Lifestyle

กริช เชื่อมใจชายแดนใต้วธ.เร่งต่อยอดสู่สินค้าวัฒนธรรม

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย...  ปาริชาติ บุญเอก  [email protected] 

 

 


          เวลาทำกริช สมัยก่อนจะทำตามวันเดือนปีเกิด และทำด้ามจับให้พอดีกับเจ้าของ แบ่งเป็น กริชสำหรับพก และกริชสำหรับถือ ผู้ที่สะสมต้องรู้วิธีเก็บรักษา หมั่นนำออกมาล้าง หากขึ้นสนิมต้องไปแช่น้ำมะพร้าวอ่อน ขัดด้วยมะนาว นำมารมควันให้แห้งไล่ความชื้น ผึ่งลมในที่ร่ม ห้ามตากแดด และชโลมด้วยน้ำมันมะพร้าว

 

 

          สารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้ เล่ม 1 ระบุว่า กริช ถือเป็นอาวุธประจำตัวที่เคยนิยมใช้กันในภาคใต้จนถึงมาเลเซีย ชวา และประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นอาวุธสั้นประจำชาติมลายูมานานกว่า 600 ปี สามารถบ่งบอกความเป็นชายชาตรี ฐานะทางสังคม และยศถาบรรดาศักดิ์ของผู้เป็นเจ้าของหรือของตระกูล

 

 

 

กริช เชื่อมใจชายแดนใต้วธ.เร่งต่อยอดสู่สินค้าวัฒนธรรม

 


          ทั้งนี้ รูปแบบของกริช ได้พัฒนาไปตามกลุ่มวัฒนธรรมจนมีลักษณะเด่นเฉพาะตน แบ่งออกได้เป็น 8 กลุ่ม คือ 1.กริชสกุลช่างปัตตานี (Patani) 2.กริชสกุลช่างสงขลา (Songkhla) 3.กริชสกุลช่างชวา (Javanese) 4.กริชสกุลช่างคาบสมุทรตอนเหนือ (Peninsula, Northern) 5.กริชสกุลช่างบูกิส (Bugis) 6.กริชสกุลช่างซุนดาหรือซุนดัง (Sundang of Suluk) 7.กริชสกุลช่างบาหลีและมดูรา และ 8.กริชสกุลช่างสุมาตรา (Sumatran)


          ล่าสุด กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) โดยสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดปัตตานี ร่วมกับ จังหวัดปัตตานี องค์กรภาคีเครือข่ายด้านวัฒนธรรมในจังหวัดปัตตานี นอกพื้นที่ และประเทศในอาเซียน จัดงานวิถีถิ่น วิถีตานี วิถีอาเซียน “ศาสตร์และศิลป์ สายสัมพันธ์กริชอาเซียน” ในโครงการวัฒนธรรมเชื่อมใจชายแดนใต้สันติสุข เมื่อวันที่ 15-17 สิงหาคม ที่ผ่านมา ณ พิพิธภัณฑ์ปัตตานี จังหวัดปัตตานี

 

 

 

กริช เชื่อมใจชายแดนใต้วธ.เร่งต่อยอดสู่สินค้าวัฒนธรรม

 


          โดยมี พล.ท.อุกฤษณ์ อากาศวิภาต ที่ปรึกษาผู้แทนพิเศษของรัฐบาล นายไกรศร วิศิษฎ์วงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี สภาวัฒนธรรมจังหวัดปัตตานี กงสุลอินโดนีเซียประจำจังหวัดสงขลา วัฒนธรรมจังหวัดปัตตานี นราธิวาส สงขลา สตูล หัวหน้าส่วนราชการ นักเรียน นักศึกษา ประชาชน นักท่องเที่ยวเข้าร่วมงาน

 



          เพื่อสืบทอดภูมิปัญญากริช ผ้า อาภรณ์ พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์วัฒนธรรม (Cultural Product Of Thailand: CPOT) ต่อยอดสร้างรายได้ เพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจ เสริมสร้างสังคมพหุวัฒนธรรมเชื่อมใจคนในพื้นที่ นำไปสู่ความสงบสุขสมานฉันท์ เชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอาเซียนโดยใช้วัฒนธรรมร่วม และกระตุ้นให้เกิดการอนุรักษ์ สืบสานศิลปะและวัฒนธรรมของท้องถิ่น

 

 

กริช เชื่อมใจชายแดนใต้วธ.เร่งต่อยอดสู่สินค้าวัฒนธรรม

 


          กฤษศญพงษ์ ศิริ  ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า จากนโยบายของรัฐบาลที่จะสร้างความรู้ ความเข้าใจในขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรม ของประเทศเพื่อนบ้าน ยอมรับและเคารพในประเพณี วัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์และชาวต่างชาติที่มีความหลากหลาย ในลักษณะพหุสังคมที่อยู่ร่วมกัน เสริมสร้างความเป็นปึกแผ่นของอาเซียน ส่งเสริมความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรม ส่งเสริมการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้และการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้


          กระทรวงวัฒนธรรม จึงได้ส่งเสริมสังคมพหุวัฒนธรรมเชื่อมใจคนในพื้นที่ เชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอาเซียน กระตุ้นให้เกิดการอนุรักษ์ สืบสาน ต่อยอดศิลปะและวัฒนธรรมของท้องถิ่น ส่งเสริมการนำวิถีชีวิต ศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น สร้างผลิตภัณฑ์และบริการด้านวัฒนธรรมพื้นถิ่น ให้เป็นวัฒนธรรมสร้างสรรค์ สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ


          ปลัดกระทรวงวัฒนธรรมกล่าวเพิ่มเติมว่า กริช ซึ่งถือเป็นอาวุธประจำกายและทรงคุณค่า แต่คนรุ่นปัจจุบันยังไม่มีองค์ความรู้ ดังนั้น สิ่งที่ได้พูดคุยกับปราชญ์และนักวิชาการกริช คือ ต้องการให้ท่านทั้งหลายสืบทอดองค์ความรู้ ที่มาที่ไป ความแตกต่างของแต่ละพื้นที่ของกริช ไปยังเยาวชน และสิ่งที่ต้องการต่อยอดต่อไป คือ การพัฒนาศิลปะเหล่านี้สู่การทำของที่ระลึก เช่น พวงกุญแจ ส่งมอบให้แก่ผู้มาเยือนเป็นอัตลักษณ์ของพื้นถิ่น เชื่อว่าหลายคนหากได้เรียนรู้ จะมีความรู้สึกเห็นคุณค่ามากขึ้น

 

 

 

กริช เชื่อมใจชายแดนใต้วธ.เร่งต่อยอดสู่สินค้าวัฒนธรรม

 


          “ขอให้ภาคภูมิใจในความเป็นไทย อัตลักษณ์ของท้องถิ่น สิ่งเหล่านี้มีค่า เพราะบรรพบุรุษได้ให้ไว้ เรามีหน้าที่สืบสาน ต่อยอด ให้เกิดเป็นมูลค่า เพราะฉะนั้น ขอให้ทุกพื้นที่ค้นหาอัตลักษณ์ของตัวเอง และส่งต่อสิ่งเหล่านี้ไปยังเด็กและเยาวชนรุ่นหลังตลอดไป” กฤษศญพงษ์ กล่าว


          “กริช”คุณค่าที่ประเมินไม่ได้
          Husen Thon วัย 58 ปี นักสะสมกริชชาวปัตตานี ซึ่งได้นำกริชมาร่วมโชว์ในงาน เล่าว่า ครอบครัวของเขาสะสมกริชมาเป็นระยะเวลานาน สืบทอดกันมารุ่นต่อรุ่น ส่วนใหญ่เป็นกริชสกุลช่างปัตตานี รวมกว่า 100 เล่ม โดยส่วนตัวเป็นคนชอบประวัติศาสตร์ ศึกษาและสะสมไปเรื่อยๆ กริชบางเล่มมีราคาสูงถึงแสนบาท ขึ้นอยู่กับเครื่องประดับ เช่น งาช้าง หรือในบางครั้งเจ้าของอาจยกให้ฟรี ให้แก่คนที่ดูแลเป็น ดีกว่าขาย กริชบางเล่มประเมินค่าไม่ได้ เพราะแต่ละเล่มจะสะท้อนศิลปวัฒนธรรมของแต่ละพื้นที่


          “เวลาทำกริช สมัยก่อนจะทำตามวันเดือนปีเกิด และทำด้ามจับให้พอดีกับเจ้าของ แบ่งเป็น กริชสำหรับพก และกริชสำหรับถือ ผู้ที่สะสมต้องรู้วิธีเก็บรักษา หมั่นนำออกมาล้าง หากขึ้นสนิมต้องไปแช่น้ำมะพร้าวอ่อน ขัดด้วยมะนาว นำมารมควันให้แห้งไล่ความชื้น ผึ่งลมในที่ร่ม ห้ามตากแดด และชโลมด้วยน้ำมันมะพร้าว”

 

 

 

กริช เชื่อมใจชายแดนใต้วธ.เร่งต่อยอดสู่สินค้าวัฒนธรรม

 


          ปัจจุบันที่จังหวัดปัตตานี เหลือคนทำกริชอยู่ไม่มาก มีชมรมแต่ไม่เป็นทางการ ต่างจากประเทศมาเลเซีย ที่ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานของรัฐ มีการจัดประกวดบ่อยครั้ง ทั้งนี้ แม้คนรุ่นใหม่พยายามที่สืบสาน แต่เทคนิคบางอย่างก็ทำไม่ได้เพราะคนที่เชี่ยวชาญเสียชีวิตไปแล้ว เช่น การผสมเหล็ก 7 ชนิด ที่จะผสานให้ติดกัน สิ่งที่ใช้เป็นกาวสมัยก่อน คือ ดินเหนียวเชื่อมเหล็ก เนื่องจากต้องลงไปหาดินเหนียวใต้แม่น้ำ นำมาคัดเกรด เพื่อผสานเหล็ก 7 ชนิดเป็นเนื้อเดียวกัน เป็นภูมิปัญญาของคนสมัยก่อน


          กริช 1 เล่มสร้างงาน 3 กลุ่ม
          Husen กล่าวเพิ่มเติมว่า การทำกริชขึ้นอยู่กับว่าคุณใช้เหล็กดีหรือไม่และวัสดุที่มาประดับ ที่อินโดนีเซียราคาถูก คนนิยมซื้อใบมีดซึ่งขายอยู่ที่ราว 700-800 บาท และนำมาทำด้ามใส่ เนื่องจากเขาใช้เทคโนโลยีในการตัด ใบมีดทุกใบจึงออกมาเหมือนกันหมด มันไม่มีคุณค่า เราไม่ค่อยสนับสนุนเพราะไม่เกิดการสร้างงาน กริชจะต้องอยู่ที่การตี ต้องมีจุดที่ไม่เท่ากันเพราะใช้แรงคน ดังนั้น กริชด้ามหนึ่ง ต้องใช้คนตีใบมีดหนึ่งคน ทำด้ามหนึ่งคน และทำฝักหนึ่งคน
  

          “นอกจากนี้ ควรมีการจัดประกวดเหมือนที่มาเลเซีย แต่กรรมการจะต้องมีความเป็นกลาง และมีมาตรฐาน เพราะเวลาประกวดจะแยก 2 ประเภท คือ “กริชเก่า” ต้องดูที่ความสมบูรณ์ของใบมีด ลวดลาย ตามกฎเกณฑ์ของเขาชัดเจน คล้ายกับการประกวดพระเครื่อง และ “กริชใหม่” เพื่อส่งเสริมคนรุ่นใหม่ในการทำต่อยอดวัฒนธรรม หากพวกเขาได้รางวัลจะเป็นแรงจูงใจในการสร้างผลงานที่ดีต่อไป” Husen Thon กล่าว

 

 

กริช เชื่อมใจชายแดนใต้วธ.เร่งต่อยอดสู่สินค้าวัฒนธรรม

 

 


          กริชอาเซียน 8 สกุลช่าง
          1.กริชสกุลช่างปัตตานี (Patani)
          2.กริชสกุลช่างสงขลา (Songkhla)
          3.กริชสกุลช่างชวา (Javanese)
          4.กริชสกุลช่างคาบสมุทรตอนเหนือ (Peninsula, Northern)
          5.กริชสกุลช่างบูกิส (Bugis)
          6.กริชสกุลช่างซุนดาหรือซุนดัง (Sundang of Suluk)
          7.กริชสกุลช่างบาหลีและมดูรา
          8.กริชสกุลช่างสุมาตรา (Sumatran)

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ