตกรรม
 

 

 

ธนาคารน้ำใต้ดินหนองมะโมงแก้วิกฤติภัยแล้ง น้ำท่วมชุมชน

 

 

           วิเชียร สุขสร้อย รองผู้อำนวยการด้านเศรษฐกิจและสังคม NIA กล่าวว่า DISASTER x INNOVATION นวัตกรรมกับการจัดการความเสี่ยงและภัยพิบัติ ณ เทศบาลตำบลหนองมะโมง จ.ชัยนาท ว่า NIA ตระหนักถึงความสำคัญของการขจัดอุปสรรคความยากจนและปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในระดับชุมชน ไม่ว่าจะเป็นการจัดการภัยพิบัติ สาธารณสุข การศึกษา การเกษตร ฯลฯ จึงมีการดำเนินโครงการหมู่บ้านนวัตกรรมเพื่อสังคมมุ่งแก้ไขปัญหาชุมชนในพื้นที่เป้าหมายด้วยนวัตกรรมรูปแบบต่างๆ ที่มีการพัฒนาต้นแบบหรือโมเดลที่สำเร็จแล้วให้สามารถกระจายสู่ชุมชน หรือองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น โดยมุ่งเน้นการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในจังหวัดยากจนของประเทศ หรือพื้นที่เป้าหมาย




          โดยนำร่องในระยะที่ 1 ชุมชนเมืองจัง อ.ภูเพียง จ.น่าน ชุมชนอุ้มผาง อ.อุ้มผาง จ.ตาก ชุมชนหนองมะโมง อ.หนองมะโมง จ.ชัยนาท ระยะที่ 2 ชุมชนจะรัง อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี ชุมชนเฉลิม อ.ระแงะ จ.นราธิวาส และชุมชนแม่เหาะ อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน และระยะที่ 3 ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาคัดเลือกชุมชน

 

 

ธนาคารน้ำใต้ดินหนองมะโมงแก้วิกฤติภัยแล้ง น้ำท่วมชุมชน

 

 


          โครงการธนาคารน้ำใต้ดิน (ระบบปิด) มีโครงการที่จะทำธนาคารน้ำจำนวน 155 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ 3-4 หมู่บ้านในตำบล เป็นการทำธนาคารน้ำใต้ดินโดยระบบบ่อปิดมีวิธีการทำโดยการขุดหลุมเป็นรูปสี่เหลี่ยมหรือวงกลม กว้าง 30 ซม.ถึง 1 เมตร ลึก 1.20-1.50 เมตร ใช้ก้อนหินและชั้นทรายวางจนเต็มก้นหลุม เพื่อให้ได้น้ำที่ใสสะอาด ใช้พื้นที่น้อย ไม่มีผลกระทบต่อชาวบ้านที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียง แต่จำเป็นจะต้องมีการศึกษาด้านธรณีวิทยา และด้านภูมิศาสตร์เพื่อหาจุดลุ่มต่ำ หรือจุดที่เป็นทางน้ำไหล เพื่อทำให้น้ำสามารถไหลลงธนาคารน้ำใต้ดินได้ ซึ่งทฤษฎีนี้เป็นการอาศัยแรงโน้มถ่วงของโลก
  

          ขณะเดียวกัน NIA ยังสนับสนุนโครงการของตำบลหนองมะโมงอีก 3 โครงการ ได้แก่ โครงการการบริหารจัดการธนาคารน้ำใต้ดินด้วยเทคโนโลยีระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์พื้นที่ชุมชนหนองมะโมง โครงการระบบผลิตและส่งจ่ายก๊าชชีวภาพจากฟาร์มสุกรสำหรับชุมชนหนองมะโมงและโครงการระบบสูบน้ำพลังงานทดแทนแบบผสมสานของกังหันลมและโซลาร์เซลล์ลอยน้ำ
   

 

 

ธนาคารน้ำใต้ดินหนองมะโมงแก้วิกฤติภัยแล้ง น้ำท่วมชุมชน

 

 

          สายัณห์ ฉุนหอม วิทยากรธนาคารน้ำใต้ดิน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต้นแบบภาคกลาง อธิบายถึงข้อดีของการทำธนาคารน้ำใต้ดินว่า การทำธนาคารน้ำใต้ดินสามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมขัง แก้ปัญหาพื้นที่แห้งแล้ง ช่วยเพิ่มระดับน้ำใต้ดิน น้ำบาดาล น้ำตื้น ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิวดินทำให้ต้นไม้และพืชเขียวขจี ลดอัตราการกระเหยของน้ำ ลดปริมาณน้ำเสียในชุมชน ลดความเสียหายด้านโครงสร้างพื้นฐาน (ถนนขวางทางน้ำ การกัดเซาะถนนของน้ำหรือน้ำป่าไหลหลาก) ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมและป้องกันไฟป่า ช่วยลดการเกิดโรคระบาดจากแมลงต่างๆ เช่น ยุง แมลงวัน รวมถึงแก้ปัญหาน้ำเค็ม โดยการส่งน้ำจากผิวดินลงไปกดทับน้ำเค็มมีความถ่วงจำเพาะมากกว่าไม่ให้ขึ้นมาปนเปื้อนน้ำเพื่ออุปโภค บริโภค และการเกษตร แต่ไม่สามารถทำได้ในเขตอุตสาหกรรม เช่น บ่อบำบัดน้ำเสียจากโรงงาน ในพื้นที่ที่มีสารเคมี เช่น ใช้ยาฆ่าแมลงสูง และสภาพทางธรณีวิทยาบางพื้นที่ต้องศึกษาข้อมูลก่อนการดำเนินการ

 

 

ธนาคารน้ำใต้ดินหนองมะโมงแก้วิกฤติภัยแล้ง น้ำท่วมชุมชน

สายัณห์ ฉุนหอม


  

          ศุภกฤต ภัทธรคุณานนท์ ที่ปรึกษาพิเศษนายกเทศมนตรีหนองมะโมง กล่าวว่า ปัจจุบันมีการทำธนาคารน้ำใต้ดินระบบปิดกว่า 120 จุด ในพื้นที่หมู่ 1 บริเวณวัด และพื้นที่สาธารณะ รวมถึงมีธนาคารน้ำใต้ดินระบบเปิด 1 แห่ง บริเวณพื้นที่สาธารณะ 90 ไร่ ซึ่งในช่วงแรกชาวบ้านก็ยังไม่เห็นด้วยเนื่องจากเขายังไม่เห็นความสำเร็จหลังจากทำมาได้เพียง 1 ปี จึงต้องมีศูนย์การเรียนรู้เพื่อให้ชาวบ้านเข้ามาศึกษา ใช้งบประมาณราว 3,900 บาทต่อบ่อ และสามารถดักน้ำได้ราว 5,000 ลิตรต่อบ่อ
   

 

 

ธนาคารน้ำใต้ดินหนองมะโมงแก้วิกฤติภัยแล้ง น้ำท่วมชุมชน

ศุภกฤต ภัทธรคุณานนท์

 

 

          “ปกติน้ำจะไหลจากใต้พื้นดินตามแรงเหวี่ยงของโลก ดังนั้น จึงมีการทดลองขุดเจาะบ่อน้ำภายในศูนย์การเรียนรู้ธนาคารน้ำใต้ดิน และพบว่าขุดไปเพียง 1.5 เมตร พบตาน้ำและมีน้ำไหลตลอดเวลา นอกจากนี้ภายในโรงพยาบาลประจำตำบลซึ่งเคยขุดบ่อน้ำบาดาลไว้ แต่แห้งแล้งขาดแคลนน้ำมานาน ปัจจุบันโรงพยาบาลมีน้ำพอใช้หมุนเวียนอย่างเพียงพอ โดยในอนาคตคาดว่าจะมีธนาคารน้ำให้ชาวบ้านใช้ได้อย่างเพียงพอตลอดทั้งปี สิ่งเหล่านี้ต้องใช้เวลา” ศุภกฤต กล่าวทิ้งท้าย


          ธนาคารน้ำใต้ดิน (Groundwater bank)
          - แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
          ธนาคารน้ำใต้ดินระบบปิด
          ธนาคารน้ำใต้ดินระบบเปิด
          - ใช้งบประมาณเพียง 3,900 บาทต่อบ่อ
          - ดักน้ำได้ราว 5,000 ลิตรต่อบ่อ
          ข้อดีของธนาคารน้ำใต้ดิน
          - แก้ปัญหาน้ำท่วมขัง
          - แก้ปัญหาพื้นที่แห้งแล้ง
          - ช่วยเพิ่มระดับน้ำใต้ดิน น้ำบาดาล น้ำตื้น
          - ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิวดินทำให้ต้นไม้และพืชเขียวขจี
          - ลดอัตราการกระเหยของน้ำ
          - ลดปริมาณน้ำเสียในชุมชน
          - ลดความเสียหายด้านโครงสร้างพื้นฐาน (ถนนขวางทางน้ำ การกัดเซาะถนนของน้ำหรือน้ำป่าไหลหลาก)
          - ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมและป้องกันไฟป่า
          - ช่วยลดการเกิดโรคระบาดจากแมลงต่างๆ เช่น ยุง แมลงวัน
          - แก้ปัญหาน้ำเค็ม โดยการส่งน้ำจากผิวดินลงไปกดทับน้ำเค็มมีความถ่วงจำเพาะมากกว่าไม่ให้ขึ้นมาปนเปื้อนน้ำเพื่ออุปโภค บริโภค และการเกษตร

 

 

 

ธนาคารน้ำใต้ดินหนองมะโมงแก้วิกฤติภัยแล้ง น้ำท่วมชุมชน

 

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

-เฉลิมชัย สั่งกรมชลฯ เฝ้าระวัง 5 เขื่อนภาคอีสาน
-"กรมชลฯ"เกาะติดพื้นที่ภัยแล้ง
-กรมชลฯสอบโครงการส่งน้ำเชียงใหม่"มีพิรุธ":
-ล้นทะลักแต่ไม่แตก กรมชลสยบข่าวเขื่อนพัง 

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ